เหล่าแอพพลิเคชั่นขวัญใจคู่ชีพ Blogger นักรีวิว และผู้รายงานข่าวไอทีต่างๆ ที่คอยรายงานความเคลื่อนไหวผ่านทางหน้าเว็บไซด์และ Social ที่พวกคุณติดตามกัน พวกเขาใช้แอพพลิเคชั่นอะไรกันบ้างในการทำงานบนอุปกรณ์ระบบ Android
อันนี้เป็นประสบการณ์ตรงกันเลยละครับ ^^ อาชีพอย่างพวกผม อยู่กับอุปกรณ์ไอที อยู่กับการทำข่าว ทำบทความ การทำรายงานและอัพเดทข้อมูลต่างๆ กันตลอดทั้งวัน (และบางครั้งก็ตลอดทั้งคืน) ในทุกวันนี้เราใช้ Social Network ในการกระจายข้อมูลเป็นหลัก ใช้เว็บไซด์เป็นศูนย์กลางจัดเก็บ ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่เป็นความสามารถที่ทำได้บนอุปกรณืพกพาไม่ว่าจะเป็นแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟน อาศัยเพียงความสามารถของแอพลลิเคชั่นที่เข้ากันตามรูปแบบการทำงานของแต่ละคน บางคนอาจจะใช้ไม่เหมือนกัน ต่างกันไปตามภาระหน้าที่และแนวการทำงาน
แอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ผมจะนำมาแนะนำกันในบทความนี้ก็คือแอพตัวเด่นๆ ที่ทำให้ผมและทีมงานหลายท่านทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น จากทั้งดูแลแฟนเพจ, เฟสบุ๊ค, ทวีตเตอร์, อินสตาแกรม ซึ่งบอกเลยบางบริการผมต้องดูแลมากกว่าสองแอคเคาท์ จะรายงานยังไงให้ทันใจ เก็บข้อมูล โพสข่าว จัดการรูป ทั้งจากรูปในกล้องถ่ายภาพรวมถึงบางครั้งก็เป็นกล้องสมาร์ทโฟน นั้นก็คือต้องเลือกสรรแอพพลิเคชั่นใช้งานคู่ใจเอาไว้ให้ดีๆ นั้นเองครับ
ไม่นับรวมแอพพลิเคชั่นติดเครื่องเช่นแอพกล้อง, แอพดูรูปที่มีมาให้แต่แรก หรือแอพที่ใช้งานกันตามชีวิตประจำวันเช่น Line หรือ Facebook แต่นี่คือเหล่าแอพพลิเคชั่นที่ผมเลือกนำมาติดตั้งเพิมใส่เครื่องไว้ไปทำงานในทุกๆ วัน และบางคุณสมบัติของมัน เชื่อว่าบางครั้งจะมีประโยชน์กับพวกคุณได้เช่นกันอย่างแน่นอนครับ
1 แอพพลิเคชั่นสำหรับการแชร์ Social
การแชร์ข้อมูลเป็นหน้าที่ที่สำคัญลำดับต้นๆ ของผู้รายงานข่าวออนไลน์ ต้องไว ต้องทัน ที่สำคัญสำหรับการดูแลเว็บไซด์และแฟนเพจหลายที่ไปพร้อมๆ กัน การทำงานด้วยแอพพลิเคชั่นเดิมๆ คงจะทำไม่ได้ เราจึงต้องมีตัวช่วยครับ
Plume
แอพสำหรับจัดการทวีตเตอร์ ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการรายงานข่าวและข้อมูลสดของผมทุกวันนี้ มันมีความสามารถดีกว่า Twitter ตัว Official มากนัก
เพราะการรายงานสดต้องไว ต้องถ่ายทอดข้อมูลออกไปให้ทันตามที่ได้รับเข้ามา ซึ่งคุณสมบัติของทวีตเตอร์ตัวดั้งเดิมไม่รองรับการแชร์แบบมัลติแอคเคาท์ในการกดโพสเพียงครั้งเดียว เราจึงต้องมีการใช้แอพที่มีความสามารถพิเศษตัวนี้เข้ามาช่วยเหลือครับ รวมทั้งความสามารถที่บางครั้งเราต้องการจะแชร์คำที่มากกว่า 140 ตัวอักษร ซึ่งเป็นข้อจำกัดของทวีตเตอร์ แอพ Plume ตัวนี้ก็ช่วยเราได้ โดยมันจะสร้างประโยคย่อให้คนอ่านสามารถกดอ่านได้เต็มประโยคด้วยตัวมันเอง แถมตัวมันยังรองรับการซิงค์แอคเคาท์กับ Facebook ได้อีกด้วย เป็นแอพที่ใช้งานได้ทั้งทวีตเตอร์และเฟสบุ๊คในตัวเดียว กดแชร์ครั้งเดียวไปได้ทุกแอคเคาท์ที่เราต้องการ ตัวนี้ช่วยในเรื่องการแชร์ต่างๆ ได้มากทีเดียวครับ
รวมถึงหน้า Widget ของแอพ Plume ที่มีประโยชน์มากเวลาใช้อ่านทวีตของแหล่งข่าวที่เราติดตามด้วยครับ โดยจะแยกแสดงได้เป็นสามหน้าตามที่เราตั้งค่าแยกไว้ได้แบบไม่ต้องกดเข้าแอพพลิเคชั่น มันจึงเป็นตัวสำคัญที่ผมเอาไว้ใช้ทั้งการติดตามและการถ่ายทอดออกไปในแอพเดียว
Instagram
ตัวนี้อาจจะเป็นแอพพลิเคชั่นเดิมๆ หลายคนมีเอาไว้ในเครื่องกันอยู่แล้ว แต่ผมก็จะนำมาแนะนำเพราะคุณสมบัติที่จำเป็นต้องใช้ในงานเช่นกัน เพราะผมใช้อินสตาแกรมโดยหวังผลในเรื่องอื่นๆ ด้วยครับ
ด้วยตัว Instagram นอกจากจะเป็น Social แชร์ภาพที่กำลังนิยมมากแล้ว มันยังใช้เป็นตัวหลักในการกระจาย “ภาพ” ไปยังทวีตเตอร์และเฟสบุ๊คโดยอัตโนมัติได้เป็นอย่างดีครับ เวลาเราโพสภาพหนึ่งภาพแล้วกำหนดค่าภายในแอพให้มันกระจายแชร์ไปยังเฟสบุ๊คและทวีตเตอร์ของเราได้ต่อไปด้วยการแชร์ที่เดียว ครั้งเดียว มันจะสะดวกและง่าย แถมยังเชื่อมต่อให้ผู้ติดตามเข้าถึงอินสตาแกรมของเราได้ง่ายมากขึ้นด้วย เพราะมันจะมีลิงก์หน้าอินสตาแกรมของเราแนบไปกับภาพให้ด้วยนั้นเองครับ คุณสมบัติของมันตรงนี้ขาดไม่ได้เช่นกัน ในกรณีที่ต้องการจะเน้นการแชร์ภาพเป็นหลัก
IF by IFTTT
แอพอภินิหาร อันนี้ติดเครื่องไว้กันตายครับ ในกรณีถ้าความต้องการของเรามันเกินกว่าขีดความสามารถของแอพใดๆ จะทำให้เราได้ แอพนี่จะเข้ามาช่วยคุณได้ในการแชร์ข้อมูลแบบปฎิหาร
ด้วยรูปแบบของแอพ IF ที่ให้เรากำหนดได้ว่า “เมื่อเราทำ..สิ่งนี้ ก็ให้ทำ..สิ่งนั้น ให้เราด้วย” เช่น เมื่อเราโพสเฟสบุ๊คในแอคเคาท์นี้(แอคเคาท์ที่หนึ่ง) ก็ให้นำไปโพสในแอคเคาท์อันนี้ด้วย(แอคเคาท์ที่สอง) ซึ่งมันแทบจะกำหนดได้ทั้งหมดในโลกเลยว่า แอคเคาท์ไหนเป็นบริการอะไร มันข้ามบริการกันได้แทบจะไร้ข้อจำกัดเลย โพสในเฟสบุ๊คให้ไปโผล่ใน Pinit หรือจะกำหนดให้ไปโผล่ใน Instagram อีกสักที่ด้วยก็ได้เหมือน
แอพตัวนี้จึงเข้ามาเติมเต็มความต้องการในการทำงานของพวกเราได้ในกรณีที่ไม่เจอแอพอื่นที่มีความสามารถตรงใจ
มันจึงต้องติดเครื่องไว้เป็นแอพสำรองเพื่อให้พร้อมทุกสถานการณ์นั้นเองครับ
2.แอพพลิเคชั่นสำหรับการจัดการรูป
รูปภาพกลายเป็นสื่อหลักในการถ่ายทอดเรื่องราวพอๆ กับคำบอกเล่า ภาพสามารถทำให้ผู้เห็นได้เข้าใจในสิ่งที่กำลังอธิบายได้ง่ายมากขึ้น แต่ข้อจำกัดในการนำเสนอนั้นก็ยังคงมีอยู่ จะทำอย่างไรถึงส่งผ่านสิ่งที่ต้องการไปกับรูปภาพได้มากที่สุด ทั้งเรื่องราวและความสวยงาม อุปกรณ์ถ่ายภาพเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ มันต้องมีแอพพลิเคชั่นเข้ามาจัดการการจัดวางและการตกแต่งภาพด้วยครับ
Photo Grid
แอพพลิเคชั่นที่เอาไว้ใช้หลายอย่างมากทีเดียว ทั้งการรวมภาพหลายๆ ภาพเพื่อให้เป็นภาพเดียวกัน อันนี้คือความสามารถสำคัญ บางครั้งเราไม่อยากจะแชร์ภาพหลายๆ ภาพแยกกันออกไป อาจจะเพราะด้วยความไม่สะดวกหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ด้วยเจ้าแอพ Photo Grid มันมีความสามารถรวมภาพหลายๆ ภาพไว้ในภาพเดียวกันได้
รวมถึงความสามารถในการแต่งภาพเบื้องต้น การตัดการปรับส่วน หรือแม้กระทั่งการใช้เพิ่มความเนียนใสของใบหน้าบุคคลที่ผมถ่ายภาพมาด้วยกล้องจริง แอพพลิเคชั่น Photo Grid ก็เก่งมากในเรื่องนั้นครับ หน้าเนียนใสได้แบบเป็นธรรมชาติมากกว่าเดิมแบบง่ายๆ ในคลิ๊กเดียว แอพพลิเคชั่นนี้จึงเป็นแอพจัดการภาพสำคัญที่ผมติดเครื่อง Android ของผมเอาไว้ตลอดเวลาครับ
Snapseed
แอพพลิเคชั่นจัดการภาพที่โปรขึ้นมาอีกหน่อย หลายคนอาจจะเลือกใช้งานแอพตัวอื่นๆ ที่มีความสามารถคล้ายๆ กัน เช่น Lightroom หรือ Google Photo อันนี้แล้วแต่ถนัด ส่วนตัวผมชอบตัวนี้เพราะ “ความพอดีและหน้าตาแอพที่ใช้งานง่าย” ของมัน
เป็นแอพที่ผมจะติดเครื่องไว้ใช้ในกรณีเป็นงานใหญ่ครับ ต้องการภาพถ่ายที่ต้องการเน้นถึงความสวยงาม รวมถึงภาพถ่ายบางภาพที่อาจจะถ่ายมาผิดพลาดไป ด้วยแอพประเภท Snapseed มันช่วยเราได้ ภาพมืดไป จ้าไป สีซีดไปจัดไป แสงเงาไม่ได้ รายละเอียดภาพหาย มันสามารถแก้ไขได้ในระดับลึกอยู่ครับ หลายๆ ครั้งผมจึงไม่จำเป็นต้องเอาภาพที่เสียไปแก้ในคอมพ์เลยเพราะแอพพลิเคชั่นในมือถือเดี๋ยวนี้มันทำได้ดีพอตัวเลยละ
ตัวมันยังมีความสามารถในการใส่เอฟเฟ็กต์ฟิลเตอร์สีแปลกๆ ให้กับภาพของเราได้ด้วยนะ ด้วยระดับความสามารถของมันที่ให้มาขนาดนี้ แถมเป็นแอพพลิเคชั่นฟรี ผมจึงติดเครื่องเอาไว้ในทุกเครื่องที่ผมกำลังใช้งานอยู่ครับ
3.แอพพลิเคชั่นสำหรับการรับส่งข้อมูล
การทำงานส่วนใหญ่ของพวกผม ไม่ใช่เป็นการทำงานคนเดียวครับ ต้องมีการรับส่งข้อมูลไปมาหากันทั้งข้อมูลภาพ ข้อความ เอกสาร หรือบางครั้งก็เป็นไฟล์วีดีโอ รวมถึงการทำงานที่บางครั้งต้องโยกย้ายถ่ายอุปกรณ์ไปมา การสำรองข้อมูลหรือการทำพื้นที่จัดเก็บข้อมูลกลางก็มีความจำเป็นด้วย ซึ่งในปัจจุปันมีบริการหลายๆ อย่างที่เข้ามาช่วยเราได้ในเรื่องนี้ครับ แค่เรามีแอพพลิเคชั่นที่มีความสามารถตรงใจเท่านั้นเอง
SHAREit
แอพพลิเคชั่นสำหรับการรับส่งไฟล์ข้ามระบบได้ ซึ่งสามารถรับส่งไฟล์ได้แทบทุกชนิดและมีความเร็วในการรับส่งสูงมากครับ เป็นแอพพลิเคชั่นฟรีอีกหนึ่งตัวที่เป็นของทาง Lenovo พัฒนามาให้ใช้กันได้ฟรีๆ มันสามารถเชื่อมต่อกันระหว่างอุปกรณ์ระบบเดียวกัน หรือข้ามระบบกันไปมาได้ (Android iOS และ Windows) ส่วนความรวดเร็วนั้นไวเทียบกับประสิทธิภาพการรับส่งข้อมูลผ่านทางสัญญาณ Wi-Fi เลยครับ เพราะมันคือเทคโนโลยี Wi-Fi Direct นั้นเอง แอพนี้จำจำเป็นต้องติดเครื่องไว้ พร้อมใช้ในขณะไปทำงานภาคสนามข้างนอก ให้พวกเราสามารถรับส่งไฟล์หากันได้ระหว่างอุปกรณ์แม้ทุกคนอาจจะใช้เครื่องต่างระบบกัน แม้มันจะเป็นไฟล์วีดีโอขนาดใหญ่ก็ตามครับ
Onedrive
บริการพื้นที่ฝากไฟล์ cloud storage ของทาง Microsoft ที่พร้อมให้บริการกับเครื่องทุกระบบด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่ จริงๆ แล้วบริการประเภทนี้มีมาให้เราเลือกใช้เยอะมากครับ แต่การที่ผมเลือกใช้งาน Onedrive ด้วยสาเหตุเพราะว่า มันมีให้ใช้งานกันได้ในระบบหลักๆ ค่อนข้างครบ ( Android, iOS, Window, OSX และ Windows Phone) เพราะไม่อยากเลือกใช้งานให้หลากหลายจนเกินไป จึงต้องมองบริการพื้นที่ส่วนกลางที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด
Onedrive เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานที่สำคัญของผมมากๆ ครับ ฝากไฟล์ไว้เพื่อส่งต่อให้คนอื่น, ฝากไฟล์เอาไว้เพื่อส่งต่อไปใช้งานกับอุปกรณ์อื่น ผมใช้งานมันอยู่ตลอดเวลา เช่นไฟล์ที่เอาไว้ทดสอบเครื่องรีวิว ไฟล์เพลง ไฟล์ฺวีดีโอ รวมถึงไฟล์ที่เอาไว้ประกอบข่าวให้เพื่อนๆ เข้าไปดาวน์โหลด
อีกการทำงานหนึ่งที่ใช้บ่อยมากที่สุด คือภาพหน้าจอที่ผมเซฟไว้จากเครื่องที่ทำการรีวิว ผมจะติดตั้งแอพ Onedrive เข้าไปที่เครื่องทดสอบนั้น เพื่อจะอัพโหลดภาพประกอบบทความที่เซฟจากตัวเครื่องที่ทดสอบ ไปเก็บไว้ใน Onedrive ซึ่งผมจะหยิบมาใช้เพื่อการรีวิวเครื่องๆ นั้นต่อไป บนอุปกรณ์ใช้เขียนรีวิวเป็นประจำนั้นเองครับ ไม่ต้องเสียบสาย ส่งต่อไฟล์ให้ได้เป็นกลุ่ม เสี่ยงต่อภาพหายน้อยที่สุด และสามารถหยิบมาใช้กับอุปกรณ์ไหนๆ ก็ได้ที่ติดตั้ง Onedrive เอาไว้ตลอดเวลา
4 แอพพลิเคชั่นสำหรับการจัดทำบทความ
เราไม่ได้พิมพ์บทความกันที่ออฟฟิศหรือที่บ้านบนหน้าเครื่องโน๊ตบุ๊คหรือเครื่องคอมพ์พิวเตอร์กันเพียงอย่างเดียวนะครับ งานที่ออกมามากมาย รีวิว ทิปส์ บทความต่างๆ แต่ละอันใช้เวลาจัดทำกันหลายชั่วโมง ทำกันเป็นวัน ไม่นับรวมข่าวยิบย่อยที่เอามารายการกัน แม้พวกข่าวจะใช้เวลาไม่นาน แต่รวมๆ ทุกอย่างแล้วพวกเรานั่งทำกันเกือบตลอดทั้งวัน รวมถึงในขณะที่เราไม่ได้อยู่บ้านด้วยนั้นเอง
ฉะนั้นเราจึงจำเป็นต้องใช้งานอุปกรณ์พกพาที่เรามีเพื่อทำบทความต่างๆ ขึ้นมา ทั้งในขณะอยู่เดินทาง เวลาว่าง นั่งรอใครสักคน ผมก็จะหยิบอุปกรณ์ของผมขึ้นมา แล้วพิมพ์งานต่อไปได้ในทุกๆ เวลาที่ต้องการครับ (จะบอกว่าบทความนี้ครึ่งหนึ่งก็พิมพ์จากเครื่องแท็บเล็ตครับ)
OneNote
เป็นอีกหนึ่งแอพของทาง Microsoft ที่ผมเลือกใช้ เป็นแอพสำหรับการจดบันทึก แนบไฟล์ สร้างบทความแบบง่ายๆ เอาไว้ก่อนได้จากทุกที่ ด้วยความเป็นแอพในรูปแบบ synchronize ทำให้ผมสามารถกลับมาทำงานต่อที่บ้านได้ต่อเนื่องทันทีจากเครื่องคอมพ์ที่ลงแอพพลิเคชั่นเดียวกันไว้ โดยไม่ต้องโอนย้ายไฟล์ใดๆ ครับ มันสามารถดัดแปลงทำงานในแบบอื่นๆ ได้อีกมากด้วย
เวลาไปงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในขณะที่คนอื่นบางคนจดบันทึกบนกระดาษ แต่ผมเลือกที่จดมันไว้ใน Onedrive ประกอบข้อมูลต่างๆ ที่ได้ให้กลายเป็นบทความ เมื่อกลับมาถึงที่ทำงาน เพื่อนๆ ก็จะได้อ่านบทความพรีวิวได้ทันทีเลย เป็นหนึ่งเหตุผลที่บทความของทาง Appdisqus มีความไวมากเมื่อมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจครับ ด้วยแอพพลิเคชั่นลักษณะนี้นั้นเอง
Pulse
“แหล่งข่าว” การติดตามข่าวก็เป็นเรื่องสำคัญของคนอาชีพอย่างผม พอๆ กับการรายงานข่าวครับ จะเขียนข่าวได้ก็ต้องมีแหล่งข่าว ถ้าเป็นข้อมูลจากประเทศเราเองก็สามารถรับข่าวสารได้จากคนวงใน แต่ถ้าข่าวที่เกิดในแต่ละประเทศนั้น ก็จจะต้องมีแหล่งที่จากสื่อนอกละครับ ฉะนั้นจะติดตามข่าวรอบโลกให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุดก็ต้องติดตามจากหลายแหล่งข่าวนั้นเองครับ ถ้าจะให้มานั่งกดไล่หาอ่านมันทีละที่ก็เสียเวลาและจับประเด็นได้ยากมากทีเดียว
Pluse คือแอพพลิเคชั่นคู่ใจผมที่ผมเอามาใช้เพื่อการตามอ่านแหล่งข่าวสำคัญๆ ทั่วโลกใ มันเป็นแอพที่ทำหน้าที่รวบรวมข่าวทุกข่าว จากทุกแหล่งที่ผมเลือกกดติดตาม มาจัดเรียงแสดงเป็นช่องรายการให้เห็นได้ง่ายๆ ทุกอย่างโดยรวมอยู่ในสายตาผมด้วยแอพพลิเคชั่นตัวนี้ครับ
แต่น่าเสียดายที่หน้าตาการใช้งานของมันได้รับการเปลี่ยนแปลงหลังการเข้ามาซื้อกกิจการของ Linkedin ผมว่าหน้าตาแอพพลิเคชั่นของมันในสมัยก่อนตามข่าวต่างๆ ทั่วโลกได้ง่ายมากกว่าหน้าตาปัจจุปันนี่เยอะครับ แต่อย่างไรก็เป็นแอพที่ผมใช้งานมานาน และคงใช้อ่านข่าวจากต่างประเทศต่อไปครับ
5,แอพพลิเคชั่นสำหรับการดูแลเว็บไซด์
Google Analytic
ผมเองไม่ได้เป็นคนทำหน้าที่คอยจัดการบริหารทรัพยากรหลังบ้านหรือดูแลระบบของเว็บนะครับ สิ่งที่ผมคอยดูแลจะเป็นเรื่องของคอนเทนต์และการรักษามาตรฐานความน่าสนใจของเว็บไซด์ จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่คอยแจ้งจำนวนผู้ใช้งานและติดตามความสนใจของเนื้อหาที่นำเสนอออกไป ว่าได้รับการตอบรับเพียงใด รวมทั้งดูแลเว็บไซด์มีข้อมูลอะไรที่แปลกไปจากปกติหรือไม่
Google Analytic คือบริการของทาง Google ที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ได้ครับ และมีแอพพลิเคชั่นให้เราใช้งานได้ง่ายๆ บนระบบ Android ด้วย มันจะคอยแจ้งเราได้ตลอดว่าตอนนี้มีเข้าคนใช้งานเว็บไซด์เป็นจำนวนเท่าไหร่ อ่านบทความอะไรอยู่บ้าง ซึ่งมันจะทำงานแบบเรียลไทม์ ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากจะทำเว็บไซด์ ลองศึกษาเรื่องนี้ดูไว้จะช่วยได้มากเลยครับ เพราะเรื่องของสถิติ มันบอกอะไรเราได้มากกว่าที่คนทั่วไปจะมองออกครับ
เหล่านี้ก็คือห้าหมวดหมู่ สิบแอพพลิเคชั่น จากประสบการณ์ของผมเองที่ใช้งานในเครื่อง Android ในเรื่องการทำงานครับ คุณสมบัติบางอย่างของแอพพลิเคชั่นเหล่านี้เชื่อว่าต้องมีบ้างที่จะช่วยการทำงานของเพื่อนๆ ได้เช่นกัน ยังไงก็ลองใช้งานหรือจะมาแนะนำแอพดีๆ ให้ผมบ้างก็ได้เช่นกันครับ
ซึ่งในโอกาสหน้าผมจะมาแนะนำแอพพลิเคชั่นในระบบ iOS และ Windows ต่อไป สำหรับการทำงานด้านนี้เช่นกัน มันจะมีความคล้ายกัน แต่แอพพลิเคชั่นบางตัวจะเปลี่ยนไปตามระบบของมัน ซึ่งจะมีแอพที่ดีกว่า เก่งกว่า และอาจจะเหมาะสมกว่า ซึ่งเป็นเหล่าแอพที่ผมติดตั้งไว้ใช้ในกรณีพกพาเครื่องของระบบนั้นๆ ออกไปทำงานนั้นเองครับ