วันนี้ในโซเชียลมีดราม่าหนึ่งที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันเป็นอย่างมาก นั่นคือ เพจ Darkside Social ที่มียอดไลค์ประมาณ 2 แสน ได้โพสรับบริจาคไถ่ชีวิตโคกระบือ อ้างหลวงพ่อท่านหนึ่งที่มีตัวตนจริง พร้อมเลขบัญชีรับบริจาค ที่มีชื่อคล้ายกับนามของหลวงพ่อ จนล่าสุดหลวงพ่อได้เข้าแจ้งความกับทางตำรวจแล้วว่าท่านไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ และเจ้าของบัญชีธนาคารก็ไม่ใช่ท่าน แต่อย่างไรก็ตามเรื่องนี้คงไม่สิ้นสุดง่าย ๆ เพราะทางแฟนเพจก็ยังไม่ยอมรับผิดอยู่เช่นเคย
เรื่องราวลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายครั้งในโซเชียล หลายครั้งที่เป็นการหลอกลวงให้บริจาคแบบตั้งใจ หรือขอรับบริจาคโดยทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดแบบไม่ตั้งใจ จนยอมบริจาคให้เพราะเข้าใจผิด โดยเอาความสงสารเป็นตัวนำ ซึ่งโดยธรรมชาติของกระแสโซเชียลนั้นมักจะนิยมแชร์ต่อเรื่องราวแบบนี้ หลายคนคิดว่า “จริงหรือไม่ไม่สนใจ แชร์เอาไว้ก่อน เพราะหากเป็นจริงขึ้นมาก็จะเป็นบุญมหาศาล แต่หากไม่จริงก็ไม่มีใครเดือดร้อน” ทั้งที่แท้จริงแล้วหากมันเป็นเรื่องไม่หลอกลวงมันคือการสนับสนุนมิจฉาชีพเลยครับ และคนที่เดือดร้อนก็คือคนที่หลงเชื่อแล้วโอนเงิน
การซื้อขายแฟนเพจ
ต้นเหตุอย่างหนึ่งที่สำคัญ ก็คือ การซื้อขายแฟนเพจ ที่เป็นช่องทางให้มิจฉาชีพไม่ต้องลงแรงอะไรมากมาย ทำเพียงลงทุนซื้อแฟนเพจที่มียอดไลค์หลักแสนมา ราคาประมาณ 30,000 – 40,000 บาท ต่อ 1 แสนไลค์ ที่โดยปกติแล้วแฟนเพจพวกนี้โตมาได้จากกลุ่มคนที่ชอบแชร์เรื่องราวต่าง ๆ แบ่งเป็นเพจที่ชอบแชร์เรื่องราวดี ๆ ชอบตั้งชื่อลักษณะ “สิ่งเล็ก ๆ ที่เรียกว่ารัก” เป็นต้น เน้นแชร์เรื่องราวจรรโลงใจ คำคม และอื่น ๆ และเพจที่เน้นแชร์เรื่องร้าย ๆ เช่น ข่าวที่เป็นกระแสในโซเชียลขณะนั้น เป็นต้น ซึ่งแฟนเพจทั้งสองแบบจะมีคนกดไลค์ที่มีนิสัยชอบแชร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อมิจฉาชีพซื้อแฟนเพจเหล่านี้มา ไม่ต้องเสียเวลาเปลี่ยนชื่อแฟนเพจเหมือนคนที่ซื้อไปเพื่อการดำเนินการธุรกิจสุจริต ก็จัดตั้งกองบุญ หลอกลวงเงินบริจาคทันที แคปชั่นให้น่าสงสารเข้าไว้ คนก็จะแชร์และบริจาคกันง่าย ๆ กันเลยครับ ชั่วข้ามคืนก็ปิดเพจหนี!!
การสร้างเรื่องผ่านเว็บไซต์คลิกเบท
อีกวิธีการหนึ่งที่มิจฉาชีพชอบใช้ ก็คือ การสร้างเรื่องราวผ่านเว็บไซต์ Clickbait (คลิกเบท) ที่รับจ้างเขียนข่าวปลอมเป็นว่าเล่น(ไม่มีคนจ้างมันยังเขียนเลย) การจ้างเว็บไซต์เหล่านี้ไม่ใด้จำกัดวงแค่วงการหลอกรับบริจาคนะครับ มีการจ้างให้ชุปตัวบุคคลให้กลายเป็นเน็ตไอดอล หรือให้บุคคลดังในโซเชียล เมื่อมีชื่อเสียงขึ้นมาแล้ว แม้จะในกลุ่มจำกัด ก็สามารถทำประโยชน์ได้มหาศาล ไม่ว่าจะเป็นการขายของออนไลน์ แชร์ลูกโซ่ ขายตรง หรือบางคนก็พอใจเพียงให้ตัวเองกลายเป็นเน็ตไอดอลแค่นั้นหละ
ทั้งหมดนี้เราจะแก้ปัญหาอย่างไร?
เฮ้ออ!! เพื่อนผมคนหนึ่งเคยบอกวว่า ปัญหามันเกิดจากปัจจุบันนี้ทุกคนเหมือนมีสื่อในมือ ไม่ว่าจะกระจายข่าวสารทั้งจริงและเท็จ การเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตนเอง การประจานคนอื่น ทั้งเรื่องจริงและเกินจริงไปมาก มันทำให้เกิดปัญหาทุกปัญหาในโซเชียลปัจจุบัน จะหวังให้กฎหมายเข้ามาช่วยคงเป็นไปได้ยาก หวังให้ทุกคนเปลี่ยนแปลงตัวเองนี่ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ โดยปกติแล้วสังคมมนุษย์มันจะวิวัฒน์ตัวเองได้ พัฒนาตัวเองได้ เกิดบรรทัดฐานทางสังคมที่ทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข แต่สำหรับโซเชียล หรือสังคมออนไลน์นี้ เราไม่รู้นะครับว่ามันจะวิวัฒน์ตัวเองได้แบบนั้นหรือไม่? หรือต้องหวังพึ่ง Facebook อย่างเดียว? ให้ออกอัลกอริทึ่มและกฎการใช้งานมาจัดการกับปัญหา ก็เหมือนจะเป็นความหวังที่เลื่อนลอยไปสักหน่อย
สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้ ก็คือ ให้เชื่อว่าสังคมออนไลน์ก็วิวัฒน์และพัฒนาได้ แล้วเราก็ร่วมด้วยช่วยกัน ในการใช้งานโซเชียลอย่างมีสติ ใช้วิจารณญาณให้มากขึ้นก่อนที่จะแชร์ข้อมูลใด ๆ สร้างภูมิคุ้มกันทางความคิด พร้อมกันนั้นก็ค่อย ๆ เตือนสติคนอื่น โดยตรงหรือทางอ้อมขึ้นอยู่กับเลเวลของความสนิทสนม ทำแบบนี้รอไปจนกว่าจะมีนักวิจัย นักพัฒนา นักธุรกิจ นักกฎหมาย องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะหาทางออกที่ได้ผล 100% ออกมาได้สำเร็จ ขอให้เชื่อเถอะครับว่าทำได้แน่นอน เพราะหากไม่นับเรื่องอุดมการณ์การทางวิชาชีพแล้ว ใครที่แก้ปัญหาเหล่านี้ได้ รายได้มหาศาลย่อมตามมาแน่นอน!! ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็คือ การที่ Facebook แก้ปัญหาข่าวปลอมไม่ได้ ตอนนี้กำลังถูกหลายประเทศตัดสินให้จ่ายค่าเสียหายมหาศาล ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งแรงกระตุ้นที่สำคัญเลยครับ
ที่มารูป:
1. http://www.posttoday.com/social/hot/489787
2. http://abcsocialmediamarketing.com/category/social-media/