สืบเนื่องจากประเด็นดราม่าในโลกออนไลน์ล่าสุด เกี่ยวกับปลาหมึกปลอมในเมืองอุดรธานี ซึ่งส่งผลทำให้ทางตลาดได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก จนวันนี้มีเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบได้ลงพื้นที่สำรวจ และได้ผลยืนยันแล้วว่าไม่ใช่ปลาหมึกปลอม แม้ทางแฟนเพจจะได้โพสขอโทษแล้วก็ตาม ก็คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นไปแล้วได้
ทุกวันนี้การเสพข่าวสารของคนทั่วไปเริ่มเปลี่ยนเพราะสังคมออนไลน์ ทำให้การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารมันง่ายและสะดวกมากขึ้น ทั้งในแง่ดีและร้าย โดยเฉพาะอย่างหลัง เราคงเข้าใจโลกออนไลน์กันดีว่ายิ่งข่าวแย่และร้ายแค่ไหน คนก็ยิ่งคอมเม้นท์เร็ว แชร์กันง่ายขึ้น บางคนถือคติว่า “จริงหรือไม่จริงไม่รู้ ตรูแชร์เอาไว้ก่อน” ซึ่งถือว่าไร้ความรับผิดชอบมาก ส่วนแฟนเพจที่โพสก็เช่นเดียวกัน ในโลกสังคมออนไลน์แฟนเพจ ก็คือ สื่อสารมวลชน ที่คุณต้องมีความรับผิดชอบมากกว่าบุคคลปกติ ต้องมีการตรวจสอบและสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิดให้ดี
อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายแฟนเพจที่รู้ทั้งรู้ว่าข่าวไม่ชัวร์ แต่ก็โพสเพราะอยากได้ยอดการไลค์ คอมเม้นท์ หรือการแชร์ต่อ ไม่สนใจคนที่ได้รับผลกระทบ ถ้าเกิดดราม่าก็แค่ออกมาขอโทษอีกหน่อยคนก็ลืม จะจำก็เพียงว่าแฟนเพจนั้นมีอิทธิพลในการสร้างกระแสสูง เรียกยอดติดตามและรายได้ตามมาอีกมากมาย
กรณีปลาหมึกปลอม จากแฟนเพจ Udonthani update
เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 25560 แฟนเพจ Udonthani update ได้โพสรูปภาพระบุว่าตนเจอปลาหมึกปลอมที่ซื้อมาจาก ตลาดบ้านห้วย จังหวัดอุดรธานี และพบว่ามันเหนียวมากจนกัดไม่ขาด คาดว่าเป็นปลาหมึกปลอม พร้อมโพสคลิปวิดิโอในคอมเม้นท์ หลังจากนั้นก็มีคนมาคอมเม้นท์และแชร์ต่อมากมาย ทั้งที่มีคนมาเตือนแอดมินจำนวนมากว่าให้ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน แอดมินยังเพิกเฉย จนวันนี้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าเป็นปลาหมึกจริง ไม่ใช่ของปลอม ที่แอดมินพบอาจเพราะการนำปลาหมึกไปแช่เย็นทำให้เนื้อปลาหมึกเปลี่ยนไปจนเข้าใจผิดได้
ล่าสุดทางแฟนเพจ Udonthani update ก็ได้โพสขอโทษไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เป็นธรรมดาครับ การโพสขอโทษย่อมไม่มีการแชร์ต่อมากนัก และคอมเมนท์ให้กำลังใจและชื่นชม(ที่รู้จักขอโทษ)ตามมาเป็นประปราย ทีนี้แฟนเพจก็มีแต่ได้กับได้ ทั้งโพสแรกที่มียอดคนเห็นมหาศาลและโพสขอโทษที่ได้รับคำชื่นชม
แต่มันยุติธรรมแล้วเหรอ?
แอดมินหลายแฟนเพจ มักจะถามกลับกับคำถามดังกล่าวว่า “แล้วจะให้ทำยังไง ต้องถึงขั้น…เหรอ?” ด้วยเหตุนี้ นอกจากแนะนำผู้เสียหายฟ้องเรียกค่าเสียหายแล้ว
ผมขอแนะนำแอดมินแฟนเพจที่กระทำในลักษณะดังกล่าวง่าย ๆ เลยครับ ก็โพสขอโทษเหมือนเดิมนั่นหละ แต่ให้ซื้อบูสเพื่อเพิ่มยอดการมองเห็นโพสนั้นด้วย อย่างน้อย ๆ ก็ให้มีคนมองเห็นเท่ากับหรือมากกว่าโพสแรกที่กล่าวหาเขา เพราะเครื่องมือหลังบ้านของแฟนเพจมีสถิติพวกนี้อยู่แล้ว ถือว่าเป็นการแสดงความรับผิดชอบที่เหมาะสม อันนี้ยังไม่นับรวมการชดใช้ความเสียหายที่เกิดกับผู้เสียหายนะครับ
Udonthani update และแฟนเพจที่ทำแบบนี้เขาได้ประโยชน์อะไร?
เนื่องจากมีหลายคนถามคนที่โจมตีแอดมินแฟนเพจนี้ว่า “แอดมินก็โพสด้วยความเป็นห่วง อยากให้มีการตรวจสอบ ซึ่งก็ได้ผลหนิ …เขาจะได้ประโยชน์อะไร?” ผมขอตอบนะครับว่า แฟนเพจที่พยายามโพสเรื่องแบบนี้เพื่อเรียกยอดเขาได้ประโยชน์อะไร
เมื่อยอดไลค์ คอมเม้นท์ และแชร์ มาก ๆ ก็จะมีคนมองเห็นโพสนั้น ๆ มากขึ้น นอกจากเขาจะได้ยอดผู้ติดตามมากขึ้นแล้ว เขายังจะได้คะแนนความน่าสนใจจาก Facebook ทำให้โพสอื่น ๆ ของเขาได้รับการพิจารณาแสดงผลมากขึ้นไปอีกครับ
สิ่งที่ตามมา ก็คือ “รายได้” จากการโฆษณา การจ้างโพส ต่าง ๆ นั่นเอง แล้วจะได้สักกี่บาทหละ …ผมขอตอบด้วยภาพนี้ครับ
เราจะเห็นว่า ยอดการมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการไลค์ การคอมเม้นท์ และการแชร์ ต่างก็มีผลต่อรายได้ของแฟนเพจต่าง ๆ นี่เป็นเพียงตัวอย่างแฟนเพจที่มียอดคนติดตามแค่สองแสนกว่า ๆ แล้วแฟนเพจที่มียอดหลักหลายแสนหรือหลายล้าน เขาจะมีรายได้ขนาดไหน