Android กับไวรัสนี่ถือเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตั้งแต่สมัยโบราณกาลเลยทีเดียว เหตุเพราะความเป็นระบบเปิดของตัว Google Android เองที่เอื้อให้เหล่าแฮ็กเกอร์หรือผู้ไม่หวังดีใช้จุดๆ นี้เป็นประเด็นในการโจมตีตัวเครื่องและข้อมูลสำคัญของเจ้าของเครื่องได้โดยง่ายดาย ต่างกับ Apple ที่มี iOS ซึ่งเป็นระบบปิดหรือ Ecosystem ซึ่งสามารถป้องกันเรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้ดีกว่าระบบเปิดแน่นอน แถม Apple เองยังมีระบบการคัดกรองแอพขึ้น AppStore ที่ดีมากจนทำให้ผู้ใช้งานแทบไม่ต้องกังวลเรื่องไวรัสแฝงจากตัวแอพพลิเคชั่นที่ดาวน์โหลดแต่อย่างใด
แต่ก็เพราะความเป็นระบบเปิดของ Android นี่เองเหมือนกันที่ทำให้ผู้ใช้งานได้อิสระในการใช้งานดีไวซ์ของตัวเองอย่างเต็มที่ นั่นหมายถึงการดาวน์โหลดเอาแอพพลิเคชั่นอื่นๆ ที่อยู่นอกเเหนือจาก PlayStore ได้โดยตรง และติดตั้งมันลงในอุปกรณ์ Android ในนามสกุล .apk ได้เช่นเดียวกันที่เราสามารถดาวน์โหลดและติดตั้ง .exe บน Windows และ .dmg บน Mac ได้อย่างอิสระจากทุกแหลางนั่นล่ะ ก็เรียกว่าต้องเทรดออฟกันไประหว่างเรื่องของอิสระทางการใช้งานและความปลอดภัย ที่ทั้งสองระบบใหญ่ของโลกอย่าง Android และ iOS เองก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป
ล่าสุด Google เองเข้าใจถึงปัญหาความอันตรายจากไวรัสแฝงจากการดาวน์โหลดและติดตั้งแอพพลิเคชั่นจาก PlayStore จึงออกฟังก์ชั่นใหม่ล่าสุดมาให้กับผู้ใช้งาน Android เพื่อเพิ่มระดับความปลอดภัยในการดาวน์โหลดและติดตั้งแอพพลิเคชั่นจาก PlayStore มายิ่งขึ้น โดยใช้ชื่อระบบว่า Google Play Protect ซึ่งเพิ่งจะมีการเปิดให้ใช้งานอย่างทั่วถึงเป็นวงกว้างครั้งแรกเมื่อสองสามวันที่ผ่านมานี้เอง โดยผู้ใช้เพียงต้องอัพเดต Google Play Services เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด ระบบ Google Play Protect ก็จะปรากฏขึ้นในการตั้งค่า Google ของการตั้งค่ามือถือในทันที
วิธีการเปิดใช้งานและการเช็คว่าระบบเปิดใช้งานแล้วหรือไม่
- ตรวจสอบให้แน่ใจว่า Google Play Services บนเครื่องคุณเป็นเวอร์ชั่นล่าสุดแล้ว
- เข้าไปที่ Settings > Google > Security > Google Play Protect ผ่านเมนูการตั้งค่าของโทรศัพท์ Android ของคุณ
- ในหน้าจอ Google Play Protect ตรวจสอบว่า Scan device for security threats เปิดใช้งานอยู่หรือไม่ หากเปิดคือระบบ Google Play Protect ทำงานแล้วบนเครื่องของคุณ โดยคุณสามารถเลือกเปิด Improve harmful app dectection เพิ่มเติมได้ด้วยโดยระบบจะทำการส่งข้อมูของแอพที่ไม่ได้ดาวน์โหลดมาจาก PlayStore ไปให้กับกูเกิลเพื่อให้ทางกูเกิลทำการตรวจสอบต่อไป
หลักการทำงานของ Google Play Protect
จริงแล้วๆ Google Play Protect ก็คือระบบ “Verify Apps” ของกูเกิลที่เคยมีอยู่แล้วบน Android รุ่นก่อนๆ นั่นเอง แต่สิ่งที่แปลกแตกต่างไปคือเรื่องของอินเตอร์เฟสการใช้งานที่มีการปรับปรุงให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นสำหรับคนทั่วไป ซึ่งกูเกิลได้พูดถึงเอาไว้ในงาน Google I/O ครั้งที่ผ่านมา โดยหลักการทำงานของมันก็คือกูเกิลจะคอยมอร์นิเตอร์แอพพลิเคชั่นบน PlayStore และที่ดาวน์โหลดมาโดยตรงทั้งหมดอยู่เสมอเพื่อให้มั่นใจว่าแอพพลิเคชั่นเหล่านั้นจะมีแต่ดียิ่งๆ ขึ้นและไม่สร้างปัญหาในการใช้งานในแง่ของความปลอดภัยให้กับผู้ดาวน์โหลดและติดตั้งโดยไม่เกี่ยงว่าคุณกำลังใช้งานมือถือจากผู้ผลิตแบรนด์ใดอยู่ ขอเพียงแต่เป็นระบบ Android ก็พอ ซึ่งสิ่งที่ Google Play Protect มีเพิ่มขึ้นมาก็คือการแสดงหน้าตาอินเตอร์เฟสที่จะคอยบอกผู้ใช้งานเครื่องว่าตอนนี้กูเกิลทำอะไรไปบ้างกับเรื่องความปลอดภัยของแอพพลิเคชั่นที่ติดตั้งไว้บนเครื่องคุณ อย่างในกรณีภาพด้านบนของเครื่องอเล็กซ์กูเกิลได้บอกว่ากูเกิลได้ทำการสแกนไปแล้ว 110 แอพพลิเคชั่นและอนุมานได้ว่าตอนนี้ยังไม่มีแอพพลิเคชั่นใดมีปัญหาเพราะยังไม่มีการแจ้งเตือนใดๆ มาจากกูเกิลนั่นเอง
เอาล่ะ รู้แบบนี้แล้วก็มาทำให้ Android เราปลอดภัยมายิ่งขึ้นกับ Google Play Protect ตามวิธีการที่แนะนำไว้ข้างต้นกันเถอะ