Samsung Gear S3 เป็นสมาร์ทวอทช์ตัวล่าสุดของซัมซุงที่นำเข้ามาจำหน่ายกันในประเทศไทยครับ ความสามารถก็พัฒนามามากกว่าเดิมเยอะเลยทีเดียว เพราะก็ออกมากันต่อเนื่องหลายรุ่นแล้ว การพัฒนาก็มาไกลแล้วละครับ ทั้งเรื่องของการใช้งานและการออกแบบตัวเรือนภายนอก สวยหรูดูดูดี ทนทาน และง่ายต่อการใช้งานมากๆ
ตัวเครื่องที่ผมได้รับมาทดสอบใช้งาน เป็น Samsung Gear S3 รุ่น Frontier นะครับ โดยเจ้า Gear S3 จะมีนำเข้ามาจำหน่ายสองรุ่นครับ รุ่น Classic ที่เน้นความหรูหราเพราะว่ามาพร้อมกับสายหนัง และรุ่น Frontier ซึ่งเป็นรุ่นที่เน้นความทนทานสักหน่อย เพราะสายที่ให้มาจะเป็นสายซิลิโคน และเป็นรุ่นที่ผ่านการทดสอบความแข็งแรงทางด้านการทหาร (Military Standard) มาด้วย ทำให้มันสามารถนำไปใช้ได้ในทุกสภาพอากาศ หนาวจัด ร้อนจัด โดยใช้กระจกหน้าจอเป็น Gorilla SR+ ป้องกันรอยขีดข่วนขั้นสูง และมีมาตรฐานการกันน้ำ IP 68 บุกตะลุยไปได้กับเราทุกที่ทุกสถานการณ์ครับ
Samsung Gear S3 รุ่นที่ไทยนำเข้ามาจำหน่ายตัวนี้ มีการเชื่อมต่อผ่านสัญญาณบลูทูธ และเชื่อมต่อสัญญาณ WiFi ได้ครับ แต่ไม่รองรับการใส่ซิมการ์ดใช้งานนะครับ สามารถใช้ในการโทรออกรับสายได้เมื่อเชื่อมต่ออยู่กับสมาร์ทโฟนเท่านั้น
สเปคของ Samsung Gear S3 ทั้งสองรุ่น
การออกแบบและวิธีการสั่งงาน[section label=”การออกแบบและวิธีการสั่งงาน” anchor=”body”]
การออกแบบภายนอกของ Samsung Gear S3 Frontie นั้นดูดุดันครับ ด้วยขนาดตัวเรือนและโทนสีบอกเลยว่าเหมาะกับผู้ชายอย่างชัดเจน ใครที่ชอบนาฬิกาเรือนใหญ่ๆ น่าจะถูกใจ ตัวงานประกอบ เนื้อวัสดุ การออกแบบ น้ำหนัก และขนาดตัวเครื่อง ผมตอบให้ว่าใช่เลย มันผู้ชายมากๆ เป็นสมาร์ทนาฬิกาที่เสริมความแมนของผู้ใส่มากพอสมควร เรื่องการออกแบบภายนอกทำออกมาแบบมีบุคลิกที่ชัดเจน
สายนาฬิกาใช้ไซด์มาตรฐาน 22 มิล สามารถนำสายนาฬิกาทั่วไปมาเปลี่ยนใช้แทนได้ถ้าต้องการ
หน้าแสดงผลของ Samsung Gear S3 ในหน้าแรก หรือ watch faces จะมีให้เราเลือกใช้มากมายหลายแบบมากๆ ผมว่ามันอาจจะมากที่สุดแล้วสำหรับอุปกรณ์ SmartWatch ในปัจจุปัน โดยมีหน้า watch faces ที่ได้รับการออกแบบมาโดยแบรนด์หรือนักออกแบบชื่อดังให้เลือกใช้เยอะมากครับ ซึ่งแต่ละหน้าปัดจะมีความสามารถต่างกันและแสดงผลข้อมูลสำคัญต่างกันอีกด้วย เอาแค่หน้าปัด watch faces ที่เราจะต้องเลือกใช้ ก็เลือกกันไม่ถูกแล้วละครับ
หลักการสั่งงานของ Samsung Gear S3 จะอาศัยการทัชและสไลด์หน้าจอรวมทั้งการหมุดวงล้อบนหน้าปัด และปุ่มควบคุมที่มีทั้งปุ่มย้อนกลับและปุ่มโฮม ในหน้าแรกเราจะสามารถสไลด์จอไปทางซ้ายเพื่อเรียกใช้ฟังก์ชั่นและแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่วางไว้เป็น Widget ด่วน และการสไลด์ไปทางขวาเพื่อเข้าหน้าการแจ้งเตือนต่างๆ ซึ่งเตือนได้แทบทุกอย่างเลย ทัชค้างบนหน้าปัดในฟังก์ชั่นที่รองรับจะเหมือนเป็นปุ่มเมนูเปิดการตั้งค่า ส่วนการสไลด์นิ้วลงจากขอบหน้าปัดด้านบน แทนการกดปุ่มย้อนกลับได้เช่นกันครับ
หน้าจอนาฬิกาขนาด 1.3 นิ้ว ใหญ่มากพอจะสามารถใช้อ่านข้อความ เช็คอีเมลเข้า รวมถึงการดูการแจ้งเตือนต่างๆ หลายอย่าง ซึ่งหลังจากผมได้ลองใช้งานเจ้า Samsung Gear S3 ทำให้ผมลดการหยิบโทรศัพท์ออกมาจากกระเป๋ากางเกงได้มากกว่า 70% เลยครับ
หน้าจอนาฬิกาจะสามารถติดขึ้นมาเองทันทีที่ยกมือขึ้นในมุมองศาที่ต้องการดูนาฬิกาครับ หรือจะกดปลุกจอขึ้นเองเมื่อต้องการก็ได้เช่นกันจากปุ่มกดข้างเครื่อง ซึ่งถ้าต้องการให้หน้าจอดับลงทันทีก็แค่เอาฝ่ามือปิดบนหน้าจอครับ
สิ่งที่ชอบเป็นพิเศษ ก็คือตัวควบคุมซึ่งเป็นวงแหวนหมุนรอบหน้าปัด มันสามารถทำงานทดแทนการสไลด์หน้าจอได้แบบคล่องตัวกว่ามาก มันสามารถหมุนซ้ายและขวาเพื่อเลื่อนตัวเลือกได้ทุกๆ ฟังก์ชั่นการทำงาน นี่คือจุดเด่นเลยครับ ออกแบบมาได้แข็งแรง ประสานการสั่งงานกับหน้าจอทัช ทำงานต่างๆ ได้คล่องตัวมาก
ตัวนาฬิกาสามารถปรับระดับความสว่าง ปรับระดับเสียงแจ้งเตือนในโหมดต่างๆ แยกกันได้ (มีลำโพงในตัว) มีตัวแท่นชาร์จเป็นแบบระบบไร้สาย แค่วางไว้ก็กลายเป็นการชาร์จ เปลี่ยนตัว Gear S3 ให้กลายเป็นนาฬิกาหัวเตียงได้ในตัวขณะชาร์จครับ
การทำงานต่างๆ[section label=”การทำงานต่างๆ” anchor=”performance”]
Samsung Gear S3 เป็นสมาร์ทวอทช์ที่สามารถใช้กับเครื่องสมาร์ทโฟนในระบบ Android (4.4 ขึ้นไป) ได้ทุกรุ่นครับ โดยจะมีความสามารถพื้นฐานที่ใส่เข้ามาไว้ในตัว เช่นระบบการวัดการเคลื่อนไหวและตรวจจับร่างกายจากเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่ใส่เข้ามาให้ไว้ภายใน เช่นที่วัดชีพจรการเต้นของหัวใจติดตั้งไว้อยู่ด้านหลังตัวเรือน
รวมทั้งเซนเซอร์อื่นๆ เช่น Altimeter วัดความสูง / Barometer วัดและคำนวณความดันอากาศ / Speedometer วัดความเร็วผ่านการจับตำแหน่งของ GPS สิ่งเหล่านี้เพื่อทำงานผ่านฟังก์ชั่นการออกกำลังกายและตรวจจับการเคลื่อนไหว
เราจะเดิน จะวิ่ง จะนอน หรือจะนั่ง มันรู้หมดครับ เราอยู่เฉยๆ นานๆ เขาก็เตือนให้ลุกออกกำลังกาย มีการตรวจวัดก้าว คำนวนแคลอรี่ พร้อมกับตรวจชีพจรอัตโนมัติระหว่างวัน ทั้งหมดจะโดนบันทึกลงเอาไว้ในแอพพลิเคชั่น S Health เป็นโปรไฟล์ส่วนตัวของเรา รวมถึงเพื่อใช้กับแอพพลิเคชั่นที่เราจะติดตั้งเพิ่มเติมได้เองจากใน Galaxy Store
ใช้งานในด้านการออกกำลังกาย เช่นการเดิน เดินเขา วิ่ง วิ่งหรือเดินบนลู่วิ่ง ปั่นจักรยานหรือจักรยานออกกำลังกาย ทำท่าบริหารร่างกายอย่างลันจ์ ครันช์ หรือสควอท เหล่านี้เราสามารถใช้ Samsung Gear S3 ตรวจจับจำนวนครั้ง ระยะเวลา ระยะทาง และแคลอรี่ที่เผาผลาญไปได้โดยอัตโนมัติครับ
การทำงานต่างๆ ของมันจะทำอะไรได้บ้างนั้น ก็ตามความสามารถของแอพพลิเคชั่นที่ติดตั้ง ซึ่งแอพพลิเคชั่นของ Gear S3 เป็นรุ่นที่เราสามารถติดตั้งแอพพลิเคชั่นด้วยตัวนาฬิกาเองโดยตรงได้โดยไม่ต้องผ่านสมาร์ทโฟนแล้วนะครับ แต่แน่นอนว่าในสมาร์ทโฟนจะทำได้ง่ายกว่า และค้นหาแอพพลิเคชั่นต่างๆ ได้ง่ายกว่าด้วย โดยมันจะมีทั้งแอพพลิเคชั่นใช้งานรวมถึงเกมที่สามารถเล่นได้บนนาฬิกาอีกด้วยนะ ประสิทธิภาพเล่นเกมไหวเลยละครับ ลื่นๆ ^^
สำหรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์สมาร์ทโฟน จำเป็นต้องเชื่อมต่อผ่านแอพพลิเคชั่น Samsung Gear (สามารถติดตั้งได้จาก Google PlayStore) เชื่อมต่อง่ายครับ ตัวแอพจะนำทางไปสำหรับผู้ใช้มือใหม่ไม่น่าจะงงแน่นอน
หลังการเชื่อมต่อแล้ว เราจะเข้าถึงระบบต่างๆ ของ Gear S3 ได้ทั้งหมด ดูสถานะแบตเตอรี่ หน่วยความจำคงเหลือ และการกำหนดค่าต่างๆ อยู่ภายในแอพพลิเคชั่นแอพนี้แอพเดียวทั้งหมดเลยครับ ค่อยๆ ทำความเข้าใจไม่น่าจะยากอะไร แอพนี้สำคัญครับ ใช้ในการควบคุมทุกอย่างของ Gear S3 และใช้อัพเดทระบบต่างๆ ให้กับตัวนาฬิกาอีกด้วย
หน้าปัดนาฬิกาสวยๆ มากมายหลากหลาย มีทั้งฟรีและเสียตังค์ เลือกดาวน์โหลดและติดตั้งมาใช้งานได้เองตามใจเลยครับ สวยๆ เพียบเลย
อยากจะเปิดปิดการแจ้งเตือนใดบ้าง ต้องการให้แจ้งเตือนแบบไหนในนาฬิกา ทุกอย่างตั้งค่าได้ โดยแสดงผลเป็นภาษาไทยสมบูรณ์ 100% ทั้งตัวเมนูและข้อความแจ้งเตือน แสดงรูปสติ๊กเกอร์ของแอพ Facebook และ Line ได้ โดยรูปการเตือนตั้งได้ทั้งให้มีการสั่น มีเสียง และการปลุกหน้าจอขึ้นมาแสดงทันทีที่มีการแจ้งเตือนเข้ามาครับ
สายเรียกเข้ามาขณะขับรถ ก็สนทนาผ่านตัวนาฬิกาได้โดยตรงเลยครับ สะดวกเลยสำหรับคนขับขี่รถยนต์ สามารถตั้งเลขหมายโทรด่วนเพื่อโทรออกได้แบบรวดเร็วและสะดวกก็ได้นะ
ในการใช้งานเป็นโทรศัพท์ ถ้าเราเชื่อมต่อตัว Gear S3 อยู่กับหูฟังบลูทูธไว้แล้ว หรือจะสนทนาผ่านตัวลำโพงและไมค์ของ Gear S3 โดยตรง ก็กดโทรออกด้วยตัวนาฬิกาได้เลยโดยไม่ต้องหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาครับ มันซิงก์รายชื่อติดต่อและรายการโทรย้อนหลัง รวมทั้งสามารถกดหมายเลขปลายทางเองได้ทั้งหมดเลย
สามารถใช้เสียงสั่งงานผ่าน Gear S3 (ยังไม่รองรับภาษาไทย) มีข้อความสำหรับการตอบกลับด่วนที่เราตั้งค่าไว้ล่วงหน้าได้ มีฟังชั่นขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน ด้วยการส่งข้อความ SOS พร้อมแชร์โลเคชั่นไปพร้อมกัน
รวมถึงมีMemory ในตัว ทำให้มันสามารถซิงก์รูปถ่ายหรือเพลงเอาไว้ใช้ดูใช้ฟังบนตัวมันได้โดยไม่ต้องพึ่งพาโทรศัพท์เสมอไปครับ
เรื่องของแบตเตอรี่นั้น ตัว Gear S3 อยู่กับผมได้นานถึงสามวันครับ ใช้งานในระดับกลางๆ เน้นการแจ้งเตือนและการตรวจชีพจรและการเคลื่อนไหวตามฟังก์ชั่นของตัวนาฬิกา ส่วนการชาร์จพลังงานกลับเข้าเครื่องก็ทำเวลาได้ดีนะ ชาร์จแค่ประมาณครึ่งชั่วโมง แบตเตอรี่ก็พร้อมใช้งานต่อได้เป็นวันแล้ว (มีโหมดการประหยัดพลังงาน Power-Off Watch เปลี่ยนตัวเองเป็นแค่นาฬิกาบอกเวลา แบต 5% เขาว่าจะใช้งานได้นานถึง 10 ชั่วโมง
สรุปท้ายรีวิว[section label=”สรุปท้ายรีวิว” anchor=”synopsis”]
สรุปสำหรับการใช้งาน Samsung Gear S3 ส่วนตัวผมชอบเรื่องของการออกแบบที่ดูเป็นผู้ชายของมันมากที่สุด เป็นสมาร์ทวอทช์ที่สวยที่สุดแล้วสำหรับผมในตอนนี้ครับ และจุดเด่นที่น่าสนใจอื่นๆ ที่คิดว่าคนอื่นน่าจะชอบกันก็คือ
- หน้าจอแสดงผลที่ใหญ่ชัดเจน อ่านตัวอักษรและทัชใช้งานได้เต็มที่แม้คนนิ้วมือใหญ่ๆ อย่างผม
- ตัววงล้อบนหน้าปัดที่ออกแบบมาเข้ากันกับการสั่งงานของระบบ
- ฟังก์ชั่นการใช้งานและเซ็นเซอร์ต่างๆ ของเครื่องที่ใส่เข้ามาให้เยอะมาก ทำให้มันเป็นเครื่องที่รองรับการใช้งานตั้งแต่ขั้นเบสิคพื้นฐานยันระดับแอดวานซ์สำหรับคนที่ต้องการใช้งานเฉพาะทาง
- ความทนทาน กันน้ำกันฝุ่น ผ่านมาตรฐานทดสอบทางการทหาร หน้าจอกระจก Gorilla SR+ และสายยางซิลิโคนดูทนทาน ใช้งานได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะบางคนก็ไม่ได้ระมัดระวังมากสำหรับตัวนาฬิกาที่นำมาใส่ข้อมือ ต้องลุยไหนลุยกันได้
- แบตเตอรี่ใช้งานได้นาน ข้ามวันสบาย ใช้งานแบบผมอยู่ได้ถึงสามวันครับ
สำหรับข้อด้อยก็ไม่ใช่ไม่มีนะครับ เพราะเจ้า Gear S3 ดูจะการออกแบบมาได้ไม่สนผู้หญิงเอาซะเลย แต่ถ้าสาวๆ คนไหนชอบใส่นาฬิกาผู้ชายดุๆ ก็เท่ดีนะครับ^^ และซัมซุงไทยจะไม่มีการนำเข้า Gear S3 รุ่นที่รองรับการใส่ซิมการ์ดเข้ามาจำหน่ายครับ จะมีเพียงแค่ Samsung Gear S3 Classic ที่มาพร้อมกับสายหนังหรู และรุ่น Gear S3 Frontie ที่ผมนำมารีวิว เป็นสองรุ่นในแบบที่ไม่มีช่องใส่ซิมทั้งคู่ ซึ่งเปิดราคาไปกันแล้ว 12,900 บาททั้งสองรุ่นครับ
ซึ่งถ้าใครจะนำไปใช้กับสมาร์ทโฟนของตัวเอง แนะนำให้เอามือถือไปลองเชื่อมต่อกับ Gear S ที่ร้านดูก่อนนะครับ เพื่อความแน่ใจว่าใช้งานกันได้แน่ๆ ครับ