หลังจากเป็นข่าวกันมานานกับเกมการกดดันของ FBI ที่ต้องการให้ Apple ให้ความร่วมมือโดยการเขียนโปรแกรมเพื่อดีโค๊ดรหัสเข้า iPhone ของ Farook มือปืนสังหารโหดด้วยการยิงกราดเข้าใส่ฝูงชนในคดี ซาน เบอร์นาร์ดิโน่ ประจำรัฐแคลิฟอร์เนีย บ้านเกิดเมืองนอนของ Apple เอง แต่ถูก Apple ยืนกรานปฏิเสธมาโดยตลอดเหตุเพราะเกรงกลัวเรื่องเครื่องมือดีโค๊ดที่ต่อไปอาจถูกใช้ทำลายความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการของ Apple ได้ ซึ่งนอกจาก Apple แล้ว ผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่ของโลกอีกหลายๆ รายต่างก็ออกมาสนับสนุนการกระทำนี้ของ Apple เริ่มตั้งแต่คู่แข่งตัวเบ้งอย่าง Google เอง ไปจนถึงโซเชียงเน็ตเวิร์คยักษ์อย่าง Facebook และ Twitter เป็นต้น จะมีก็แค่บางบริษัทเท่านั้นที่เห็นด้วยกับ FBI และออกมากดดัน Apple ด้วย ยกตัวอย่างเช่น Research in Motion หรือ RIM เจ้าของแบรนด์ Blackberry นั่นเอง
ท้ายที่สุดแล้วแม้จะต่อสู้กดดันกันสักเพียงใด FBI ก็ไม่สามารถเค้นความช่วยเหลือครั้งนี้ออกมาจาก Apple ได้ เป็นผลให้ FBI ต้องหันไปหาตัวช่วยข้างนอกแทน โดยในที่สุด FBI ก็ถอนฟ้องกดดัน Apple และแถลงการณ์ว่า ณ ตอนนี้พวกเขาสามารถหาคนมาถอดรหัสปลดล็อกเครื่อง iPhone ของ Farook ได้แล้ว ก่อนที่ต่อมา FBI จะเปิดเผยข้อมูลว่า Farook ไม่ได้ใช้โทรศัพท์เครื่องนี้ติดต่อใครเพื่อให้ความร่วมมือในการก่อเหตุฉกรรจ์นี้แต่อย่างใด และชี้แจงว่าข้อมูลเดียวที่มีประโยชน์ต่อรูปคดีจากมือถือของ Farook นั้นก็คือข้อมูลที่ว่าการก่อเหตุในครั้งนี้ไม่มีคนอื่นให้ความร่วมมือนั่นเอง
ทั้งนี้ล่าสุดสำนักข่าว Reuters ได้เผยตัวเลขค่าจ้างที่ FBI ใช้ในการปลดล็อกรหัส iPhone ที่ไม่ได้รับความร่วมมือจาก Apple ในครั้งนี้ โดยเป็นการประมาณการจากคำพูดการของ James Comey ผ.อ. ประจำหน่วยสืบราชการลับของอเมริกาว่าเม็ดเงินที่ใช้ในครั้งนี้นั้นมีมูลค่ามากกว่าค่าตัวของเขากับระยะเวลาที่เขาจะยังคงดำรงตำแหน่งนี้ต่อไปใน FBI ซึ่งเหลืออีก 7 ปีกับอีก 4 เดือนอย่างมหาศาลเลยทีเดียว
ทั้งนี้เมื่อลองนำเอาเงินเดือนของ James Comey โดยหักเอาโบนัส เบี้ยพิเศษ และอัตราการก้าวหน้าของเงินเดือน ออกทั้งหมดแล้ว James Comey จะมีฐานเงินเดือนอยู่ที่ $183,300 ต่อเดือน เมื่อเอามาคูณกับระยะเวลาที่เขายังคงดำรงตำแหน่งอยู่แล้วจะเป็นมูลค่าทั้งสิ้น $1.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ทีนี้ก็ลองคำนวนคำว่ามากกว่าอย่างมหาศาลดูเล่นๆ น่าจะได้เป็นตัวเลขให้อ้าปากค้างกันอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
รายงานเพิ่มเติมระบุว่า เงินจำนวนนี้ถูกจ่ายให้กับเหล่าแฮ๊กเกอร์ระดับมืออาชีพ และอย่างน้อยๆ แล้วมีหนึ่งคนจากในนั้นที่เป็น “แฮ๊กเกอร์หมวกเทา” ที่คอยขายความรั่วไหลของระบบรักษาความปลอดภัยให้กับรัฐบาล ตลาดมืด และบริษัทที่ทำหน้าที่สร้างเครื่องมือในการระวังภัยต่างๆ แหม…อย่างกะในหนัง Hollywood เลยไหมล่ะ
การยืนกรานในคำมั่นเรื่องการรักษาความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยให้ผู้ใช้บริการในครั้งนี้ของ Apple ถือว่าได้คำชมและได้ใจใครต่อใครไปมากมาย แต่ในอีกมุมหนึ่งก็คือการเสียผลประโยชน์อย่างใหญ่หลวงแก่ทางฝั่งรัฐบาลเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ก็คงแล้วแต่ว่าจะมองมุมไหน แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะหาข้อยุติกับเหตุการณ์อุกอาจนี้ได้โดยไว พร้อมกับที่ความปลอดภัยของลูกค้าต่อแบรนด์บริษัทใหญ่ๆ ทั้งหลายยังคงไม่ได้รับผลกระทบมากมายนักก็แล้วกันนะ