บ่อยครั้งเลยครับที่ Mark Zukerberg มักจะเปรียบเทียบ Facebook ว่าเป็นเหมือนกับหนังสือพิมพ์สำหรับผู้ใช้ทุกคน เป็นที่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจของผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นวันเกิดเพื่อน งานปาร์ตี้ หรือแม้กระทั่งเรื่องซุบซิบ เรื่องราวเหล่านี้จะถูกตีพิมพ์และเผยแพร่ออกมาในทุกๆเช้าผ่าน Facebook อย่างไรก็ตามคำเปรียบเทียบพวกนี้จะกลายเป็นสิ่งที่ด้อยค่าไปเลยล่ะครับ เมื่อมีรายงานจาก Facebook ออกมาว่าทาง Facebook ได้พูดคุยกับเหล่าผู้เผยแพร่ข่าวชั้นนำอย่าง Buzzfeed, National Geographic และ The New York Times แล้วว่า ให้โพสต์เนื้อหาลงไปในหน้าของ Facebook แบบเต็มๆ แบบที่ว่าไม่ได้โพสแค่ลิ้งค์เท่านั้น แต่เป็นบทความและเนื้อหาทั้งหมดของข่าวลง Facebook โดยที่ไม่ต้องกดตามลิ้งค์เพื่อออกไปจาก Facebook เลยครับ
รายได้จากโฆษณาบน Facebook จะสามารถแบ่งให้ผู้กับเผยแพร่เนื้อหา
ตามที่ทางสำนักข่าว New York Times รายงาน : วิธีการใหม่นี้จะมีการแบ่งรายได้โฆษณาให้กับทางผู้เผยแพร่ด้วย ส่วนโฆษณาปกติที่เคยใส่ไว้นั้นจะต้องนำออกและเปลี่ยนมาใช้โฆษณาอีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถนำไปใช้ในแต่ละบทความได้ จากที่ได้มีการทดลองวิธีการนี้กับแบรนด์ชั้นนำแล้ว (ยกตัวอย่าง Verizon กับ NFL ที่ใส่โฆษณาของ Verizon ไว้หลังจากจบคลิปฟุตบอล) มันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นระหว่างความสัมพันธ์ของ Social Network และผู้เผยแพร่ได้ไม่น้อยเลยทีเดียวครับ
คงต้องยอมรับล่ะครับว่า สัดส่วนผู้เข้าชมเว็บไซต์ของเหล่าผู้เผยแพร่นั้นส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับ Facebook โดยตรง และโลกทุกวันนี้ก็กำลังเข้าสู่ยุคที่สมาร์ทโฟนเข้ามามีบทบาทอย่างมากกับการดำเนินชีวิตผู้คน โดยเฉพาะกับเด็กที่เพิ่งเกิดมาในยุคใหม่นี้ เด็กๆเหล่านี้ที่กำลังเติบโตขึ้นจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตหรือการติดตามอ่านข่าวจากอินเทอร์เน็ตได้เลย
ฉะนั้นจะเห็นได้ชัดเลยครับว่า Facebook เป็นเหมือนกับสิ่งที่สำคัญมากๆในการเพิ่มจำนวนผู้เยี่ยมชม และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือมันส่งผลกับรายได้โฆษณาของ Facebook ด้วยนั่นเอง ซึ่ง Facebook เองก็ รู้ว่าตัวเองมีความสำคัญอย่างมากในการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่นี้ แต่ทาง Facebook ก็ยังรู้สึกว่ารูปแบบพวกนี้น่าจะสามารถพัฒนาได้อีก (ยกตัวอย่างเช่น สำนักข่าว New York Times โพสลิ้งค์ข่าวบน Facebook จากนั้นหากมีคนสนใจข่าวแล้วกดตามเข้าไปที่ลิ้งค์ที่ส่งตรงไปยังเว็บไซต์ของ New York Times มันอาจต้องใช้เวลาในการโหลดข้อมูลถึง 8 วินาที แต่ถ้าเกิดว่าโพสเนื้อหาทั้งหมดลง Facebook เลย แน่นอนว่ามันใช้เวลาน้อยกว่าในการเข้าถึงเนื้อหาและมันจะทำให้มีผู้เข้าชมเนื้อหานั้นๆได้มากขึ้นด้วย
Facebook ได้เริ่มสนับสนุนให้บริษัทต่างๆตีพิมพ์เนื้อหาโดยตรงผ่าน Facebook
อย่างไรก็ตามอุตสาหรกรรมสื่อก็ยังคงกังวลกับการที่ต้องพึ่งพา Facebook มากเกินไปอยู่ดี
เหมือนกับการเอาอำนาจที่ตัวเองเคยมีไปมอบให้ Facebook ยังไงอย่างงั้นเลยครับ
เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา Facebook ได้โพสบล็อกที่มีชื่อว่า “What the Shift to Video Means for Creators” โดยมีเนื้อหาในการนำเสนอข้อดีของการโพสท์วิดีโอบน Facebook ว่าการโพสท์วิดีโอบน Facebook นั้นจะทำให้มีผู้เข้าถึงวิดีโอมากกว่า ซึ่งนั่นก็ทำให้ Facebook เกิดรายได้อย่างมหาศาลในการขายโฆษณาเช่นกัน นอกจากนี้ในบล็อกนั้นยังมีการให้คำแนะนำสำหรับผู้สร้างวิดีโอด้วยเกี่ยวกับวิธีทำให้วิดีโอของพวกเขาทำงานได้ดีที่สุด เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่สุดโดยระบุว่า “วิดิโอของคุณมันต้องดูดิบ สดใหม่ และน่าดึงดูด” แต่สำหรับผู้สร้างวิดีโอบางคนกลับมองว่าคำแนะนำพวกนี้กำลังบอกว่า
“วิดีโอของพวกคุณตอนนี้มันจะกลายเป็นของพวกเรา!!”
อย่างที่เว็บไซต์ The Awl ของนาย John Hermanng เคยกล่าวไว้เกี่ยวกับบล็อกที่ Facebook เผยแพร่ออกมานั้น มันมีความหมายว่า Facebook กำลังสนใจในการเป็นผู้เผยแพร่เนื้อหามากกว่าการเป็นผู้กระจายเนื้อหาที่เหล่าบริษัททำขึ้น เหล่าบริษัทผู้เผยแพร่นั้นก็เป็นเพียง “คนกลาง” เท่านั้นในสายตาของ Facebook
เห็นได้ชัดเลยว่า Facebook นั้นได้หยุดมองตัวเองว่าเป็นเพียงผู้ให้บริการเชื่อมต่อผู้บนโลกออนไลน์มานานแล้วล่ะครับ อย่างที่เราเห็นได้ชัดเจนเลยในโปรเจคหนึ่งของ Facebook อย่าง Internet.org ที่ทาง Facebook ทำให้ประเทศที่ด้อยพัฒนาได้เข้าถึง Internet ได้ในราคาที่ถูกลง ซึ่งนั่นทำให้บริษัทนั้นก้าวไปอยู่ในตำแหน่งที่เป็นเพียงผู้ให้บริการ Internet เท่านั้นสำหรับผู้ใช้บางคน
ส่วนตัวแล้วผมมองว่าเป็นแนวคิดที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียครับ กับการออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ของ Facebook แต่คาดว่าทาง Facebook ได้ประโยชน์ไปเต็มๆแน่นอนอย่างไม่มีข้อสงสัยเลย
เพราะหากมีการโพสเนื้อหาทั้งหมดลงบน Facebook ไม่ว่าจะรูปภาพ วิดีโอ รวมไปถึงบทความ มันจะทำให้ทางผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องออกจาก Facebook ไปที่เว็บไซต์อื่นเลย ซึ่งนั่นจะทำให้มูลค่าในการโฆษณาบน Facebook นั้นพุ่งสูงขึ้นแน่นอน
ส่วนสำหรับผู้ใช้นั้นการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นผลดีครับเพราะจะทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงเนื้อหาได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วขึ้น
ส่วนในมุมมองของผู้ผลิตสื่ออาจจะมีทั้งได้และเสียครับ ข้อแรกเลยผู้ใช้เข้าถึงเนื้อหาได้ง่ายขึ้นทำให้มีปริมาณการเยี่ยมชมเพิ่มขึ้น อย่างที่สองคือเรื่องของการแบ่งรายได้จากโฆษณา Facebook ส่วนข้อเสียที่ทางผู้ผลิตสื่อต้องเสี่ยงคือ การฝากชีวิตไว้กับ Facebook ทั้งหมดครับซึ่งก็ไม่รู้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าผมยกตัวอย่างว่าหากเกิดเหตุไม่คาดฝันคนเลิกใช้ Facebook กันหมดแล้วผู้ผลิตสื่อเหล่านี้จะเป็นอย่างไรต่อไป ที่สำคัญยังมีเรื่องของลิขสิทธิ์ด้วยเพราะการโพสบน Facebook นั้นจะทำให้เนื้อหาทั้งหมดมี Facebook เป็นเจ้าของร่วมด้วย