ความในใจของสองใหญ่ AIS หลังโดนถล่มจากผลทางการเมืองเข้าเต็มเปา
เรื่องราวของการเมืองไทยอันวุ่นวายและแสนจะยุ่งเหยิงที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับชีวิตทุกชีวิตและทุกภาคส่วนของสังคมในตอนนี้ แม้แต่สังคมไอทีที่ไม่น่าจะไปเกี่ยวกันได้ แต่การเมืองก็เดินเข้ามาชนกับบริษัทเครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์อย่าง AIS เข้าเต็มเปาครับ
นับตั้งแต่ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (นี่คือชื่อเต็มของคำย่อ กปปส. นะครับ) เริ่มประกาศปฏิบัติการ “ตัดท่อน้ำเลี้ยง” โดยการเริ่มปิดล้อมธุรกิจในเครือชินวัตร ชื่อของ AIS ก็เข้าไปอยู่ในลิสต์ของการต่อต้านโดยทันที เพราะภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังติดอยู่กับภาพลักษณ์บริษัท AIS และมันไม่้อาจจะงัดหรือจะแงะกันออกได้ง่ายๆ แม้ตระกูลชินวัตรจะขายหุ้นในกลุ่มชินคอร์ปทั้งหมดออกไปเมื่อประมาณ 8 ปีมาแล้วก็ตาม (ที่มาของจำนวนเงิน 76,000 ล้านบาทในตำนานนั้นเองครับ)
หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ทาง AIS ก็พยายามอย่างที่สุด ในการแสดงชัดถึงการตัดสัมพันธ์กับทางตระกูลชินวัตรให้สังคมได้เห็น ทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์ ในหน้านิตยสาร ส่งผ่านทาง SMS และส่งผ่านระบบข้อความของ Line แอพพลิเคชั่น
[quote]
“AIS ขอชี้แจงกรณีถูกกล่าวหาว่า SBN เป็นบริษัทในเครือตระกูลชินวัตร ดังนี้
บริษัท ซุปเปอร์ บรอดแบนด์
เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ SBN เป็นบริษัทที่ถือหุ้นโดย AIS 100 % จดทะเบียนเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม จากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ให้บริการโทรคมนาคม และบริการโครงข่ายโทรคมนาคม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับตระกูลชินวัตรแต่อย่างใด สามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย”
[/quote]
ตอนทราบข่าวนี้ ผมเคยสงสัย ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาระดับไหนของ AIS และทางผู้บริหารเขาคิดอย่างไร? วันนี้ผมได้มีโอกาสเข้าไปอ่านบทความสัมภาษณ์พิเศษของทางไทยรัฐ กับสอง CEO ใหญ่ของ AIS คุณ สมประสงค์ บุญยะชัย และ คุณวิเชียร เมฆตระการ ที่ให้ความเห็นในเรื่องนี้พอดี น่าสนใจ เอามาฝากให้อ่านกันครับ
นายสมประสงค์ บุญยะชัย
ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
“เราถูกดึงเข้าไปเกี่ยวกับการเมือง เพราะผู้ก่อตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก้าวสู่งานทางการเมือง ทั้งที่โดยนิติบุคคล เราไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันแล้ว ตลอดเวลา 8 ปีที่ผ่านมา หลัง พ.ต.ท.ทักษิณขายหุ้นทั้งหมดเมื่อปี 2549 เราก็ได้รับผลกระทบเรื่อยมา เจอหนักๆมาก็เยอะ ก็ต้องใช้ความอดทน ความพยายามในการชี้แจง ซึ่งผมเชื่อว่าสถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ
ก่อนอื่นต้องอธิบายว่าทั้งบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรืออินทัชและบริษัทลูกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส รวมทั้งบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวกับบริษัท เพราะยุ่งไม่ได้ เขาขายหุ้นไปหมดแล้วตั้งแต่ปี 2549 จากนั้นก็ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยว ไม่มีแม้กระทั่งความพยายามเข้ามายุ่ง”
ฉะนั้น การชักชวนให้คนเลิกใช้บริการของเรา บอยคอตสินค้าของเรา สิ่งต่างๆเหล่านี้ ไม่ได้ก่อให้เกิดผลใดๆต่อ พ.ต.ท.ทักษิณและครอบครัว เพราะเขาไม่ใช่เจ้าของ ไม่ใช่ผู้ถือหุ้น ไม่ได้ท่อน้ำเลี้ยงจากเรา สิ่งที่ทุกคนเข้าใจผิด จึงจำเป็นต้องเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อน กรณีของเราเหตุผลคือการถูกเข้าใจผิด ที่เราทำได้คือให้ข้อมูลที่ถูกต้องด้วยจิตใจที่เป็นกลาง
“ผมจะไม่เหน็ดเหนื่อยในการชี้แจง แม้จะต้องทำซ้ำๆซากๆ และแน่นอน ผมยินดีที่จะเข้าพบคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เพื่อชี้แจงความเป็นจริงทุกอย่างให้ฟัง ถ้าคุณสุเทพต้องการ”
นายวิเชียร เมฆตระการ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส
“ความเดือดร้อนที่ได้รับในครั้งนี้ ไม่ใช่กระทบเพียงแค่บริษัทเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงครอบครัว ลูก-เมียของพนักงานกว่าหมื่นคนที่ทำงานอยู่กับเอไอเอสด้วย เอไอเอสไม่ได้เป็นท่อน้ำเลี้ยงของใคร เราไม่มีผลต่อเงินในกระเป๋าใครทั้งสิ้น เราไม่ได้คิดจะเลือกข้าง
ที่ผ่านมา นอกจากถูกโยงเข้าไปเกี่ยวกับการเมืองแล้ว เอไอเอสยังถูกโจมตีเรื่อยมา เรื่องได้รับผลประโยชน์จากภาครัฐ ทั้งที่เราไม่เคยได้ประโยชน์แต่เพียงผู้เดียว ที่ผ่านมาเคยโดนใช้กฎหมายเล่นงาน มาวันนี้ถูกใช้มวลชนกดดัน หลายครั้งเราขยับตัวยาก เพราะความเป็นเอไอเอสนี่แหละ ที่ผ่านมาเอไอเอสเหมือนใส่เข็มขัดดำน้ำที่เป็นตะกั่ว จะโผล่ขึ้นมาหายใจก็ยาก การเมืองไม่ได้ช่วยอะไร นอกจากทำให้การทำงานยากลำบากมากขึ้น
หากเราบริการไม่ดี ไม่พอใจเรา ก็ขอให้บอก เราพร้อมจะแก้ไขเสมอ การเลิกใช้บริการของเรา เพราะเข้าใจว่าเราเป็น ในสิ่งที่ไม่ได้เป็น ผมว่ามันไม่แฟร์ ผมขอความเป็นธรรมให้กับเอไอเอสด้วยครับ”
ก็เป็นบางส่วนของคำใหสัมภาษณ์จากทาง ไทยรัฐ (<<<อ่านบทเต็มได้ที่นี่ครับ) ในบทสัมภาษณ์ ก็เป็นการขอความเห็นใจขอการอธิบาย เพราะความเป็นจริงของบริษัทผู้ให้บริการแม้จะยักษ์ใหญ่แค่ไหน จะอยู่ได้ไม่ได้ก็ขึ้นกับผู้ใช้บริการอย่างเราๆ เนี่ยแหละครับ แม้กระแสการต่อต้านจะลดทอนกำลังลงหลังการพยายามออกมาอธิบายอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูจาก AIS แต่สิ่งที่เสียหายก็เกิดขึ้นไปแล้วละ
เปลี่ยนชื่อกลุ่มก็แล้ว เปลี่ยนโลโก้ก็แล้ว ภาพลักษณ์เดิมๆ ก็ไม่หลุดหายไปไหนสักที สงสัยงานนี้ถ้าคิดจะป้องกันเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิม คงต้องเปลี่ยนชื่อเครือข่ายกันไปเลยดีกว่าละมั้งครับ