ในงานสัมมนา “การใช้สื่อใหม่และสื่อสังคมกับธรรมาภิบาล” และ “คนรุ่นใหม่-สื่อใหม่ในสังคม-การเมือง” เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2556 ที่จัดขึ้น ณ โรงแรมเวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท ได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสังคมและการเมืองไทย ด้วยสื่อสังคมออนไลน์ที่มีอิทธิพลเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น Facebook และ twitter เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยนั้นหลายภาคส่วนก็ยังให้ความสำคัญกับสื่อสังคมออนไลน์นี้น้อยจนเกินไป ทั้งองค์กรเอกชนและภาครัฐ ต่างกับในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ที่แนวคิดการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม เป็นที่นิยมมากในยุคที่นายบารัค โอบามาชนะเลือกตั้งครั้งแรก โดยใช้เพื่อนำเสนอข่าวสาร เปิดช่องทางในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และดึงให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมือง ในขณะที่เมืองไทยยังติดปัญหาหลายประการ ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์มีลักษณะใช้เพื่อโวยวาย ปลุกกระแสเท่านั้น และภาครัฐยังไม่มีบริการให้ประชาชนแบบในสหรัฐอเมริกา
ตัวอย่างเช่นเว็ปไซด์ open government ของรัฐนิวยอร์ค nyopengovernment.com ที่ส่งเสริมสิทธิ์ของประชาชนในการรับรู้ข่าวสาร และตรวจสอบการทำงานของรัฐ มีข้อมูลที่ประชาชนควรรู้ทีค้นหาง่าย ในขณะที่ในประเทศไทยยังเป็นลักษณะดราม่าใส่กัน มากกว่าเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ แลกเปลี่ยน การมีสื่อสังคมออนไลน์เป็นสิ่งดีแต่เราต้องหาวิธีพัฒนาการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่ถูกต้องและเหมาะสมด้วย
นภพัฒน์จักร อัตตนนท์ ผู้สื่อข่าวภาคสนาม และผู้ดำเนินรายการของเนชั่นแชนแนลเล่าว่าเขาใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการทำข่าวตลอด 5 ปีที่ผ่านมาในชีวิตการทำงานด้านสื่อ และไม่เคยอยู่ในยุคของการทำสื่อแบบเก่าเลย
[quote]ยอมรับว่ามีความผิดพลาดในการรายงานข่าวบ้างเนื่องจากกลไกของสื่อใหม่ทำให้มีความรอบครอบน้อยลงซึ่งไม่เหมือนกับสื่อเก่าที่ต้องผ่านสายตาของบรรณาธิการ แต่เมี่อมีประสบการณ์มากขึ้นจะเกิดความรอบคอบมากขึ้น เพราะเป็นการสื่อสารสองทาง เป็นกระบวนการตรวจสอบทางอ้อม หากเกิดข้อผิดพลาด แรงปะทะกลับก็รุนแรงเช่นกัน[/quote]
เช่นเดียวกับนภพัฒน์จักร ที่อยู่ในยุคสื่อสังคมออนไลน์ พิณผกา งามสม บรรณาธิการข่าวเว็บไซต์ประชาไท ใช้สื่อใหม่ในการทำข่าวให้กับประชาไทตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง เธอเล่าว่าผู้ก่อตั้งประชาไทเห็นว่าสื่อแบบเก่าใช้ทุนสูง ในขณะที่สื่ออินเตอร์เนตลงทุนต่ำ นำเสนอได้ทุกรูปแบบทั้งงานเขียน ภาพ และเสียง เธอให้ข้อมูลว่า
[quote]มีการสำรวจการใช้สื่อใหม่ในสหรัฐอเมริกาเมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า คนอเมริกันกว่า 67% ใช้สื่อใหม่และสื่อสังคม ในขณะที่คนไทยที่ใช้สื่อใหม่มีไม่ถึง 30% ของประชากรทั้งหมด 67 ล้าน ซึ่งแสดงว่าเสียงสะท้อนในสื่อใหม่ไม่ใช่เสียงทั้งหมดของประเทศ เป็นการตอบคำถามที่ว่าทำไมคนกด like ให้กับอดีตนายกอภิสิทธิ์มากกว่านายกยิ่งลักษณ์ [/quote]
ปัจจุบันเป็นยุคที่สื่อสังคมออนไลน์มีประเทศไทยมียอดผู้ใช้จำนวนมากจนติดอันดับโลก แต่ส่วนใหญ่แล้วเรายังใช้สื่อเหล่านั้นทำเรื่องส่วนตัว มากกว่าส่วนรวม แต่การจะเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงสังคมออนไลน์ให้เป็นกิจกรรมเพื่อส่วนรวมมากขึ้น คงไม่สามารถทำได้ด้วยกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ภาครัฐต้องตื่นตัวและเปิดเผย ภาพเอกชนต้องรับผิดชอบในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ให้มากขึ้น และเราผู้ใช้ทุกคนต้องตระหนักถึงความสำคัญของสื่อสังคมออนไลน์ คิดถึงส่วนรวม รอบคอบในการเสพสื่อและข้อมูล ต้องรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์ของกลุ่มคนที่ไม่รู้จักรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริงให้มากขึ้น
อ่านรายละเอียดและชมคลิปเพิ่มเติมได้ที่ งานเสวนา สื่อใหม่ สื่อสังคม กับ ‘ธรรมาภิบาล’