ทีมนักวิทยาศาสตร์ ประสบความสำเร็จในการ ชุบชีวิต ELIZA แชทบอทตัวแรกของโลก ที่ถูกพัฒนาขึ้นใน ยุค 1960s โดย Joseph Weizenbaum ศาสตราจารย์จาก MIT โดยใช้ โค้ดดั้งเดิมที่สูญหายไปนานกว่า 60 ปี ซึ่งค้นพบในเอกสารเก่าของ MIT และได้รับการกู้คืนจนสามารถทำงานได้อีกครั้ง!
ELIZA ถือเป็นต้นแบบของ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในปัจจุบัน โดยถูกโปรแกรมให้ตอบสนองเหมือน นักจิตบำบัด เช่น หากผู้ใช้พิมพ์ว่า “ผู้ชายทุกคนเหมือนกันหมด” ELIZA จะตอบกลับว่า “เหมือนกันในแง่ไหน?” เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้พูดคุยต่อไป แม้จะทำงานบนภาษาโปรแกรมเก่า MAD-SLIP ที่เลิกใช้แล้ว แต่ความสามารถของมันยังน่าประทับใจเมื่อเทียบกับยุคสมัยนั้น
Jeff Shrager นักวิทยาศาสตร์ด้านความรู้ความเข้าใจจาก Stanford University และ Myles Crowley หอจดหมายเหตุ MIT ค้นพบ โค้ดต้นฉบับของ ELIZA ในปี 2021 ซึ่งประกอบด้วย 420 บรรทัด และถูกเขียนด้วยภาษา MAD-SLIP ที่ Weizenbaum พัฒนาขึ้นเอง ทีมวิจัยใช้เวลา ทำความสะอาดโค้ด และสร้าง เครื่องจำลองคอมพิวเตอร์ยุค 1960s เพื่อให้ ELIZA กลับมาทำงานอีกครั้งได้สำเร็จเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ที่ผ่านมา
แม้ ELIZA จะไม่สามารถเทียบชั้นกับ ChatGPT หรือ Large Language Models (LLMs) ในปัจจุบันได้ แต่ความเรียบง่ายของมันกลับมีจุดเด่นที่ AI สมัยใหม่ขาดไป นั่นคือ “การฟัง” แทนที่จะพยายาม เติมประโยคให้ผู้ใช้ ELIZA ถูกออกแบบมาเพื่อ ตั้งคำถามและชวนคุย ซึ่งใกล้เคียงกับการสนทนาจริงมากกว่า
David Berry ศาสตราจารย์ด้านดิจิทัลฮิวแมนิตีส์จาก University of Sussex กล่าวว่า “การฟื้นชีวิต ELIZA ทำให้คนตระหนักถึงประวัติศาสตร์ที่กำลังเลือนหาย” เพราะวงการวิทยาการคอมพิวเตอร์มักมุ่งไปข้างหน้า โดยไม่เก็บรักษามรดกทางเทคโนโลยีไว้
“หากเราไม่รักษาโค้ดเหล่านี้ไว้ ก็เหมือนสูญเสีย ‘โมนาลิซา’ หรือ ‘เดวิด’ ของไมเคิลแองเจโล่ในยุคดิจิทัล”
ขณะนี้ ทีมวิจัยเลือก ไม่แก้ไขบั๊กในโค้ด เพื่อรักษาความเป็นต้นฉบับ แม้จะทำให้โปรแกรม ค้างเมื่อผู้ใช้ป้อนตัวเลข ก็ตาม ซึ่งถือเป็นการอนุรักษ์ “ศิลปะดิจิทัล” ชิ้นสำคัญของโลกคอมพิวเตอร์
แหล่งที่มา : LIVESCIENCE