บริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องเข้าใจถึงผลกระทบของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และหาทางหลีกเลี่ยงภาวะธุรกิจหยุดชะงักท่ามกลางความผันผวนที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อความอยู่รอด บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เปิดตัว White Paper ว่าด้วยดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันในประเทศไทยท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่บีบให้องค์กรธุรกิจต้องเข้าสู่ยุคดิจิทัลและตระหนักถึงความเร่งด่วนในการปรับตัว เพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ
โดย Startup Thailand ประเมินว่ากว่าร้อยละ 60 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจะมาจากระบบดิจิทัลภายในปี 2565 อย่างไรก็ตาม ดัชนีความพร้อมด้านดิจิทัลที่จัดทำโดยเอบีม (ABeam’s Digital Transformation (DX) Maturity Model) ชี้ชัดว่าบริษัทไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีความพร้อมมากนัก แม้ทุ่มเงินลงทุนในระบบดิจิทัลเพิ่มกันแล้วก็ตาม โดยรวมแล้ว บริษัทต่าง ๆ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาความเป็นผู้นำในแง่ระบบดิจิทัล ความตระหนักรู้และวัฒนธรรมดิจิทัล ตลอดจนยุทธศาสตร์ดิจิทัลเท่านั้น ในขณะที่มีความก้าวหน้าด้านกระบวนการดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันและการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งนี้ กับดักคือการจัดทำโครงการก้าวสู่โลกดิจิทัลแบบขาดการเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ด้านห่วงโซ่คุณค่าทางธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ เงินลงทุนด้านดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันถึงร้อยละ 70 จึงสูญเปล่าไปกับโครงการที่ล้มเหลวตามที่สำนักข่าว CNBC ได้รายงานไว้ เนื่องจากไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบเชิงลบเป็นวงกว้าง องค์กรธุรกิจจึงจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญด้านการลงทุน โดยเอบีมแนะนำให้องค์กรเลือกกำหนดยุทธศาสตร์ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันให้ชัดเจน ก่อนจัดสรรงานด้านดิจิทัลให้ครอบคลุมทั้งองค์กรตาม 5 หลักการสำคัญเพื่อความสำเร็จ คือ มุ่งเน้นเป้าหมายระยะยาว ความคล่องตัวและลองทำเพื่อหาโซลูชันที่ดีอย่างสม่ำเสมอ ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของลูกค้ามากกว่าเทคโนโลยี การให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วม และการเตรียมความพร้อม”
นายอิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปรับเปลี่ยนองค์กรธุรกิจในรูปแบบดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน ในเครือบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ได้นำข้อมูลสำคัญว่าด้วยดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันในประเทศไทย ที่จัดทำโดยเอบีมมาเปิดเผยว่า หลายบริษัทถูกผลักดันให้เข้าสู่โลกดิจิทัลมาตั้งแต่ก่อนไวรัสโควิด-19 จะระบาด โดยตระหนักถึงภัยคุกคามที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ (disruptors) ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทที่ทำธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture capital companies) แต่สถานการณ์โรคระบาดบีบบังคับให้ทุกคนต้องเข้าสู่ออนไลน์ จนก่อเกิดห่วงโซ่คุณค่าดิจิทัลใหม่ขึ้น โดยทั้งคน บริษัท บริการ และระบบต่าง ๆ ล้วนเข้าไปเชื่อมต่อถึงกันในโลกดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น ปัจจัยสำคัญที่ทำให้องค์กรธุรกิจดิจิทัลแนวหน้าสร้างตัวตนต่างจากบริษัทอื่น ๆ ขึ้นมาได้ เพราะความสามารถในการปรับตัวได้เร็วและมีประสิทธิภาพในการจัดเตรียม ลงมือทำและปรับกลยุทธ์ด้านดิจิทัลได้ดี โดยสรุปแล้ว บริษัทควรจะมีความคล่องตัวมากพอที่จะปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ตลอดจนความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ถึงแม้ว่าการลงทุนในเทคโนโลยีจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ผลวิเคราะห์กลับเผยให้เห็นว่าบริษัทในประเทศไทยจำนวนมากยังทำคะแนนได้ไม่ดีนักในดัชนีความพร้อมด้านดิจิทัลที่จัดทำโดยเอบีม หากมองด้านความเป็นผู้นำ ตัวองค์กร และแนวทางในด้านยุทธศาสตร์ดิจิทัลในภาพรวมแล้ว บริษัทเกือบทั้งหมดยังพัฒนาอยู่ในขั้นที่ 1 เพราะยังคงอยู่ในขั้นตอนการมองหาโครงการดิจิทัล และยังคงเห็นว่าความคิดริเริ่มดิจิทัลเป็นเพียง “บทพิสูจน์ของแนวคิด” และยังคงหาทางจัดทำโครงการดิจิทัลสำหรับเฉพาะบางส่วนของการดำเนินธุรกิจเท่านั้น อย่างไรก็ตาม บริษัทมีความก้าวหน้ากว่าในด้านกระบวนการดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันและการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยพัฒนาอยู่ในขั้นที่ 3 หรือ 4 ยกตัวอย่างเช่น มีการนำโซลูชันอย่างระบบวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กร (ERP) จากค่าย Oracle หรือค่าย SAP ตลอดจนระบบการทำงานแบบอัตโนมัติ โดยใช้หุ่นยนต์ (RPA) และเทคโนโลยีแปลงเอกสาร OCR มาทดแทนระบบแรงงานที่เกิดจากมนุษย์
“หลายองค์กรเริ่มโครงการดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันโดยไม่มีการวางแผนกลยุทธ์ ในกรณีแบบนี้ องค์กรมีความเสี่ยงหากยังมุ่งเน้นแผนงานไอทีระยะสั้นมากกว่ากลยุทธ์พัฒนาสร้างห่วงโซ่คุณค่าทางธุรกิจ สำนักข่าว CNBC ได้ประเมินไว้ว่าเม็ดเงินลงทุนในดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันหรือการปรับองค์กรสู่ยุคดิจิทัลเสียเปล่าไปกับโครงการที่ล้มเหลวมากถึงร้อยละ 70 การประเมินดังกล่าวเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่บรรดาบริษัทต่างเร่งปรับตัวเพราะผลกระทบรุนแรงจากโรคระบาดร้ายแรงระดับโลก ท่ามกลางสภาวการณ์ดังกล่าว เราต่างเล็งเห็นว่าการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง จะสามารถทำได้จริงหากมีระบบดิจิทัลที่เชื่อถือได้ แม้รูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบปกติจะสะดุด แต่ระบบดิจิทัลก็สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น องค์กรธุรกิจควรจัดลำดับความสำคัญด้านการลงทุน และจัดทำกลยุทธ์ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มชันให้ชัดเจน ซึ่งควรมีองค์ประกอบหลัก 3 ประการ คือ วิสัยทัศน์ การวางแผนพร้อมโรดแมปที่ชัดเจน รวมถึงการลงมือทำตามแผนที่วางไว้ ตัวเลขที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือในบริษัทที่มีความพร้อมด้านดิจิทัลแล้ว ร้อยละ 80 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าบริษัทมียุทธศาสตร์ด้านดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันชัดเจน ในขณะที่บริษัทดิจิทัลน้องใหม่จะมีจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามที่เห็นถึงความพร้อมของบริษัทด้านยุทธศาสตร์ดิจิทัลน้อยกว่ามาก หรืออยู่ที่ราวร้อยละ 15 เท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการมียุทธ์ศาสตร์ด้านดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันที่ชัดเจน” นายฮาระกล่าว
ทั้งนี้ Startup Thailand คาดการณ์ว่ากว่าร้อยละ 60 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ระบบดิจิทัลภายในปี 2565 โดยการเติบโตของทุกภาคอุตสาหกรรมจะถูกขับเคลื่อนด้วยการดำเนินงานและความสัมพันธ์ที่มีการพัฒนายกระดับทั้งสิ้น นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าไวรัสโควิด-19 จะบีบให้บริษัทต้องพิจารณาเรื่องงบค่าใช้จ่ายใหม่ แต่ทุกบริษัทต่างเล็งเห็นว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ดีมีความสำคัญมากเพียงใดในการดำเนินธุรกิจและขายสินค้า/บริการในปัจจุบัน โดยเอบีมได้แนะนำ 3 หลักการในการปรับตัวสู่ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันอย่างประสบความสำเร็จ ด้วยแนวทางเชิงกลยุทธ์จากบริษัทต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้และนำไปใช้ได้ผลดีมาแล้ว ดังนี้
- วิสัยทัศน์: กำหนดวัตถุประสงค์ของการปรับองค์กรสู่ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชันให้ชัดเจนเพราะเป็นเรื่องสำคัญ วัตถุประสงค์ควรเป็นการสร้างคุณค่าให้ผู้ใช้ และมุ่งเน้นไปที่วัตถุประสงค์ รวมทั้งดำเนินการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวตามกรอบเวลาที่เป็นไปได้จริง
- วางแผน: การออกแบบการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจ ให้เหมาะสมกับประสบการณ์ของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย (Customer Journey)
- ลงมือทำ: มีแนวคิดการทำงานที่คล่องแคล่วรวดเร็ว (An Agile Mindset) เพื่อการเก็บข้อมูลและทดลองอย่างต่อเนื่อง และปรับปรุงโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นรวมถึงสถาปัตยกรรมที่มีการขับเคลื่อนอย่างไม่หยุดนิ่ง