สวัสดีวันศุกร์ วันสุดท้ายของสัปดาห์ครับ พบกับผมแอดมินต้นเช่นเคย ซึ่งก็ขอต่อเนื่องกับคราวที่แล้วเลยนะครับสำหรับบทความรำลึก 13 ปีของหนังชุด Spider Man กัน (เพื่อนๆสามารถอ่านตอนที่ 1 ได้จากที่นี่)
และตอนที่ 2 นี้ ผมก็จะขอพูดถึงหนังชุดนี้ในส่วนไตรภาคแรกกัน เพื่อปูทางไปสู่หนทางการร่วมทีม Avengers ของ Spider ต่อไป
Spider Man ไตรภาคแรกนั้น อย่างที่เขียนไปในตอนที่แล้วครับว่ากำกับโดย แซม ไรมี่ ผู้กำกับหนังสยองขวัญเกรดบี แต่ถูกใจคอซาดิสม์อย่าง The Evil Dead ซึ่งสิ่งที่ Sony เจ้าของลิขสิทธิ์หนังเล็งเห็นในตัวผู้กำกับหนังที่ไม่ได้มีชื่อเสียงมากนักคนนี้ในตอนนั้น น่าจะเพราะความเป็นแฟนพันธุ์แท้ Spider man และการ์ตูนของไรมี่เอง เพราะเค้ามีหนังสือการ์ตูนในคอลเลคชั่นกว่า 25,000 เล่ม
แต่ในทางตรงกันข้าม ผู้รับบทตัวเอกของเรื่องอย่าง โทบี้ แม๊คไกวร์เองกลับเป็นผู้ที่ไม่เคยอ่านการ์ตูนชุดนี้เลย และเหตุผลที่แม๊คไกวร์รับเล่นบทนี้เพราะถูกใจกับบทภาพยนตร์ล้วนๆ
เพราะฉะนั้นการเตรียมตัวของแม๊คไกวร์จึงหนักกว่าผู้กำกับของเราพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการต้องเร่งอ่านการ์ตูนเพื่อสร้างความคุ้นเคย รวมถึงการเข้ายิมติดต่อกัน 5 เดือนและฝึกศิลปะการต่อสู้อีก 6 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อเตรียมรับบทบู้ต่างๆด้วยตัวเองด้วย ซึ่งในตอนเข้าฉากจริงแม๊คไกวร์ก็เล่นบทบู๊ด้วยตัวเองไม่น้อย
รวมถึงฉากนี้ที่แม๊คไกวร์เล่นเอง โดยไม่มี CGI เข้าช่วย (แต่ก็เล่นอยู่หลายเทคและใช้กาวในการยึดถาดเข้ากับมือของแม๊คไกวร์ด้วย)
อย่างไรก็ดีในหนังภาค 2 นั้นแม๊คไกวร์เกือบไมได้กลับมารับบท Spider Man เนื่องจากอาการเจ็บหลังจากการถ่ายทำหนังเรื่อง Sea Biscuit กำเริบขึ้นมา และตอนนั้นเองที่ชื่อของเจค จิลเลฮาลเพื่อนรักของแม๊คไกวร์เข้ามาอยู่ในรายชื่อของผู้เข้าชิงบทนี้ด้วย แต่ว่าสุดท้ายแม๊คไกวร์ก็หายทันและกลับมารับบท ปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ต่ออีก 2 ภาคชิลๆ
สำหรับตัวละคร Spider Man ในไตรภาคแรกนั้น สิ่งหนึ่งที่ต่างไปจากเวอร์ชั่นคอมมิคและในไตรภาคหลังคือ Spider Man หรือปีเตอร์ ปาร์คเกอร์นั้นสามารถปล่อยใยได้จากข้อมูลโดยตรง โดยไม่ต้องพึ่งพาเครื่องยิงใย ซึ่งแนวคิดนี้มาจากอดีตตัวเต็งผู้กำกับ เจมส์ คาเมร่อน ที่บอกว่าในเมื่อปีเตอร์ถูกแมงมุมกัดและได้พลังของแมงมุมมาแล้ว ทำไมเค้าถึงจะไม่สามารถปล่อยใยแบบแมงมุมได้ล่ะ?…ซึ่งมันก็จริงนะ
และผู้กำกับอย่างแซม ไรมี่เองก็รับลูกว่า ถึงตามคอมมิคปีเตอร์จะเป็นเด็กเนิร์ดอัจฉริยะ แต่ว่ามันก็ไม่เป็นเหตุเป็นผลนักที่เค้าจะประดิษฐ์เครื่องยิงใยที่รับน้ำหนักตัวคนได้แถมเหนียวเอามากๆด้วยตัวคนเดียว ในขณะที่บริษัทระดับโลกอย่าง 3M ยังทำไม่ได้…นี่ก็จริงอีกเช่นกัน
เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่าในหนังไตรภาคแรกของแซม ไรมี่นั้น อารมณ์ของหนังและตัวละครหลัก จะเน้นอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เน้นการถ่ายทอดอารมณ์แบบจริงๆที่คนดูสามารถรู้สึกตามและผูกพันไปกับตัวละครอย่างปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ได้ และสร้างอารมณ์ในแบบที่ทำให้เรารู้สึกว่าคนอย่างปีเตอร์ ปาร์กเกอร์นั้นเราสามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ไม่เหมือนฮีโร่คนอื่นๆที่สมบูรณ์แบบอย่างกัปตันอเมริกาหรือโทนี่ สตาร์ก
นี่คือเสน่ห์ที่หลายๆคนหลงรักฮีโร่ตัวนี้ และแซม ไรมี่ถ่ายทอดหนังไตรภาคแรกออกมาได้อย่างน่าประทับใจ
[divider]
ชุด Spider man แต่ละชุดที่ใช้เข้าฉากมีมูลค่าถึงกว่าชุดละ 100,000 เหรียญหรือราว 3 ล้านบาท และระหว่างการถ่ายทำมีชุดที่หายไปถึง 4 ชุดโดยทาง Sony ตั้งเงินรางวัลสำหรับผู้ที่เอาชุดมาคืนสูงถึง 25,000 เหรียญหรือราว 800,000 บาท…แต่ก็ไม่มีใครนำมาคืน
เหล่าร้าย
สำหรับเหล่าร้ายในหนังไตรภาคแรกนั้น มาจากความชอบของผู้กำกับและธีมหนังล้วนๆ โดย Green Goblin เป็นตัวเลือกแรกที่ผู้กำกับต้องการในหนังภาคแรก เพราะต้องการสื่อถึงธีมความรักของพ่อลูก (ซึ่งในหนังจริงๆตัวละครนอร์แมน ออสบอร์นก็ผูกพันกับปีเตอร์เหมือนพ่อลูก และแฮร์รี่ ออสบอร์นก็ผูกพันกับปีเตอร์เหมือนพี่น้องเช่นกัน)
ส่วนตัวร้ายในภาค 2 อย่าง Doctor Octopus เองก็เป็นตัวเลือกแรกๆเช่นกัน และในภาค 3 Sand Man ก็เป็นตัวเลือกที่ผู้กำกับและนักแสดงนำอย่างแม๊คไกวร์ผลักดันจนได้เข้ามาอยู่ในหนัง (เพราะสตูดิโออยากได้ตัวละครดังอย่าง Venom ในหนังภาค 3 แต่ว่าไรมี่ไม่ชอบตัวละครตัวนี้เพราะไม่มีอารมณ์ของความเป็นมนุษย์ แต่สุดท้ายก็พบกันครึ่งทาง เลยมีตัวร้ายทั้ง 2 ตัวในหนังเรื่องเดียว…แถมพ่วงมากับ Green Goblin คนลูกด้วยอีกหนึ่ง)
รายรับถล่มทลาย
หนังชุดนี้ในไตรภาคแรก แต่ละตอนทำเงินได้สูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงที่เข้าฉายรวมถึงเป็นหนังทำรายได้สูงสุด 1 ใน 3 ของปีที่แต่ละภาคเข้าฉายด้วย ไม่ว่าจะเป็น Spider Man ที่ปิดด้วยรายรับกว่า 820 ล้านเหรียญ Spider Man 2 กับรายได้ 780 ล้านเหรียญและ Spider Man 3 กับรายได้ 890 ล้านเหรียญ
ด้วยความที่หนังภาคแรกทำเงิน เพราะฉะนั้น Sony จึงกำหนดวันฉายหนังภาค 2 ทั้งๆที่หนังภาคแรกยังไม่ลาโรงเลยด้วยซ่ำ และสำหรับภาค 3 ยิ่งหนักกว่า เพราะ Sony กำหนดวันเข้าฉายตั้งแต่ก่อนหนังภาค 2 จะเข้าฉายกันเลยทีเดียว
จึงไม่น่าแปลกใจที่ Sony จะหวงแหนตัวละครตัวนี้เป็นพิเศษ ที่ถึงจะมีสัญญาทาสต้องสร้างหนังภาคใหม่ภายในเวลา 5 ปีผูกมัดก็ตาม แต่ Sony ก็พร้อมจะทำ (และนั่นก็ตอบคำถามของหลายๆคนว่า ทำไมเราได้ดู Spider Man กันบ่อยจัง)
แต่ด้วยความข้อจำกัดด้านเวลาสำหรับการทำหนังฟอร์มยักษ์แบบนี้ ทำให้ Spider Man ภาค 3 ถึงแม้จะกวาดรายได้ไปสูงที่สุดในไตรภาคแรก แต่เสียงตอบรับในแง่ตัวหนังเองกลับไม่ดีนัก เพราะความคิดที่ยึดกับสเกลหนังที่ต้องใหญ่ขึ้น การเขียนบทที่อยากให้ซับซ้อนมากขึ้น การอัดตัวร้ายมาถึง 3 ตัว การเพิ่มซับพล๊อตต่างๆเข้ามามากมายไม่ว่าจะเป็นอารมณ์อีโมของปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ (ตอนที่โดนวัตถุต่างดาวสิง) ที่ยังเป็นที่กล่าวขวัญจนถึงตอนนี้ การเพิ่มตัวละครอย่างเกวน สเตซี่เข้ามาสร้างปัญหาหัวใจ ปมการตายของลุงเบนที่พลิกผัน
เหล่านี้ล้วนทำให้หนัง “เยอะ” เกินไป และเป็นปัญหาในการพัฒนาบท Spider Man 4 ต่อ เพราะผู้กำกับ แซม ไรมี่กลัวจะพลาดเหมือนหนังภาค 3 และนั่นทำให้เมื่อเวลาที่มีอยู่จำกัดหมดไปเรื่อยๆ แซม ไรมี่ก็ยังพัฒนาบทหนังไม่เสร็จ
Sony จึงต้องตัดสินใจ รีบูทหนังตระกูลนี้ใหม่ หลังจากสร้างมาได้เพียง 3 ภาคเท่านั้น
ตอนต่อไปเรามาดูที่หนังรีบูท The Amazing Spider Man กันครับ