วันสองวันมานี้กระแสเรื่อง โฆษณา iPhone ตัวล่าสุดจาก DTAC ถือว่ากำลังได้รับความสนใจและถูกวิพากษ์วิจารณ์กันไปในวงกว้างทีเดียว แน่นอนว่าบางคนอาจไม่ได้รู้สึกอะไรกับโฆษณานั้นสักเท่าไหร่นัก แต่กับบางคนก็อาจรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังโดนดูถูกหรืออะไรก็ตามจากโฆษณาเดียวกัน ทั้งนี้เนื่องมาจากหลายๆ ปัจจัยที่ทำให้คนเรารู้สึกแตกต่างกันไป และไม่ว่าจะรู้สึกแบบไหนก็คงไม่มีใครผิด แต่หากจะมีใครพลาดก็ต้องยกให้ DTAC เองที่ออกแคมเปญจ์โฆษณาที่ทำลายภาพ Feel Good ของตัวเองไปแบบนี้เสียได้ ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม (ตอนนี้โฆษณาเจ้าปัญหาโดยตั้งไว้เป็น Private แล้ว แต่หากใครอยากดูยังหาได้ทั่วไปตามอินเตอร์เน็ตครับ)
แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงแต่ DTAC เท่านั้น ย้อนกลับไปเพียงไม่กี่ปี บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่เป็นเจ้าของแบรนด์มือถือโดยตรงเองก็เคยพลาดให้ได้เกิดเป็นประเด็นกันไปบ้างแล้วเหมือนกัน วันนี้ APPDISQUS จะพาเพื่อนๆ มาย้อนรอยกลับไปดูโฆษณาและเหตุการณ์เหล่านั้นกันอีกหนเพื่อเตือนความจำและเพื่อเป็นกรณีศึกษาต่อไป
APPLE กับโฆษณา ‘แค่นิ้วโป้งเดียว’ สำหรับ iPhone 5
Apple ปล่อยโฆษณาชิ้นนี้ออกมาหลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนังถึงหน้าจอของ iPhone ที่ Apple ไม่ยอมอัพขนาดให้มันใหญ่ขึ้นบ้างเหมือนคู่แข่งรายอื่นๆ (และเหมือนที่ข่าวหลุดในช่วงนั้นโหมกะพรือกัน) แน่นอนว่า Apple เองนั้นก็มีเหตุผลของตัวเองในตอนนั้นว่าทำไมถึงไม่ยอมทำมือถือที่หน้าจอใหญ่กว่า 4 นิ้วขึ้นมา โดยเหตุผลนั้นก็ตามโฆษณาที่เห็นเลย นั่นก็เพราะขนาด 4 นิ้วสำหรับ Apple (อย่างน้อยๆ ก็ในตอนนั้น) คือขนาดที่เหมาะสมที่สุดแล้วที่คุณจะสามารถใช้ “นิ้วโป้งเดีย” ในการใช้งานมันนั่นเอง
แน่นอนว่าโฆษณาตัวนี้ของ Apple ดูมีเหตุผลมากจนช่วยกลบกระแสด้านลบเรื่องขนาดหน้าจอไปได้จนแทบมิด แต่ท้ายที่สุดแล้วเมื่อเวลาผ่านไป Apple ก็ปล่อย iPhone 6 (4.7 นิ้ว) และ iPhone 6 Plus (5.5 นิ้ว) ซึ่งมีหน้าจอขนาดใหญ่กว่า iPhone 5 และ iPhone 5S ขึ้นมาด้วยวลีเด็ดๆ ที่ว่า ‘Bigger than Bigger’ หรือ “ใหญ่กว่าไอ้ที่ใหญ่กว่าซะอีก”
อาวเห้ย…แล้วไหนบอกว่า 4 นิ้วมันคือหน้าจอมือถือที่สไลด์ได้ด้วยนิ้วโป้งนิ้วเดียวและเหมาะสมที่สุดแล้วไงล่ะเฮีย?
Samsung กับโฆษณา “มนุษย์กอดผนัง” สำหรับ Samsung Galaxy S5
สงครามระหว่าง Samsung และ Apple นั้นถือเป็นอะไรที่มีกันมาอย่างช้านานจริงๆ และ Samsung พยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้ iPhone ดูเป็นสินค้าที่ไม่ค่อยฉลาดเลือกนัก (คือพยายามแสดงให้เห็นในโฆษณากันอย่างตรงๆ ไม่อ้อมค้อมตลอด ใช้วิธีการประชาสัมพันธ์ลักษณะใกล้เคียงกันกับที่ DTAC ใช้และเป็นประเด็นในบ้านเราตอนนี้ หากแต่ที่ต่างคือบริบทของสังคมที่ยังไม่ถึงขั้นกดดันกันให้ต้องถอดโฆษณาขนาดนี้ และอีกเรื่องคือเป็นการโจมตีกันเองระหว่างแบรนด์สินค้า ไม่ได้มาจากบุคคลที่สาม) โดยในตอนที่ Samsung Galaxy S5 เปิดตัวนั้น Samsung เลือกที่จะใช้ประเด็นเรื่องแบตเตอร์รี่ที่ iPhone ไม่สามารถถอดแบตเตอร์รี่เปลี่ยนได้มาเป็นประเด็นสำคัญในการลดทอนความน่าใช้งานของ iPhone และเรียกขานคนใช้งาน iPhone ว่า ‘มนุษย์กอดผนัง (Wall Hugger)’
แน่นอนว่าทันทีที่โฆษณาชิ้นนี้ถูกปล่อยออกมาก็ได้ถูกนำไปใช้เป็นโฆษณาอ้างอิงค์กันทั่วว่าการที่ iPhone ไม่สามารถถอดแบตเตอร์รี่เปลี่ยนได้แถมยังต้องเสียบสายชาร์ตตลอดเวลานั้นเป็นเรื่องไม่ดีเอามากๆ…แต่ยังไม่ทันไร Samsung ก็เปลี่ยนไลน์ผลิตภัณฑ์ตัวเองมาเป็น Samsung Galaxy S6 พร้อมกับดีไซน์ใหม่เพื่อความบางและหรูหรามากยิ่งขึ้น ที่ทำให้ตัวเครื่อง “ไม่สามารถถอดฝาหลังออกมาเปลี่ยนแบตเตอร์รี่ได้อีกต่อไป”
ที่ดูเหมือนจะโชคร้ายกว่านั้นคือ S6 และ S6 Edge เหมือนจะเจอประเด็นสงครามดราม่าเรื่องแบตเตอร์รี่ที่ใช้งานได้ไม่ถึงวันหนักกว่า iPhone มากทีเดียว (ไม่ว่าจะเพราะระบบปฏิบัติการณ์ที่ยังจัดการเรื่องแบตเตอร์รี่ได้ไม่ดีนัก หรือจะเพราะผู้ใช้งาน Samsung ยังไม่ชินเหมือนผู้ใช้งาน iPhone ก็ตามแต่) แต่ที่แน่ๆ การกลืนน้ำลายตัวเองในครั้งนี้ของ Samsung ทำให้ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่จากเกาหลีค่ายนี้ต้องสั่งถอดโฆษณาชุดนี้ออกจากช่องหลักบน Youtube ของตัวเองเลยทีเดียว แต่โชคยังดีที่จนถึงตอนนี้ ในช่องหลักของ Samsung ออสเตรเลียยังคงมีโฆษณาชิ้นนี้ให้เราได้เห็นกันอยู่
แหม่…มาเถิดมาเรามาร่วมใจ มาเป็น ‘มนุษย์กอดผนัง’ ไปโดยพร้อมเพียงกัน
Microsoft (Nokia Lumia Series) กับโฆษณา “ถ้ารู้จักฉัน…เขาจะยังตีกันอยู่ไหม?” สำหรับมือถือ Nokia Lumia
Microsoft เข้าใจเลือกจับกระแสแฟนบอยระหว่างค่ายของ Apple และ Samsung มาเป็นประเด็นในการทำโฆษณากัดเลือดสายแต่ตลกน่ารักชิ้นนี้ของตัวเองได้เป็นอย่างดี…หากไม่มาพลาดตกม้าตายเอากับเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น…
หลังจากที่โฆษณาชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ออกไป กระแสวิจารณ์ในโลกออนไลน์จากทั้งกลุ่มคนที่ใช้ Windows Phone และกลุ่ม iPhone และ Samsung เองต่างก็พุ่งเป้าไปที่เรื่องของโพสิชั่นของมือถือ Lumia ที่ทาง Microsoft วางเอาไว้ โดยโฆษณาชิ้นนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าทำให้ Lumia กลายเป็นโทรศัพท์แบรนด์ที่มีโพสิชั่นตลาดล่างเมื่อเทียบกับ Samsung และ Apple โดยในโฆษณานั้นถ่ายทอดให้เห็นว่าผู้ที่มาเข้าร่วมงานและดูเป็นผู้ลากมากดีชีวิตดูจริงจังทั้งหลายต่างก็ใช้ iPhone กันทั้งหมด ในขณะที่ชายอีกสองคนที่ดูเป็นกลุ่มคนทำงานทั่วไปที่รักสนุกก็ใช้ Samsung ส่วนมือถือ Lumia เองนั้นเปิดเผยมาในฉากสุดท้ายว่าใช้โดยบริกรในงานแต่งงานทั้งสองคน
การวางโพสิชั่นของ Lumia ในโฆษณาชุดนี้ทำให้คนวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นาๆ ยาวไปจนถึงเรื่องของชนชั้นวรรณะทางสังคมเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีผู้คาดการณ์อีกด้วยว่าเพราะภาพพจน์ที่เกิดจากโฆษณาชิ้นนี้นี่เองที่ทำให้ Lumia ไม่สามารถทำตลาดบนได้สำเร็จ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว APPDISQUS คงต้องบอกว่าการใช้มือถือมันไม่ได้บ่งบอกสถานะทางสังคมอะไรเลยนะจ๊ะ แต่ก็คงไม่ผิดหากจะมีใครคิดเห็นไปในแนวทางนั้น
[divider]
จากตัวอย่างข้างต้นที่เราพาไปย้อนรำลึกกันนี้จะเห็นได้ว่า ไม่ว่างานจะออกมาในลักษณะไหน โอกาสที่จะเป็นที่ชื่นชมหรือจะสร้างความไม่พออกพอใจกับใครสักกลุ่มหนึ่งนั้นมันมีความเป็นไปได้เสมอ แต่ทั้งนั้นทั้งนั้นแบรนด์เองก็ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของโฆษณาสักชิ้นด้วย เพราะมันเปรียบเสมือนหน้าตาของตัวเองล้วนๆ เช่นเดียวกับคนทำโฆษณาที่หลังจากนี้คงต้องไตร่ตรองให้รอบคอบมากยิ่งขึ้นเพื่อกันผลเสียที่จะขึ้นต่อทั้งแบรนด์และทั้งชื่อของคนทำโฆษณาเองนั่นล่ะครับ
โลกโซเชียลสมัยนี้ไปไว และเมื่อมันไปแล้วก็เหมือนดั่งไฟลามทุ่ม จะปรามมันนั้นเหรอก็ยากมากทีเดียว แต่ยังไงเราคนใช้คนเสพโลกโซเชียลเองก็ต้องเหลือพื้นที่ไว้ให้กับคนอื่นๆ ได้แก้ไข แก้ตัว หรือพัฒนาด้วยเหมือนกันนะครับ อย่าเอาความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเพียงครั้งมาตัดสินภาพลักษณ์โดยรวมของคนหรือแบรนด์ๆ ใดทั้งหมดล่ะ เพราะจะเห็นได้ว่า แม้แต่แบรนด์ที่คุณรัก (ไม่ว่าจะแบรนด์ไหน) ต่างก็เคยผิดพลาดมาด้วยกันแล้วทั้งนั้นนะครับ