หลังจากการเปิดตัวมือถือสีสันสดใสตัวใหม่ของ Apple อย่าง iPhone 5c กันไปเมื่อวาน สื่อทั่วโลกก็ให้ความสนใจกับเจ้ามือถือตัวแรกที่แหวกม่านประเพณีของ Apple ออกมา จากความเรียบหรู มาเป็นแนวลูกกวาดสีสันสดใส
และเป็นเรื่องปกติที่เวลามีมือถือตัวใหม่ๆออกมา สื่อก็มักจะนำมันไปเปรียบเทียบกับมือถือรุ่นเด่นๆที่อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันอยู่เป็นประจำครับ ซึ่งวันนี้เราก็ขอนำบทความการเปรียบเทียบจากเว็บไซต์ Phandroid มาให้เพื่อนๆชาว appdisqus ได้อ่านกันครับ และบทความนี้จะพูดถึงการเปรียบเทียบระหว่าง iPhone 5c และ Moto X
ทางเว็บ phandroid ได้ให้เหตุผลในการจับคู่เปรียบเทียบในครั้งนี้ว่า เพราะคอนเซ็ปท์ของมือถือทั้ง 2 รุ่นนั้นคล้ายกันในเรื่องของการปรับแต่งมือถือให้เข้ากับตัวคุณมากที่สุด (สำหรับ Moto X นั้นเราสามารถเลือกเปลี่ยนชิ้นส่วนต่างๆของมือถือเราได้ตั้งแต่ตอนสั่งซื้อ ส่วน iPhone 5c นั้น เราสามารถซื้อเคสเพื่อมาสวมทับและ mix & match สีสันให้เข้ากับตัวเรามากที่สุดได้)
และนี่คือการเปรียบเทียบในแง่ของสเปคเครื่องครับ
[box_dark]iPhone 5c[/box_dark]
ในส่วนของตัวเครื่อง Apple พยายามอย่างเต็มที่ที่จะทำให้ตัวเครื่องของ iPhone 5c ที่ทำจากพลาสติก (หรือจะเรียกให้หรูคือ hard-coated polycarbonate) ให้ความรู้สึกที่เป็นพลาสติกให้น้อยที่สุด (unapologetically plastic) และผลที่ได้ก็ทำให้เจ้า iPhone 5c นี้ดูพรีเมี่ยมขึ้นกว่าอุปกรณ์อื่นๆที่ใช้พลาสติกด้วยกัน โดยกลุ่มเป้าหมายของเจ้า iPhone 5c คือคนที่อยากได้ iPhone สักเครื่องที่ราคาไม่สูงมาก (จริงเหรอ?) และมีรูปลักษณ์ที่โดดเด่น แตกต่างไปจาก iPhone 5s
สิ่งที่ Apple ทำออกมาชนกับมือถือที่สั่งเปลี่ยนรูปลักษณ์ได้ของ Motorolla คือ การออกเคสแบบพิเศษสำหรับเจ้า iPhone 5c ที่มีลักษณะเป็นรูๆ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของมือถือของตัวเองได้ตามต้องการ แค่หยิบเคสมาสวมเข้ากับ iPhone 5c ของคุณเท่านั้น
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เพราะถึงอย่างไรมันก็เป็นแค่ “เคส” ซึ่งมีผู้ผลิตในตลาดอยู่มากมาย แต่ดูเหมือน Apple จะพยายามทำให้เจ้าเคสที่ว่านี้ดูสำคัญเหลือเกิน
ประเด็นที่สำคัญที่สุดสำหรับทาง Phandroid คือ ถ้าตัดเรื่องของรูปลักษณ์ภายนอกและความสวยงามออกไป หากเรามองเจ้า iPhone 5c ในฐานะโทรศัพท์สักเครื่องหนึ่ง ด้วยราคาเริ่มต้นที่ $99 นั้น ทำให้เจ้า iPhone 5c นี้น่าสนใจมาก (แต่แน่นอนครับ นี่เป็นราคาเมืองนอก)
ฮาร์ดแวร์และสเปคเครื่อง
ด้วยความที่ iPhone 5c นั้น ถูกวางเอาไว้เพื่อที่จะมาแทนที่ iPhone 5 รุ่นปัจจุบัน เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่สเปคภายในของมันนั้นจะแทบไม่ต่างไปจาก iPhone 5 เลย ไม่ว่าจะเป็น CPU Apple A6 ที่ยังเป็น CPU แบบ 2 แกน (Dual-core) และมี GPU แบบสี่แกน (Quad-core) ถึงจะยังไม่มีการยืนยันเรื่องแรมเครื่อง แต่เราคิดว่าก็น่าจะยังใช้แรมขนาด 1 GB เท่าเดิมกับที่ใช้บน iPhone 5 แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือ iPhone 5c จะมีให้เลือกแค่ 2 ความจุคือ 16 GB และ 32 GB เท่านั้น
หน้าจอ
Apple ยังคงเลือกที่จะใช้หน้าจอขนาด 4 นิ้วสำหรับ iPhone 5c อยู่ ด้วยเทคโนโลยี “Retina display” ของ Apple ที่ให้ความละเอียดจอสูงถึง 1136×640 พิกเซล หรือพอๆกับความละเอียดที่ 720p และมีความหนาแน่นของเม็ดสีสูงถึง 326 ppi ทำให้ภาพที่ได้ ถึงแม้จะไม่ได้โดดเด่นกว่าหน้าจอที่ใช้อยู่ใน iPhone 5 เดิม แต่ก็ทำให้ภาพบนหน้าจอยังออกมาสวยงาม ตัวหนังสือและภาพต่างๆคมชัดอยู่ดี
กล้อง
iPhone 5c มาพร้อมกล้องหลังความละเอียด 8 ล้านพิกเซลที่ใช้เซ็นเซอร์แบบ BSI แบบเดิมเหมือนกับที่ใช้ใน iPhone 5 องค์ประกอบอื่นๆก็ไม่ต่างไปจากเดิมคือมีชิ้นเลนส์ 5 ชิ้น และมีค่า f ที่ f/2.4 โดยยังสามารถรองรับการถ่ายวิดีโอได้ที่ความละเอียด 1080p ที่เฟรมเรต 30 fps
แม้กระทั่งกล้องหน้าหรือ Facetime Camera ของ iPhone 5c ก็ไม่ต่างจากเดิม คือมีความละเอียดที่ 1.2 ล้านพิกเซล สามารถถ่ายวิดีโอได้ที่ความละเอียด 720p ที่เฟรมเรต 30 fps และรองรับการคุยวิดีโอคอลแบบ HD และแน่นอนสำหรับสาวๆที่ชอบถ่ายรูปตัวเองผ่านกล้องหน้า กล้องของ iPhone 5c สร้างมาเพื่อคุณเหมือนเดิม
ซอฟท์แวร์และคุณสมบัติอื่นๆ
iPhone 5c จะมาพร้อมระบบปฏิบัติการ iOS7 ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการรุ่นล่าสุดของ Apple ในความเป็นจริงแล้ว iOS7 ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีการเปิดตัวไปก่อนหน้านี้ระยะหนึ่งแล้ว แต่เพิ่งมีการประกาศถึงวันปล่อยให้ผู้ใช้งานทั่วไปได้ใช้กันภายในงานเปิดตัวนี้นี่เอง (กำหนดการสำหรับการปล่อยตัวอัพเดท iOS7 คือวันที่ 18 กันยายนนี้)
iOS7 เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับการอัพเดทระบบ iOS ของ Apple ทั้งในแง่ของการออกแบบหน้าจอการใช้งานและคุณสมบัติต่างๆ
การออกแบบหน้าจอการใช้งานของ iOS7 เปลี่ยนมาเน้นการไล่สีสันในหน้าจอ โทนสีของระบบดูสว่างขึ้น เล่นสีสันมากขึ้นและการออกแบบส่วนต่างๆเน้นไปออกแบบให้ดูแบนขึ้น (flat) ทั้งในส่วนของไอค่อนหรือในส่วนหน้าจอต่างๆ ซึ่งเป็นเทรนด์ของการออกแบบในยุคนี้ครับ
ส่วนในแง่คุณสมบัติต่างๆ นั้น สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการที่ Apple เพิ่มส่วนที่เรียกว่า Quick toggles และส่วนควบคุมเพลง ที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเมนูทั้ง 2 ส่วนนี้ได้ง่ายๆ แค่ลากนิ้วจากขอบบนของหน้าจอลงมา ก็จะเจอส่วนการตั้งค่านี้แล้ว ทำให้ผู้ใช้งานสามารถปรับตั้งค่าต่างๆ เช่นปรับความสว่างของหน้าจอ, เปิด-ปิด บลูทูธหรือ WiFi รวมถึงควบคุมเมนูการเล่นเพลงได้จากส่วน Quick toggle นี้เลยโดยไม่ต้องเข้าไปที่เมนู Settings หรือแอพ Music
อีกสิ่งหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงคือ Siri ผู้ช่วยส่วนตัวของเราซึ่งเราสามารถเลือกเปลี่ยนเสียงของ Siri ได้ว่าจะใช้เป็นเสียงของผู้ชายหรือผู้หญิง รวมถึง Siri จะรองรับรูปแบบคำสั่งต่างๆมากขึ้น
อย่างไรก็ดี เราคงต้องรอจนถึงวันที่ Apple ปล่อยให้เราได้อัพเดท iOS7 กันอย่างเป็นทางการ ถึงจะสามารถพิสูจน์ได้ว่า เขาหรือเธอคนนี้ที่ชื่อว่า Siri จะสามารถทำอะไรให้เราได้เพิ่มมากขึ้นจริงหรือไม่
[box_dark]Moto X[/box_dark]
เจ้า Moto X เองก็เป็นหนึ่งในมือถือรุ่นที่มีคนพูดถึงมากที่สุดรุ่นหนึ่งในปีนี้ครับ ถึงแม้ว่าเจ้า Moto X จะไม่ได้มาพร้อมกับสเปคระดับเทพที่สุดในสามโลก แต่เจ้า Moto X ก็มาพร้อมกับการทำให้คำว่า “ประกอบในอเมริกา” (Assembled in America) กลับมามีมนต์ขลังอีกครั้ง ด้วยกลุยทธ์ในการให้ผู้ใช้สามารถออกแบบมือถือที่เข้ากับความต้องการของตัวเองได้ด้วยองค์ประกอบต่างๆที่สามารถเลือกจับคู่ได้ถึง 2,000 รูปแบบ
นอกจากรูปลักษณ์ภายนอกแล้วเรายังสามารถออกแบบข้อความที่แสดงบนหน้าจอ Bootscreen ของเราได้
ในแง่ของการออกแบบ ดูเหมือน Motorola จะภูมิใจนำเสนอแนวการออกแบบที่โค้งมนนิดๆ ของเจ้า Moto X ที่ช่วยให้กระชับและจับถนัดมือขึ้นเวลาใช้งาน
หน้าจอ
Motorola มีจุดยืนที่ชัดเจนที่จะไม่เข้าร่วมสมรภูมิสงครามสเปคกับค่ายมือถืออื่นๆแน่นอน เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องหวังว่าจะได้เห็น CPU ระดับ 8 หัว, แรม 3GB หรือหน้าจอ 5 นิ้วแบบ Full-HD ในเจ้า Moto X ครับ
ตรงกันข้าม Motorola เลือกที่จะให้เจ้า Moto X เป็นมือถือที่ “พอดี” สำหรับการใช้งานและ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพอดีกับอายุการใช้งานแบตเตอร์รี่
สเปคของเจ้า Moto X จึงออกมาแบบ playsafe และเป็นมิตรกับปริมาณแบตในเครื่องของเรา เริ่มตั้งแต่จอขนาด 4.7 นิ้วที่พอดีสำหรับการใช้งาน ถึงแม้ความละเอียดหน้าจอที่ 720p จะเป็นตัวเลือกที่ประหลาดไปซักหน่อย แต่ด้วยความหนาแน่นของเม็ดสีที่ 312ppi บนหน้าจอที่ไม่ใหญ่มาก ก็ทำให้ภาพที่ได้บนหน้าจอมีความสวยงาม และคมชัด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจอแบบ AMOLED ด้วยที่ทำให้ภาพที่ได้น่าประทับใจ
ฮาร์ดแวร์และสเปคเครื่อง
สิ่งหนึ่งที่สร้างความสับสนให้กับเรามากคือเรื่องของเจ้าชิปประมวลผล Motorola X8 ซึ่งไม่มีการประกาศอย่างชัดเจนในตอนแรกว่ามันมีคุณสมบัติอะไรบ้าง แต่สิ่งที่เราได้รับรู้กันในเวลาต่อมาคือ จริงๆแล้ว เจ้า X8 นี้มันคือชิปเซ็ท Qualcomm Snapdragon S4 แบบ Dual-Core รุ่นปรับปรุงที่มาพร้อมความเร็ว 1.7 GHz
การปรับปรุงที่ Motorola ทำกับชิป Snapdragon S4 คือ นอกจากตัว CPU จะมีแกนหลัก 2 แกนในการประมวลผลแล้ว Motorola ยังเพิ่มแกนประมวลผลย่อยอีก 2 แกนที่ใช้สำหรับการประมวลผลเล็กๆ (Low powered computing) ตัวอย่างคุณสมบัติที่ชื่อว่า “Always listening” ที่เจ้า Moto X จะพร้อมรับคำสั่งเสียงจากเราตลอดเวลา
นอกจาก CPU แบบ Quad-core (2 แกนหลัก+ 2 แกนย่อย) แล้ว ในส่วนของ GPU ของ Moto X ก็มาพร้อมกับ GPU Adreno 320 ที่เป็น GPU แบบ Quad-core (ซึ่งนี่เป็นที่มีของชื่อ X8) และองค์ประกอบภายในเครื่องของเจ้า Moto X ก็มีดังนี้ครับ
- แรม 2GB
- กล้องหลัง 10MP เทคโนโลยี RGBC
- กล้องหน้าระดับ 2MP
- NFC
- Bluetooth 4.0
- WiFi a/b/g/n/ac
- aGPS with GLONASS
- แบตความจุ 2,200 mAh
ถึงแม้จากสเปค จะไม่ทำให้เราร้องว้าวออกมาได้ถ้าเทียบกับมือถือเรือธงอื่นๆในตลาด แต่ว่าด้วยสเปคนี้ก็น่าจะทำให้เราใช้งานมือถือของเราไปได้สบายๆอย่างน้อยก็ 2 ปีนับจากนี้ครับ (Ton: เอาจริงๆ จะใช้กันถึงมั้ยเนี่ย)
กล้อง
Moto X มาพร้อมกล้องที่มีเซ็นเซอร์ขนาด 10 MP และเทคโนโลยี RGBC หรือเทคโนโลยี Clear pixel นั่นเอง โดย Motorola อ้างว่าจะช่วยให้การถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อยทำได้ดีขึ้น แต่ว่าผลที่ได้กลับไม่น่าประทับใจเท่าไหร่
Moto X สามารถถ่ายวีดีโอที่ความละเอียด 1080p ที่เฟรมเรต 30 fps นอกจากนี้ Moto X ยังมาพร้อมกล้องหน้าความละเอียด 2 ล้านพิกเซลสำหรับการเล่นวิดีโอแชทและการถ่ายรูปตัวเองผ่านกล้องหน้า
ซอฟท์แวร์และฟังก์ชั่นต่างๆ
ดูเหมือนว่า Google จะบอกให้ Motorola เพลาๆการปรับแต่งอินเตอร์เฟสระบบของตัวเองลงบ้าง และดูเหมือนว่าคำเตือนนั้นจะเป็นผล เพราะอินเตอร์เฟสของ Moto X นั้นดูเผินๆเหมือนกับหน้าจอ Stock ของระบบ Android มากเลยทีเดียว ถึงแม้ Moto X จะมาพร้อมระบบ Android เวอร์ชั่น 4.2.2 แต่ว่าด้วยการปรับแต่งของทีม Motorola ก็ทำให้ตัวระบบมีคุณสมบัติต่างๆเพิ่มเข้ามา ทั้งการควบคุมโดยไม่ต้องสัมผัสตัวเครื่อง (Touchless control) และฟังก์ชั่น Active notification
คุณสามารถสั่งการเจ้า Moto X ด้วยเสียงได้ หากคุณคุ้นเคยกับการใช้งาน Google Now ด้วยคำสั่งเสียง คุณก็จะใช้งานได้ไม่ยาก แค่เริ่มประโยคด้วยคำว่า “OK Google Now” จากนั้นตามด้วยข้อความที่คุณต้องการสั่งเจ้า Moto X คุณก็สามารถสั่งการมันได้แล้ว ซึ่งคุณสมบัตินี้มาจากเจ้าแกนประมวลผลย่อย 2 แกนที่เราได้กล่าวถึงในตอนต้น
คุณสมบัติที่น่าสนใจอีกประการคือ Active notification ที่จะใช้งานส่วนหนึ่งของหน้าจอแสดงข้อมูลบางอย่างตลอดเวลา ซึ่งต้องยกประโยชน์ให้หน้าจอแบบ AMOLED ที่ทำให้เจ้า Moto X สามารถทำสิ่งนี้ได้โดยไม่กระทบถึงอายุการใช้งานของแบตเตอร์รี่ด้วย
นอกจากนี้ คุณสมบัติอื่นๆที่มากับเจ้า Moto X ก็มีดังนี้ครับ
- Motorola Assist: ผู้ช่วยส่วนตัวที่จะช่วยตอบกลับไปยังข้อความ หรือสายเรียกเข้าให้คุณ ในขณะที่คุณหลับ ขับรถ หรือติดประชุม
- Motorola Connect: ปลั๊กอินของ Google Chrome ที่ช่วยให้เราสามารถดูสายเรียกเข้า หรือข้อความเข้าบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ของเราได้ และสามารถตอบกลับข้อความ sms เหล่านั้นได้
- Motorola migrate: เครื่องมือช่วยในการโอนข้อมูล contact หรือรูปในมือถือเก่าของคุณไปยังเครื่องใหม่ได้ง่าย
[box_dark]สรุปท้าย[/box_dark]
จากบทความนี้ ทุกท่านคิดว่า มือถือทั้ง 2 ตัวที่เน้นความสำคัญในด้านรูปลักษณ์ภายนอกที่สามารถให้ผู้ใช้ปรับแต่งได้อย่าง iPhone 5c และ Moto x นั้น ตัวไหนน่าสนใจกว่ากันครับ?
สิ่งหนึ่งที่ทั้ง Moto X และ iPhone 5c มีเหมือนกันอีกอย่างนอกจากเรื่องรูปลักษณ์แล้ว คือเรื่องของสเปคที่ไม่ได้อัดมาจนสูงเทพ แต่ว่าเน้นไปในความพอดีสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างลื่นไหล ขนาดหน้าจอที่ไม่ใหญ่จนเกินไป ซึ่งก็เหมาะกับภาพลักษณ์ของมือถือทั้ง 2 รุ่น
คิดเห็นอย่างไร ชอบรุ่นไหน แสดงความเห็นกันได้ ท้ายบทความนี้เลยครับ
ที่มา: Phandroid