กสทช. – AIS โชว์ระบบเตือนภัยผ่านมือถือ ด้วย Cell Broadcast Service พร้อมเชื่อมต่อกับศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ เพื่อมอบความอุ่นใจให้แก่คนไทยทั่วประเทศ จากการตระหนักถึงความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ที่อาจเกิดได้ทั้งจากเหตุความรุนแรง หรือ กรณีภัยพิบัติธรรมชาติ รวมถึงกรณีไม่คาดฝัน ดังนั้นจึงเป็นภารกิจของภาครัฐในการพัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัยเพื่อคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ที่นำโดย กสทช. และ โอเปอเรเตอร์ ซึ่งเริ่มต้นกับ AIS ทั้งนี้ล่าสุดได้ดำเนินการทดลอง ทดสอบ ระบบการเตือนภัยแบบเจาะจงพื้นที่ ผ่านเทคโนโลยี Cell Broadcast Service สำเร็จเป็นที่เรียบร้อย เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะเชื่อมต่อกับศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ เพื่อเตือนภัยประชาชนในทุกกรณี ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
ศาสตราจารย์คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ด กสทช.) กล่าวว่า “ กสทช.ในฐานะหน่วยงานกำกับกิจการโทรคมนาคม ได้ร่วมทำงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี), ปภ. กระทรวงมหาดไทย , สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรุงเทพมหานคร และผู้ให้บริการโครงข่าย อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยจากภาครัฐแบบเจาะจงพื้นที่ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชนในบริเวณนั้นๆ โดยใช้งบประมาณจากกองทุนบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) เข้ามาสนับสนุน การทดลอง ทดสอบ เทคโนโลยี Cell Broadcast Service ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากลร่วมกับ ผู้ให้บริการโครงข่าย อย่าง AIS และทุกราย ได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะเชื่อมต่อกับ ศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ (Command Center) เพื่อให้สามารถใช้เป็นช่องทางในการเตือนภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”
ด้าน นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ เอไอเอส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “เราได้ร่วมทำงานกับ กสทช. และภาครัฐ ในการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับระบบเตือนภัยของประเทศตามมาตรฐานสากล นั่นคือ เทคโนโลยี Cell Broadcast Service หรือ ระบบสื่อสารข้อความตรงไปที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชน ซึ่งระบบนี้มีความเหมาะสมกับการนำมาใช้เพื่อแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน เนื่องจากสามารถส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือที่รองรับตั้งแต่ 4G ขึ้นไป ทุกเครื่องที่อยู่ในพื้นที่ครอบคลุมของสถานีฐานบริเวณนั้นๆในเวลาเดียวกัน ด้วยรูปแบบของการแสดงข้อความที่หน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Pop UP Notification) แบบ Near Real Time Triggering เพื่อให้สามารถรับรู้สถานการณ์ได้ทันที โดยล่าสุดได้ทดลอง ทดสอบเทคโนโลยีดังกล่าว ได้ผลตามเป้าหมายที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว และพร้อมที่จะขยายผลเชื่อมโยงกับระบบเตือนภัยของประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป”
โดยโครงสร้างของการนำเทคโนโลยี Cell Broadcast Service มาใช้งานนั้น แบ่งเป็น 2 ฝั่ง
ฝั่งที่ 1 : ดำเนินการและดูแล โดย ศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ ผ่านระบบ Cell Broadcast Entities (CBE) ที่มีฟังก์ชันการทำงาน อาทิ การบริหารจัดการระบบ (Administrator), การจัดการข้อความที่จะสื่อสาร (Message Creator ) และ การอนุมัติยืนยันความถูกต้อง (Approver)
ฝั่งที่ 2 : ดำเนินการและดูแล โดย ผู้ให้บริการโครงข่าย ผ่านระบบ Cell Broadcast Center (CBC) ที่มีฟังก์ชั่น เช่น การบริหารระบบและการตั้งค่า (System & Configuration), การส่งต่อข้อความสื่อสารที่ได้รับมาผ่านโครงข่าย (Message Deployment Function) และ การบริหารโครงข่ายสื่อสาร (Network Management)