สวัสดีครับกลับมาอีกแล้วกับ Lo Axiom นามแฝงที่ใช้มานานตั้งแต่เล่นอยู่พันทิป จนมาเขียนลง AppDisqus ซึ่งหลายคนถามว่ามันแปลว่าอะไร? แท้จริงแล้วคำนี้มันมาจากคำว่า Lo’s Axiom แปลว่า “สัจพจน์ของโล” และ สัจพจน์ นั้นหมายถึงความจริงที่ไม่ต้องพิสูจน์ ความจริงที่ทุกคนยอมรับโดยไม่คลางแคลงและสงสัย แต่ที่ผมตั้งชื่อแบบนี้ใช่ว่าจะอวดอ้างว่าทุกอย่างที่ผมคิด ทุกอย่างที่ผมเห็น มันคือความจริง มันถูกต้อง ผมแค่เอาไว้บอกตัวเองว่า มันไม่มีจริงหรอกสัจพจน์ที่ว่า เพราะขนาดสัจพจน์ทางคณิตศาสตร์มันยังขัดแย้งกันเองก็มี ความคิดความเห็นของคนมันไม่มีใครถูกเสมอและผิดตลอด เช่นเดียวกับบทความนี้ ผมอยากนำเสนอเพียงความเห็นเล็ก ๆ จากคนที่เฝ้ามองสังคมออนไลน์คนหนึ่ง มันอาจจะผิดหรือถูกก็ได้ ผมเพียงจะเสนอความเห็นที่ว่า “ดราม่าใน Facebook และสังคมออนไลน์ปัจจุบัน มันแสดงให้เห็นว่าสังคมมันแย่ลง หรือ เรามโนกันไปเองนะ ?” ก็เท่านั้นครับ
เพื่อน ๆ ลองถามตัวเองดูครับ เราเห็นคลิปเด็กนักเรียนตบกันแย่งผู้ชาย หรือ โพสเกรียน ๆ จากติ่งเกาหลีบางคนจนเราแทบจะอดด่าไม่ไหว หรือความการกระทำที่โง่ ๆ มากมาย จากผู้ใช้ Facebook หรือสังคมออนไลน์ต่าง ๆ …. เราเห็นมันมาจากที่ไหน? ผมว่าส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ไปเจอมันเอง แต่มีแฟนเพจหรือคนแชร์มาอีกต่อหนึ่ง!! แล้วมันบอกอะไรเราได้?
เพื่อน ๆ คิดเหมือนผมไหมว่ากลุ่มสังคมที่ติดตามแฟนเพจอย่าง Drama-addict อีเจี๊ยบเลียบด่วน Contrast และอื่น ๆ อีกหลายเพจ ล้วนมีพื้นฐานสังคมใกล้เคียงกัน จะรู้สึกหงุดหงิดที่เพื่อนเราแชร์ข้อความจากแฟนเพจปลอมเพื่อหวังลุ้นรางวัล แชร์เรื่องราวที่โกหกเพื่อขายของ หงุดหงิดเวลาเพื่อนเราไปพิมพ์ 999 ในช่องคอมเม้นท์หวังจะโชคดีหรืออวยพรให้ใครบางคน ผมจะบอกว่าเพื่อนเราเขาไม่ได้ทำตัวแย่ลง เขาไม่ได้โง่มากขึ้น แต่เขาเป็นแบบนั้นของเขาอยู่แล้ว เขามีความสุขและใช้ชีวิตกับสิ่งเหล่านั้นอยู่แล้ว แต่ผิดที่เรานี่หละที่เอาบรรทัดฐานที่เราสร้างขึ้นมา ไปตัดสินเขา ที่เมื่อก่อนไม่มีปัญหาอะไร เพราะเราไม่ได้อยู่ในสังคมเดียวกับเพื่อนเหล่านั้น แม้จะเป็นเพื่อนกัน แต่เราก็แยกย้ายกันไปคนละทิศคนละทาง จนกลายเป็นคนละสังคมไปแล้ว แต่เราก็ยังคงเป็นเพื่อนกันอยู่ และเขาก็ไม่เคยทำให้เราหงุดหงิด เพราะเราเจอกันแต่ละครั้ง เราไม่ได้ยกบรรทัดฐานที่ว่ามาครอบใส่หัว เราไม่ได้เห็นความคิดทางการเมือง ทางสังคม หรือความคิดงมงายของเขา
จนกระทั่งมีสังคมออนไลน์เข้ามา นำโดย Facebook มันทำให้ทุกคนในแต่ละสังคมมากองรวมกันในระบบเดียวกัน มันทำให้เราได้เห็นความคิดที่เรารับไม่ได้ ความเห็นที่ชวนหงุดหงิด คลิปวิดีโอหรือโพสที่ทำให้เรารู้สึกว่าสังคมมันแย่ลง แต่บอกเลยว่าไม่ใช่หรอกครับ!! สังคมมันก็ยังคงเป็นเหมือนเดิมของมันนั่นหละ(ในแง่มุมที่เราเห็นในสังคมออนไลน์นะ ไม่ใช่สังคมโดยรวม) ปัญหามันอยู่ที่ Facebook ทำให้แต่ละสังคมย่อยมันได้มาเห็นและพบเจอกัน สังคมย่อยที่แต่ละสังคมมีบรรทัดฐานที่ต่างกัน มันทำให้เราเข้าไปดราม่ากันในบางเรื่องที่เราคิดเห็นต่างกันแบบสุดขั้ว ซึ่งไอ้เรื่องที่ว่านี้ โดยปกติแล้วเราก็ไม่ได้ไปพบเห็นมันหรอก ถ้าแฟนเพจที่เราตามมันไม่แชร์มาให้เห็น? ทีนี้คิดเหมือนผมหรือเปล่าว่า สังคมไม่ได้แย่ลงเท่าไหร่ แค่เราได้เห็นสังคมอื่นผ่านแฟนเพจที่เราติดตามอยู่ก็แค่นั้น มันทำให้เรารับไม่ได้ หงุดหงิดไปกับมัน และบางคนถึงขั้นดูถูกสังคมอื่น ทั้งที่ตัวเราเองก็ไม่ได้วิเศษวิโสมาจากไหน … เวลามีการแชร์คลิปหรือเรื่องราวต่าง ๆ ให้เราเห็น เคยคิดไหมครับว่า บางเรื่องมันธรรมดานะ เราก็เคยเห็นหรือสัมผัสกับเรื่องราวเหล่านั้นมาแล้ว แต่คนในสังคมออนไลน์กลับไปถล่มด่า ดราม่ากันแบบไม่หยั้ง? นั่นเพราะเรามีบรรทัดฐานในการคิดต่างกันครับ
ดังนั้นผมจึงขอสรุปว่า สังคมเราไม่ได้แย่ลงไปมากกว่าที่มันควรจะเป็น แค่เพียงสังคมออนไลน์มันทำให้เราติดต่อถึงกันทั้งหมดได้ หลากหลายความคิด หลากหลายความเห็น หลากหลายบรรทัดฐาน มันถึงทำให้เรารู้สึกรับไม่ได้หรือหงุดหงิดเมื่อแฟนเพจต่าง ๆ แชร์เรื่องราวที่ต่างจากบรรทัดฐานที่เรายึดถือ ประเด็นจึงโอนไปที่คำถามว่า มันดีหรือไม่? ที่แฟนเพจดัง ๆ เหล่านั้นแชร์เรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในสังคม มาให้เราด่า มาให้เกิดดราม่า บั่นทอนความรู้สึกดี ๆ ที่เรามีต่อสังคม ทั้งที่กลุ่มคนเจ้าของเรื่องเขาก็ไม่ได้ตามแฟนเพจเหล่านี้อยู่แล้ว และไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการแชร์เรื่องราวเหล่านั้น นอกจากได้รู้ว่ามีพวก “โลกสวย” กำลังยกพวกมาด่าพวกเขา? มันคือการให้ความรู้หรือก่อความขัดแย้งครับ? หรือนี่คือกระบวนการที่จะทำให้เกิด บรรทัดฐานทางสังคมเวอร์ชั่นใหม่ ?
หมายเหตุ: ผมเขียนเรื่องนี้ ไม่ได้ต้องการให้หยุดแชร์นะครับ เพราะมันทำให้คนเกิดความรู้มากขึ้นแน่นอน แต่มันก็ก่อความขัดแย้งด้วย ผมหวังเพียงแค่ให้ลองคิดดูเท่านั้นเอง เป็นห่วงว่าแฟนเพจที่ผมตามอยู่จะเสพติดพลังและอำนาจที่พวกเขาชี้นำสังคมออนไลน์ได้ … อยากฝากว่า คิดก่อนแชร์ คิดก่อนด่า เข้าใจก่อนที่ดราม่าจะเกิดขึ้น ผมก็จะพยายามเช่นกัน
ที่มาภาพ:
- http://saxum.com/digital-social-culture/
- http://mail2tapanvyas.blogspot.com/
- http://www.prostoweb.com.ua/internet_marketing/sotsialnye_seti/novosti/vliyanie_sotsialnyh_setey_na_rabotu_cco_prodolzhaet_rasti