รีวิว Asus Zenfone 2 แบบคู่ ทั้งรุ่นราคาประหยัด (ZE550ML) และรุ่นท็อป (ZE551ML)
มากันแบบแพ็คคู่เลยครับ สำหรับรีวิว Asus Zenfone 2 เพราะทาง Asus ได้มีการซอยรุ่นจำหน่ายตามความแตกต่างของสเปคเครื่องอย่างละนิดอย่างละหน่อย ออกมาอย่างน้อยๆ ก็สี่รุ่นขึ้นไป โดยในประเทศไทยมีวางจำหน่ายแน่ๆ แล้วสามรุ่นครับ แต่ความแตกต่างเหล่านั้นมันช่างน้อยนิดในความคิดผม (ผู้ทดสอบและรีวิว) ซะเหลือเกิน จนอยากจะบอกออกไปตรงนี้เลยว่า ซื้อเครื่องที่ถูกที่สุดดีกว่าครับ เพราะมันแทบไม่ต่างกันในการใช้งานจริง
ตัวเครื่องที่มีการจำหน่ายในเมืองไทยขณะนี้นั้น มีทั้งหมดสามรุ่นครับ คาดว่าจะวางจำหน่ายแบบเต็มตัวกันจริงๆ ก็เป็นปลายเดือนพฤษภาคม โดยจะมีราคาเริ่มจำหน่ายกันที่ 6,990 บาท และไปสูงสุดในรุ่นท็อป 11,990 บาท
Asus Zenfone 2 ZE551ML Ram 4GB, Rom 64GB, CPU 2.3GHz หน้าจอ FullHD- ราคา 11,990 บาท
Asus Zenfone 2 ZE551ML Ram 2GB, Rom 32GB, CPU 1.8GHz หน้าจอ FullHD – ราคา 7,990 บาท
Asus Zenfone 2 ZE550ML Ram 2GB, Rom 16GB, CPU 1.8GHz หน้าจอ HD720 – ราคา 6,990 บาท
ดูแล้วทาง Asus ได้ให้ความสำคัญในการแยกรหัสเครื่องตามความละเอียดหน้าจอครับ เครื่องความละเอียดหน้าจอ FULLHD และ HD720P ครับ แต่ความแตกต่างในเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกนั้นแยกยากมากครับ ต่างกันก็ที่ลายฝาหลังซึ่งสลับสับเปลี่ยนได้ง่ายๆ และอีกสิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันภายในกล่องเมื่อเราซื้อเครื่องมา นั้นคือ Adaptor ชาร์จไฟ ที่ให้ในขนาดต่างกันครับ
โดยเครื่องรุ่นเล็ก ที่มาพร้อมกับแรมขนาด 2GB เราจะได้ตัวชาร์จไฟขนาดเล็ก แรงดันไฟฟ้าต่ำกว่าตัวเครื่องที่มาพร้อมกับแรม 4G ครับ โดย Adaptor ชาร์จไฟตัวนี้ส่งผลกับความสามารถในการชาร์จพลังงานไว (Fast Charging) ซึ่งเป็นการชาร์จแบตที่ไวมากพอสมควรเลยครับ โดยสามารถชาร์จพลังงานจาก 0%-60% ได้ในประมาณสี่สิบนาที แต่จะทำได้ต้องมีตัวชาร์จไฟตัวใหญ่แรงดันกระแสไฟสูงของเครื่อง Asus Zenfone 2 รุ่นใหญ่เท่านั้นครับ โดยผมได้ลองทำการทดสอบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องรุ่นไหนก็มีความสามารถในเครื่องเช่นกัน โดยจะมีสัญลักษณ์ + เพิ่มขึ้นมาในขณะชาร์จ และความรวดเร็วก็เป็นไปตามที่เขาโฆษณาจริงครับ
วิจารณ์ตัวเครื่องภายนอก
การออกแบบเครื่องใหญ่อยู่ครับ แต่โค้งเข้ามือ ถือง่าย สิ่งที่ขัดใจนั้นคือปุ่มเพาเวอร์ เพราะอยู่ในตำแหน่งด้านบนสุดของตัวเครื่อง เอื้อมถึงยากกว่าอยู่ด้านข้างครับ ส่วนปุ่มปรับระดับเสียงที่ย้ายไปอยู่ด้านหลังเหมาะสมดี เพราะมันทำให้เครื่องเล็กลง กดง่ายกว่าในท่าถือปกติ และสวยงามดีด้วยนะเมื่อไปอยู่ด้านหลัง ที่สำคัญ มันใช้ง่ายเป็นปุ่มชัตเตอร์ถ่ายภาพได้ด้วยในขณะที่เราใช้กล้องหน้า
ปุ่มทัชคอนโทรลด้านล่างเครื่อง ไม่มีไฟเพื่อใช้งานในที่มืดนะครับ แต่พอคลำกดได้ถ้าชิน
ฝาหลังมีสีสันให้เลือกหลายแนวดี และมีของแปลกตาที่จะนำเข้ามาจำหน่ายเพิ่มเติมภายหลังอีกด้วยนะครับ
วิจารณ์การใช้งานภายใน
ลื่นไหลไม่สะดุด ทำงานได้ดี ทั้งเครื่องรุ่นเล็กสุด และรุ่นท็อบ จริงๆ ต้องบอกว่าแทบจะพอกันในทุกๆ การทำงานที่ผมลองทดสอบมาตลอดสองอาทิตย์ก็ว่าได้ครับ สิ่งที่จะเป็นข้อแตกต่างกันที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของหน่วยความจำภายในที่ใช้เก็บข้อมูลเท่านั้นแหละครับที่จะส่งผลในความรู้สึกของผมขณะนำมาใช้งานจริง เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหน่วยประมวลผลที่ต่างกันหรือขนาดแรมที่ต่างกัน มันแทบไม่ส่งผลอะไรเมื่อตอนที่ได้ลองใช้ครับ
ส่วนหนึ่งนั้นอาจจะเพราะตัวเครื่องรุ่นเล็กนั้น (ZE550ML) มาพร้อมกับความละเอียดหน้าจอที่ต่ำกว่า (720p) แต่เครื่องรุ่นใหญ่ (ZE551ML) จะมาพร้อมกับความละเอียดหน้าจอ FullHD 1080p ภาระในการประมวลผลย่อมหนักหน่วงตามไปด้วยครับ ประสิทธิภาพที่ออกมาผมจึงจัดว่า “ดีทั้งคู่”
และมาถึงเรื่องความละเอียดหน้าจอที่แตกต่างกันของเครื่องทั้งสองรุ่น พบเจอความต่างครับ แต่มันน้อยมากถ้าไม่ได้นำมาวางเทียบกันเครื่องต่อเครื่อง ทั้งแบบทดสอบด้วยตาตัวเองและคนรอบข้าง ซึ่งตรงนี้คงแล้วแต่ความพึงพอใจของผู้ใช้แต่ละท่าน ว่าจะละเอียดมากขนาดไหน โดยส่วนตัวคิดว่าตัวเล็ก 720P พอใช้แล้วเมื่อคิดถึงราคาที่ถูกที่สุดซึ่งเริ่มต้นที่หกพันกว่า และได้เครื่องประสิทธิภาพระดับนี้
ภาพที่มีลายเส้นโค้งมุมหยัก จะเห็นความแตกต่างอยู่ครับ ถ้าอยากเนียนกริ๊บๆ เอาหน้าจอ 1080p ครับ นิ้งแล้ว ซึ่งส่วนตัวผมเองก็ไม่ค่อยจะเห็นความจำเป็นของเครื่องที่มาพร้อมหน้าจอ QuadHD หรือ 2K แบบรุ่นท็อบๆ แบรนด์อื่นในขณะนี้นะ เพราะมันเปลืองแบตและเห็นความแตกต่างน้อยมากบนหน้าจอขนาดสมาร์ทโฟน
ประสิทธิภาพต่างๆ เพียงพอมากครับ ทั้งการเล่นเกม การใช้งานเข้าเว็บ ดูภาพยนตร์ ด้วยขนาดหน้าจอมาตรฐานใหม่ที่ใหญ่มากพอจะใช้งานการรับชมความบันเทิงต่างๆ
ฟีเจอร์และฟังชั่นต่างๆ ในเครื่อง
Asus จัดเต็มกันมาแบบไม่เป็นสองรองใครในเรื่องของฟังชั่นการทำงานในเครื่อง นี่เป็นเรื่องของจุดเด่นในเครื่อง Asus เช่นกันนะครับ เพราะว่าเขาเองก็เป็นเจ้าตลาดของอุปกรณ์ไอทีมาช้านานทีเดียว
เริ่มต้นที่ UI หน้าแรก Zenfone 2 มีความสามารถปรับแต่งเยอะครับ โดยเริ่มที่สามารถใช้งานไอคอนสวยๆ ของผู้พัฒนาภายนอกใน PlayStore ด้วย เปลี่ยนกันสนุกครับเพราะรองรับแบบนี้
รวมถึงยังมีธีมสำเร็จรูปที่ทาง Asus ได้เตรียมไว้ให้อีกด้วย เรื่องการปรับแต่ง น่าจะถูกใจคนชอบแนวนี้ครับ ปรับเอฟเฟ็กต์การเลื่อนหน้าจอได้สิบเอ็ดแบบ มีแปลกๆ ใหม่ๆ เยอะดี
สามารถกำหนดความโปร่งใสของพื้นหลังแบบอักษร ขนาดอักษร และอื่นๆ มากมาย
ในส่วนของการแจ้งเตือนเราสามารถรูดนิ้วลงมาได้สองแบบครับ แบบด้วยหนึ่งนิ้วสำหรับเข้าการแจ้งเตือน และแบบสองนิ้วที่เราสามารถเข้าถึงการเปิดปิดการทำงานต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว
การตั้งค่าพิเศษที่ผมชอบมากคือการกำหนดการแจ้งเตือนได้ โดยระบุกำหนดเวลาในการระงับการเตือน หรือระบุความสำคัญของการแจ้งเตือนได้แบบเป็นรายแอพเลยครับ การเตือนไหนไม่สำคัญ หรือช่วงเวลาไหนไม่อยากให้เครื่องรบกวน เรากำหนดได้ทันทีในการกดปุ่มลดเสียงเพิ่มเสียง โดยเฉพาะใครที่มีการแจ้งเตือนเข้ามาทั้งวันทั้งคืน น่าจะชอบใจแน่ๆ
ปุ่มควบคุมด้านล่างตัวเครื่อง ทำหน้าที่ได้หลายอย่างครับ โดยเฉพาะเจ้าปุ่ม Recent App หรือปุ่มขวาสุด เราสามารถกำหนดให้การทัชค้างไว้เป็นการจับภาพหน้าจอ หรือการใช้เป็นปุ่มเมนูก็ได้เช่นกัน
โดยในหน้า Recent App (แสดงแอพพลิเคชั่นใช้งานย้อนหลัง) ทาง Asus ได้ใส่ฟังชั่นความสามารถที่น่าสนใจมาให้อยู่หนึ่งตัว นั้นคือการปักหมุดแอพพลิเคชั่นใช้งานครับ โดยเราสามารถเน้นการทำงานในแอพพลิเคชั่นนั้นๆ ได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าเราจะเผลอไปกดออกจากแอพด้วยปุ่มโฮมหรือปุ่ม Recent App เพราะมันจะล็อกการทำงานไว้ที่หน้าแอพนี้หน้าเดียวเลยตลอดเวลา จนกว่าเราจะกดยกเลิกโหมดปักหมุดด้วยปุ่ม โฮมและปุ่ม Recent App โดยกดพร้อมกัน
สามารถเซฟภาพหน้าจอได้อีกวิธีหนึ่ง นั้นคือการกดปุ่มเพาเวอร์และปุ่มลดเสียงพร้อมกัน เราสามารถระบุได้ว่าต้องการภาพที่เซฟหน้าจอเป็นนามสกุลใด ระหว่าง JPG และ PNG
มาถึงในหน้า Appdrawer หรือหน้าแสดงรายชื่อแอพทั้งหมด ทาง Asus ได้ใส่ความสามารถในการจัดเรียงแอพพลิเคชั่นภายในเครื่องไว้หลายแบบครับ โดยการจัดวางเอง หรือให้เครื่องทำการแยกประเภทตามโฟลเดอร์ให้เรา สามารถซ่อนแอพพลิเคชั่นหรือปิดการทำงานเอาไว้ได้โดยยังไม่ต้องลบออกไปจากเครื่อง
สามารถเลือกให้แสดงแอพตามการใช้งานที่ใช้บ่อยๆ หรือแอพพลิเคชั่นเฉพาะที่เราดาวน์โหลดมาได้ครับ
มีโหมดการใช้งานแบบง่ายๆ สำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจการใช้งานระบบแอนดรอยด์มากนัก หรือตั้งไว้ให้เด็กหรือผู้สูงอายุใช้ครับ เป็นหน้าตาการใช้งานที่ออกแบบง่ายๆ ปุ่มใหญ่ๆ มีการทำงานที่สำคัญอยู่ไม่กี่แบบครับ
Asus Zenfone 2 มาในเรื่องของการใช้งานหลากหลายบุคคลเต็มขั้นครับ เพราะเราสามารถแยกบุคคลใช้งานในเครื่องเดียวกันได้แบบชัดเจน ไฟล์ไม่เกี่ยวข้องกัน แอพไม่เกี่ยวข้องกัน แค่ใช้งานเครื่องเดียวกัน ใช้หน่วยความจำร่วมกันเท่านั้นครับ แต่ละบุคคลสามารถสลับกลับไปมาใช้งานได้ตลอดเวลา
มีความสามารถใน Zen Mode สามารถดับเบิ้ลทัชไปที่หน้าจอเพื่อล็อกเครื่องและปลุกเครื่องได้ สามารถวาดตัวอักษรลงบนหน้าจอสัมผัสเพื่อเข้าใช้งานแอพพลิเคชั่นที่เราเซ็ตค่าไว้ได้โดยตรง
สามารถเซฟภาพหน้าจอจากแอพที่เราใช้งานได้โดยตรง โดยการเขย่าหน้าจอ ตัวเครื่องจะทำการบันทึกภาพลงแอพ Do It Later ให้ทันทีครับ เพื่อเราสามารถนำไปใช้งานได้ในภายหลั’ง และเครื่อง Asus Zenfone 2 มีความสามารถในการจัดสรรพลังงานและการควบคุมการทำงานของแอพพลิเคชั่นภายในเครื่อง โดยสามารถระบุการอนุญาตให้แอพพลิเคชั่นเปิดการทำงานเองในเบื้องหลังได้ครับ เพราะลดภาระการประมวลผลขณะใช้งาน
มีระบบประหยัดพลังงานให้เลือกเป็นโหมดๆ ออกแบบสวยดีครับ
การตั้งค่าแบบกำหนดเองของ Asus หมวดนี้คือของเล่นพิเศษที่มีมาให้แต่ในเครื่อง Asus Zenfone เป็นการตั้งค่าการทำงานต่างๆ ที่เราควรจะเข้าศึกษาและเซ็ตไว้ เช่นการกำหนดคีย์ลัดด้านล่าง ต้องการกดปุ่ม Recent App แล้วให้ทำหน้าที่อะไร เป็นปุ่มเมนูหรือจับภาพหน้าจอ ยังมีการเปิดความสามารถในการย่อหน้าจอเพื่อใช้งานมือเดียวได้ด้วยการดับเบิลทัชลงไปบนปุ่มโฮมครับ หน้าจอการทำงานจะย่อลงทันที
สามารถเปิดฟังชั่นการใช้งานขณะเราใส่ถุงมือได้ด้วยนะครับ
การกำหนดพื้นที่สำหรับติดตั้งแอพพลิเคชั่น จะให้เครื่องทำการติดตั้งแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ลงในตัวเครื่องหรือในหน่วยความจำภายนอก เซ็ตไว้ก่อนตรงนี้ได้เลยครับ
การตั้งค่าการทำงานร่วมกันกับ Asus Cover หน้าเคสฝาผิดที่ทาง Asus ผลิตออกมาเพื่อใช้งานคู่กันกับ Zenfone 2 โดยจะมีหน้าจอวงกลมอยู่ที่บริเวณฝาปิด ให้เราใช้งานเครื่องได้โดยไม่ต้องเปิดฝานั้นเองครับ
การออกแบบ UI ใหม่ของ Asus ได้ทำการแยกแอพพลิเคชั่นการใช้งานออกมาจากตัวระบบ เพื่อการอัพเดทที่ง่ายและรวดเร็วกว่า ผ่านการอัพเดทจากทาง PlayStore ของ Google ไม่ต้องนั่งอัพเดทระบบเครื่องกันใหม่ทุกรอบในการเพิ่มความสามารถของการทำงานเหล่านี้ โดยเราสามารถเข้าไปเช็คการอัพเดทแอพต่างๆ ของเครื่องเราจาก Asus ได้จากเมนูในเครื่อง หัวข้อ APP ZenUI ครับ
แอพพลิเคชั่นที่น่าสนใจ
แอพโหมดเด็ก เป็นโหมดสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เมื่อเข้าโหมดนี้แล้วเด็กจะออกจากโหมดไม่ได้ถ้าไม่รู้รหัสครับ เราสามารถกำหนดแอพและการทำงานที่เหมาะสมให้กับเขาได้
แอพ MiniMovie เราสามารถสร้างคลิปวีดีโอสั้นๆ จากภาพและวีดีโอที่เราบันทึกไว้ภายในเครื่อง เป็นแอพพลิเคชั่นที่ใช้งานได่ง่ายๆ ครับ เลือกรูปหรือวีดีโอ เลือกรูปแบบ และสามารถกำหนดเสียงเพลงประกอบได้ครับ
แอพ PC Link สำหรับผู้ที่ต้องการทำงานและสั่งงานเครื่องสมาร์ทโฟน Asus บนเครื่อง PC โดยสามารถใช้เมาท์และคีบอร์ดของเครื่อง PC กับเครื่องสมาร์ทโฟน Asus ได้โดยตรง และมีการแสดงผลของเครื่องสมาร์ทโฟนไปยังหน้าจอของเครื่อง PC ได้โดยตรงด้วยครับ
สามารถส่งผ่านเกมหรือวีดีโอขณะเล่นไปขึ้นจอใหญ่ได้เลย โดยไม่ต้องต่อสายใดๆ ก็ได้ครับ
แอพ PhotoCollage เป็นแอพจัดการภาพ โดยการแต่งภาพ รวมภาพ และสร้างภาพจากธีมที่มีมาให้อยู่ภายในมากมายครับ
แอพ Party Link สำหรับการถ่ายภาพร่วมกันเป็นหมู่คณะ เข้าร่วมวงผ่านสัญญาณ Wi-Fi Direct ในบริเวณใกล้กัน แล้วข้อมูลรูปภาพที่ถ่ายจะสามารถเข้าถึงกันได้ตลอดเวลาครับ
แอพ SuperNote แอพช่วยจดบันทึก ที่สามารถจดได้ทั้งพิมพ์และการเขียนด้วยมือครับ โดยความสามารถเด่นคือช่องการเขียนด้วยมือ ที่เราสามารถเขียนไปได้เรื่อยๆ โดยหน้าจอจะเลื่อนไปทางขวามือให้เราเองโดยอัตโนมัติ ทำให้เราเขียนประโยคยาวแค่ไหนก็ได้ครับ
แอพพลิเคชั่นดูภาพ ที่สวยมากของ Asus สามารถแยกแสดงเป็นโฟลเดอร์หรือเป็นอัลบั้มได้ ที่ผมชอบมากคือการเข้าถึงบริการคลาวด์ได้มากมายทีเดียวในแอพตัวเดียวครับ
สามารถดู Exif ไฟล์ของภาพได้ด้วยครับ ว่าถ่ายมาด้วยกล้องใด เมื่อไหร่
การทดสอบต่างๆ ของตัวเครื่อง
จะเห็นว่าเครื่องรุ่น 550 ที่ใช้ CPU 1.8Ghz กับ 551 ที่ใช้ CPU 2.3Ghz ให้คะแนนทดสอบเกือบจะเท่ากันเลยครับ เพราะภาระในการประมวลผลภาพต่างกันนั้นเอง
การจับสัญญาณ GPS ทำได้รวดเร็วทีเดียวครับ แต่ยังมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในการทดสอบทั้งสองครับ โดยเครื่อง 550 ช้ากว่าเครื่อง 551 (เล็กน้อยมาก) แต่ก็เป็นทั้งสองครั้งครับในการทดสอบจับสัญญาณด้วย GPS เพียงอย่างเดียว
ทดสอบการเข้าเว็บไซด์ และอ่านหนังสือ คมชัดครับ คมชัดมากพอทั้งตัวเครื่องรุ่น 550 และ 551 ความละเอียดแม้จะต่างกัน 720p และ 1080p แต่เอามาใช้จริง ไม่คิดถึงก็ลืมไปเลยละครับ แต่ถ้าได้ลองเอามาวางเทียบกันแบบนี้ก็พอจะเห็นความต่างได้นะครับ โดยเฉพาะเรื่องโทนสีหน้าจอ (ในเครื่องจะสามารถปรับโหมดสีได้สามโหมด) ในโหมดเดียวกัน ไม่ปรับแต่งเพิ่ม ระดับแสงเท่ากัน แต่การให้สีของหน้าจอจะต่างกันครับ ตัว 550 จะออกโทนอมแดงเหลือ แต่ 551 จะแสดงผลสีขาวได้ออกขาวและฟ้ามากกว่าครับ
ฟังชั่นการปรับโหมดหน้าจอที่ปรับได้ทั้ง แสง สี โทนสี ความอิ่มตัวของสี
ทดสอบการเล่นไฟล์หนัง FullHD ทำได้สมบูรณ์ เล่นลื่นๆ ทั้งสองรุ่นครับ
ทดสอบการเล่นเกม HD ก็เล่นได้ดีทั้งคู่ ยังไม่เจอความแตกต่างในด้านประสิทธิภาพของทั้งสองตัวนี้เลยครับ จริงแล้วทั้งคู่เป็นเครื่องประสิทธิภาพสูงแล้วละครับ การทำงานพื้นฐานมันเกินมาตรฐานของแอพพลิเคชั่นบนระบบแอนดรอยด์ไปแล้ว
ระบบเสียงของเครื่อง Asus Zenfone 2 ใช้ลำโพงเดี่ยวที่อยู่ด้านหลัง การวางตำแหน่งดีอยู่ครับ วางเครื่องหงายเสียงไม่บังลำโพง เสียงไม่แตกเมื่อเปิดสุด ออกแหลมนิดๆ ไม่ดีไม่ด้อย
มีพรีเซ็ตเสียงให้เราเลือกปรับใช้ให้เหมาะสมกับการใช้งานตามสถานการณ์ต่างๆ ครับ
ตัวเล่นเพลงเรียบง่ายแต่แอบเก่ง เพราะเข้าถึงแหล่งฝากไฟล์ได้หลากหลาย ดึงเพลงสตรีมมาได้โดยตรงจากคราวด์เลยครับ
โดยรวมในเรื่องความสามารถนั้น ถือว่า Asus Zenfone 2 อยู่ในระดับท็อบได้เลยครับ นี่คือจุดขายของเจ้าเครื่องราคาถูกแต่สเปคสูงตัวนี้แหละครับ
สำหรับการใช้พลังงานในตัวแบตเตอรี่ของทั้งคู่ จะสูญเสียมากไปกับหน้าจอ และฟังชั่นการปลุกเครื่องพิเศษต่างๆ มากทีเดียวครับ ถ้าเราปิดฟังชั่นเหล่านั้นไว้ แบตเตอรี่ของ Zenfone 2 จะอยู่ได้ประมาณสิบชั่วโมงขึ้นไปสำหรับการใช้งานปกติ และใช้พลังงานประมาณ 25% ต่อชั่วโมง ถ้าเปิดหน้าจอทำงานต่อเนื่องไว้ตลอดเวลา เช่นการเล่นเกม ดูหนังเป็นต้นครับ
โดยทั้งเครื่องรุ่นเล้กและรุ่นใหญ่ สามารถใช้ฟังชั่นการชาร์จพลังงานไว (60% ในเวลา 40 นาที) ได้ทั้งคู่ครับ โดยขณะเข้าสู่โหมดชาร์จพลังงานไว จะมีไอคอนรูปชาร์จที่มีเครื่องหมาย + แสดงขึ้นมาครับ
ทั้งสองเครื่อง ทั้งแบบแรม 2G และ แรม 4G เปิดเครื่องมาให้แรมไปประมาณ 1.5GB ครับ แต่วัดอะไรไม่ได้มาก เพราะเป็นเรื่องของระบบ โดยเฉพาะระบบแอนดรอยด์ มักจะเอาแรมที่ว่างอยู่ไปใช้ประโยชน์ก่อน แม้จะยังไม่ได้เรียกการทำงานใดๆ ขึ้นมาก็ตาม
ทดสอบการถ่ายภาพ
หมวดการถ่ายภาพของเครื่อง Asus Zenfone 2 มีหลายโหมดมากครับ ไล่กันตั้งแต่โหมดอัตโนมัติ โหมดการถ่ายภาพแบบโปร โหมดถ่าย HDR โหมดบิวตี้
โหมดความละเอียดพิเศษ โหมดแสงน้อย โหมดระบุระยะชัดลึกชัดตื่น โหมดพาโนราม่า และอีกมากมายครับ โดยจะมีความแตกต่างของฟังชั่นที่มีให้เลือกขณะใช้กล้องหน้าและกล้องหลัง
โหมดกำหนดเองของเครื่อง Zenfone 2 มีความพิเศษที่สามารถระบุไวท์บาลานซ์ได้เป็นเคลวินหรืออุณหภูมิสีกันเลยครับ มีเกจวัดระดับน้ำ ปรับสปีดชัตเตอร์ได้ ปรับ iSO ได้ตั้งแต่ 50 ถึง 800 แต่ไม่สามารถจะตั้งค่าขนาดรูรับแสงได้นะครับ
ตัวอย่างภาพถ่ายของเครื่อง Asus Zenfone 2 ผมจะแยกเป็นสองรุ่นนะครับ คือตัว 550 (ตัวราคา 6,990 บาท) และตัว 551 ครับ
ตัวอย่างภาพถ่ายของ 550 (ตัวราคา 6,990 บาท)(คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่)
ภาพแบบ HDR หรือถ่ายภาพย้อนแสง Zenfone 2 ทำได้ดีนะครับ ภาพออกมาสวยทีเดียว
ตัวอย่างภาพถ่ายของ 551(คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่)
ภาพความละเอียดสูง สำหรับการถ่ายภาพที่ต้องการขนาดใหญ่หรือการซูมแบบพิเศษ ภาพนี้ความละเอียดประมาณ 37 ล้านพิกเซล (คลิ๊กเพื่อดูภาพใหญ่)
สรุปท้ายรีวิว
สำหรับ Asus Zenfone ZE551ML หรือตัวสเปคสูง สรุปหลังการลองใช้ คือความครบครันที่คุ้มราคา จริงๆ ไม่ต้องมองหาเครื่องที่สเปคสูงไปกว่านี้ คุณก็ได้เครื่องสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ที่ประสิทธิภาพเต็มที่ในการทำงานแล้วครับ ทั้งในเรื่องการประมวลผล หน่วยความจำ รวมถึงการรองรับการทำงานในอนาคตไปได้อีกไกลพอสมควรเลยทีเดียว
ในขณะที่รุ่น Zenfone ZE551ML 6,990 บาท ผมขอยกให้เจ้านี่คือความคุ้มค่าตัวจริง การที่มันด้อยกว่าในหน้ากระดาษสเปค แต่การใช้งานผมแทบไม่ได้รู้สึกเช่นนั้นเลย และพร้อมที่จะจ่ายน้อยกว่าเพื่อได้มันมาใช้แบบไม่เสียใจที่ไม่ใช่รุ่นที่มันดีกว่านี้จริงๆ ครับ แต่อย่างไรก็ตามมันเป็นความพอเพียงส่วนตัว เพราะด้วยราคาที่มากกว่ากันไม่มาก จะเขยิบไปตัวไหนของ Asus Zenfone 2 ก็นับเป็นความคุ้มในช่วงเวลานี้ครับ