อย่างที่เราทราบกันครับว่า Microsoft เข้าซื้อกิจการส่วนผลิตมือถือและบริการของ Nokia ไปและตอนนี้การถ่ายโอนต่างๆก็เสร็จสิ้นลงแล้ว รวมถึงตอนนี้ Microsoft เองก็เริ่มการทิ้งแบรนด์ Nokia บนมือถือสมาร์ทโฟนตระกูล Lumia แล้ว คงเหลือไว้แต่ชื่อแบรนด์ Nokia บนมือถือฟีเจอร์โฟนเท่านั้น
ทำให้หลายๆฝ่ายเริ่มมองว่า แล้ว Nokia จะทำอะไรต่อไปในอนาคต? นอกจากสิ่งที่เรารู้กันอยู่ตั้งแต่ตอนที่การเข้าซื้อกิจการใหม่ๆว่า Nokia เองไม่ได้ถูกซื้อโดย Microsoft ทั้งหมด โดยหลังการเข้าซื้อกิจการส่วนผลิตมือถือแล้ว Nokia จะยังเหลือธุรกิจต่างๆในมือที่ Nokia มั่นใจว่าจะทำให้อนาคตของบริษัทก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงซึ่งประกอบไปด้วย
- Here Maps หรือฝ่ายผลิตแผนที่ Here ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างแอพแผนที่อย่าง Here เท่านั้น แต่ยังขายแผนที่ให้กับบริษัทอื่นๆนำไปใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น Yahoo, Microsoft และผู้พัฒนาแอพที่เกี่ยวข้องกับแผนที่หลายๆรายก็ใช้บริการแผนที่ของ Here Maps รวมถึงการสร้างแอพของตัวเองไปลงบนระบบปฏิบัติการอื่นๆด้วย
- Nokia Networks ที่เป็นบริษัทสำหรับวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเน็ตเวิร์ครายใหญ่ และเป็นธุรกิจที่ทำกำไรให้กับ Nokia มาตลอดในช่วงหลัง และยิ่งในช่วงนี้ ในตลาดองค์กรและเน็ตเวิร์คของโลกเหลือผู้เล่นรายใหญ่ๆที่นับรวม Nokia Networks เข้าด้วยแล้ว ก็เหลือเพียง 3 รายเท่านั้น เพราะฉะนั้นนี่คือแหล่งกำไรที่ Nokia จะมุ่งเน้นต่อจากนี้แน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนที่ทั่วโลกกำลังต้องเร่งวางระบบโครงข่าย 4G อยู่แบบนี้ นี่คือโอกาสของ Nokia
- Technology Divisions (Nokia Technologies) หรือส่วนที่ดูแลด้านเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะคอยคิดค้นสิ่งใหม่ๆต่างๆทั้งทางด้านซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์ รวมถึงการดูแลเรื่องสิทธิบัตร (Patent) และการให้ไลเซนส์ต่างๆกับผู้สนใจ
ซึ่งนี่คืออนาคตที่จะเป็นของ Nokia ภายหลังจากที่ไม่มีส่วนผลิตมือถืออีกแล้ว
เงื่อนไขกลับเข้าสู่ตลาดสมาร์ทโฟนของ Nokia
เงื่อนไขหนึ่งที่ประกาศชัดเจนตอนที่ Microsoft เข้าซื้อกิจการส่วนผลิตมือถือของ Nokia คือ Nokia จะให้สิทธืในการใช้ชื่อแบรนด์ Nokia ในการทำตลาดมือถือของ Microsoft ได้ โดยแบ่งเป็นตลาดสมาร์ทโฟนที่ Microsoft จะใช้ชื่อแบรนด์ Nokia ทำตลาดได้ถึงปี 2016 และสำหรับตลาดฟีเจอร์โฟน Microsoft จะใช้ชื่อ Nokia ทำตลาดได้ถึงปี 2024 (10 ปีหลังการสัญญามีผล)
และระหว่างนั้น Nokia จะไม่สามารถกลับสู่ตลาดมือถือได้ ภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน นั่นทำให้ในความเป็นจริงแล้ว Nokia จะไม่สามารถกลับสุ่ตลาดสมาร์ทโฟนได้ ก่อนปี 2016 จะสิ้นสุดลง (หรือพูดง่ายๆคือ ปี 2017 นั่นเอง) ไม่ใช่ 10 ปีอย่างที่หลายๆคนเข้าใจ
และด้วยเงื่อนไขนี้เอง ประกอบกับการที่ช่องทางโซเชียลของ Nokia เริ่มมีการปล่อยข้อมูลแย้มๆว่า Nokia อาจจะกลับมายังตลาดผู้บริโภค (Consumer product) เร็วๆนี้
ด้วยคำว่า “ตลาดผู้บริโภค” นั่นทำให้หลายๆฝ่ายตีความว่า Nokia เตรียมที่จะกลับสู่ตลาดสมาร์ทโฟนหลังปี 2016 ตามเงื่อนไขที่มี และคาดการณ์กันไปว่า Nokia อาจจะกลับมาด้วยมือถือระบบปฏิบัติการ Android
แต่นั่นดูจะเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงที่เปิดเผยวันนี้
Nokia Technologies
นี่คือหน่วยงานที่เป็นแหล่งเริ่มต้นของข่าวลือทั้งหมด เกี่ยวกับการกลับมาของ Nokia ในตลาดมือถือ เพราะหน่วยงานนี้รับผิดขอบในส่วนของการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับตลาดองค์กร (Enterprise) และตลาดผู้บริโภค (Consumer) รวมถึงข่าวลือที่ว่า Nokia โยกคนจากส่วนกิจการมือถือออกมาทำงานที่ CTO Office ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานนี้ นั่นทำให้ทุกอย่างมีน้ำหนักมากขึ้นเกี่ยวกับการกลับมายังตลาดมือถือของ Nokia
และผลงานของหน่วยงานนี้ในช่วงหลังคือ การพัฒนาแอพบนระบบปฏิบัติการ Android อย่าง Z Launcher หรือการรับสมัครคนที่มีความรู้เกี่ยวกับระบบปฏิบัติการมือถือ เข้าทำงานในโครงการบางอย่างที่เกี่ยวข้องทั้งเทคโนโลยีมือถือ (ระบบAndroid) และการถ่ายภาพ ภายใต้ชื่อโครงการ “Project Crystal”
นั่นทำให้ Nokia Technologies เป็นความหวังของแฟน Nokia ว่า Nokia อาจจะกลับมายังตลาดที่เราคุ้นเคย ภายใต้ระบบปฏิบัติการใหม่ในเร็ววัน
ซึ่งมีแนวโน้มสูงมากว่าจะเป็นไปได้ และหลายๆฝ่ายรวมถึงผมเอง ก็เชื่ออย่างนั้นมาตลอด
ความหวังพังทลาย เมื่อ CEO ยืนยันเอง
วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2014) ในงานแถลงทิศทางของบริษัทต่อผู้ถือหุ้นที่ลอนดอน คุณ Rajeev Suri CEO คนปัจจุบันของ Nokia เองระบุว่า
ทิศทางของ Nokia ต่อตลาดผู้บริโภคภายใต้หน่วยงาน Nokia Technologies นั้นชัดเจนว่าจะไม่หันกลับมาทำมือถือภายใต้แบรนด์ Nokia เองแน่นอน สาเหตุส่วนหนึ่งเพราะทาง Nokia เองไม่เห็นโอกาสทำกำไรจากตลาด Android
ซึ่งอย่างที่เราทราบกันว่าตลาด Android เองก็ไม่มีที่ยืนให้กับผู้เล่นหน้าใหม่ๆมากนัก
คุณ Suri ย้ำชัดว่า Nokia เองจะไม่กลับมาทำมือถือสำหรับตลาดผู้บริโภคด้วยตัวเอง “We are not looking to a direct consumer return to handsets per se”
คำว่าด้วยตัวเองหมายถึงอะไร?
คำตอบอยู่ในรูปด้านล่างนี้ครับ
ทิศทางที่ Nokia กำหนดให้หน่วยงาน Nokia Technologies เป็นคือ การให้ไลเซนส์ต่างๆกับผู้สนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิทธิบัตรต่างๆ แม้กระทั่งการให้ไลเซนส์ “ชื่อแบรนด์ Nokia” สำหรับผู้สนใจด้วย (Brand Licensing)
นั่นทำให้ในท้ายที่สุด เราก็ยังจะมีโอกาสเห็นชื่อ Nokia กลับมาในตลาดมือถืออีกครั้ง
แต่ด้วยผู้ผลิตรายอื่นที่ไม่ใช่ Nokia แต่ใช้ชื่อแบรนด์ Nokia ในการทำตลาด
โดยมี Nokia สนับสนุนด้านอื่นๆ เช่นเรื่องของการออกแบบ (design) แต่จะไม่ใช่มือถือแท้ๆจาก Nokia ที่ลงมือทำทั้งหมดด้วยตัวเองอีกแล้ว
นี่เป็นจุดยืนที่ชัดเจนสำหรับตลาดมือถือของ Nokia ภายใต้การบริหารของคุณ Rajeev Suri
แต่ Nokia เองก็อาจจะกลับมาในตลาดผู้บริโภค ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ต่างออกไป เพราะถึงแม้จะปิดประตูชัดเจนสำหรับตลาดมือถือ แต่ว่าสำหรับตลาดอื่นที่เกี่ยวข้องอย่าง Set-top box หรือกล้องดิจิตอลนั้นก็ยังมีความเป็นไปได้ แต่แนวทางก็ยังอาจจะเป็นการจับมือกับผู้ผลิตรายเล็กถึงกลางในตลาดมากกว่าการลงมือทำด้วยตัวเองตั้งแต่ต้น
ชัดเจนในจุดยืนและน่าจะจบยุคสมัยมือถือของ Nokia อย่างแท้จริง
สำหรับวันนี้ ตอนนี้และภายใต้การนำของคุณ Rajeev Suri นั้นชัดเจนแล้วว่า Nokia จะถอนตัวจากตลาดสมาร์ทโฟน (รวมถึงมือถือ) อย่างถาวร การที่เราจะเห็นชื่อมือถือของ Nokia อีกครั้งนั้นไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่จะเป็นในรูปแบบการจับมือกับพันธมิตรรายอื่นและ Nokia ยืนดูอยู่ห่างๆแบบไม่มีความเสี่ยง
น่าสนใจว่าถึงแม้ Nokia จะมองเห็นช่องทางการให้ไลเซนส์แบรนด์ของตัวเองกับผู้สนใจ แต่จะมีผู้ผลิตรายใหญ่รายไหนที่จะเลือกทางเดินนี้ เพราะการลงทุนทำมือถือภายใต้ชื่อแบรนด์คนอื่น ถึงแม้จะเป็นแบรนด์ที่ยังมีความขลังในสายตาแฟนๆ แต่ว่าก็ไม่ส่งผลให้แบรนด์ของตัวเองเป็นที่จดจำขึ้นแต่อย่างใด
ยกตัวอย่างเช่น Microsoft ที่มีสิทธิ์ใช้ชื่อแบรนด์ Nokia ทำตลาดสมาร์ทโฟนถึงสิ้นปี 2016 แต่ตอนนี้ Microsoft ก็ยืนยันชัดเจนแล้วเช่นกันว่าจะไม่ใช้แบรนด์ Nokia ทำตลาดแล้วทั้งๆที่ยังเหลือเวลาอีกกว่า 2 ปี
ดันแบรนด์ตัวเอง ดีกว่าแน่นอนในสายตาของ Microsoft
ซึ่งนั่นก็น่าคิดว่า แบรนด์อื่นๆที่ Nokia คิดว่าน่าจะสนใจในแนวทางนี้นั้น จะมีสักกี่แบรนด์ที่เอาด้วยกับ Nokia
และะนั่นอาจทำให้ความหวังที่เราจะเห็นแบรนด์ Nokia บนโทรศัพท์หลังจากนี้ ลดลงเหลือแทบจะเป็นศูนย์ แม้จะเป็นการไลเซนส์แบรนด์จากผู้ผลิตรายอื่นก็ตาม
ทางที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ Nokia อาจจะต้องจับมือกับผู้ผลิตมือถือ OEM รายใหญ่ๆเช่น FoxConn เป็นต้น แต่ Foxconn จะเอาด้วยมั้ย นั่นเป็นเรื่องที่ต้องดูกันต่อไปครับ
ที่มา: ZDNet, WindowsCentral, Nokia, PhoneArena, MyNokiaBlog