เชื่อว่าหลายคนคงจำฝังหัวว่าถ้าใช้โทรศัพท์มากเกินไป หรือวางโทรศัพท์ไว้ใกล้ตัวขณะที่นอนหลับจะทำให้เกิดมะเร็งสมองได้ ความเชื่อนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? เราไม่สามารถทราบได้ แต่มันกลายเป็นความเชื่อร่วมของสังคมไปแล้ว จนกระทั่งมีโฆษณาของหน่วยงานรัฐออกมารณรงค์เรื่องนี้ และภาคเอกชนก็ทำฟิล์มกันรอยป้องกันคลื่นโทรศัพท์กันเลยทีเดียว ไม่เว้นแม้แต่องค์การอนามัยโลกก็ยังเคยออกมารณรงค์เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
ล่าสุด University of Sydney ได้เผยแพร่งานวิจัยที่ค้านกับความเชื่อของคนทั่วโลกออกมา นั่นคือ พวกเขาพบว่าการใช้โทรศัพท์มากเกินไปไม่ส่งผลต่อการเกิดมะเร็งสมองเลย โดยการศึกษาครั้งนี้ได้ค้นคว้าข้อมูลย้อนหลัง 30 ปี ตั้งแต่ปี 1982-2012 จากผู้ป่วยโรคมะเร็งสมองจำนวน 34,000 คน เปรียบเทียบกันข้อมูลการใช้โทรศัพท์ตั้งแต่ปี 1987-2012 การศึกษาพบว่า ในช่วง 30 ปีนี้ อัตราการเกิดมะเร็งสมองในผู้หญิงคงที่ และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในผู้ชาย ซึ่งสวนทางกับข้อมูลการใช้โทรศัพท์ที่ในปี 1993 มีผู้ใช้งานเพียงแค่ 10% แล้วเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์จนมีผู้ใช้สูงถึง 95% ในปัจจุบัน กลุ่มที่มีอัตราการเกิดโรคมะเร็งสมองสูงมากที่สุด ก็คือ กลุ่มผู้มีอายุ 70 ปีขึ้นไป แต่การเพิ่มขึ้นนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1982 ซึ่งในขณะนั้นคนทั่วไปยังไม่มีโทรศัพท์ใช้กันเลยครับ ดังนั้นการวิจัยนี้จึงสรุปว่า
อัตราการเกิดมะเร็งสมองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอัตราการใช้งานโทรศัพท์มือถือ
อย่างไรก็ตาม การวิจัยมันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่มาเกี่ยวข้อง มันทำให้ผลการวิจัยหลายสำนักออกมาไม่ตรงกัน เมื่อมีงานวิจัยที่บอกว่าการใช้งานโทรศัพท์มือถือไม่มีส่วนเกี่ยวข้องการอัตราการเกิดโรคมะเร็งสมอง ก็ต้องมีงานวิจัยที่บอกว่ามีผลเช่นกัน ดังนั้นทางที่ดีเราก็ฟังหูไว้หูครับ ผมนำเสนอผลการวิจัยนี้เพียงเพื่อจะบอกว่าผลการวิจัยที่แย้งกับความเชื่อทั่วไปของเรามันมีอยู่และน่าเชื่อถือไม่น้อยครับ
ที่มา: androidauthority