[ชวนคุยยามเช้า] แบรนด์ ราคาแพง ความพึงพอใจที่พร้อมจะจ่าย
สวัสดีครับ นพพินิจ มารับหน้าที่คุยกับเพื่อนๆ ทุกท่านในเช้าวันอาทิตย์ เป็นอาทิตย์สุดท้ายก่อนเริ่มงานขายมือถือครั้งใหญ่ (อีกครั้ง) ในงาน Mobile Expo โดยเริ่มกันตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคมที่จะถึงนี้เป็นต้นไป มีสินค้าไอทีมากมายที่เพิ่งจะเปิดตัวนำมาจำหน่าย หลายๆ คนเล็งไว้กันแล้วในใจว่าจะเอารุ่นใด ซึ่งส่วนใหญ่ ก็เลือกเอาตามความพึงพอใจในเหตุผลของแต่ละท่านนั้นเองครับ
ต้นทุนของสินค้า บวกรวมบริการหลังการจำหน่าย บวกกับค่าใช้จ่ายใดๆ อีกมากมายทั้งที่เรารู้และไม่รู้ เกิดเป็นการกำหนดราคาของอุปกรณ์ชิ้นนั้นๆ ซึ่งจะบวกมามากหรือบวกมาน้อยแล้วแต่การพิจารณาของผู้ผลิตสินค้าและผู้จัดจำหน่าย บางรายขายแพง บางรายขายถูก ส่วนจะขายได้ไม่ได้ อยู่ที่ “ความพึงพอใจ” ของผู้ซื้ออย่างเราครับ ว่าจะพึงพอใจหรือไม่
ความพึงพอใจเกิดขึ้นได้หลายอย่าง พึงพอใจในความคุ้ม, พึงพอใจในการใช้งาน, พึงพอใจในการบริการ, หรือพึงพอใจในรูปลักษณ์ สุดท้าย คือความพึงพอใจในตราสินค้า ที่เรียกกันว่าเกิดความภักดีในแบรนด์ โดยมันมาจากความเชื่อมั่นในภาพลักษณ์โดยรวมนั้นเองครับ ความพึงพอใจในเหตุผลข้อหลังนี้ มีอำนาจและราคาที่โดดเด่นมากครับ แต่มันกลับไม่ได้เกิดขึ้นกันง่ายๆ ตราสินค้าใดที่สามารถทำให้เกิดความภักดีได้ ถือว่าได้เปรียบคู่แข่งในตลาดมากทีเดียวครับ
ในเรื่องของวงการสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ไอที เรารู้ๆ กันอยู่ว่าแบรนด์ไหนมีชื่อเสียง แบรนด์ไหนชื่อดังฟังคุ้นหู แต่ไม่ใช่ทุกแบรนด์ดังจะได้รับความพึงพอใจในตราสินค้าเท่าเทียมกัน บางครั้งแบรนด์ดังสร้างชื่อให้ตัวเองมาในเรื่องของ “ความคุ้ม” หรือราคาถูก บางแบรนด์สร้างชื่อให้ตัวเองด้วย “รูปลักษณ์” หรือการดีไซด์ บางแบรนด์เคยสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีจนได้รับคำชมกันปากต่อปาก บางแบรนด์รับผิดชอบความผิดพลาดและไม่ทอดทิ้งจนได้รับคำนิยมเรื่องบริการหลังการขาย คุณสมบัติเหล่านี้ ถ้ามองดีๆ จะเห็นว่าบางแบรนด์โดดเด่นในบางข้อ และบางแบรนด์ได้รับการยอมรับว่าโดดเด่นในหลายข้อไปพร้อมๆ กันครับ
“ความพึงพอใจ” ที่ได้รับกลับมาจากผู้ใช้ เหมือนผลไม้ที่เก็บเกี่ยวได้จากการหว่านเมล็ดลงไปในช่วงเวลาที่ผ่านๆ มา แต่การออกดอกออกผลของความพึงพอใจในแต่ละด้านนั้นต่างกัน ความพึงพอใจในเรื่องของความคุ้มหรือการขายสินค้าราคาถูกนั้น ออกผลไวครับ ประกาศราคาปุ๊บ ได้รับกระแสปั๊บ เก็บกินผลลัพท์ได้ทันทีทันใด แต่มันไม่ยืนยง เก็บกินผลแล้วจบกัน ออกสินค้าใหม่ต้องหว่านเมล็ดกันใหม่เก็บกินเป็นรุ่นๆ ไป หยุดจำหน่ายราคาประหยัดเมื่อใด ผลลัพท์ที่เคยได้ก็หายไปทันที
กลับกัน จะว่าไป “ผลลัพท์ที่ได้จากความภักดีต่อแบรนด์” เก็บกินได้ยาวนานมากที่สุด ปลูกยาก โตช้า และอาจจะมีต้นทุนสูง แต่เมื่อทำได้จนออกผลสำเร็จ มันจะมีคุณค่าและสร้างราคาให้กับสินค้าได้มากมายทีเดียวครับ และเมื่อชื่อชั้นของตราสินค้านั้นขึ้นติดลมบน และยังคงมาตรฐานที่ลูกค้าเคยได้รับ ความภักดีที่มีก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลงไปไหน จริงๆ แล้วมันก็ไม่ง่ายอย่างที่พูดไป การคงมาตรฐานไว้ให้ยาวนานก็มีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้นที่ทำได้ครับ
ในโลกที่ยุคสมัยก้าวไกล เทคโนโลยีการผลิตในสิ่งยากๆ เริ่มง่ายลงทุกวัน ต้นทุนการทำสินค้าระดับสูงเริ่มต่ำ ฟังชั่นและความสามารถได้รับการตอบสนองต่อผู้ใช้จนเกิดความพึงพอใจในการใช้งานแทบไม่แตกต่างกันในแต่ละแบรนด์ จำเป็นต้องสร้างความพึงพอใจในด้านอื่นๆ ให้เกิดขึ้นมาเพื่อให้ลูกค้าหันมาสนใจ การออกแบบดีไซด์ใหม่, ฟังชั่นการทำงานใหม่ๆ, ราคาขายที่ต่ำกว่าใคร ทั้งหมดถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มความอยากซื้ออยากได้ตามกแผนการตลาดของแต่ละบริษัท
แต่สิ่งที่ทรงอิทธิพลและมีอำนาจต่อการตัดสินใจซื้อก็ยังคงเป็น “ความพึงพอใจในตราสินค้า” หรือความภักดีต่อแบรนด์นั้นเองครับ การจะละลายใจของใครที่เขาเชื่อและมั่นใจเป็นอย่างมากมาก่อนละก็ มันเป็นเรื่องที่ยากมากจริงๆ โดยเฉพาะถ้ายิ่งเป็นการยอมรับของกลุ่มคนในวงกว้างแล้วมันยิ่งยากไปกันใหญ่ ปากต่อปาก คนสู่คน การยอมรับของสังคม ทั้งหมดคือสิ่งที่ผูกมัดการตัดสินใจและความอยากได้ในยุคสมัยนี้อย่างแท้จริงครับ
สเปคเท่ากัน ราคาจำหน่ายเท่ากัน แบรนด์ที่เรามั่นใจนั้นก็เป็นตัวเลือกที่ดีกว่า แม้บางครั้งสเปคไม่เท่ากัน ราคาจำหน่ายต่างกัน แบรนด์ที่เรามั่นใจนั้นจำหน่ายแพงกว่า ก็ยังคงมีโอกาสเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าสำหรับเราได้อีกเช่นกันครับ
แต่ความพึงพอใจในตราสินค้ามันเป็นเรื่องส่วนบุคคล มูลค่าของมันแตกต่างกันไปในแต่ละความคิดของผู้ซื้อหรือผู้ใช้บริการ บางครั้งมันมีค่ามากพอที่จะจ่าย ส่วนจะมีมูลค่ามากมายขนาดไหนนั้น เป็นเราถึงจะเข้าใจ และไม่ต้องแปลกใจ ถ้าใครจะไม่เข้าใจเหมือนตัวเรา