ก็คงเป็นสิ่งที่ Google ก็ไม่คิดนะครับว่าจะมีคนทำ และทำไปเพื่ออะไร? ด้วยเทคโนโลยีการตรวจจับสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์ของ Google ที่ออกแบบมาให้ตรวจจับจำนวนผู้ใช้รถใช้ถนนในช่วงเวลานั้นๆ จากการตรวจจับตำแหน่งของจำนวนสมาร์ทโฟนในพื้นที่ ตรวจหาความเร็วการเคลื่อนที่ แล้วนำมาคำนวนเป็นสภาพจราจรแบบที่เราเห็นเป็นสัญลักษณ์สีบน Google Maps นั้นเองครับ
ด้วยรูปแบบการคำนวนที่เหมือนจะไม่มีอะไรป้องกันความผิดพลาดใดๆ เอาไว้ จึงเป็นช่องโหว่ให้ ศิลปิน Simon Weckert ได้โพสต์วิดีโอบน YouTube เพื่อแสดงว่าเขาจัดการ “แฮ็ค” Google Maps ได้สำเร็จครับ
โดยเขาสามารถสร้างสภาพการการจราจรติดขัดขึ้นได้จริงบนแผนที่จำลองของ Google Maps บนถนนในกรุงเบอร์ลิน โดยคุณ Weckert ได้ทำการบรรทุกสมาร์ทโฟนจำนวน 99 เครื่อง ที่มีการเปิดใช้งาน Google Maps ไว้ในรถเข็นของเขา จากนั้นก็ให้ทำการลากรถเข็นไปตามถนนต่าง ๆ ในกรุงเบอร์ลิน ที่สำคัญเป็นการไปเดินลากอยู่หน้าตึก Google สาขาในเบอร์ลินซะด้วยครับ
เห็นได้ชัดว่าจำนวนโทรศัพท์ในรถเข็น 99 เครื่อง ได้ทำการหลอก Google Maps ให้หลงคิดว่ามีจำนวนผู้ใช้รถจำนวนมากบนถนนตรงนั้นจริงๆ และเนื่องจากโทรศัพท์อยู่ในรถเข็นที่เดินลากไปอย่างช้าๆ มันจึงคิดว่า “เป็นจุดที่รถกำลังเคลื่อนไหวได้ช้า หรือรถติดอยู่นั้นเองครับ
Weckert ใช้ช่องโหว่จากคุณลักษณะวิเคราะห์ของ Google Maps เพื่อหลอกให้ถนนภายในแอปกลายเป็นสีแดง มันเป็นผลนะครับ เพราะจะทำให้การคำนวนหาเส้นทางของผู้ใช้ที่ผ่านการเดินทางในบริเวณนั้น ตัดสินใจเดินทางไปยังเส้นอื่นๆ แทน แม้ว่าแท้ที่จริงแล้วถนนกำลังว่างเปล่า
ด้วยกระแสและการพิสูจน์ในครั้งนี้ จะทำให้ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง Google หันมาแก้ไขหรือเปล่านั้น ยังไม่แน่ใจครับ แต่ว่าถ้าใครบางคนมีเจตนาประสงค์ร้ายและคิดหาวิธีใช้ประโยชน์จากช่องโหว่นี้ได้เพื่อประโยชน์ของของตัวเองแล้วละก็ มันคงไม่ดีนัก เช่นสร้างการจราจรติดขัดเพื่อหลอกรถฉุกเฉินให้ไปสู่เส้นทางอื่นที่ตัวเองวางแผนไว้เป็นต้น ฉะนั้นเอาเข้าจริงๆ เมื่อมันเป็นกระแสขึ้นมา Google ก็ควรจะใส่ใจครับ