หลังจากที่ตอนแรกใน Living Smart นั้นเราได้ชวนเพื่อนๆ พูดถึงเรื่องของระบบภาพที่เหมาะสมสำหรับบริการสตรีมมิ่งอย่าง Netflix, Apple TV+ และอื่นๆ อีกมากมายกันไปแล้ว รวมถึงได้ชวนคุยเรื่องการเลือกจอทีวีเพื่อให้มารองรับการใช้งานเหล่านี้ได้ในโจทย์ที่ว่าต้องดีในคุณภาพ ดีต่อใจ และดีต่อกระเป๋าสตางค์กันไปแล้วนั้น วันนี้ Living Smart และ APPDISQUS จะพาเพื่อนๆ มาพูดคุยกับเรื่องที่ 2 ที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือเรื่องของระบบเสียงและการเซ็ตอัพเดตลำโพงและระบบเสียงให้กับโฮมเธียร์เตอร์เราให้เหมาะสมกับบริการสตรีมมิ่งเซอร์วิสในปัจจุบันกันบ้างนั่นเอง
และหากเพื่อนๆ ยังไม่ได้อ่านตอนแรกที่เกี่ยวกับระบบภาพไป เพื่อนๆ ก็สามารถย้อนกลับไปอ่านได้จากลิงก์นี้เลย
Living Smart: ชอบดู Netflix และ Apple TV+ ควรเลือกทีวีแบบไหนดี? ที่นี่มีคำตอบ
เอาล่ะ เกริ่นกันสักนิดก่อนดีกว่าว่าในบทความที่เพื่อนๆ กำลังอ่านกันอยู่นี้ เราจะไปทำความรู้จักกับระบบเสียงที่เราเห็นอยู่ในปกภาพยนตร์หรือรายละเอียดภาพยนตร์บน Netflix, Apple TV+, Disney+ รวมไปจนถึง Amazon Prime และบริการอื่นๆ อีกมากมายว่ามันหมายถึงอะไร โดยจะครอบคลุมไปถึงระบบ 5.1, 7.1, Dolby Digital, Dolby Surround และระบบเสียงล่าสุดที่ใครๆ ก็ว่าเจ๋งอย่าง Dolby Atmos และที่สำคัญกว่านั้นคือเราต้องใช้อะไรบ้างในการเซ็ตอัพเสียงตามระบบที่เราต้องการ ต้องใช้ลำโพงกี่ตัว และตำแหน่งของลำโพงแต่ละตัวควรอยู่ตรงไหน วันนี้เราจะชวนไปหาคำตอบพร้อมๆ กัน
ในมาตรฐานใหม่ๆ นั้นมีการเพิ่มระบบเสียง Dolby Atmos และ DTS-X ขึ้นมา และตอนนี้มี IMAX Enhanced และ Auro 3D ขึ้นมาด้วยแต่ยังไม่ได้รับความนิยมมากนักในปัจจุบันทั้งทางฝั่งผู้ใช้งานและฝั่งผู้ผลิตคอนเทนต์ ซึ่งหมายถึงโค๊ดเสียงใหม่ที่มีเมต้าจากมุมสูง โดยเราจะเรียกเสียงพวกนี้ว่า Object Based Surround System หรือระบบเสียงที่เสียงเกิดตามมิติของวัตถุที่แสดงผลจริงในหน้าจอนั่นเอง ทำให้เสียงจากภาพยนต์มีมิติมากขึ้นเยอะ
2. ระบบเสียง
ที่สำคัญไม่แพ้กันสำหรับการทำห้องชมภาพยนตร์ที่รองรับกับบริการสตรีมมิ่งในปัจจุบันนี้อย่างเต็มที่นั้นคือระบบเสียงนั่งเอง โดยระบบเสียงในบ้านที่นิยมใช้กันในปัจจุบันนั้นจะเป็น 5.1 หรือ 7.1 (จริงๆ 9, 11 ก็มีนะครับ แต่ไม่ค่อยนิยมใช้ตามบ้าน) โดยตัวเลขแรกนั้นบอกจำนวนลำโพง ในแนวราบรอบด้าน เช่น 5 คือมี 5 ตัว แบ่งเป็น คู่หน้า (Front) 2 ตัว, คู่หลัง (Rear) 2 ตัว และ Center อีก 1 ตัว ในขณะที่ 7 นั้นจะมีลำโพงเพิ่มด้านข้าง (Surround) มาอีก 2 ตัวนั่นเอง
ส่วน .1 ด้านหลังเป็นการระบุจำนวนซัพวูฟเฟอร์หรือลำโพงเสียงคลื่นต่ำในระบบ โดย .1 ก็หมายถึงมีซัพ 1 ลูก ในขณะที่ถ้าเป็น .2 นั้นจะหมายถึงมีซัพ 2 ลูกในระบบนั่นเองครับ
สรุปง่ายๆ คือ 5.1 จะมีลำโพง 5 ลูก ซัพ 1 ลูก และ 7.1 จะมีลำโพง 7 ลูก ซัพ 1 ลูก ในขณะที่ 5.2 จะมีลำโพง 5 ลูก ซัพ 2 ลูก และ 7.2 จะมีลำโพง 7 ลูก ซัพ 2 ลูกนั่นเอง ซึ่งการเซ็ตอัพแบบนี้จะทำให้เราสามารถเล่นเสียง Dolby Surround แบบขั้นต่ำ 5.1 ที่ใน Netflix และ Apple TV+ มีเป็นมาตรฐานในทุกเรื่องได้ รวมถึงเสียง DTS ด้วย (ใน Netflix จะมีระบุเป็นตัวเลขตรงรายละเอียดหนังว่าเป็น 5.1 แต่บางคนอาจเคยเห็นคำว่า Atmos ในบางเรื่องซึ่งเราจะพูดถึงกันต่อไป)
Dolby Atmos และ DTS-X มิติใหม่แห่งเสียงรอบทิศทางที่แท้จริง…เหรอ?
ในมาตรฐานใหม่ๆ นั้นมีการเพิ่มระบบเสียง Dolby Atmos และ DTS-X ขึ้นมา และตอนนี้มี IMAX Enhanced และ Auro 3D ขึ้นมาด้วยแต่ยังไม่ได้รับความนิยมมากนักในปัจจุบันทั้งทางฝั่งผู้ใช้งานและฝั่งผู้ผลิตคอนเทนต์ ซึ่งหมายถึงโค๊ดเสียงใหม่ที่มีเมต้าจากมุมสูง โดยเราจะเรียกเสียงพวกนี้ว่า Object Based Surround System หรือระบบเสียงที่เสียงเกิดตามมิติของวัตถุที่แสดงผลจริงในหน้าจอนั่นเอง ทำให้เสียงจากภาพยนต์มีมิติมากขึ้นเยอะ (เป็น 3D Audio เช่นเดียวกับที่ Apple มีการออกซัพพอร์ตให้ Airpods Pro ในชื่อ Spatial Audio นั่นเอง หรือในกรณีของ PlayStation 5 นั้น Sony ก็มีประกาศออกมาแล้วในชื่อรหัสเสียง Tempest Audio หรือ 3D Pulse) ซึ่งถือเป็นมาตรฐานยุคใหม่ในปัจจุบันนี้ โดยโค๊ดการเซ็ตอัพลำโพงก็จะมี จุด (.) ต่อท้ายพ่วงเพิ่มขึ้นมา เช่น 5.1.2 ก็จะหมายถึง มีลำโพง 5 ตัว ซัพ 1 ตัว และลำโพงแนวสูงหรือลำโพง Atmos อีก 2 ตัวนั่นเอง เช่นเดียวกับ 5.1.4 ที่จะหมายถึงมีลำโพง Atmos ถึง 4 ตัว คือ Top Front และ Top Rear หรือ 5.1.6 ที่จะมีลำโพง Atmos มากถึง 6 ตัวด้วยกัน โดยจะเพิ่ม Top Middle มาอีกหนึ่งคู่นั่นเอง
ความเจ๋งของ Dolby Atmos นั้นคือการให้ประสบการณ์เสียงแบบ 360 องศา ล้อมรอบตัวเราเลยทีเดียว โดยมี Subwoofer ช่วยสร้างบรรยากาศเสียงจากพื้นขึ้นมา ในขณะที่ลำโพงเหนือศีรษะทั้งหมดนั้นจะสร้างบรรยากาศเสียงเหนือหัวของเรา ทำให้เวลาที่เราชมภาพยนตร์ เราจะได้รับประการณ์เสียงที่สมจริงตามที่ภาพแสดงผลบนหน้าจอของเรานั่นเอง
แต่ทั้งนี้ Dolby Atmos เอง ณ ปัจจุบันก็ยังแบ่งออกเป็นสองประเภทด้วยกัน ซึ่งก็คือแบบ Lossy (Atmos ที่ถูกบีบอัดเสียงมา หรือที่เรียกว่า E-AC3, DD+) และแบบ Lossless (Atmos ที่ปล่อยเสียงเต็ม พวก TrueHD ทั้งหลาย) ซึ่งประเภทแรกนั้นจะหาได้จากบริการสตรีมมิ่งทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น Netflix, Apple TV+ หรือ Disney+ รวมไปจนถึงแอพพลิเคชั่นสำหรับดูหนังที่นิยมใช้กันบน Apple TV อย่าง Infuse และแบบที่ 2 นั้นจะหาได้จากแผ่น BluRay หรือ UHD ต่างๆ นั่นเอง
คุณภาพสัญญาณเสียง Dolby Atmos ที่แตกต่างกันในบริการสตรีมมิ่งแต่ละราย
แต่ถึงแม้ว่าบริการสตรีมมิ่งทั้งหลายนั้นจะใช้เสียง Dolby Atmos แบบที่เรียกว่า DD+ หรือ E-AC3 อย่างไรก็ตาม คุณภาพของสัญญาณเสียงที่ส่งออกมานั้นก็ยังแตกต่างกันไปในแต่ละบริการ เช่นเดียวกับคุณภาพของสัญญาณภาพโดยจากข้อมูลคุณ Sonoftumble ในวันที่ 26 มกราคม 2562 บนเว็บไซต์ AVSFORUM นั้นได้เผยถึงคุณภาพสัญญาณเสียงที่ส่งออกมาจากบริการสตรีมมิ่งดังนี้
iTunes: บิตเรตเสียงโดยเฉลี่ย 770 kbps – บิตเรตวิดีโอโดยเฉลี่ย is 25 Mbps.
MoviesAnywhere: บิตเรตเสียงโดยเฉลี่ย 256 kbps – บิตเรตวิดีโอโดยเฉลี่ย 25 Mbps
Netflix: บิตเรตเสียงโดยเฉลี่ย 436 kbps – บิตเรตวิดีโอโดยเฉลี่ย 16 Mbps.
Prime: บิตเรตเสียงโดยเฉลี่ย 448 kbps – บิตเรตวิดีโอโดยเฉลี่ย 10 Mbps.
Vudu: บิตเรตเสียงโดยเฉลี่ย 560 kbps – บิตเรตวิดีโอโดยเฉลี่ย 14 Mbps.
ซึ่งหากดูจากข้อมูลดังกล่าวแล้วเราจะเห็นว่าบริการสตรีมมิ่งจาก Apple นั้นให้คุณภาพของเสียงและภาพที่ดีที่สุด (โดยดูจาก Bitrate ที่ปล่อยออกมา) ในขณะที่หากโฟกัสที่เสียงเป็นสำคัญแล้ว บริการ Prime จาก Amazon เข้าวินมาเป็นอันสอง เฉือนชนะ Netflix มาได้เพียงเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม เมื่อกลางปีที่ผ่านมา Netflix ได้เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ที่เรียกว่า High Quality Audio โดยเป็นเป็นบริการสำหรับสมาชิกแบบ Premium ที่ Netflix เองจะเลือก Bitrate เสียงในการสตรีมให้เหมาะสมกับคุณภาพของอินเตอร์เน็ตในขณะนั้น ซึ่งสำหรับเสียง Dolby Atmos นั้น Netflix เองจะสตรีมเสียงออกไปสูงสุดที่บิตเรต 768kbps ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับบริการของ Apple ที่มีการทดสอบเอาไว้มากทีเดียว
ต้องทำยังไงถึงจะได้ Dolby Atmos และ DTS-X มาใช้ในห้องโฮมของเรา
เมื่อเราพูดถึงเรื่องเสียง สิ่งสำคัญที่สุดก็คือตัวขับเสียงและลำโพงของเรานั่นเอง โดย ณ ปัจจุบันนี้มีสองเทคโนโลยีสำคัญที่นิยมใช้กันตามบ้านเรือน ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับเม็ดเงินลงทุนและพื้นที่หน้างาน
-
Soundbar อุปกรณ์ขับเสียงพร้อมลำโพงในตัวแบบลงทุนไม่มากและประหยัดพื้นที่
ปัจจุบันนี้ Soundbar ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนลำโพงและตัวขับเสียง เพราะนอกจากจะประหยัดพื้นที่ในการติดตั้งแล้ว ยังประหยัดเงินในกระเป๋าสตางค์อีกด้วย ที่น่าสนใจคือเทคโนโลยี Soundbar ในปัจจุบันนั้นไปไกลมาก หลายต่อหลายตัวรองรับเทคโนโลยีอย่าง Dolby Atmos โดยจำลองเสียงเหนือหัวได้ใกล้เคียงกับ Sound Stage ประหนึ่งมีลำโพงเหนือหัวทั้ง 2 ตัวและ 4 ตัว และมีลำโพงรอบตัวอีกตั้งแต่ 5 ตัวไปจนถึง 9 ตัว ยกตัวอย่างเช่น Soundbar ของ Samsung รุ่น HW-Q80R ที่จำลองเสียงเสมือน 5.1.2 ได้ในราคาเพียงประมาณ 16,000 บาท หรือหากงบไหวจะขยับไปอีกหน่อยเป็น HW-Q90R ที่จำลองเสียงเสมือน 7.1.4 ได้ในราคาประมาณ 24,000 บาท นั่นเอง
นอกเหนือจาก Samsung แล้ว อีกหนึ่งตัวที่น่าสนใจคงเป็นค่ายลำโพงคุณภาพอีกค่ายอย่าง JBL ที่ก็มีตัว JBL Bar 9.1 ที่สามารถจำลองระบบเสียงได้ทั้ง 5.1.4 และ 9.1 ชาแนล โดยลูกเล่นสำคัญในการสร้างสนามเสียงนั้นคือการที่ Soundbar สามารถแยกร่างลำโพงขนาดเล็ก 2 ตัวออกมาจากชุดใหญ่เพื่อเอาไปวางไว้ที่ตำแหน่งหลังจัดรับชมแบบไร้สายได้นั่นเอง ซึ่งเจ้าตัวนี้สนนราคาอยู่ที่ประมาณ 29,900 บาท
โดยทุกรุ่นที่พูดไปด้านบนนั้นรองรับการส่งรหัสเสียง Dolby Atmos TrueHD (และพวก E-AC3 หรือ DD+ ด้วย) และ DTS-X ซึ่งเป็นมาตรฐานเสียงยุคใหม่ที่ใช้อยู่ในบริการสตรีมมิ่งตามที่กล่าวมาข้างต้น ในงบประมาณที่จับต้องได้ และพื้นที่ใช้สอยที่ประหยัด ดังนั้นใครจะเอาไปใช้กับห้องรับแขก หรือเซ็ตทีวีที่บ้านก็ไม่ต้องกังวลเรื่องพื้นที่ติดตั้งหรือการเซ็ตค่าเสียงแต่อย่างใด เพราะ Soundbar พวกนี้มาพร้อม AI ที่จะช่วยเซ็ตเสียงให้เหมาะสมกับพื้นที่รับชมได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน
-
ชุด AVR (Audio/Video Receiver) และลำโพงตามความเหมาะสม เหมาะกับผู้ที่มีห้องดูหนังเป็นสัดส่วน ราคารวมสูงพอประมาณ
AVR หรือ Audio/Video Receiver นั้นถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับการสร้างห้องโฮมอย่างเป็นกิจลักษณะ โดย ARV ในปัจจุบันนั้นมีมากมายหลายแบรนด์ และที่นิยมในบ้านเราและในตลาดโลกคงหนีไม่พ้นแบรนด์ตลาดอย่าง Denon, Marantz, Onkyo และ Yamaha นั่นเอง ทั้งนี้ในแต่ละปี แบรนด์ต่างๆ ก็จะออก AVR รุ่นใหม่ที่มาพร้อมคุณสัมบัติใหม่ๆ ที่น่าสนใจ โดยครอบคลุมตั้งแต่รุ่นที่มีราคาประหยัดไปจนถึงรุ่นที่เน้นสเป็กแต่ราคาก็โหดไปด้วย
เนื่องจากการจะทำระบบ Home Theater โดยใช้ AVR นั้นค่อนข้างที่จะต้องลงทุนสูง เพราะเมื่อได้ AVR ที่ค่าตัวก็หลายหมื่นมาแล้ว เราก็ยังต้องหาลำโพงแยกแต่ละตัวมาประกอบให้ครบชุด 5.1, 7.1, 9.1 และพวกลำโพง Atmos หากเราต้องการเซ็ตอัพระบบที่รองรับ Atmos เพราะเหตุนี้แบรนด์ผู้ผลิตจริงมีชุดเซ็ต Home Theater ที่เราเรียกว่า HITB หรือ Home Theater In the Box ซึ่งเป็นการจับรวมชุด AVR รุ่นตั้งต้นเข้ากับพวกลำโพง OEM ของแบรนด์ตัวเอง เพื่อลดต้นทุนในการลงทุนให้กับผู้ที่สนใจระบบ Home Theater ที่อาจจะยังไม่ได้สนใจเรื่องคุณภาพเสียงและภาพมากนัก แต่เน้นประหยัดและง่ายกว่า โดยเพียงแค่แกะกล่องเสียบสายลำโพงต่างๆ ที่แถมมาเข้ากับ AVR ก็พร้อมใช้งานแล้ว
แต่ไม่ว่าจะเป็น AVR แยก หรือจะเป็น AVR ชุดรวมลำโพง ในโรงของเครื่องเสียง Home Theater นั้น เทคโนโลยีที่เอาไปใส่ใน AVR พวกนี้ก็ถือว่าใหม่สุดและดีสุดเท่าที่เซ็ตอัพโฮมเธียเตอร์ตามบ้านจะต้องการแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการรองรับระบบเสียงทั้ง Dolby Atmos และ DTS-X ยาวไปจนถึงระบบเสียงใหม่อย่าง IMAX Enhanced และ Auro 3D ที่เกริ่นไปในตอนต้นอีกด้วย และผู้เล่นยังสามารถปรับแต่งเสียงได้ตามต้องการด้วยการหาลำโพงที่ชอบมาใช้งานได้อย่างอิสระ จึงทำให้เจ้า AVR+ ลำโพงแยกนั้นเป็นเป้าหมายของใครหลายๆ คนที่อยากเข้ามาสู้โลกของโฮมเธียร์เตอร์อย่างจริงจังนั่นเอง
ซึ่งเมื่อว่ากันถึงระบบเสียง Dolby Atmos หรือ DTS-X แล้ว การเซ็ตอัพลำโพงเสียงเหนือหัวเพื่อเชื่อมต่อกับ AVR นั้นก็มีหลักๆ แบ่งออกเป็น 3 แบบด้วยกัน
เริ่มจากง่ายสุดคือลำโพง Dolby Atmos Enabled (Upfiring) หรือลำโพงที่จัดวางไว้กับลูกโพงคู่หน้าหรือคู่หลังเพื่อยิงขึ้นเพดานแล้วให้ตกกระทบเสียงเหนือหัวลงมายังตำแหน่งที่รับฟัง ซึ่งลำโพงประเภทนี้จะได้ผลน้อยสุด แต่ก็ได้เปรียบเรื่องราคาและการติดตั้งมากที่สุดเช่นเดียวกัน
ประเภทที่ 2 นั้นจะเป็นลำโพงจำพวก High Elevated หรือลำโพงยกสูงที่นำไปติดตั้งไว้กับผนังเหนือจอภาพ แล้วยิงเสียงลงมายังจุดรับฟัง เพื่อให้เสียงเหนือหัว ซึ่งลำโพงพวกนี้ข้อดีคือให้เสียงที่ดีกว่าลำโพงแบบ Upfiring มากๆ แต่การติดตั้งและการลงทุนก็มีสูงกว่าพอสมควร
ประเภทที่ 3 นั้นคือลำโพงที่แนะนำที่สุดสำหรับคนที่อยากได้คุณภาพ นั่นก็คือ In-Ceiling หรือ On-Ceiling Speaker ซึ่งลำโพงพวกนี้จะนิยมติดฝังไปในฝ้าทำมุมองศากับจุดรับฟังตามที่ Dolby กำหนดไว้ (ในบางเซ็ตอัพก็จะติดลอยเอาไว้บนฝ้า) ซึ่งลำโพงพวกนี้จะมีความวุ่นวายในการติดตั้งมากที่สุด ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมก็อาจจะสูงที่สุดเมื่อเทียบกับอีกสองประเภทก่อนหน้าด้วย แต่เพื่อผลลัพธ์ของ Atmos หรือ DTS-X ที่ดีที่สุดก็ต้องบอกว่าใครไหวก็น่าลงทุนมากๆ ครับ ส่วนตัวที่บ้านก็ใช้เป็นประเภทนี้เช่นเดียวกัน
แต่ไม่ว่าจะเป็นการเซ็ตอัพลำโพง Atmos แบบใดก็ตามใน 3 แบบบนที่ว่ามานี้ ก็จะถือว่าระบบเรา Qualify หรือรองรับการใช้งานระบบเสียง Dolby Atmos หรือ DTS-X ตามวัตถุประสงค์ที่เราต้องการแล้วล่ะครับ
-
(ของแถม) ใช้ HomePod จาก Apple และ Apple TV 4K ในการรับชมคอนเทนต์และจำลองระบบเสียง Dolby Atmos
อีกหนึ่งลูกเล่นล่าสุดจาก Apple นั้นคือการปล่อยอัพเดตให้เจ้า HomePod สามารถจำลองระบบเสียง Dolby Atmos ได้หากใช้งานคู่กับ Apple TV 4K ซึ่งเพิ่งปล่อยออกมาเมื่อไม่นานมานี้ โดยจะรองรับเฉพาะกับเจ้า Homepod ตัวใหญ่เท่านั้น สำหรับ Homepod Mini นั้นไม่สามารถใช้งานฟังก์ชั่นนี้ได้
โดยหากเพื่อนๆ ใช้งาน Apple TV 4K อยู่แล้ว ก็เพียงแค่อัพเดตเป็น tvOS ล่าสุด คือ tvOS14 จากนั้นก็ทำการเชื่อมต่อ Homepod ที่อัพเดตระบบปฏิบัติการเป็น HomePod Software 14.2 แล้วเข้าด้วยกันในโหมด Home Theater โดยจะใช้ Homepod แค่เพียงตัวเดียว หรือ 2 ตัวเชื่อมกันในโหมด Stereo ก็ได้ เจ้า HomePod ของเราก็จะเล่นหนังจาก Apple TV+, iTunes, Netflix และบริการต่างๆ ที่รองรับระบบเสียง Dolby Atmos บน Apple TV 4K ของเรา โดยการจำลองเสียง Dolby Atmos ออกมาให้ได้ค่อนข้างที่จะดีเลยทีเดียว ซึ่งจากที่อเล็กซ์ได้ทดสอบก็ต้องบอกว่าดีพอๆ กับ Sounbar ระบบเสียง Dolby Atmos ชั้นนำหลายๆ ตัวก็ว่าได้
อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก Homepod ยังไม่จำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และยังใช้ได้กับ Apple TV 4K เพียงเท่านั้น ไม่สามารถเอาไปใช้กับพวกอุปกรณ์ Media Player อื่นๆ อย่างพวก Dune หรือ Zidoo ได้ ดังนั้นจึงอาจถือเป็นตัวเลือกการเซ็ตอัพระบบเสียง Dolby Atmos ที่ไม่น่าสนใจสักเท่าไหร่นักสำหรับหลายๆ คน แต่หากใครที่ที่บ้านใช้งาน Apple TV 4K และมี Homepod อยู่แล้ว การลองเซ็ตอัพ Dolby Atmos ด้วยความสามารถใหม่ของ Homepod และ Apple TV 4K นั้นก็ไม่ได้ถือว่าเสียหายอะไร แถมยังมีแต่ได้กับได้สำหรับคนที่อยู่ใน Apple Eco System อยู่แล้วอีกด้วย
สั้นๆ กระชับ ได้ใจความ เซ็ตอัพแบบไหนเหมาะกับใคร ถ้าต้องการะบบ Dolby Atmos และ DTS-X
เขียนมาซะยืดยาวเพื่ออธิบายให้เพื่อนๆ ได้เห็นภาพและเข้าใจว่าการเซ็ตอัพระบบเสียง Dolby Atmos นั้นต้องมีอุปกรณ์อะไร และแตกต่างกันอย่างไรบ้าง เพราะอย่างนั้นผมจึงขอถือโอกาสใช้พื้นที่ตรงนี้สรุปสั้นๆ อีกครั้งกันการสับสนกันสักหน่อยดีกว่า
หากชุดรับชมภาพยนตร์หรือเล่นเกมของเรานั้นมีพื้นที่จำกัด และเป็นพื้นที่ใช้สอยร่วมกับผู้อื่น ไม่ใช่ห้องแยกอิสระสำหรับการเป็น Home Theater โดยเฉพาะ เช่นการใช้ห้องรับแขกเพื่อการดูหนัง การเลือกเซ็ตอัพตระบบเสียงด้วย Soundbar หรือ HomePod น่าจะถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะประหยัดเนื้อที่ ทำให้ห้องดูไม่เกะกะ รวมถึงประหยัดงบประมาณในกระเป๋าด้วย แต่หากอยากไปให้สุด มีพื้นที่ทำห้อง Home Theater แบบเป็นสัดเป็นส่วน สามารถวุ่นวายกับการเดินสายและหาตำแหน่งวางอุปกรณ์ที่เหมาะสมได้ และมีงบประมาณรองรับ การเล่น AVR และจัดเต็มกับลำโพงให้ครบตามหลักก็ควรจะเป็นตัวเลือกที่ต้องพิจารณา เพราะแน่นอนว่ามันย่อมให้ประสบการณ์เสียงที่อิ่มเอมกว่าตัวเลือกแรกอย่าง Soundbar หรือ Homepod อย่างแน่นอน
หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เพื่อนๆ ที่กำลังมองหาหรือต้องการทำเซ็ตอัพให้รองรับ Atmos / DTS-X นั้นเริ่มต้นกับการจัดแต่งห้องดูหนังของตัวเองได้ง่าย ไว และเหมาะสมมากยิ่งขึ้นนะครับ ซึ่งหากใครมีข้อแลกเปลี่ยนทางความคิดเห็นอะไร ก็สามารถส่งมาพูดคุยกันได้ผ่านทางแฟนเพจ AppDisqus เลย อเล็กซ์และทีมงานทุกคนรอคุยกับเพื่อนๆ อยู่นะ
นอกจากระบบภาพและเสียงที่ควรจะต้องพิจารณาในการทำห้องโฮมเธียร์เตอร์สักห้องแล้ว อีกหนึ่งอย่างที่อยากให้ใส่ใจคงหนีไม่พ้นเรื่องของการจัดไฟ การสร้างบรรยากาศ ซึ่ง APPDISQUS เองได้มีการเขียนถึงประเด็นเอาไว้ในรีวิว Philips Hue Sync Box หนึ่งในเรื่องราวน่าสนใจที่อยากให้เพื่อนๆ ได้ลองไปติดตามต่อกันนั่นเอง
ส่วนรอบหน้านั้นเราจะมาว่ากันถึงเรื่องของแผ่นซับเสียงหรือ Acoustic Panel ว่ามีความสำคัญมากน้อยเพียงใดกับการเซ็ตอัพระบบ Home Theater ของเรา และจะมีแนวทางหรือวิธีการจัดการกับเจ้าแผ่นซับเสียงพวกนี้ได้อย่างไร รวมถึงงบประมาณนั้นจะอยู่ประมาณเท่าไหร่ ติดตาม APPDISQUS เอาไว้เพื่อจะได้ไม่พลาดทุกการอัพเดตสำคัญจากเรา นะครับ