ถามเพื่อนๆ นะครับว่า เคยศึกษาหรือรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มากน้อยแค่ไหน? สำหรับกฎหมายฉบับอื่นๆ เราอาจไม่จำเป็นต้องอ่านทุกฉบับ ถือคติที่ว่าขอเพียงไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร เราก็ไม่ผิดกฎหมายแล้ว ซึ่งมันใช้ได้ผลเสมอมา แต่สำหรับ พรบ. คอมพิวเตอร์ 2550 ตัวนี้ ต่างออกไปครับ เพราะความผิดหลายๆ อย่าง เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันผิดและอาจทำเราติดคุกได้ และอาจมีคนแอบแฝงทำความผิดในนามของเราก็ได้ ดังนั้นเราควรระมัดระวังและศึกษา พรบ. ตัวนี้เอาไว้บ้างครับ
พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 >> ฉบับเต็ม!
หากใครไม่อยากอ่านจนตาแฉะ? AppDisqus เราจัดให้ครับ ขอสรุปประเด็นที่ล่อแหลมและสร้างความเสี่ยงให้กับเราในโลกออนไลน์ได้ พร้อมแนะนำวิธีป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงที่จะผิด พรบ. คอมพิวเตอร์ 2550 ฉบับนี้
ความผิดใน พรบ. คอมพิวเตอร์ 2550 ที่เราไม่คาดคิด!! ว่าจะเสี่ยงติดคุก
- แอบเข้าคอมพิวเตอร์ของคนอื่น: หากเราแอบเข้าคอมพิวเตอร์ของคนอื่น ในกรณีที่เขาตั้งรหัสผ่านเอาไว้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท (ในทางกลับกัน หากเราไม่ตั้งรหัสผ่านเข้าเครื่องเอาไว้ แล้วคนอื่นมาแอบเข้าไปใช้งาน เขาอาจไม่มีความผิดตามมาตรานี้) และหากเรานำรหัสผ่านนี้ไปบอกต่อ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท
- ขโมย ID และ Password : แอบใช้ ID และ Password ของผู้อื่นโดยที่เจ้าของไม่อนุญาต มีสิทธิ์ถูกฟ้องร้องค่าเสียหาย 100,000 บาท ดังนั้นอย่าแอบใช้ ID และ Password ของคุณสามีหรือภรรยาจนถูกจับได้นะครับ
- ส่งอีเมล์หรือข้อความลูกโซ่: แนวๆ ประมาณว่า ให้ส่งต่อไปอีก 7 คน ไม่งั้นเราจะ… นั่น นี่ โน่น !! ไม่ว่าจะทางดีหรือร้าย ก็เข้าข่ายสร้างการรบกวนให้ผู้อื่น มีสิทธิ์โดนปรับไม่เกิน 100,000 บาท
- การนำรูปผู้อื่นไปแชร์: ไม่ว่าจะแชร์รูปใคร ทั้งเพื่อน คนรู้จัก ดารา นักการเมือง หรือใครก็แล้วแต่ หากเรานำไปแชร์ หรือดัดแปลง ทำให้ผู้อื่นเสียหาย หรือได้รับความอับอาย มีความผิดและมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
- โพสข้อความด่า: การโพสข้อความด่าหรือจงใจกล่าวหา ใส่ร้ายผู้อื่น มีความผิดและมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
- แชร์สื่อลามก: การแชร์ข้อมูลที่ลามก หรือสื่อให้เห็นถึงเนื้อหนัง ใต้ร่มผ้า มีความผิคและมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
วิธีหลีกเลี่ยงความผิด พรบ. คอมพิวเตอร์ 2550 โดยที่เราอาจไม่ได้ตั้งใจ
- อย่าบอก password ของเราในการเข้าใช้อินเทอร์เน็ตหรืออินทราเน็ตแก่ผู้อื่น โดยเด็ดขาด
- อย่าให้ผู้อื่นใช้เครื่องคอมพิวเตอร์หรือของสํานักงานรวมทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้าใช้งานอินเทอร์เน็ต เพราะบางคนได้สั่งให้เครื่องจํา User ID และ Password เอาไว้เพื่อความสะดวกในการเข้าสู่ระบบข้อมูลหรือเครือข่ายอินเทอรเน็ต สภาพเช่นนี้ไม่แตกต่างไปจากความเสี่ยงข้อแรกคือเท่ากับการบอก password แก่ผู้อื่น แล้วผู้นั้น เอาไปกระทําความผิดได้หลายรูปแบบ
- อย่าติดตั้งระบบเครือข่ายไร้สายในบ้านหรือที่ทํางานโดยไม่ใช่มาตรการการตรวจสอบผู้ใช้งานและการเข้ารหัสลับ เพราะการทําเช่นนี้ทําให้คนทั่วไปที่อยู่ริมถนน หรือข้างบ้าน เข้าร่วมใช้ระบบไร้สายของเราได้ แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่า คนที่ผ่านหน้าบ้านหรือสํานักงานที่ติด Wireless LAN จะไม่ใช่ผู้ร้ายที่อาจจะมาเข้าอินเทอร์เน็ตของเราเพื่อไปกระทําความผิด
- อย่าเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตด้วย user ID และ password ที่ไม่ใช่ของเราเอง อันนี้ผิดเต็มๆ ตามข้างต้นเลยครับ อย่าเด็ดขาด!!
- อย่านํา user ID และ password ของผู้อื่นไปใช้งานหรือเผยแพร่ ถ้าทำแบบนี้ความผิดจะเพิ่มหนักขึ้นจากข้อ 4 เลยครับ
- อย่าส่งต่อซึ่งภาพหรือข้อความ หรือภาพเคลื่อนไหวที่ผิดกฎหมาย
- อย่ากด “remember me” หรือ “remember password” ที่เครื่องคอมพิวเตอร์สาธารณะเด็ดขาด เนื่องจากเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นจะจดจํา Username และ Password ของเราไว้ตลอดกาล ซึ่งหากมีผู่อื่นมาใช้งานต่อจากเรา ผู้นั้นอาจใช้ Username และ Password ของเราไปกระทําผิด ซึ่งเราอาจต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
- อย่าใช้ WiFi (Wireless LAN) ที่เปิดให้ใช้ฟรีโดยปราศจากการเข้ารหัสลับข้อมูล โปรดระวัง หากคิดจะทํารายการด้านการเงินบนเครื่องประเภทนี้ข้อมูลที่ควรจะเป็นความลับของเรา อาจถูก ดักรับได้จากเครื่องคอมพิวเตอร์ในรัศมีคลื่นวิทยุของ WiFi (ราว 8 กิโล line of sight)
- อย่าทําผิดเสียเองไม่ว่าโดยบังเอิญ หรือโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม:
- พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
- พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิกส์ พ.ศ.2544
- คำอธิบายพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
- ข้อควรปฏิบัติในการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการกระทำผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
- สรุปฐานความผิดและโทษทั้งหมด ตามร่างพระราชบัญญัติการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ (ร่างรัฐบาล)