เชื่อว่าหลายคนตอนนี้รู้จักการเทรดคริปโตกันแล้ว และเคยเทรดคริปโตกันมาบ้างไม่มากก็น้อย แม้ในช่วงที่ผ่านมาอาจเป็นช่วงซบเซาของตลาด ทำให้ติดดอยกันจนต้องนั่งรอให้สถานการณ์คลี่คลาย ระหว่างนั้นเรามาเรียนรู้การขุดเหรียญคริปโต หรือ ขุดคริปโต กันเถอะครับ ว่ามันคืออะไร? สำหรับใครที่แค่เคยได้ยินผ่านหูแต่ยังไม่ได้ศึกษาจริงจังอาจยังไม่เข้าใจเพียงพอที่จะสามารถประเมินได้ว่ามันน่าลงทุนไหม? มีความเสี่ยงอะไรบ้าง? วันนี้เราจะมาเล่าให้ฟัง
การขุดเหรียญคริปโตคืออะไร?
ผมขออธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ไม่ใช่เชิงเทคนิคนะครับ ผู้อ่านอาจเคยได้ยินเรื่องเทรดคริปโตมาแล้ว มันคือการซื้อขายคริปโตเพื่อทำกำไรนั่นเอง ซึ่งกิจกรรมในโลกคริปโตนอกจากจะมีการซื้อขายแล้ว ยังมีการโอน การฝาก การถอน คล้ายกับเงินจริงทุกอย่าง ต่างกันที่เงินจริงจะมีธนาคารเป็นผู้ยืนยันการทำธุรกรรม(ว่าเกิดขึ้นจริง) แต่สำหรับคริปโตผู้ยืนยันการทำธุรกรรม คือ miner หรือ นักขุด โดยใช้เครื่องขุดที่เรากำลังจะลงทุนกัน หากนักขุดคนใด ยืนยันธุรกรรมสำเร็จ จะได้รับรางวัลตอบแทน เป็นเหรียญคริปโตนั้น ๆ นี่หละครับที่มาของรายได้จากการขุดเหรียญคริปโต แต่การยืนยันธุรกรรมเราต้องแข่งขันกับนักขุดคนอื่น ๆ แย่งกันยืนยันด้วยเครื่องขุด และต้องยืนยันด้วยจำนวนครั้งที่เยอะ เพื่อผลตอบแทนที่เยอะตามไปด้วย ดังนั้นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อรายได้ คือ เครื่องขุดที่มีสเปคสูง ๆ นั่นเอง แต่ก็ตามมาด้วยราคาที่สูงเช่นกัน
ปี 2022 ขุดเหรียญคริปโตอะไรดี?
ก่อนที่จะซื้อเครื่องขุด เราต้องตัดสินใจก่อนว่าจะขุดเหรียญอะไร? ลองอ่านบทความ [1] ขุดเหรียญอะไรดีในปี 2022? จะเห็นว่ามีเหรียญให้เราเลือกขุดได้จำนวนมาก ตัวอย่างเช่น บิทคอยน์ (Bitcoin) Litecoin ETC และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่มีเหรียญนึงที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะมีธุรกรรมจำนวนมหาศาล ซึ่งมันก็เปรียบดังเป็นเหมืองทองที่มีทองคำปนอยู่ในพื้นดินเป็นจำนวนมาก คนจึงแห่ไปขุดกันเยอะ นั่นคือ เหรียญ Ethereum แต่ในเดือนกันยายน 2565 นี้ คาดว่าเราจะไม่สามารถขุด Ethereum ได้แล้ว สังคมนักขุดจึงพยายามมองหาเหรียญที่จะมาทดแทนได้ ซึ่งจากบทความ [2] “วัยรุ่นสร้างเหมือง” เล็งเป้าใหม่ ETC,RVN,CFX อาจเป็นทำเลทองนักขุดหลัง Ethereum โบกมือลา PoW โดย PoW ย่อมาจาก Proof of Works เป็นกระบวนการยืนยันธุรกรรมที่กล่าวถึงในหัวข้อก่อนหน้านี้ เหรียญ Ethereum จะหันไปใช้การยืนยันธุรกรรมรูปแบบอื่น นั่นคือ PoS ซึ่งยืนยันธุรกรรมได้เร็วกว่า PoW เพื่อแก้ปัญหาการยืนยันธุรกรรมช้า ทำให้การซื้อขายหรือโอนเหรียญ Ethereum ล่าช้า และมีค่าธรรมเนียมแพงมาก แต่อย่างที่บทความ [2] ว่าเอาไว้ แม้ Ethereum จะขุดไม่ได้ เราก็มีเหรียญอื่นให้เล่นอีกมาก ซึ่งตัวที่น่าสนใจได้แก่เหรียญ ETC, RVN และ CFX นั่นเอง
การเลือกเหรียญที่จะขุดต้องพิจารณาหลายอย่าง ตัวอย่างเช่น เหรียญนั้น ๆ จะยืนในตลาดได้นานมากน้อยเพียงใด ราคาขึ้นลงของเหรียญเป็นอย่างไร หากผันผวนมากเรารับได้ไหม เป็นต้น แต่ ณ ที่นี้สมมุติว่าเราจะขุด ETC นะครับ
การซื้อเครื่องขุดเหรียญคริปโต
เครื่องขุดมีหลายรูปแบบ สำหรับผู้เริ่มต้น ผมขอแนะนำเครื่องขุดแบบ ASIC ที่มีประสิทธิภาพสูง เสียงเงียบ สร้างขึ้นมาเพื่อขุดคริปโตโดยเฉพาะ ทำให้มันทำงานได้ดีกว่ารูปแบบอื่นในหลาย ๆ เรื่อง นอกจากนี้เราไม่ต้องเสียเวลาประกอบ และดูแลใส่ใจทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์อยู่ตลอดนั่นเอง โดยการตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องขุด ASIC ขึ้นอยู่ว่าผู้อ่านตั้งงบเอาไว้เท่าไหร่ ราคาเครื่องขุดมีตั้งแต่หลักหมื่น ถึง หลักล้าน เลยครับ ส่วนเครื่องมือ 2 หลักพันก็หาซื้อได้ครับ ซึ่งหาซื้อได้จากกลุ่มเครื่องขุด ASIC ต่าง ๆ แต่หากซื้อไม่ดีอาจได้เครื่องเก่า ประสิทธิภาพต่ำ ดังนั้นอันนี้ไม่แนะนำครับ สำหรับการเริ่มต้น ผมแนะนำเครื่องรุ่นนี้ครับ iPollo V1 Mini Classic WiFi Version ราคาประมาณ 3 หมื่นบาท (official shop) หากรวมค่าจัดส่ง+ภาษี อาจเพิ่มมาอีก หากซื้อกับผู้ขายในไทยจะประมาณ 5 หมื่นบาทครับ
รายได้และระยะเวลาการคืนทุน?
iPollo V1 Mini Classic เครื่องนี้จะสามารถขุดเหรียญ ETC ซึ่งราคาตอนนี้ประมาณ 1 ETC ต่อ 1,200 บาท (วันที่ 26 สิงหาคม 2565) เมื่อขุดแล้วได้เหรียญมา ผู้อ่านสามารถขายมาจ่ายค่าไฟฟ้า หรือถือเก็บไว้ยังไม่แลกเป็นเงินบาท แล้วขายในช่วงราคาดี ๆ ก็จะได้ผลตอบแทนที่สูงได้ แต่ตอนนี้เราขอใช้ตัวเลข 1,200 บาทก่อนนะครับ อ้างอิงจากประสบการณ์ในการขุดด้วย iPollo V1 Mini Classic จะได้วันละ 0.053 ETC (ตรงกับ [4]) ตกเดือนละ 2,000 บาท ค่าไฟประมาณเดือนละ 374 บาท (5 บาทต่อหน่วย) คงเหลือ 1,626 บาท ต้นทุนค่าเครื่องผมตีไว้ที่ค่าเฉลี่ย 4 หมื่นบาท สรุปจะได้ทุนคืนประมาณ 24 เดือน หรือ 2 ปี นั่นเอง ซึ่งถือว่าคืนทุนเร็วครับ การขุดหลังจากนั้นก็จะกลายเป็นกำไรล้วน ๆ
สำหรับ Part 1 ขอจบเอาไว้ให้ผู้อ่านลองตัดสินใจด้วยตัวเองเสียก่อนนะครับ Part 2 จะเป็นการแนะนำหลังจากซื้อเครื่องขุดมาแล้ว ต้องทำอย่างไรบ้าง ? รอติดตามได้เลยนะครับ
อ้างอิง:
[1] https://currency.com/th/khud-heriyy-xari-di
[2] https://www.facebook.com/cryptobyefinancethai/photos/a.109827524604822/403469251907313/
[3] https://ipollo.com/products/ipollo-v-mini-classic-wifi-version
[4] https://www.asicminervalue.com/miners/ipollo/v1-mini-classic
แนะนำบทความอ่านเพิ่มเติม:
[5] https://medium.com/bitkub/transfer-bitcoin-f60a1c6ae940
[6] https://www.finnomena.com/planet46/what-is-bitcoin-mining/
[8] https://thestandard.co/key-messages-bitcoin-really-worth-it-now/