รีวิว Lenovo Yoga Pro 3 ที่สุดของอัลตร้าบุ๊ค แข็งแรงทนทาน แต่บางและยังเบา
อัลตร้าบุ๊ค หรือโน๊ตบุ๊คในสมัยนี้ มีการพัฒนามากขึ้นในเรื่องของความเหมาะสมในการพกพา ต้องสะดวก ต้องแข็งแรง ต้องบางเบา และที่สำคัญ ต้องสวยงามครับ เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องของการทำงานแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามันก็เป็นสิ่งที่บอกถึงตัวตนผู้ใช้อีกทางหนึ่งด้วย ฉะนั้นเครื่องอัลตร้าบุ๊คปัจจุปันภายนอกย่อมสำคัญไม่ต่างไปจากภายใน การทำงานรวดเร็ว หน้าตาก็ต้องเลิศเลอ นั้นคือนิยามของแนวทาง Yoga Pro 3 ที่ทาง Lenovo ตั้งใจทำออกมาครับ
ตัวเครื่องผิวสัมผัสโลหะ ดูแข็งแรงทั้งด้านหน้าและด้านหลัง การออกแบบเรียบ ง่าย เน้นความ แต่จริงๆ แล้วแอบดีไซด์ให้มีขอบเครื่องปกป้องตัวเองด้วยพลาสติกกึ่งยางสีดำที่ซ่อนหลบตาเอาไว้รอบเครื่องครับ และฐานรองด้านหลังในจุดที่เป็นฐานรองรับน้ำหนัก ฝาปิดบนและใต้เครื่องทำสีเดียวกัน ดูสวยงามทีเดียวครับ
บานพับสแตนเลสสี่แถว 19 ตอน เป็นเครื่องเดียวในโลกที่ใช้นวัตกรรมขาพับในลักษณะเหมือนสายนาฬิกา ประโยชน์คือองศาการพับหน้าจอที่ทำได้แบนราบมากกว่ารุ่นเดิม และเพิ่มความหรูสุดๆ ให้กับตัวเครื่องครับ ดูแข็งแรงมากทีเดียว ทดสอบพับฝาเข้าๆ ออกๆ ให้ความหนืดในระดับกำลังดีครับ
ความบางที่สยบทุกสายตา (เอ๊ะคำคุ้นๆ ^^) แต่บางมากจริงๆ ครับ บางจับใจ ทั้งตัวเครื่องรวมแล้วหนาเพียงแค่ครึ่งนิ้วเท่านั้นเอง รวมทั้งน้ำหนักตัวเครื่องที่เบามาก 1.19 กิโลกรัม ทำให้ได้เปรียบมากในการพกพา ใครที่เคยเจอปัญหาเจ้าโน๊ตบุ๊คคู่ใจใหญ่เกินจะแบกไปไหนต่อไหน ตัวนี้สบายๆ แบบตอบโจทย์เลยครับ สามารถใส่กระเป๋าสะพายที่ไม่จำเป็นต้องใบใหญ่หรือรับน้ำหนักมากๆ ได้ นี่เป็นส่วนที่สำคัญ เพราะสำหรับอุปกรณ์เหล่านี้ ต่อให้ดีเพียงใด แต่ถ้าไม่สะดวกจะพกไปไหนก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรในการใช้งานจริงครับ
บางมาก เมื่อมองดูจากด้านข้างแบบนี้ สวยจนสะดุดตาแน่นอน
วัสดุด้านในเป็นกึ่งยาง ทนทานแต่มีคราบนิ้วมือได้ง่าย จับกระชับไม่ลื่น การที่ Lenovo เลือกใช้วัสดุแบบนี้นั้นเพราะตัว Yoga 3 Pro มีโหมดการทำงานเป็นเหมือนเครื่องแท็บเล็ต ที่จำเป็นต้องพับคีย์บอร์ดไปยังทางด้านหลังเพื่อเป็นฐานวางตั้ง ถ้าวัสดุในส่วนสัมผัสพื้นไม่แข็งแรงพอ หมดสวยแน่ๆ ครับ
ขุมพลัง CORE m เด่นที่เงียบและประหยัดพลังงาน ส่วนประสิทธิภาพว่ากันว่าด้อยกว่า CORE i ในเลขระดับใกล้เคียงกัน แต่ในประสิทธิภาพที่ว่านั้น จะเห็นผลก็คงจะต้องเป็นงานหนักๆ เช่นการเรนเดอร์วีดีโอหรือการเล่นเกม แต่สำหรับการใช้งานเชิงเอกสาร เว็บไซด์ หรือการทำงานทั่วๆ ไป จากที่ทดสอบใช้งานมา เจ้าตัว Yoga 3 Pro ที่วางจำหน่ายในบ้านเรา แรงเกินจะพอครับ
Lenovo Yaga 3 Pro Sepcification
- Intel® Core™ M-5Y71 Processor (1.2GHz up to 2.9GHz, 4MB Cache)
- Window 8.1 64bits
- 8GB DDR3L/1600MHz (onboard)
- 256GB SSD
- Intel® HD Graphics5300 (Maximum Share memory 3.8GB)
- 13.3″ QHD+ 3200×1800 IPS, Multi-touch 10point
- IEEE802.11AC + Bluetooth 4.0
- miocro-HDMI, USB 2.0 1port, USB 3.0 1port
- 1.19 Kg
- Integrated JBL® stereo speakers(1.5Wattx2) with Waves Audio certification
- 2-years Regional Carry-in Warranty
- ราคา 59,990 บาท
จะเห็นว่าราคาแรงไม่ใช่เล่นนะครับ เพราะนอกจากเรื่องสเปคที่จัดเต็มเป็นตัวท็อบแล้ว ยังต้องดูในเรื่องของความยากในการผลิตอีกด้วย การจะผลิตเครื่องระดับสูงในขนาดเครื่องและน้ำหนักระดับแค่นี้นับว่ามีอยู่ไม่กี่ตัวในตลาดครับ
ด้วยบานพับแบบพิเศษที่พับได้ 360 องศา และหน้าจอแบบทัชสกรีน (รองรับมัลติทัช 10 จุด) ทำให้ Lenovo Yoga 3 Pro สามารถทำงานได้ถึงสี่ลักษณะ เช่นการทำงานแบบปกติ หรือเป็นแบบแท็บเล็ต เป็นต้นครับ รูปแบบตามด้านล่าง ทั้งสี่แบบนี้ทาง Lenovo นำเสนอมาให้ รองรับไลฟ์สไตล์ผู้ใช้หลายๆ แบบครับ
แอพดิสคัสแถมให้อีกสองแบบ ^^ มุมมองอ่านหนังสือ กับมุมมองใช้ในโต๊ะประชุม
หน้าจอแสดงผล QHD+ 3200×1800 ความละเอียดสูง แต่แน่นอนเมื่ออยู่บนระบบ Windows เราคงไม่สามารถใช้งานความละเอียดแบบเต็มของมันได้ คงต้องขยายไอคอนและขนาดฟ้อนต์ขึ้นมาสัก 125% หรือ 150% ไม่งั้นตัวหนังสือต่างๆ และไอคอนใช้งานต่างๆ จะเล็กมากครับ แต่ยังคงได้เปรียบเครื่องที่มีหน้าจอความละเอียด FullHD ที่ต้องขยายหน้าจอให้หยายลงไปอีกเช่นกัน แต่ในการขยายไอคอนและฟ้อนต์ จะไม่ส่งผลกับภาพพื้นหลัง แอพพลิเคชั่นที่ออกแบบเพื่อการรองรับ และการเล่นไฟล์วีดีโอนะครับ ความละเอียดที่คมชัดสูง ก็ยังสวยสบายตากว่าอยู่ดี
กระจอหน้าจอของ Lenovo Yoga 3 Pro มีเงาสะท้อนอยู่พอสมควรเวลามองในมุมเฉียงๆ ครับ
ตัวคีย์บอร์ดของ Yoga 3 Pro มีไฟแบ็คไลท์สีขาว ปุ่มสัมผัสแน่น นูนรับนิ้ว สวยดีครับ แต่การจัดวางเรียงปุ่มเป็นแบบของทาง Lenovo เอง ผู้ใช้ที่ชินกับการเปลี่ยนภาษาด้วยปุ่มลูกน้ำ (grave accent ) อาจจะไม่ถนัด คงต้องปรับพฤติกรรมการพิมพ์เล็กน้อยครับตรงจุดนี้
เมาท์แพดของ Yoga 3 Pro ตอบสนองดีครับ แต่เป็นรอยนิ้วมือง่ายมาก โดยเฉพาะถ้ามือมันๆ เห็นเลยครับ ส่วนการทำงาน รองรับทั้งการสไลด์จากขอบซ้าย ขอบขวาและขอบบน (เพื่อสลับแอพใช้งาน เรียก Charm และเปิดเมนู ตามลำดับใน Windows 8.1 ขณะใช้งานแอพ)
สิ่งที่ Lenovo ทำมาไว้แตกต่างจากการใช้งานเมาท์แพดของเจ้าอื่นๆ คือการกดคลิ๊กเมาท์ซ้ายโดยการทัชสองนิ้วนั้น สำหรับเมาท์แพดของ Lenovo ต้องทำการกดลงไปจริงๆ บริเวณริมขอบด้านซ้ายหรือขวา ช่วงกลางๆ ของเมาท์แพดครับ จะเป็นการแทนการคลิ๊กเมาท์ขวาได้
บริเวณด้านข้างเครื่องของ Yoga 3 Pro ทั้งสองข้าง เต็มไปด้วยพอร์ตและปุ่มคำสั่งครับ โดยทางด้านขวาจะไล่เรียงมาเลยสำหรับปุ่มพาวเวอร์ที่ทำหน้าที่เป็นไฟแจ้งเตือนสถานะ และปุ่มลัดสำหรับเข้า Bios ตามมาด้วยปุ่มล็อกแกนแสดงผลของหน้าจอ ปุ่มปรับระดับเสียง รูหูฟัง และพอร์ต USB ที่มีแรงดันไฟฟ้าสำหรับการชาร์จพลังงานให้กับอุปกรณ์ภายนอกได้ดีกว่า USB ที่อยู่ทางฝั่งซ้ายครับ
ทางฝั่งซ้ายจะมีพอร์ตสำหรับชาร์จพลังงาน (พอร์ตสีเหลือง) และพอร์ต USB, Micro HDMI และสล็อตใส่ SD card
ทดสอบการใช้งานแบตเตอรี่ของตัวเครื่อง สามารถใช้งานได้ในโหมด Balanced ได้ยาวนานประมาณ 8 ชั่วโมงครับ เราสามารถสลับโหมดได้ง่ายๆ ด้วยการคลิ๊กที่ไอคอนแบตเตอรี่ ตัวเครื่องจะยังสามารถระบุโหมดการชาร์จพลังงานเข้าได้สองรูปแบบ คือแบบปกติ และแบบโหมดทะนุถนอม ที่จะจัดสรรกระแสไฟฟ้าเข้าในระดับที่ก่อให้เกิดเอฟเฟ็กต์ต่อตัวเครื่องน้อยที่สุดและประหยัดไฟฟ้ามากที่สุดครับ
แอพพลิเคชั่น Lenovo Setting ที่ออกแบบมาเพื่อให้เราสามารถเข้าถึงการทำงาน ต่างๆ ที่สำคัญของเครื่องได้เกือบทั้งหมดครับ
อีกหนึ่งตัวที่ออกแบบมาสำหรับผู้ใช้งานที่ต้องการฟังชั่นล้ำๆ การปลดล็อกเข้าเครื่องโดยการแสกนหน้าไม่ต้องพิมพ์รหัส
และฟังชั่นเด็ดสำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟน คือการเชื่อมต่อหน้าจอของเครื่องแอนดรอยด์ ให้มาแสดงยังหน้าจอของเครื่อง Yoga 3 Pro ของเรา ทำการสั่งงานได้ทุกๆ อย่างเหมือนทำผ่านเครื่องสมาร์ทโฟนโดยตรงเลยครับ
การสั่งงานดูหนัง เปิดภาพ โดยใช้สัญลักษณ์มือผ่านกล้อง ฟังชั่นเหล่านี้มีมาให้ภายในเครื่องเยอะเลยครับ
จุดหนึ่งที่น่าสังเกตคือ ปุ่มสตาร์ทด้านล่างหน้าจอของเครื่อง Yoga 3 Pro บางครั้งทัชไม่ติด เจอหลายครั้งตลอดการทดสอบครับ
มาถึงเรื่องของเสียง หลายๆ คนอาจจะรู้แล้วว่า เจ้าตัว Lenovo Yoga 3 Pro มาพร้อมกับระบบเสียงจาก JBL (สลักไว้บนหน้าแป้นพิมพ์ซะสวยเลยด้วย) โดยจะมีการทำงานผ่านลำโพงสองตัวด้านใต้เครื่อง จากการทดสอบฟังเสียง ให้เสียงที่แน่นดีนะครับ เป็นลูกๆ แต่ถ้าจะฟังแบบจับผิด เสียงยังฟังบวมๆ อยู่สักหน่อย แต่โดยรวมให้เสียงที่ดีแล้วครับ
ระบบปรับแต่งเสียงจาก MAXX Audio ที่จะมีพรีเซ็ตเสียงให้เราเลือกใช้งานได้ในสถานะต่างๆ หรือจะปรับแต่งเองก็ได้ตามใจครับ แอพสวยดีทีเดียว มีพร้อมไว้ให้ใช้แต่แรกเริ่มครับ
เทียบกับ Lenovo Yoga ตัวเก่าที่อยู่ในออฟฟิตแอพดิสคัส
ที่ชาร์จจะเป็นขาเสียบสองขาแบบแบน พับเก็บได้ สายใหญ่แข็งแรงยาวประมาณสองเมตรครับ
สรุปท้ายรีวิว
โดยรวมแล้วสำหรับการทำงานของ Lenovo Yoga 3 Pro ถือว่าเป็นเครื่องที่อยู่ในระดับสูงครับ เครื่องทำงานได้เงียบมาก เพราะไร้พัดลมในการระบายอากาศ แต่ยังไม่เจอปัญหาความร้อนสะสมจนเครื่องเกิดปัญหาในขณะทดสอบนะครับ ตัวเครื่องสวย แต่โหมดต่างๆ ที่เขาออกแบบมา จริงๆ แล้วไม่ค่อยได้ใช้หรอกครับ ใช้ในลักษณะปกติซะมากกว่า หน้าจอสีสด แต่กระจกมีเงาสะท้อนสูง ปุ่ม Start ทัชไม่ติดในบางครั้ง นั้นคือสองปัญหาที่เจอในเครื่อง Lenovo ตัวนี้
ส่วนสิ่งที่ประทับใจคือเรื่องของฟังชั่นการทำงานที่ขนมาให้มากมายภายในเครื่อง และการออกแบบของรูปลักษณ์ภายนอกที่ต้องบอกว่ารักเลยละครับถ้าได้ลองสัมผัสเครื่องตัวจริงของมันดู สมราคาที่วางค่าตัวเอาไว้ถึง 59,990 บาท แต่ส่วนใหญ่ ผมให้น้ำหนักไปในเรื่องของตัวเครื่องและการออกแบบมากกว่าความคุ้มค่าในด้านการใช้งานนะครับ ถ้าใครชอบเครื่องอัลตร้าบุ๊คสวยๆ ประสิทธิภาพสูงๆ ตอนนี้ก็เป็น Yoga 3 Pro นี่แหละครับ ที่เข้าตา
[gradeA]