เปิดขายอย่างเป็นทางการกันแล้ว Nintendo Switch ก็เป็นความยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของวงการเกมและความเป็น Nintendo ครับ หลังจากได้สัมผัสบอกเลยว่า นี่คือเครื่องเกมที่คงมีแต่ค่ายนี้เท่านั้นแหละที่คิดขึ้นมาได้ และทำออกมาให้ผู้ที่ชื่นชอบการเล่นเกมได้สัมผัสกันจริง
Nintendo Switch เป็นเครื่องเกมไอเดียแหวกแนว ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างเครื่องเกมพกพาและเครื่องคอนโซลสำหรับต่อภาพขึ้นจอทีวี ในยามเป็นเครื่องเกมพกพาก็เป็นเครื่องที่มีประสิทธิภาพสูงมาก และในฐานะเป็นเครื่องเกมคอนโซลก็เป็นเครื่องที่เราพกไปเล่นได้ทุกที่ แค่แนวคิดนี้คนเล่นเกมก็ร้อง “ว๊าว” กันแล้วละครับ แต่ในการใช้งานจริงก็ต้องยอมรับว่า แม้จะพบข้อดีที่ทำให้หลงรัก แต่ก็เจอกับข้อเสียที่ยังขัดใจกันอยู่เช่นกัน มีอะไรกันบ้าง มาดูกันดีกว่าครับ
ข้อดีข้อเสียตัวเครื่อง Nintendo Switch[section label=”ข้อดีข้อเสียตัวเครื่อง Nintendo Switch” anchor=”body “]
ตัวเครื่อง Nintendo Switch วัสดุหลักเป็นพลาสติกครับ หน้าตาคล้ายๆ กับอุปกรณ์แท็บเล็ตขนาดหน้าจอ 6.2 นิ้ว (ความละเอียด 1280×720 พิกเซล) ทำหน้าที่เป็นทั้งตัวประมวลผลหลัก, ที่ใส่ตลับเกม, มีหน้าจอแสดงผลในตัว เป็นศูนย์กลางของการเชื่อมต่อกับทุกๆ อย่าง ตัวเครื่องมีขนาดที่ค่อนข้างหนาและหนักเมื่อเทียบกับแท็บเล็ตแบบปกติโดยทั่วไป (หนาประมาณครึ่งนิ้ว และหนักประมาณ 320 กรัม) แต่มันก็สุดยอดมากเมื่อคิดจากว่าภายในเครื่องมันมีอะไรใส่เข้ามาอยู่บ้าง เพราะเจ้า Nintendo Switch มีพัดลมระบายความร้อนฝังอยู่ในตัวของมันด้วยนะครับ (ทำงานได้เงียบ) จุดเด่นแรกก็คงเป็นเรื่องที่ Nintendo สามารถย่อส่วนขนาดเครื่องเกมคอนโซลลงมาเหลือตัวแค่นี้ได้น่าประทับใจครับ
แต่ข้อเสียในด้านตัวเครื่องก็คือวัสดุที่เลือกนำมาใช้บางชิ้นส่วนดูแย่มาก โดยเฉพาะเจ้าขาตั้งด้านหลังตัวเครื่อง ที่ทั้งเล็กและบาง ดูอ่อนแอ และที่สำคัญการออกแบบตำแหน่งขาตั้งที่เอียงไปทางด้านข้าง บวกกับความเล็กความบาง ความมั่นคงจึงน้อย เครื่องจะล้มเอาได้ง่ายๆ ถ้าเผลอไปวางพื้นผิวที่ไม่ค่อยเรียบครับ
วัสดุของอุปกรณ์ในส่วนอื่นๆ ก็ดูไม่ค่อยจะแข็งแรงครับ ยิ่งเมื่อคิดว่ารูปแบบการใช้งานของมันคือการสลับสับเปลี่ยน ถอดเข้าถอดออก ก็กลัวว่าจะทนทานการใช้งานไม่ได้มากสักเท่าไหร่ ยิ่งถ้าเป็นเครื่องที่นำไปให้เด็กใช้งานด้วยแล้วก็ยิ่งน่าห่วงอยู่ครับ และจะบอกว่า มันเป็นรอยได้ง่ายมากๆ เลยละครับ (ซื้อฟิล์มมาติดหน้าจอกันซะด่วนเลย)
ใต้ขาตั้งมีที่ใส่ Micro SD card เพิ่มหน่วยความจำได้สูงสุด 2TB
หน้าจอเป็นแบบทัชสกรีน จะพิมพ์ข้อความหรือเลือกรายการใดบนหน้าจอ ก็สามารถใช้นิ้วจิ้มได้เลย ตอบสนองไวไม่ต่างจากสมาร์ทโฟน
พอร์ตเชื่อมต่อและชาร์จไฟสำหรับตัวเครื่อง Nintendo Switch จะใช้พอร์ตแบบ USB Type C ครับ ซึ่งเราสามารถใช้ร่วมกับสายของสมาร์ทโฟนที่ใช้ USB-C ได้เลยครับ แต่แนะนำว่าควรชาร์จด้วยอุปกรณ์ของมันเองจะดีกว่า เพราะ Nintendo Switch ต้องการกำลังไฟในการชาร์จสูงมาก จากที่ทดสอบนำพาวเวอร์แบงค์มาตรฐาน 2.4A มาชาร์จไฟในขณะเล่น ไฟเข้าไม่ทันใช้ครับ ยิ่งเล่นยิ่งชาร์จไฟยิ่งลด แค่ลดช้าหน่อยเท่านั้นเอง คงต้องมองหาตัวแบตเสริมที่มีกระแสไฟฟ้าเยอะกว่านี้ลองมาใช้ดูละครับ
ทดสอบเชื่อมต่อเครื่อง Switch กับ PC ด้วยพอร์ต USB C ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งจัดเก็บข้อมูลในเครื่อง Switch ได้ครับ
ตัว Nintendo Switch จะมีด็อกกิ้งมาให้ในกล่องเป็นอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับการสลับเปลี่ยนโหมดจากเครื่องเกมพกพาไปเป็นเครื่องคอนโซล ตัวด็อกกิ้งจะมีพอร์ตเชื่อมต่อที่สำคัญเพิ่มเข้ามาหลายพอร์ตครับ ทั้งสายเชื่อมต่อภาพและเสียงออกผ่าน HDMI ซึ่งจะขยายความละเอียดจาก 720p ของหน้าจอ Nintendo Switch ให้เป็นความละเอียด FullHD ยามส่งภาพขึ้นไปยังจอแสดงผล รวมทั้งพอร์ต USB-C สำหรับเสียบไฟเข้า โดยตัวด็อกจะทำการชาร์จแบตเตอรี่ให้กับ Nintendo Switch ไปด้วยในยามเชื่อมต่อ และมีพอร์ต USB สำหรับเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมอื่นๆ อีกสามพอร์ตด้วยกันครับ
ตำแหน่งต่างๆ บน Nintendo Switch และ Docking
ข้อดีข้อเสีย Joy-con [section label=”ข้อดีข้อเสีย Joy-con” anchor=”Joy-con”]
อุปกรณ์เสริมที่เราได้มาภายในกล่องมีหลายชิ้นมากครับ รวมทั้งเจ้า Joy-con ตัวจอยบังคับที่แสนสำคัญของเครื่อง Nintendo Switch และนี่เป็นส่วนที่เป็นหัวใจหลักของเครื่องเช่นกันครับ เพราะเจ้า Joy-con คู่นี้ทำให้เครื่อง Switch ไม่ได้เป็นแค่เครื่องคอนโซลที่เอาหน้าจอมาแปะไว้ให้เท่านั้น ด้วยมหัศจรรย์จากความคิดที่ Nintendo ออกแบบมา
ตัว Joy-con ไม่จำเป็นต้องไปเสียบไว้กับด้านข้างตัวเครื่องก็สามารถใช้งานได้ครับ เชื่อมต่อสั่งงานด้วยสัญญาณไร้สาย มีความเป็นอิสระมากเพราะตัวมันเป็นได้ทั้งคู่หูที่รวมตัวกันเป็นหนึ่งจอยบังคับที่สมบูรณ์ หรือจะแยกตัวกันกลายเป็นจอยบังคับสองจอยสำหรับผู้เล่นสองคนก็ได้เช่นกันครับโดยการถือใช้งานในลักษณะแนวนอน ตัวมันเองเพียงลำพังหนึ่งข้างก็จะมีปุ่มกดที่ครบเหมือนจอยของเครื่องเกมสมัยซุปเปอร์แฟมิคอมแล้วละครับ
ตัวมันเองจะเต็มไปด้วยเซ็นเซอร์หลากหลายนานาชนิดแบบที่ไม่คิดว่าจะใส่อะไรเข้ามาเยอะแยะได้ขนาดนั้นในอุปกรณ์ควบคุมตัวแค่นี้ครับ มีโมชั่นเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวต่างๆ ใช้งานได้ไม่ต่างกับ WiiMote ขยับท่าทางเพื่อควบคุมเกม มีระบบสั่นภายในตัวแบบหลายระดับและมีความละเอียดมากขนาดรับรู้ถึงการจำลองการไหลของลูกแก้วในกล่องไม้จากในเกมได้เลยทีเดียว
ในกล่องจะมีอุปกรณ์เสริมสำหรับ Joy-con มาให้อีกสองชนิดครับ เป็นอุปกรณ์สำหรับแปลงร่างให้กับ Joy-con โดยชิ้นแรกจะเป็น Joy‑Con Strap เป็นเหมือนฝาปิดด้านบนของ Joy-con เพื่อให้มันดูเป็นจอยควบคุมแบบอันเล็กในแนวนอนได้สมบูรณ์มากขึ้นและกดปุ่ม L-R ด้านบนของจอยได้ง่ายขึ้น พร้อมสายคล้องมือเพื่อความปลอดภัยในเวลาใช้งานแบบ Motion Sensor ขยับเคลื่อนไหวไม่หลุดมือง่ายๆ
อีกหนึ่งชิ้นสำหรับการแปลงร่าง Joy-con ก็คือ Joy‑Con Grip ทำหน้าที่ยึดตัว Joy-con ทั้งด้านซ้ายและขวา ประกอบกันขึ้นมากลายเป็นจอยควบคุมแบบปกติหนึ่งตัว ซึ่งเจ้า Joy‑Con Grip จะช่วยให้เราสามารถจับถือใช้งานเจ้า Joy-con ทั้งคู่ได้ถนัดมากขึ้นในยามที่มันแยกออกมาจากตัวเครื่องครับ
เราอาจจะรู้สึกได้ว่า แค่จอยบังคับ Nintendo ก็ต้องคิดหนักกันมากขนาดนี้แล้ว เขาพยายามออกแบบรูปทรงของมันให้สามารถใช้งานได้ในหลากหลายลักษณะ ทั้งในแบบแนวตั้งและแนวนอน ในการใช้งานจริงอาจจะรู้สึกแปลกๆ มือครับ แต่เวลาเล่นก็ถือว่ากดใช้งานได้ไม่ยาก ซึ่งต้องยอมรับว่า นี่ไม่ใช่รูปทรงที่ออกแบบมาเพื่อความสบายในการถือจับเป็นหลักครับ แต่เน้นในความหลากหลายของรูปแบบการใช้งาน
และสำหรับตัวอุปกรณ์เสริมของ Joy-con ยังทำออกมาไม่ค่อยดีครับ ชิ้นส่วนยิบย่อยที่แยกชิ้นกันมันลำบากในการพกพาและหยิบใช้งาน เช่นเจ้า Joy‑Con Strap ถ้าเราไม่ซีเรียสเรื่องกลัวจอยหลุดมือและต้องการสายคล้องมือเราอาจจะไม่จำเป็นต้องพกก็ได้ครับ แต่ที่เลวร้ายกว่าคือ Joy‑Con Grip เพราะมันคือตัวที่ทำหน้าที่กลายร่าง Joy-con ให้กลายเป็นจอยบังคับในอารมณ์เครื่องคอนโซล แต่ไหงถึงไม่มีความสามารถในการชาร์จไฟให้กับตัว Joy-con มาให้ด้วย ซึ่งอันนี้ผมไม่เข้าใจจริงๆ
ปุ่มต่างๆ บน Joy-con
มาลองลงสนาม ใช้งาน เล่นเกม [section label=”มาลองลงสนาม ใช้งาน เล่นเกม” anchor=”test”]
เมื่อรู้จักกับอุปกรณ์ต่างๆ ของ Nintendo Switch กันแล้ว ก็มาพูดถึงการใช้งานจริงกันดีกว่าครับ ซึ่งเครื่อง Nintendo Switch ถูกตั้งชื่อตามแนวคิดและจุดเด่นในด้านสลับสับเปลี่ยนชีวิตไปๆ มาๆ ของผู้ใช้ในชีวิตประจำวันนั้นเองครับ ฉะนั้นถ้าใครกำลังจะคิดเอาเครื่อง Switch มาลงหลักปักฐาน ใช้งานแบบเครื่องคอนโซลประจำบ้านแล้วคาดหวังให้มันมีประสิทธิภาพการทำงานเหมือนเครื่องคอนโซลอย่างคู่แข่งเจ้าอื่นๆ ผมบอกเลยว่า มันสู้ไม่ได้ครับ (ถ้าไม่นับเกมเท่ๆ จาก Nintendo ที่หาไม่ได้จากในเครื่องอื่นละก็นะ ^^)
สิ่งที่มันทำได้ดี และดีมากๆ ก็คือการ “สลับ” ทันทีที่คุณหยิบเจ้า Switch ขึ้นมาจากด็อกกิ้ง มันก็พร้อมที่จะให้คุณเล่นเกมของคุณได้ต่อจากหน้าจอทีวีทันที แบบไม่ต้องรออะไรเลยครับ หยิบขึ้นมาปุ๊บ ภาพมาปั๊บ เล่นต่อสลับโหมดกันแบบรวดเร็วทันใจ จะไปกินข้าว ออกไปทำธุระ หรือลุกเข้าห้องน้ำ ถ้าชีวิตคุณไม่อยากจะขาดช่วงกับเกมโปรด เจ้าตัวนี้ทำให้คุณได้แบบยอดเยี่ยมมากๆ ประสิทธิภาพในการสลับโหมดของมันยอดเยี่ยมสมการคาดหวังครับ
จะถือใช้งานเป็นแบบแท็บเล็ตปกติก็ยังได้ อยู่ที่แอพพลิเคชั่นหรือเกมที่จะทำลงเครื่อง ต้องการให้ใช้งานในรูปแบบไหน อีกหน่อยถ้าแอพบนโมบายทำมาลงก็สนุกเลยละครับ
ที่ดูจะวุ่นวายไปสักหน่อยคือการ “Swap” การถอดเข้าถอดออกของอุปกรณ์ Joy-con นี้แหละที่ดูว่าในอนาคตน่าจะมีการออกแบบใหม่ การเลื่อนสไลด์สลักล็อกแบบที่ Nintendo ออกแบบมายังไม่เข้าที่เข้าทางครับ บางครั้งถอดยาก บางชิ้นส่วนประกอบกันแล้วหลวม ขยับได้กึ๊กๆ กั๊กๆ เรื่องระบบการล็อกและการออกแบบยังไม่เป๊ะ ที่สำคัญส่วนตัวยอมรับตรงๆ ว่า มันไม่ค่อยจะสะดวกอย่างที่คิดสักเท่าไหร่ในการสลับ Joy-con ไปๆ มาๆ แบบนี้ แต่ปัญหานี้แก้ไม่ยากครับ “ซื้อ Joy-con เพิ่ม” ติดไว้ในทุกโหมดแบบไม่ต้องถอดออกมันเลยอาจจะช่วยได้ (จะมี Joy-con อีกมากมายหลากหลายสีหลายลาย มาล้วงตังค์คุณแน่นอน)
รูปทรงในขณะเล่นเป็นโหมดคอนโซลของ Joy-con ก็อาจจะแปลกๆ อยู่ครับ เพราะมันเป็นจอยที่อยู่ในทรงสูง ต้องใช้เวลาในการคุ้นชินปุ่มอีกสักหน่อย ที่เหลือก็ไม่มีอะไรครับ ปุ่มควบคุมทำมาให้ค่อนข้างครบ และถ้าคุณไม่ชอบ ทาง Nintendo ก็พร้อมจำหน่าย Nintendo Switch Pro Controller จอยควบคุมแบบที่คุณคุ้นชิน (แนะนำให้ซื้ออีกแล้ว ^^)
การใช้งานในขณะถือเป็นโหมดพกพา จะบอกว่านั่งเล่น ยืนเล่น ถือในลักษณะปกติจะไม่มีผลอะไรมากครับ นอกจากใครจะนอนหงาย นอนเอียงข้างเล่น ชักเริ่มรู้สึกว่าหนักเหมือนกัน – – ด้วยขนาดและน้ำหนักของ Switch รวมจอยแล้วก็เกือบสี่ขีด ก็ถือว่าเมื่อยอยู่ครับ และด้วยความที่เครื่อง Nintendo Switch ใช้ส่วนของ Joy-con เป็นส่วนถือจับ ซึ่งมันค่อนข้างจะมีความแบนและบาง ไม่ค่อยเข้ารูปทรงกับอุ้งมือเรา ฉะนั้นผมว่าในเร็วๆ นี้ เตรียมพบกับอุปกรณ์เสริม กริปติด Joy-con เพิ่มความหนาในขณะถือจับแน่นอนครับ ฟันธง! (มันชวนซื้อของอีกแล้ววว 555)
เปืดปิดเครื่องในโหมดแสตนด์บายด์ทำได้ไวครับ กดถนัดดี ปลดล็อกเข้าใช้งานเครื่องด้วยการกดปุ่มใดๆ ก็ได้สามครั้งติดกัน
หน้า UI ของ Nintendo Switch เรียบ ง่าย มากๆ ครับ แทบไม่มีอะไรเลย ด้านบนเป็นไอคอนเกมเที่เราเคยเล่นหรือดาวน์โหลดมาติดตั้ง ด้านล่างเป็นแชนเนลสำหรับการเข้าไปอ่านข่าวสารของทาง Nintendo และ e-Store สำหรับซื้อเกมแบบดิจิตอลดาวน์โหลด ซึ่งจะใช้งานได้ต้องทำการสร้างหรือล็อกอินไอดีของ Nintendo ซะก่อนครับ แต่ต้องใช้งานเป็นไอดีของต่างประเทศนะครับ เช่นยุโรป อเมริกา เป็นต้น สมัครไปเป็นประเทศไทย จะเข้าใช้งาน e-Store ไม่ได้เลยครับ ซึ่งวิธีการสมัครนั้นไม่ยาก ผมจะเขียนแนะนำในบทความต่อไปครับ
การตั้งค่าต่างๆ ของเครื่อง คล้ายกับสมาร์ทโฟนเลยครับ เข้าใจไม่ยาก มีธีมให้เลือกสองโทน ขาวและดำ มีการตั้งค่าความสว่างหน้าจอ โหมดสลีป ตัวเครื่องรองรับการใช้กับ amiibo
การอัพเดทแพทส์เสริม DLC หรือการอัพเดทระบบเครื่อง ทำผ่านออนไลน์ได้ทั้งในโหมดพกพาและโหมดคอนโซลครับ โดยการเชื่อมต่อสัญญาณอินเตอร์เน็ตผ่าน Wi-Fi
มีความสามารถในการแชร์ภาพที่เซฟไว้ผ่าน Facebook และ Twitter ในแอคเคาท์ที่ผูกไว้กับเครื่องได้ครับ ซึ่งจากที่สังเกตดู ตัวเครื่อง Switch มีเบราว์เซอร์ในการท่องเว็บไซด์ฝังอยู่แน่นอน แต่ยังไม่เปืดให้ใช้งานกันแบบอิสระ และดูท่าว่าจะมีปัญหากับฟอนต์ตัวอักษรในประเทศที่เขายังไม่สนับสนุนนะครับ
จากที่ทดสอบใช้งานมาในเรื่องของแบตเตอรี่ 4310mAh ซึ่งผมเล่นในอาคาร เปิดแสงหน้าจอไว้ประมาณ 50% ก็สว่างมากเพียงพอแล้วครับ โดยแบตจะอยู่ได้ประมาณเกือบสี่ชั่วโมงครับในการใช้งาน ชาร์จแบตกลับเข้าเครื่องแบบไม่เปิดเครื่องใช้เลยให้เต็ม ใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่งครับ
หน้าจอแสดงผลก็สวยงามดีครับ ไม่ต้องห่วงเรื่องความละเอียดและสีสัน เหมาะสมกับการเล่นเกม เสียงลำโพงดังระดับกลางๆ เป็นระบบเสียงสเตอริโอลำโพงคู่ด้านหลังตัวเครื่อง ใช้งานในอาคารหรือห้องพักอาศัยอันนี้สบาย ใช้งานในที่โล่งอาจจะต้องหาลำโพงต่อเพิ่มครับเพื่อความเต็มอารมณ์
ส่วนความสนุก ความคุ้มค่า ก็อยู่ที่ตัวเกมสิครับงานนี้ ก็ต้องบอกเลยว่า ในวันแรกจำหน่าย Nintendo ทุ่มสุดตัวกับเกม Zelda : Breath of The Wild อลังการงานเกมที่กวาดคะแนนรีวิวเกือบเต็มร้อยจากทุกสำนัก ส่วนเกมฟอร์มยักษ์อื่นๆ สำหรับ Switch ก็รอกันหน่อย ก็บอกแล้วว่า Nintendo ทุ่ม Zelda สุดตัว ^^
แต่ไม่ใช่จะไม่มีเกมเล่นกันในช่วงนี้ เพราะเดือนนี้เล่น Zelda ไปก่อน อยากสนุกกับเพื่อนก็คว้า 1 2 Switch มาเล่น เกมนี้จะโชว์ความสนุกแบบปาร์ตี้อย่างที่เครื่องอื่นๆ ทำไม่ได้แน่นอน
และในเดือนหน้าก็จะมี Mario Kart ตามมาแล้วครับ หลังจากนั้นก็มีลิสรายชื่อเกมที่น่าสนใจอยู่หลายเกม แต่เราก็คาดหวังกันว่า Nintendo Switch จะเข้าตาผู้พัฒนาเกมรายอื่นๆ ด้วยจำนวนยอดขายและไอเดียที่ทาง Nintendo นำเสนอ แม้เกมจากค่าย Nintendo จะมีสเน่ห์และความสนุกที่มากพอ เราก็ยังหวังที่จะได้เห็นเกมแม่เหล็กจากค่ายอื่นๆ มาลงด้วยเช่นกันครับ
ตัวตลับเกม กล่องใหญ่แต่ตลับข้างในอันแค่นี้แหละครับ พกง่ายดี เป็นคล้ายๆ SD card ซึ่งเขาว่ากันว่า ถ้าคุณเอาไปอม มันจะขมมากๆ เพราะมีเจตนาเพื่อกันไม่ให้เด็กเล็กเอาเข้าปากครับ
มีโหมดควบคุมสำหรับเด็ก Parental controls ตั้งเวลาในการอนุญาตให้เล่นและล็อกการเข้าถึงคอนเทนต์ที่เหมาะสมไว้ให้สำหรับเด็ก ควบคุมดูแลไว้ด้วยแอพบนอุปกรณ์สมาร์ทโฟนของพ่อแม่ครับ ซึ่งน่าเสียดาย ที่ยังไม่เปิดให้ใช้งานกันในแอพสโตร์ของไทยครับ
สรุปท้ายรีวิว[section label=”สรุปท้ายรีวิว” anchor=”synopsis”]
เรื่องแนวคิดให้คะแนนเต็ม และทำออกมาได้จริงๆ ก็ให้คะแนนเกินคะแนนเต็ม แต่ตัดแต้มเรื่องวัสดุและการออกแบบ เป็นรอยง่าย ดูไม่ทนทาน การสลับใช้งาน Joy-con จากระบบล็อกและรางสไลด์ที่ใช้อยู่ยังดูไม่เข้าที่ มีหลวม มีโยก และการวางตำแหน่งปุ่มของ Joy-con ที่ Nintendo พยายามคำนึงถึงการใช้งานในแนวนอนด้วย ทำให้ในการใช้งานแนวตั้งตำแหน่งปุ่มดูจะมีระยะห่างกันมากไปสักนิดนึง ข้อดีคือการสลับปรับเป็นได้หลายอย่าง ข้อเสียก็คือการที่ต้องเป็นอะไรหลายอย่างจึงต้องแลกกับข้อจำกัดในการออกแบบ
เกมในวันนี้ยังน้อยมาก (9 เกมในสโตร์) และลำพังพื้นที่จัดเก็บในเครื่อง 32GB อาจจะไม่พอต้องหาใส่ Micro SD card เพิ่ม เพราะเกมใหญ่อย่าง Zelda หรือ Just dance เกมเดียว ก็ใช้พื้นที่สิบกว่า GB ขึ้นไปแล้วครับ
คลิปวีดีโอแกะกล่อง Nintendo Switch