นักวิทยาศาสตร์ในอังกฤษคิดค้นการเก็บข้อมูลแบบใหม่ ด้วยการเข้ารหัสเป็น DNA ความจุมหาศาล ระบุ DNA ที่ประดิษฐ์ขึ้น 1 กรัมเก็บข้อมูลได้ 700 เทราไบต์ สามารถเก็บรักษาได้เป็นพันๆปี
วิทยาการของมนุษยชาติก้าวล้ำหน้าไปอีกขั้น โดยล่าสุดกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันชีวสารสนเทศยุโรป หรือ European Bioinformatics Institute (EBI) ในเมืองเคมบริดจ์ประเทศอังกฤษ ประสบความสำเร็จในการเข้ารหัส ส่งต่อ และถอดรหัส DNA ที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อเก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยได้ให้บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Agilent ในสหรัฐฯเข้ารหัสไฟล์ MP3 เสียงการปราศรัยของมาร์ติน ลูเธอร์ คิง ที่ชื่อ ” I Have A Dream” ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก รวมถึงไฟล์ภาพถ่าย ,ไฟล์เอกสาร PDF ข้อมูลความสำเร็จในการศึกษาโครงสร้าง DNA เมื่อปี 1953ไปจนถึงไฟล์เอกสารวรรณกรรมของเช็กสเปียร์ทุกเรื่อง และประดิษฐ์ออกมาเป็น DNA ที่มีขนาดเท่าเม็ดฝุ่นผง ก่อนที่จะส่งข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกกลับไปยังสถาบัน EBI ซึ่งใช้น้ำหล่อเลี้ยง DNA ข้อมูล เพื่อนำมาใช้ถอดรหัสด้วยวิธีที่ใช้ถอดรหัส DNA โดยทั่วไปในปัจจุบัน ซึ่งผลที่ได้คือสามารถเรียกข้อมูลทั้งหมดกลับมาใช้ได้ 100 % จาก DNA ที่ประดิษฐ์ขึ้น
ก่อนหน้านี้ผลการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Harvard ระบุว่า DNA ปริมาณ 1 กรัมสามารถเก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ได้กว่า 700 เทราไบต์ หรือ คิดคร่าวๆคือเพียงพอต่อไฟล์ภาพยนตร์ประมาณ 70,000 เรื่อง
การจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบ DNA ที่ได้ทำการทดลองกัน เป็น DNA ที่ประดิษฐ์ขึ้นเท่านั้น ไม่ได้มีการทดลองกับ DNA ของสิ่งมีชีวิต โดยนักวิทยาศาสตรยืนยันว่า DNA ที่ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อเก็บข้อมูล ไม่สามารถใช้ได้ในแง่ของกระบวนการทางชีววิทยาของสิ่งมีชีวิต
อย่างไรก็ตามอุปสรรคสำคัญในการเก็บข้อมูลในรูปแบบ DNA คือยังใช้ต้นทุนสูงมาก และยังต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการเข้าและถอดรหัส DNA ด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทางคณะนักวิทยาศาสตร์ที่ทดลองครั้งนี้ เชื่อว่าเหมาะกับการจัดเก็บข้อมูลที่ต้องการเก็บไว้สัก 500 ถึง 5,000 ปีมากกว่าจะเก็บข้อมูลที่ต้องการใช้ทันที เช่นกรณีที่ต้องการเก็บข้อมูลขององค์ความรู้และวัฒนธรรมของคนในยุคนี้เพื่อส่งต่อเป็นสารานุกรมสำหรับคนยุคต่อๆไป และ ภายใน 50 ปีข้างหน้า วิธีการจัดเก็บข้อมูลด้วย DNA น่าจะถูกนำมาใช้ได้ในเชิงพานิชย์
ที่มา Voice TV