จากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป หลังจากการประมูลคลื่น 900MHz ได้จบลง
จบลงไปแล้วนะครับ สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ในประเทศไทย หลังจากยื้อยุดฉุดราคากันไปร่วมเกือบสัปดาหฺ์ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่าผู้ที่ได้ถือครองช่วงความถี่ 905-915 MHz ในราคา 75,654 ล้านบาท ได้แก่ JAS หน้าใหม่ที่จะเข้ามาเป็นผู้ให้บริการต่อไปในอนาคตของเมืองไทย และผู้ที่ได้ครองคลื่นความถี่ 950-960 MHz ก็คือ Truemove H นั้นเองครับ ในราคา 76,298 ล้านบาท
สำหรับผู้ที่พลาดหวังไปสองรายนั้นก็คือ AIS และ dtac
ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจบการเปิดประมูลทั้งคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่ผ่านมาเมื่อเดือนก่อนและคลื่นความถี่ 900 MHz ครั้งที่ผ่านมา ย่อมส่งผลกระทบต่ออนาคต ภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่น ของทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้งานเป็นอย่างมาก อย่างที่เห็นกันว่ามีการทุ่มเม็ดเงินลงไปกันมากขนาดไหน นั้นเพราะมันไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการได้คลื่นมาขยายตลาด แต่เป็นเรื่องของการทุบคู่แข่งให้จมลงดินด้วยเช่นกัน
จนถึงวันนี้ ถ้าจะคิดสรุปว่าเครือข่ายใดมีคลื่นในมือมากที่สุด ก็จะเรียงตามลำดับได้เป็น
- True มี 55 MHz
- dtac มี 50 MHz
- CAT มี 35 MHz
- AIS มี 30 MHz
- TOT มี 15 MHz (ไม่รับรวมคลื่น 2300 MHz)
- JAS มี 10 MHz
เรามาไล่ดูทีละเครือข่ายตามลำดับกันดีกว่าครับ
Truemove H อนาคตช่างสดใส มีคลื่นความถี่ในมือมากที่สุด รวมแล้วกว้างถึง 55 MHz มีทั้งคลื่นความถี่ย่านสูงและย่านต่ำครบมือ แถมยังมีระยะเวลาให้ใช้งานได้อีกยาวนานอย่างต่ำเป็นสิบปี ทำตลาดได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่สำคัญในวันนี้ก็พร้อมแล้วกับการให้บริการบนระบบ 4G เรียกว่านำไปแล้วทั้งในเรื่องการบริการรวมถึงจำนวนคลื่นที่รองรับในอนาคตเลยครับ แต่นั้นก็หมายถึง Truemove H ได้ทุ่มเม็ดเงินลงไปกับการประมูลนับแสนล้าน ยังไม่นับรวมค่าดำเนินการต่างๆ ในอนาคต ภาระหนักอึ้ง การดำเนินงานต่อไปจะเหมือนภูเขาใหญ่ขยับ ไม่ต้องจับตามองก็อยู่ในความสนใจ
ตอนนี้ Truemove H มีสินค้าอยู่ในมือแล้ว แถมยังมีจำนวนสินค้ามากที่สุด และก็รับมาแพงมากซะด้วย เขามีโอกาสที่จะทำเงินได้มากกว่าใครแต่ต้องขายของให้ได้ก่อนก็เท่านั้นครับ
เราน่าจะเห็นการขยายทำตลาดดึงดูดผู้ใช้แบบเต็มพิกัดจากทาง Truemove H ในอนาคตเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไป และแน่นอนครับว่า จะได้เห็นการยิงโฆษณาข่มทับคูู่แข่งทางตัวเลขแน่นอน ในเรื่องของจำนวนย่านความถี่ที่ตอนนี้เขามีมากถึง 55MHz
สำหรับ dtac นี่สิครับน่าจับตามองว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะในขณะนี้จริงๆ แล้ว dtac นับว่าเป็นผู้ให้บริการที่มีคลื่นความถี่ในมือเยอะมากอยู่เช่นกัน รวมแล้วมีถึง 50MHz ไม่ธรรมดา แต่ค่อนข้างโชคร้ายที่กว่าครึ่งต้องคืนไปให้แก่ กสทช. ในอีกสามปีข้างหน้า (2561) จะเหลือที่เป็นของตัวเองจริงๆ ก็แค่คลื่น 2100 MHz จำนวน 15MHz ที่ตัวเองประมูลได้มาเมื่อปี 2555 และจะหมดภายในปี 2570
นั้นหมายความว่าอย่างไรก็ตาม dtac ก็จะยังมีคลื่นให้ทำตลาดไปได้อีก 12 ปีเป็นอย่างน้อย แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ dtac จะทำอย่างกับระยะเวลาภายในสามปีนี้ที่ยังมีคลื่นความถี่ในมือมากถึง 50 MHz และจะทำอย่างไรกับอีกสามปีข้างหน้าที่จะเหลือคลื่นในมือเพียงแค่ 15 MHz แต่เชื่อว่าน่าจะโดน True แซงในเรื่องของจำนวนผู้ใช้ในระยะเวลาไม่นานนี้แน่นอน
ซึ่งวันนี้หลังจากจบประมูล คุณลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ dtac ได้เดินสายขอบคุณและเยี่ยมลูกค้าตามดีแทค ฮอลล์สาขาต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้และพนักงานอย่างเร่งด่วนเลยครับ สิ่งที่ dtac จะทำได้จากวันนี้เป็นต้นไป คือการสร้างความพึงพอใจและความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าเดิม โดยการเพิ่มคุณภาพของสัญญาณที่เขามีอยู่อย่างเต็มที่ และพยายามรักษาฐานลูกค้าดั้งเดิมที่มีอยู่ เชื่อว่าผู้ใช้ dtac จะได้เห็นโปรโมชั่นและการเอาใจจาก dtac ได้มากขึ้นในช่วงระยะเวลาต่อจากนี้ครับ เป็นค่ายที่น่าจะใช้แล้วสนุกทีเดียว
ส่วนผู้ให้บริการ CAT หรือ กสท โทรคมนาคม รัฐวิสาหกิจเจ้าใหญ่ของประเทศไทย ในปัจจุปันดูจะชิวไม่ออก แม้จะมีคลื่นในมือมากถึง 35 MHz แต่ก็เหมือนไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเลย คลื่น 850 MHz ที่มีอยู่ก็ปล่อยให้ True เช่าไปแล้ว 80% และคลื่น 1800 MHz ที่กะจะเอามาทำตลาดให้บริการแบบ 4G ก็จะหมดสัมปทานลงพร้อมๆ กับทาง dtac ในอีกสามปีเท่านั้นเอง
สิ่งที่ CAT เจออยู่คืออาการกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก อยากจะพยายามดิ้นรนฟ้องร้องต่อศาลเพื่อคุ้มครองการถือสิทธิคลื่น 1800 MHz ก็จะกลายเป็นการขวางทางประมูล และชาติก็สูญเสียรายได้มหาศาล หรือจะให้เข้าไปร่วมประมูลกับบริษัทเอกชนก็ดูจะแปลกๆ เพราะตัวเองเป็นรัฐวิสาหกิจ สุดท้ายแล้วได้แต่ลุ้นขอขยายระยะเวลาสัมปทานของคลื่น 1800 MHz ออกไปอีก 7 ปี เพื่อการทำธุรกิจต่อไปได้ในอนาคต เพราะ CAT เองก็เป็นอีกหนึ่งค่ายที่อยากจะเปิดบริการ 4G บนคลื่น 1800 ด้วยเช่นกัน
สำหรับ AIS ยักษ์ใหญ่สีเขียว ค่ายที่มีจำนวนผู้ใช้งานมากที่สุดในประเทศไทย หลังได้คลื่น 1800 MHz มาเหมือนเขื่อนแตก อดทนอดกลั้นมานานหลายปี ในที่สุดก็ได้คลื่นมาเพื่อขยายบริการ 4G สักที พลาดหวังไปหน่อยกับการแพ้ประมูล วืดคลื่น 900MHz ซึ่งน่าจะเป็นคลื่นสำคัญของ AIS เลยทีเดียวเพราะเป็นคลื่นหลักเก่าของทางค่าย
สิ่งที่ AIS ขาดไปวันนี้คือคลื่นความถี่ต่ำ ไม่เหลือในมืออีกแล้วและจะได้มาอีกเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ อาจจะสร้างความลำบากในการวางเสาเพื่อครอบคลุมพื้นที่ในวงกว้าง ซึ่งเคยเป็นจุดแข็งของ AIS มาโดยตลอด ก็ต้องดูไปว่า AIS จะทำอย่า่งไรกับการกระจายสัญญาณความถี่ 1800 และ 2100 MHz ที่มีอยู่ในมือ
จริงๆ แล้วสำหรับ AIS อะไรอะไรก็ยังขาดไปทั้งหมดนั้นแหละครับ เพราะมีลูกค้าในมือเยอะมากและทุกคนก็ต้องการคุณภาพที่ดีขึ้นกว่าสองสามปีที่ผ่านมา ความตั้งใจที่จะขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้นและรักษาความพอใจให้กับลูกค้าเก่า จำเป็นต้องใช้ย่านสัญญาณที่มากขึ้นไปอีก แต่เชื่อเถอะว่าค่ายนี้เก่งครับ ตอนนี้มีอยู่ในมือรวม 30MHz แม้จะไม่เยอะมากมายเมื่อเทียบกับคู่แข่ง แต่ก็มั่นคงเพราะสามารถใช้งานได้อีกยาวนานเกือบยี่สิบปี และที่ผ่านมาทดสอบแล้วว่าสามารถอยู่มาได้ด้วยความถี่ที่จำกัดโดยแบกรับจำนวนผู้ใช้มากที่สุดในประเทศไทยได้ ในวันนี้ผมเชื่อว่าเขาจะทำได้ดีมากขึ้นไปอีกครับแม้จะไม่มีคลื่น 900MHz ก็ตาม ถ้าที่ผ่านมาคุณพอใจแล้ว วันข้างหน้าได้พอใจกันมากขึ้นแน่นอน
ส่วนทาง TOT ซึ่งเป็นอีกหนึ่งรัฐวิสาหกิจที่มีคลื่นความถี่ 1800 MHz อยู่ 15 MHz และยังถือครองคลื่น 2300 MHz จำนวนกว่า 60 MHz ที่ถือไว้เฉยๆ ค่ายนี้ดูจะชิวแสนชิวตามสไตล์ลูกครึ่งกึ่งรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ใช้งานของ CAT และ TOT ทุกวันนี้มีไม่มากอยู่แล้วครับ ยังคงใช้บริการในระบบ 3G อยู่รวมกันประมาณหนึ่งล้านราย ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นสองเครือข่ายที่อยู่นิ่งๆ หาทางออกไปกันเรื่อยๆ อยู่เช่นเคยครับ
รายสุดท้ายและรายใหม่ล่าสุด JAS (JAS Mobile Broadband) บริษัทในเครือของบริษัท จัสมินอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) แม้จะชื่อไม่คุ้นแต่ไม่ได้ใหม่ไร้โปรไฟล์แต่อย่างใด ดีกรีระดับบริษัทที่ทำด้านโทรคมนาคมมาหลายประเภท มีความพร้อมทั้งในเรื่องของเงินทุน ทีมงาน และผู้บริหาร
ตอนนี้ JAS ได้เข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการเครือข่ายอย่างเต็มตัว ครองคลื่นความถี่ 900MHz จำนวน 10MHz ยาวนาน 15 ปี ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ต่ำที่มีประโยชน์ในด้านการกระจายสัญญาณครอบคลุมพื้นที่ในวงกว้าง แม้จะยังมีคลื่นอยู่ในมือไม่เยอะมากแต่เพียงพอแน่นอนสำหรับผู้ให้บริการหน้าใหม่ และทาง JAS จะหยิบคลื่น 900 มาทำ 4G แน่นอนครับ โดยจะใช้เสาที่เช่าเอาจากทางกองทุนโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม (ทรูจีไอเอฟ หรือ TRUEGIF ของบริษัท TRUE) ไม่ต้องนับหนึ่งใหม่ในช่วงเริ่มต้น แก้ปัญหาเรื่องการวางเสาซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงเรื่องหนึ่งในการดำเนินการ
JAS ดูจะมีความมั่นใจมากครับ และน่าจะเหนื่อยมากเช่นกัน กับการได้มาซึ่งย่านความถี่ที่ราคาสูงเป็นสถิติโลกครั้งนี้ ไหนจะต้องทำการโฆษณาให้คนมารู้จักและสนใจ น่าจะต้องงัดลูกเล่นใหม่ๆ มาดึงดูดคนกันเต็มที่ แต่บอกเลยว่าสำหรับคนในวงการไอทีอย่างพวกผม รอติดตามกันอย่างสนุกเลยละครับ จะมีอะไรล่อตาล่อใจเราจาก JAS บ้างนับจากนี้ไป
ภาพประกอบเพื่อง่ายต่อความเข้าใจที่จัดทำขึ้นโดย @Yoware
สำหรับผู้ใช้
แน่นอนว่ามีทางเลือกมากขึ้น มีการต่อสู้ในตลาดมากขึ้น ประชาชนผู้ใช้งานน่าจะได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ ผมไม่เชื่อว่าราคาประมูลคลื่นที่สูงลิ่วจะทำให้ราคาค่าบริการแพงมากขึ้น เพราะอย่าลืมว่ายังมีผู้ให้บริการรายอื่นๆ ในตลาดอีกที่ไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ไปในช่วงนี้
ส่วนเรื่องของการตัดสินใจจะใช้ค่ายไหนก็คงอยู่กับผู้ใช้เช่นเดิม และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในสามปีสิบปี เครือข่ายใดจะสูญเสียสิทธิการถือครองคลื่นใดไปก็ตาม แต่ผู้ใช้ก็ยังคงอยู่กับคุณภาพการใช้งานในปัจจุปันมากกว่าครับ ถ้าเขาพึงพอใจคลื่นที่ใช้งานอยู่การย้ายค่ายก็คงไม่เกิดขึ้นง่ายๆ
ก็เหมือนที่ผ่านๆ มา ไม่ได้มีใครสนใจสักเท่าไหร่หรอกว่า ค่ายไหนถือครองคลื่นอะไรเท่าไหร่ ยาวนานแค่ไหน สนใจแต่คุณภาพการใช้งานในขณะนั้นๆ เท่านั้น ผู้คนส่วนใหญ่ก็เพิ่งจะมาสนใจเรื่องจำนวนคลื่นต่างๆ มากขึ้นในช่วงการประมูลนี้แหละครับ เชื่อว่าเดี๋ยวก็กลับไปเป็นเช่นเดิม
ส่วนจำนวนผู้ใช้ใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ก็ไปวัดกันที่การประชาสัมพันธ์ คำพูดปากต่อปาก โปรโมชั่นความคุ้มค่าที่ต้องว่ากันอีกที
และสามารถติดตามเรื่องราวเพิ่มเติมจากเครือข่ายผู้ให้บริการต่างๆ ได้อีกในเร็วๆ นี้นะครับ เพราะตอนนี้แทบทุกค่ายมีการออกหมายเชิญเข้าร่วมฟังแถลงข่าวการดำเนินงานและทิศทางต่อไปจากนี้ให้กับสื่อในเมืองไทย ผมจะรวบรวมข้อมูลและนำมาแจ้งให้เพื่อนๆ ทราบกันต่อไปครับ