Apple ประกาศเปิดตัว Apple C1 โมเด็ม 5G รุ่นแรกที่ออกแบบเองอย่างเป็นทางการ โดยเริ่มใช้ใน iPhone 16e ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ที่เพิ่งเปิดตัว โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการพึ่งพา Qualcomm ที่เป็นซัพพลายเออร์โมเด็มหลักของ iPhone มายาวนาน
Apple ระบุว่า C1 Subsystem ไม่ใช่แค่ชิปโมเด็ม แต่เป็นแพลตฟอร์มใหม่ที่ C1 จะเป็นส่วนหนึ่งในนั้น เพื่อการทำงานร่วมกันกับชิปต่างๆ ภายในอุปกรณ์เช่นมาพร้อมกับ GPS และการเชื่อมต่อดาวเทียม ในกรณีที่ผู้ใช้ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่มีสัญญาณมือถือ ก็สามารถเชื่อมต่อกับสัญญาณดาวเทียมได้ หรือทำงานร่วมกับ CPU หรือ NPU ช่วยให้ iPhone มีแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้นานขึ้น พร้อมกับการจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามในช่วงแรก Apple C1 ยังมีข้อจำกัดอยู่ครับ
ข้อดีของ Apple C1: ประหยัดพลังงานมากขึ้น – Apple ระบุว่า C1 เป็นโมเด็มที่ใช้พลังงานต่ำที่สุดที่เคยมีมาใน iPhone ซึ่งช่วยให้ iPhone 16e มีอายุแบตเตอรี่ที่ยาวนานขึ้นกว่ารุ่นก่อนหน้า
ข้อเสียของ Apple C1: ไม่รองรับ 5G mmWave – โมเด็มของ Qualcomm รองรับเทคโนโลยี mmWave ซึ่งช่วยให้การเชื่อมต่อบนคลื่นความถี่สูงกว่า 24GHz ทำความเร็วสูงมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เครือข่าย 5G มีการใช้งานหนาแน่น เช่น บริเวณสยามเซ็นเตอร์ที่ AIS 5G ได้ปล่อยคลื่น mmWave สำหรับการใช้งานที่มีความเร็วสูงสุดทะลุ 3Gbps.
Apple C1 ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นโซลูชันระยะยาวของ Apple ในการพัฒนาโมเด็มของตัวเอง ยังไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะนำชิป C1 ไปใช้กับ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro หรือไม่ แต่มันจะถูกพัฒนามากขึ้นต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคตอย่างแน่นอน
อนาคตของ Apple C1
Johny Srouji รองประธานอาวุโสฝ่ายเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ของ Apple ได้กล่าวให้ข้อมูลในการสัมภาษณ์ที่ห้องแล็บซิลิคอนของ Apple ในซันนีเวลว่า “C1 Subsystem เป็นเทคโนโลยีที่ซับซ้อนที่สุดที่ Apple เคยสร้างมา โดยมีโมเด็มเบสแบนด์ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีชิป 4 นาโนเมตร และทรานสซีฟเวอร์ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี 7 นาโนเมตร ชิปเหล่านี้ต้องผ่านการทดสอบกับเครือข่าย 180 แห่งใน 55 ประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าจะทำงานได้ในทุกที่ที่แอปเปิลจัดส่ง iPhone
โดย C1 จะเป็นจุดเริ่มต้น และเราจะพัฒนาและต่อยอดในแต่ละเจเนอเรชัน เพื่อให้มันกลายเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถสร้างความแตกต่างให้กับเทคโนโลยีในผลิตภัณฑ์ของเราได้”
หนึ่งในวิธีที่ Apple หวังว่า C1 จะสามารถทำให้ iPhone แตกต่างคือการผสานรวมอย่างแน่นหนากับชิปประมวลผล ตัวอย่างเช่น หาก iPhone พบกับเครือข่ายข้อมูลที่แออัด ชิปประมวลผลสามารถส่งสัญญาณไปยังโมเด็มว่าข้อมูลใดที่สำคัญต่อเวลาและควรได้รับการจัดลำดับความสำคัญก่อน ทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่าโทรศัพท์ตอบสนองความต้องการได้ดีขึ้น
เราไม่ใช่ผู้ขายที่มาแข่งกับควอลคอมม์และ MediaTek และอื่นๆ ผมเชื่อว่าเรากำลังสร้างสิ่งที่แตกต่างอย่างแท้จริง ซึ่งลูกค้าของเราจะได้รับประโยชน์จากมัน” เขากล่าว
Apple vs Qualcomm – การแข่งขันที่ยาวนาน
Apple และ Qualcomm มีประวัติความขัดแย้งกันมายาวนาน โดยทั้งสองบริษัทเคยมีคดีความที่ยืดเยื้อจนกระทั่งมีการยอมความกันในปี 2019 และ Apple กลับมาใช้ชิปของ Qualcomm ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มีผู้ผลิตรายอื่นที่สามารถทำโมเด็ม 5G ที่ตรงตามความต้องการของ Apple ได้
Qualcomm เป็นผู้นำในตลาดโมเด็ม 5G โดยจัดจำหน่ายให้ทั้ง Apple, Android และ Windows มาโดยตลอด การเปิดตัวของ Apple C1 อาจเป็นก้าวสำคัญของ Apple ในการลดการพึ่งพาซัพพลายเออร์ภายนอก โดยผู้บริหาร Qualcomm ได้บอกกับนักลงทุนว่า ส่วนแบ่งการจัดหาโมเด็มให้ Apple น่าจะลดลงจากปัจจุบันที่ 100% เหลือเพียง 20% ภายในปีหน้า แต่ดูเหมือนว่านักลงทุนจะยังมองว่า Qualcomm ยังคงมีความได้เปรียบอยู่ เนื่องจากหลังการเปิดตัว C1 หุ้นของ Qualcomm ยังเพิ่มขึ้น 1% ขณะที่หุ้นของ Apple แทบไม่เปลี่ยนแปลง
แม้ว่า Apple จะเริ่มพัฒนาโมเด็มของตัวเองแล้ว แต่ Qualcomm ก็ยังคงเป็นซัพพลายเออร์หลักของ iPhone 16 และ iPhone 16 Pro อย่างน้อยไปจนถึงปี 2026 เพราะทาง Apple เองก็เน้นย้ำว่าไม่ได้ต้องการแข่งกับ Qualcomm หรือ MediaTek ในตลาดโมเด็มโดยตรง แต่ต้องการสร้างระบบที่เหมาะกับผลิตภัณฑ์ของตัวเองมากกว่า โดยตั้งเป้าจะพัฒนาโมเด็มของตัวเองให้สมบูรณ์แบบขึ้นเรื่อยๆ และอาจใช้โมเด็มของตัวเองใน iPhone 100% ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม Qualcomm ยังคงมีอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมโมเด็ม 5G และการแข่งขันนี้ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี
ที่มาข้อมูลบางส่วน : Reuters