ปัจจุบันนี้ IoT หรือ Internet of Things ถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่ผู้คนให้คำสำคัญเป็นอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงผู้ที่ต้องการออกแบบบ้านให้รองรับการใช้งานพื้นฐานแบบอัตโนมัติ โดยจะสังเกตว่ามีหลายค่ายหลายแบรนด์ด้วยกันที่หันมามุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่นค่ายท็อปฟอร์มอย่าง Apple เองก็มี HomeKit ซึ่งเปรียบได้กับระบบ IoT ของตนเอง หรือแม้แต่ Samsung เองก็มี SmartThings เป็นช่องทางให้อุปกรณ์ต่างๆ ได้ผูก API มาใช้งานกัน หรือแม้แต่ค่ายน้องใหม่อย่าง Xiaomi เองก็มี Mi Home พร้อมกับอุปกรณ์ IoT มากมายทั้งภายใต้แบรนด์หลัก Xiaomi Mijia (ซึ่งครอบคลุมอุปกรณ์เยอะแยะมากมายมาก) และแบรนด์ลูกของค่ายมากมายไม่ว่าจะเป็น Yeelight (ไฟอัจฉริยะต่างๆ) Scishare (เครื่องชงกาแฟ) และอื่นๆ อีกมากมาย
แน่นอนว่าหนึ่งในสิ่งที่ทำให้หลายๆ คนยังไม่คิดจะกระโดดเข้าสู่วงการ IoT อย่างจริงจังนั้นเป็นเพราะพื้นฐานที่ว่าอุปกรณ์หลายๆ อย่างนั้นมีราคาสูงเมื่อเทียบกับสินค้าประเภทเดียวกันที่ไม่ค่อยจะอัจฉริยะนักตัวอื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตต่างๆ ก็พยายามหาทางออกอุปกรณ์เสริมราคาย่อมเยาว์ที่สามารถเปลี่ยนเจ้าอุปกรณ์ตัวเก่าที่ไม่ค่อยอัจฉริยะของเราให้กลายเป็นอัจฉริยะขึ้นมาได้ ยกตัวอย่างเช่นพวก IR/RF Beamer ที่เอาไว้ควบคุมอุปกรณ์ที่ใช้รีโมตบังคับการใช้งานของเราจากระยะไกล (โดยที่ตัวอุปกรณ์ที่ถูกควบคุมไม่จำเป็นต้องรองรับการควบคุมระยะไกล) รวมไปจนถึงหนึ่งในอุปกรณ์ที่เรานำมารีวิวกันในวันนี้ ซึ่งก็คือเจ้า Ambi Climate 2 รีโมตแอร์อัจฉริยะที่ช่วยเพิ่มความสามารถฉลาดๆ ให้กับแอร์บ้านแก่ๆ ของเราได้โดยการใช้ AI เรียนรู้อุณหภูมิที่เราสบายเพื่อมาควบคุมแอร์ของเราโดยอัตโนมัติให้อยู่ในอุณภูมิที่เหมาะสมตลอดเวลาได้นั่นเอง
แกะกล่อง Ambi Climate 2
Ambi Climate 2 เป็นรีโมทควบคุมแอร์แบบอัจฉริยะที่ทำหน้าที่ประหนึ่งเป็น Thermostat ประจำแอร์ของบ้านเรา โดยมาในกล่องสีเขียวเรียบง่ายที่ด้านหลังมีการพูดถึงฟังก์ชั่น AI ของตัวเครื่องและคุณสมบัติหลักๆ ของแอพพลิเคชั่นของมัน
ภายในกล่องประกอบด้วยอุปกรณ์ที่จำเป็นดังต่อไปนี้
- ตัว Ambi Climate เวอร์ชั่น 2 1 ตัว
- หัวชาร์จไฟ 1 ชิ้น
- สายชาร์จไฟหัวไมโครยูเอสบี 1 เส้น
- คู่มือการใช้งาน
ทั้งหมดบรรจุอยู่ในกล่องกระดาษรักษ์โลกขนาดน่าเอ็นดู ที่ตัดกันกับตัวเครื่องสีขาวโซนหัวที่เป็นแถบ IR เป็นสีดำ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่เป็นสีขาวทั้งหมดซึ่งออกมาดูดีมีราคาในขนาดที่ง่ายต่อการพกพาและขนส่งทีเดียว
รูปลักษณ์ภายนอกที่เรียบง่าย ดูดี มีราคา
Ambi Climate 2 นั้นออกแบบมาอย่างเรียบง่ายและดูดีมาก โดยสีของตัวเครื่องนั้นใช้สีขาวดูสะอาดตาเป็นหลัก โดยมีแผง IR สำหรับการยิงไปที่แอร์เป็นสีดำวาวตัดกับสีขาวของตัวเครื่อง และที่ด้านล่างตัวเครื่องนั้นใช้วัสดุที่มีลักษณะเหมือนไม้อัดมาเป็นฐานรองตัวเครื่องอีกที
มองดูรอบตัวเครื่องเองก็ออกแบบมาได้อย่างมินิมอลลิสต์มาก โดยหน้าเครื่องนั้นเป็นไฟแสดงสถานะของตัวเครื่อง โดยออกแบบมาเป็นสัญลักษณ์ของเจ้า Ambi Climate เองเลย ซึ่งตัวไฟ LED นั้นจะใช้แสดงสถานะของตัวเครื่องในขณะนั้น โดยมีทั้งสีออกส้มๆ กระพริบๆ ที่แสดงสถานะว่ามันกำลังรอการเชื่อมต่อ WiFi อยู่ ไปจนถึงสีเขียวที่แสดงว่าเจ้า Ambi Climate 2 นั้นกำลังทำงานอยู่นั่นเอง
ด้านหลังตัวเครื่องมีช่องอยู่สองช่องกับปุ่มอีกหนึ่งปุ่ม ซึ่งคือช่องเสียบ Micro USB สำหรับการจ่ายไฟเข้าตัวเครื่อง ช่องเสียบ USB สำหรับการอัพเดตต่างๆ ที่อาจไม่สามารถทำได้ด้วยการอัพเดตแบบ OTA ผ่านแอพพลิเคชั่น และอีกหนึ่งปุ่มสำหรับการรีเซ็ตค่าต่างๆ ของเครื่องหากจำเป็น
ทั้งหมดนี้คือพอร์ต ปุ่ม และ LED รอบตัวที่ออกแบบมาได้อย่างมินิมอลแต่พอเพียง เสริมความหรูเด่นดูดีของมันจริงๆ
การเชื่อมต่อระบบ WiFi และ รีโมทแอร์เพื่อเริ่มต้นใช้งาน
Ambi Climate มีการออกแบบแอพพลิเคชั่นมาให้ใช้งานได้ค่อนข้างง่ายดายและเป็นขั้นเป็นตอนมาก โดยเริ่มเปิดเครื่องมานั้นเราจะต้องทำการเชื่อมต่อ Ambi Climate 2 เข้ากับ WiFi บ้านเราก่อน ซึ่งตัวระบบนั้นจะมีการแนะนำขั้นตอนการเชื่อมต่อ WiFi เอาไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทำตามได้ง่ายดาย
แม้ว่าอินเตอร์เฟสการเชื่อมต่อจะทำออกมาให้ทำตามได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน แต่ในขณะทำจริงนั้นอเล็กซ์พบว่าตัวเครื่องเชื่อมต่อกับ WiFi ที่บ้านได้ค่อนข้างยาก ต้องพยายามอยู่ประมาณสองถึงสามครั้งกว่าจะสามารถเชื่อมต่อกันได้ หนึ่งในสาเหตุคาดว่าจะเป็นเพราะตัวเครื่องสามารถจับสัญญาณ WiFi ที่ความถี่ 2.4Ghz ได้เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันหลายๆ บ้านเป็น Dual Band หรือ Tri-band ที่มีพวกคลื่นความถี่ 5GHz มาด้วยหนึ่งถึงสองคลื่นกันแล้ว และแถมยังใช้ชื่อ SSID เดียวกันอีกเป็นส่วนใหญ่ เลยทำให้เจ้า Ambi Climate เกิดอาการงงและเอ๋อให้เห็นตอนเชื่อมต่อ
หลังจากที่เราเชื่อมต่อเจ้า Ambi Climate 2 เข้ากับระบบ WiFi ภายในบ้านแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการผูก Ambi Climate เข้ากับรีโมตแอร์ที่ใช้การควบคุมผ่านระบบอินฟาเรด (IR) ของเรา โดยวิธีการนั้นไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลย สิ่งที่ต้องทำคือการพลิกหลังรีโมทแอร์ของเราเพื่อหารุ่นของรีโมตและเอามากรอกลงในแอพพลิเคชั่น เพียงเท่านี้ Ambi Climate ก็จะทำการดาวน์โหลดฐานข้อมูลปุ่มบังคับของรีโมทแอร์รุ่นนั้นมาเก็บไว้ในแอพพลิเคชั่นเพื่อให้มันสามารถสั่งงานแอร์เราได้ต่อไป
แอร์ในห้องนอนบ้านอเล็กซ์นั้นเป็นแอร์ Panasonic ตัวเก่าอายุมากกว่า 7 ปีแล้ว โดยก่อนหน้านี้ผมเคยลองพยายามจับคู่แอร์ตัวนี้กับอุปกรณ์ RM Mini จากค่าย Broadlink ก็พบว่าไม่พบรีโมทแอร์ตัวนี้ในฐานข้อมูลของ Broadlink แล้วแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เมื่อลองมาจับคู่รีโมทแอร์ตัวเดียวกันนี้กับ Ambi Climate กลับพบว่าสามารถค้นหาโปรไฟล์ของรีโมทแอร์ตัวนี้เจอได้อย่างง่ายดาย ซึ่งต้องยอมรับว่า Ambi Climate นั้นใช้งานได้กับแอร์ระบบอินฟาเรดแทบทุกตัวในโลกอย่างที่เคลมเอาไว้จริงๆ
แอพพลิเคชั่น ฟังก์ชั่น และการใช้งาน
ตามที่เกริ่นไปไว้ตั้งแต่แรกว่า Ambi Climate 2 นั้นเป็นอุปกรณ์สั่งงานแอร์อัจฉริยะที่มีการใช้งาน AI มาเพื่อเรียนรู้พฤติกรรมของเราเพื่อปรับอุณภูมิห้องให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและสบายสำหรับผู้ใช้งาน ดังนั้นหลักแล้วหลังจากที่ได้ทำการติดต่ออุปกรณ์ทั้งหมดเรียบร้อย ระบบแอร์ของเพื่อนๆ ก็จะสามารถบังคับได้ผ่านทางแอพพลิเคชั่น Ambi Climate ในทันที โดยแอพพลิเคชั่นนี้สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งบน iOS และ Android
4 ฟังก์ชั่นหลักๆ ที่มีอยู่ในแอพพลิเคชั่นนั้นประกอบไปด้วยฟังก์ชั่นต่างๆ ดังต่อไปนี้
- Analytics เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งานของเราไว้เป็นประวัติให้เราได้ดูย้อนหลังได้
- Air Flow Settings เป็นการควบคุมในส่วนของพัดลมแอร์ โหมดของตัวแอร์ บ้านสวิง และการตั้งค่าต่างๆ ของตัวแอร์ของเราผ่านทางแอพพลิเคชั่น
- Device Manager เป็นการตั้งการทำงาน Automation หรือระบบอัตโนมัติต่างๆ ตามที่เราต้องการ เช่นเราอาจต้องการให้แอร์อยู่ในโหมด Comfort หรือควบคุมความสบายด้วย AI เมื่อเราตื่นนอนตอน 6 โมงเช้าทุกวันเป็นต้น รวมไปจนถึงฟังก์ชั่นต่างๆ ของตัว Ambi Climate เองด้วย
- Modes เป็นการตั้งโหมดการทำงานของเจ้า Ambi Climate ซึ่งในเมนูนี้เองที่สำคัญที่สุดในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดการใช้งาน AI หรือโหมดอื่นใด ซึ่งเราจะพูดถึงกันต่อไปด้านล่างนี้
Ambi Climate 2 นั้นนอกจากที่จะมาพร้อมกับความสามารถด้าน AI ที่จะเรียนรู้ความสบายของเราโดยการเอาข้อมูลไปวิเคราะห์บนระบบคลาวด์ของมัน (มี API ให้นักพัฒนานำเอาข้อมูลส่วนตัวมาใช้ประโยชน์ได้ต่อ ซึ่งมีประโยชน์กับผู้ที่ใช้งาน Homekit ผ่าน Homebridge มากๆ) เจ้าตัวเล็กๆ ตัวนี้ยังมาพร้อมกับเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิและความชื่นในอากาศเพื่อนำเอาข้อมูลเหล่านี้ไปประมวลผลสร้างความสบายให้เราแบบแม่นยำมากยิ่งขึ้นด้วย
เนื่องจากมันมาพร้อมกับเซ็นเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้นนี้เอง การหาจุดวางเจ้า Ambi Climate 2 เอาไว้นั้นจึงถือเป็นสิ่งสำคัญมากทีเดียว เพราะว่าหากเราเลือกวางเอาไว้ในจุดที่แอร์ลง อุณหภูมิที่ถูกตรวจวัดได้ก็จะกลายเป็นจุดที่เย็นที่สุดของห้อง ไม่ใช่ทั่วทั้งห้อง ดังนั้นความเย็นและความสบายจึงอาจแตกต่างกันไปได้ตามจุดที่คุณจุดวางเตียงนอนหรือโซฟาของคุณอีกที ซึ่งแน่นอนว่าหลายๆ บ้านไม่ได้จัดเอาไว้ตรงจุดที่แอร์ตก และทางแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุดคือการวางเจ้า Ambi Climate 2 เอาไว้ในจุดที่คุณอยู่อาศัยจริงๆ เพื่อความเย็นและการคุมความชื้นที่แม่นยำขึ้น
“Modes” หัวใจสำคัญของ Ambi Climate ที่เอา AI มาเรียนรู้ความสบาย
จากที่กล่าวถึงฟังก์ชั่นต่างๆ ทั้งหมดของ Ambi Climate 2 ไปในเบื้องต้นนั้น ฟังก์ชั่นที่เรียกได้ว่าน่าสนใจที่สุดนั้นต้องยกให้ฟังก์ชั่น Modes ซึ่งเป็นการตั้งค่าที่ได้ใช้งานความอัจฉริยะของตัวอุปกรณ์อย่างแท้จริง โดยใน Modes นั้นจะมีโหมดต่างๆ ให้เลือกแบ่งออกเป็น 4 โหมดด้วยกัน ได้แก่
- Comfort – โหมดนี้จะมีการเอา AI มาเรียนรู้อุณหภูมิห้องที่เราคิดว่าสบายกับเรามาที่สุด โดยในการเรียนรู้นั้น AI จะอาศัยข้อมูลจากการกดบอก AI อย่างเสมอโดยผู้ใช้งานผ่านทางแอพพลิเคชั่นว่าอุณหภูมิ ณ ขณะนั้นๆ คุณรู้สึกอย่างไร โดยจะมีให้เลือกง่ายๆ เป็น 7 ตัวเลือกความรู้สึก คือ Hot (ร้อน), Too Warm (อุ่นเกินไป), A Bit Warm (อุ่นไปหน่อย), Comfy (กำลังสบาย), A Bit Cold (เย็นไปนิด), Too Cold (หนาวเกินไป), Freezing (หนาวสะท้าน) หลังจากที่ AI ได้ข้อมูลทั้งหมดไปพอประมาณแล้วจะกำหนดอุณหภูมิที่เหมาะสมกับเราให้ในที่สุด ซึ่งจะเป็นการสะสมข้อมูลไปเรื่อยๆ ทำให้อุณหภูมิที่สบายนั้นมีความต่างกันออกไปตามการใช้งานที่ต่างวัน เวลา และบุคคล และเมื่อใช้งานในโหมดนี้อย่างสม่ำเสมอ AI จะฉลาดพอที่จะทราบว่าต้องปรับแอร์ให้เป็นอย่างไรเพื่อเข้าสู่โหมดที่คุณสบายได้โดยเร็วที่สุด เช่นเมื่อคุณเดินเข้าห้องแล้วร้อนเกินไปคุณอาจกดว่า Too Warm จากนั้นมันก็จะรีบปรับอุณหภูมิลงมาให้เหมาะสมและรู้สึกสบายในทันที โดยอาจตั้งเร่งการทำงานแอร์ให้ทำความเย็นสูงมากๆ ในช่วงต้นเพื่อทำให้คุณหายรู้สึกร้อนได้ไวที่สุดนั่นเอง
- Temperature – โหมดนี้จะเป็นการตั้งอุณหภูมิตามองศาที่ต้องการจริง โดยพูดง่ายๆ คือโหมดที่ทำหน้าที่เกือบจะแทนรีโมทแอร์เลยนั่นเอง โดยจะฉลาดขึ้นมาหน่อยด้วยการเอาค่าความชื้นสัมพัทธ์ในขณะนั้นซึ่งเก็บมาจากเซ็นเซอร์ภายในตัวของมันมาคำนวนเป็นอุณหภูมิจริงประกอบด้วย เพื่อให้ได้ห้องที่มีอุณหภูมิที่เราต้องการโดยยังคงมีค่าความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย
- Away – โหมดนี้เป็นโหมดที่มีขึ้นเพื่อควบคุมอุณหภูมิของบ้านเราในขณะที่เราไม่ได้อยู่ที่บ้าน เพื่อให้อุณหภูมิภายในบ้านเหมาะสมต่อการสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัข แมว หรือต้นไม้ใบหญ้าต่างๆ ที่เราปลูกไว้ภายในบ้าน รวมไปจนถึงเสื้อผ้าที่อาจเกิดปัญหาได้จากการที่ห้องมีความชื้นมาเกินไป หรือมีอุณหภูมิที่สูงจนเกินไป โดยส่วนตัวแล้วอเล็กซ์เลี้ยงน้องหมาที่บ้าน แต่ก็มักจะเปิดพัดลมให้เขามากกว่าเวลาที่ไม่อยู่บ้าน ดังนั้นโหมด Away นี้สำหรับผมแล้วจึงชอบนำมาประยุกต์ใช้เป็นโหมดที่เอาไว้เตรียมบ้านให้อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมก่อนออกจากที่ทำงาน ที่เมื่อเรากลับถึงบ้านแล้วจะได้รู้สึกสบาย เข้าห้องแล้วพอสดชื่น ไม่เย็นและไม่ร้อนจนเกินไปแทน แล้วเมื่อถึงบ้านค่อยเปิดโหมด Comfort อีกทีเพื่อให้มันทำความเย็นให้ได้ในระดับที่เราจะรู้สึกสบายอย่างแท้จริง
- Manual – โหมดนี้แปลได้ตามชื่อเลยคือโหมดควบคุมทุกอย่างด้วยตัวเอง โดยจะทำหน้าที่เป็นรีโมทแอร์อย่างแท้จริง ไม่มีการเอาค่าความชื้นสัมพัทธ์ในห้องมาคิดเพื่อคงอุณหภูมิและความชื้นของห้องให้อยู่ในอุณหภูมิที่ตั้งไว้เหมือนกับที่เราเห็นในโหมด Temperature ที่พูดถึงไปก่อนหน้านี้
เพราะเหตุนี้ APPDISQUS เองจึงให้คำนิยามกับ Modes ว่าเป็นเสมือนหัวใจของ Ambi Climate เลยทีเดียว ซึ่งหากคุณเรียนรู้การใช้งานฟังก์ชั่นย่อยในโหมดนี้ได้อย่างเต็มที่ กอปรกับ AI เองก็มีเวลาเรียนรู้อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับคุณได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแล้ว Modes จะช่วยให้คุณใช้งานแอร์ที่อาจไม่ค่อยฉลาดนักของคุณได้อย่างชาญฉลาดเลยทีเดียว
มี API ให้ผู้ใช้งานสามารถนำข้อมูลของตนไปใช้ประโยชน์ควบคุมแอร์ได้ผ่านช่องทางอื่น
หนึ่งในสิ่งสำคัญที่ผู้ใช้งานระบบ IoT ต้องใช้เป็นตัวแปรแรกๆ ในการเลือกซื้ออุปกรณ์นั้นคือเรื่องของ API และแอพพลิเคชั่น IoT ที่จะมาใช้ในการมอนิเตอร์และควบคุมอุปกรณ์ที่ซื้อ โดยสำหรับเจ้า Ambi Climate นั้นก็มาพร้อมกับ API ให้นักพัฒนาได้นำไปใช้งานต่อกันได้ตามต้องการ ซึ่ง ณ ตอนนี้ Ambi Climate รองรับการใช้งานผ่านการสั่งการด้วย Google Home, Amazon Alexa และ IFTTT ได้อย่างเป็นทางการ ส่วนผู้ใช้งาน HomeKit ของทางฝั่ง Apple นั้นยังไม่มีวิธีการรองรับอย่างเป็นทางการ หากแต่มีปลักอินที่พัฒนาให้สำหรับการใช้งานบน HomeKit ผ่าน Homebridge ออกมาให้ได้ดาวน์โหลดและติดตั้งลงบนเซิร์ฟเวอร์ Homebridge แล้วสำหรับคนที่มีการรันเซิร์ฟเวอร์ Homebridge ไว้ในบ้านเช่นที่บ้านของอเล็กซ์เอง
โดยในการทดสอบที่บ้านของอเล็กซ์นั้น อเล็กซ์ได้ทำการ bridge เจ้า Ambi Climate ให้ใช้งานบน HomeKit ได้ผ่านทาง Homebridge ซึ่งทำให้สามารถสั่งการทำงานของมันได้ผ่านทาง Siri แบบเป็นภาษาไทย และทำให้สามารถนำอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นมาจากการแมพ API ของ Ambi Climate (ในที่นี้อเล็กซ์ตั้งชื่อว่า Thermostat สำหรับการควบคุม Comfort Mode และพัดลมแอร์ ซึ่งนอกจากนี้ยังเปิดการแสดงผลความชื้นสัมพัทธ์ที่ได้ค่ามาจากเจ้า Ambi Climate ได้อีกด้วยหากต้องการ) มาควบคุมการสั่งงาน และตั้งฉาก (Scene) และการทำงานอัตโนมัติตามเงื่อนไข (Automation) ได้ผ่านทางแอพพลิเคชั่น Home บน iOS หรือแอพพลิเคชั่นอื่นๆ ที่ยืดหยุ่นกว่าอย่าง Eve HomeKit ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นหลักที่อเล็กซ์เอาไว้ใช้ตั้ง Scene และ Automation ทั้งหมดส่งเข้าแอพพลิเคชั่น Home ได้อีกด้วย
เพราะการเปิดให้เข้าถึง API ได้นี้เองเลยทำให้ Ambi Climate จาก Ambi Labs นั้นมีชัยเหนือคู่แข่งที่ทำ Thermostat ออกมาขายได้อย่างชัดเจน
แต่…ไม่มีอะไรเพอร์เฟ็คไปหมด
ปัญหาใหญ่มากๆ จากการทดลองใช้งานของเรานั้นคือเรื่องที่ว่า Ambi Climate นั้นไม่ตอบสนองต่อคำสั่งสักเท่าไหร่นัก ยกตัวอย่างเช่น มีบ่อยครั้งที่ผมกลับบ้านแล้วสั่ง Ambi Climate ให้ทำงานด้วย Siri Shortcut ที่เราตั้งเอาไว้บน iPhone X แล้วปรากฎว่า Ambi Climate นั้นไม่สามารถเปิดแอร์ให้เราได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เราสั่งการ หากแต่ต้องกดย้ำหรือสั่งงานซ้ำอยู่หลายๆ รอบ (ซึ่งบางทีก็เป็นสิบรอบ) กว่าแอร์จะถูกเปิดขึ้นมาในโหมดที่ตั้งค่าเอาไว้ผ่าน Shortcut
ทั้งนี้อเล็กซ์เองยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นเฉพาะกับแอร์บางรุ่น บางโมเดล โดยแอร์ที่ผมใช้เองนั้นดันโชคร้ายเป็นหนึ่งในโมเดลที่มีปัญหาหรือไม่ หรืออาจะเป็นกับตัวอุปกรณ์เองเลย ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไร นี่ก็คือหนึ่งในปัญหาสำคัญมากๆ ที่ Ambi Labs ต้องแก้ไขอย่างรวดเร็วเพื่อประสิทธิภาพการทำงานของเจ้า Ambi Climate 2 ที่ทำมาได้ดีในหลายๆ ฟังก์ชั่นการใช้งานเป็นทุนเดิมแล้ว
นอกจากนี้การเก็บเอาข้อมูลส่วนบุคคลอย่างสถานที่ตั้งตัวเครื่อง Ambi Climate และความรู้สึกของผู้ใช้งานต่ออุณหภูมิ ณ ขณะนั้นๆ ไปไว้บนคลาวด์นั้นยังถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับใครบางคนที่เป็นห่วงเรื่องความเป็นส่วนตัว ซึ่งนี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุสำคัญที่ทำให้ใครหลายๆ คนไม่อยากใช้งานเจ้า Ambi Climate ตัวนี้ หากเป็นไปได้ Ambi Labs ควรที่จะยกเลิกการบังคับให้ปักหมุดสถานที่ใช้งานเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นทางด้านความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานให้มากขึ้น
สำคัญที่สุดคือผู้ใช้งานที่ยังคงใช้แอร์รุ่นเก่าที่ไม่ใช่ระบบ Inverter นั้นอาจประสบปัญหาแอร์ดับเองและเปิดเองเวลาที่ใช้งานในโหมด Comfort ของ Ambi Climate เหตุเพราะตัว Ambi Climate ไม่สามารถควบคุมปัจจัยสำคัญในการลดหรือคงความเย็นอย่างตัวมอเตอร์และคอมเพรสเซอร์แอร์ได้หากไม่มีระบบ Inverter ทำให้ตัวเครื่องต้องสั่งปิดการทำงานของแอร์เลยเมื่อความเย็นต่ำกว่าที่ระบุไปมาก ปัญหาที่ตามมานั้นอาจเป็นเรื่องของคอมเพรสเซอร์แอร์ที่เสียเร็วขึ้น และค่าไฟที่อาจสูงขึ้นตามไปด้วย
บทสรุปส่งท้าย
Ambi Climate 2 นั้นถือเป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่การเป็น Thermostat ควบคุมการใช้งานแอร์ของเราผ่านการเรียนรู้ของ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ทางเลือกที่สามารถนำมาใช้งานกับระบบการติดตั้งแอร์ในบ้านเราได้ ทั้งนี้แม้ระบบจะฉลาดแค่ไหน แต่ก็ยังมีจุดด้อยที่ถือเป็นช่องโหว่สำคัญเช่นเรื่องของความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน และการควบคุมการเปิดแอร์ที่ทำได้บ้างไม่ได้บ้างมาเป็นปัจจัยให้ต้องคำนีงว่าคุ้มหรือไม่กับการลงทุนกับอุปกรณ์ควบคุมแอร์อัจฉริยะที่มีราคาไม่ต่ำเลยที่ 4,990 บาทนี้
ถึงตรงนี้คงต้องบอกว่าหากอยากซื้อมาเพื่อลองใช้ แต่เงินไม่เหลือจริง ก็อยากให้ตัดมันออกไปจากความคิดก่อน หรือไปวางไว้ในลำดับท้ายๆ ของความสำคัญไปก่อน แต่หากเงินเหลือ ชอบฟังก์ชั่นทั้งหมดที่บอกมา และคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับคุย สามารถแลก 4,990 บาทได้เพื่อแลกกับความสบายก็ซื้อเลย เพราะฟังก์ชั่นที่ให้นั้น หากไม่เอาปัญหาเรื่องสั่งเปิดเครื่องไม่ค่อยจะติดมาเป็นประเด็นก็ถือว่าคุ้มค่าและใช้งานได้จริง
งานนี้หากต้องสรุปสั้นๆ ก็ขอให้คำนิยามกับมันว่า Ambi Climate 2 ของเล่นของคนพอมีเงินเหลือ…ละกันครับ