บทความนี้ขอเป็นบทความแชร์ปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาร่วมกันนะครับ ที่กล่าวเช่นนี้เพราะปัญหาเกี่ยวกับอุปกรณ์เทคฯ ในครัวเรือนไปจนถึงอุปกรณ์ IoT ต่าง ๆ ปัญหาในการใช้งานมันผุดออกมาเหมือนดอกเห็ดที่เราต้องค่อย ๆ แซะ ค่อย ๆ หาทางแก้ไขไปเรื่อย ๆ แม้วิธีการแก้ปัญหาที่จะแนะนำหลังจากนี้ ปัจจุบันอาจทำตามได้ แต่ในอนาคตอาจไม่ได้แล้ว หรือบางคนทำตามแล้วแก้ได้ บางคนไม่ได้ เพราะมีบริบทแวดล้อมต่างกันออกไป เอาเป็นว่าเป็นวิธีการหนึ่งในการลองทำตามนะครับ
วิธีแก้ปัญหา? กล้องวงจรปิด Xiaomi ขึ้น อุปกรณ์ออฟไลน์ (device offline) บน Mi Home
กล้องวงจรปิดตระกูล Xiaomi ทั้ง Xiaomi Mi camera, Xiaomi Smart camera, Xiaomi Mi Home Security Camera 360 และรุ่นอื่น ๆ อีกมากมาย มีความหลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และราคาถูกที่หลายรุ่นราคาเพียงหลักร้อย ซึ่งส่งผลทำให้เป็นยี่ห้อกล้องวงจรปิดที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก อีกทั้งหากได้ซื้อมาตัวแรก ด้วยความขี้เกียจต้องมาตั้งค่ามากมายผ่านแอปพลิเคชันเข้าถึงกล้องแบบออนไลน์ เราก็เลยต้องซื้อยี่ห้อเดิมเป็นตัวที่ 2 ตัวที่ 3 ตามมาเรื่อย ๆ เมื่อใช้งานจริง ก็จะพบกับปัญหาในการใช้งานที่ยิบย่อย เล็ก ๆ น้อย ๆ ตามมาหลาย ๆ อย่าง บางปัญหาก็มองข้ามเพราะขี้เกียจทางแก้ปัญหา หลายปัญหาก็ทำให้หงุดหงิดใจไม่หาย อยากหาทางแก้ไขแต่ก็หาทางแก้ไม่ได้ วันนี้มีหนึ่งปัญหาที่ผมเจอบ่อยและก่อนหน้านี้ไม่ค่อยจะแก้ไข นั่งทำใจไป จนล่าสุดพบวิธีแก้ปัญหาได้แล้ว นั่นคือ ปัญหาหน้าแอป Mi Home เมื่อเข้าไปดูกล้องวงจรปิด Xiaomi จะขึ้นข้อความว่า อุปกรณ์ออฟไลน์ (device offline) อยู่ตลอด แล้วเราจะทำอย่างไรได้บ้าง
1. ปัญหาเกิดขึ้นเพราะกล้องเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ยาก และราวเตอร์เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เยอะเกินไป เช่น มีผนังบ้านกั้น อยู่ไกลกับราวเตอร์ ถ้ามีกล้องหลายตัวก็จัดวางตำแหน่งของราวเตอร์ยาก
(1.1)แนะนำให้ใช้ตัวกระจายสัญญาณไวไฟ Wi-Fi extender หรือ Wi-Fi Amplifier ซึ่งราคาไม่แพงครับ ผมใช้ตัวนึงไม่ถึง 300 บาท แต่คุณภาพก็ตามราคา ต้องตั้งค่ากล้องวงจรปิดใหม่
(1.2) แนะนำมากที่สุดคือใช้ Mesh WiFi ตัวนี้จะดีกว่าตัวกระจายสัญญาณแต่ก็แพงกว่าเช่นกัน มีข้อดีที่ครอบคลุมดีกว่า ไม่ต้องตั้งค่ากล้องวงจรปิดใหม่ ถือว่าเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับคำแนะนำที่ 1 [ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Mesh WiFi]
(1.3) เปลี่ยนราวเตอร์ไปเลย ให้สามารถกระจายสัญญาณ Wi-Fi ได้ดีขึ้น และเพิ่มจำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อได้มากขึ้น เพราะปกติแล้วมันจะจำกัดจำนวนอยู่ ซึ่งทั้ง 3 คำแนะนำจะช่วยเพิ่มจำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อได้ แต่สำหรับ Wi-Fi extender และ Mesh WiFi ไม่ใช่ว่าตัวเดียวแล้วจบนะครับ หลายคนติด Mesh WiFi ทั่วบ้าน 3-4 ตัว เพราะสร้างระบบที่เสถียร ไม่มีปัญหากวนใจ
2. เปลี่ยนหัวชาร์จ หรือ Power Adapter ปกติแล้วเมื่อซื้อกล้อง Xiaomi จะไม่แถม Adapter มาด้วย เราต้องหาซื้อเอง ส่วนใหญ่ก็คงทำเหมือนกัน คือ ไม่ให้ความสำคัญมากนัก ซื้อราคาถูก ๆ สุดท้ายก็อาจไหม้หรือเจอปัญหาข้างต้น แนะนำให้ซื้อราคาสูงขึ้นมาหน่อย มียี่ห้อสักหน่อย ก็จะช่วยแก้ปัญหากล้องวงจรปิดหรืออุปกรณ์ IoT ต่าง ๆ ได้มากครับ
3. ในแอปพลิเคชัน Mi Home เข้าไปที่ “ระบบอัตโนมัติ” แล้วไปสร้างเงื่อนไขให้กล้อง Reboot หรือ Restart ตามเวลาที่กำหนด ซึ่งจะช่วยได้มากหาก server ต้นทางมีปัญหา (กล้องบ้างรุ่นไม่มีเมนู Reboot หรือ Restart)
4. เปลี่ยนยี่ห้อเลย! เพราะปัญหานี้เป็นกันถ้วนหน้า อาจเป็นเพราะ server ของ Xiaomi ซึ่งยี่ห้อที่แนะนำให้ลองใช้ คือ imou หรือ ezviz โดยเฉพาะ ezviz สามารถดูกล้องผ่านคอมพิวเตอร์ได้ด้วย ซึ่งผมก็หงุดหงิดมากที่ Xiaomi ทำไม่ได้
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงวิธีการแก้ปัญหาส่วนหนึ่งเท่านั้น เพื่อน ๆ ที่ใช้งาน Xiaomi camera สามารถแชร์วิธีการแก้ปัญหาร่วมกัน เพื่อให้เพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่ค้นหาวิธีการแก้ผ่าน Google ได้มาเห็นบทความนี้แล้วเลื่อนไปที่ช่องแสดงความคิดเห็นด้วย ทั้งใน แฟนเพจ Facebook และในเว็บไซต์ APPDISQUS นี้ เพื่อเป็นประโยชน์ร่วมกันครับ