Final Fantasy Theatrhythm (FFT) คือหนึ่งในเกมที่เคยได้รับคะแนนวิจารณ์จากทั่วทุกสารทิศสมัยลงเป็นเอ็กซ์คลูซีฟให้กับเครื่อง Nintendo 3DS ไปอย่างสูงเลยทีเดียว หนึ่งในนั้นคือสำนักวิจารณ์เกมสำนักใหญ่อย่าง IGN ที่เคยให้ FFT ฉบับ 3DS เอาไว้ที่ 8.5 คะแนน โดยตัวเกมเองมีการรวบรวมเอาหนึ่งในสิ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นจุดแข็งมากที่สุดของ Final Fantasy ไว้ด้วยกัน สิ่งที่ว่านั้นก็คืองานดนตรีที่ต้องยอมรับจริงๆ ว่าไม่ว่าจะกี่ภาคต่อกี่ภาค Final Fantasy ก็ไม่เคยทำให้ผู้เล่นต้องผิดหวังกับงานดนตรีประกอบซีรีส์เลยสักครั้งเดียว
ในตอนนั้นหลายๆ คนมีการคาดการณ์กันไว้แล้วว่าทันทีที่ตัวเกมหลุดจากความเป็นเอ็กซ์ของ Nintendo 3DS แล้ว Final Fantasy Theatrhythm น่าจะได้มีโอกาสพอร์ตลง iOS อย่างแน่นอนเพราะรูปแบบการเล่นที่เน้นการสัมผัสของหน้าจอเป็นสำคัญ ดังนั้นการทำฉบับพอร์ตออกมาป้อนให้กับตลาดเกมบน iOS ที่กำลังตื่นตัวอย่างสูงสุดนั้นจึงแทบไม่มีอะไรเสียเลยสำหรับ Square Enix นอกจากนี้แล้วแนวทางการเล่นของเกมยังดูเหมาะสมที่จะนำมาใช้สำหรับการสูบเงินเหล่า iOS เกมเมอร์ด้วยระบบ In App Purchase เป็นอย่างดีอีกด้วย (ต้องใช้คำว่าสูบเงินจริงๆ สำหรับเกมจากค่ายเหลี่ยมนี้)
และในที่สุด Final Fantasy Theatrhythm ก็ได้เดินทางมาถึง iOS ตามความคาดหมาย แต่ที่เหนือความคาดหมายคือความจริงที่ว่าการพอร์ตในครั้งนี้นั้นไม่ได้เป็นการพอร์ตแบบขอไปทีอย่างที่หลายๆ ค่ายชอบทำกันในเกมของตัวเอง ชัดเจนว่า Square Enix รับเอาคำฟีดแบ๊กของผู้เล่นครั้งสมัย Nintendo 3DS มาแก้ไขปรับปรุงกับฉบับ iOS เป็นอย่างดี เป็นผลให้ตัวเกมออกมาน่าสนใจ ถูกคอ ถูกใจเกมเมอร์ทั่วไปมากขึ้นกว่าตอนแรกเยอะเลยทีเดียว (ผมเองยังไม่มีโอกาสได้เล่นฉบับ 3DS นะครับ แต่ได้ยิน ได้ฟัง และได้อ่านมาจากแฟนๆ FFT ทั้งหลายน่ะครับ)
อย่างแรกเลยที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นจากปากคำให้การของเพื่อนสนิทผมที่เคยตะบี้ตะบันเล่นฉบับ 3DS มาแล้ว (และผมก็นั่งแจมอยู่ในเหตุการณ์ด้วย) ก็คือในส่วนของระบบเลเวลอัพและการอัพสกิลต่างๆ เพื่อปลดล็อกอาวุธและคัสตอมไมซ์ตัวละครของเรา ถึงแม้ระบบนี้จะฟังดูดีตอนอยู่บน 3DS นะครับ แต่พอเอาเข้าจริงแล้วมันกลับไม่เข้ากับตัวเกมเป็นที่สุดเลย ผู้เล่นหลายๆ คนจากที่ผมทราบมาต่างก็มองข้ามระบบพวกนี้ไปและมุ่งความสนใจไปที่เกมเพลย์จิ้มแตะตามจังหวังเพลงของมันตามวัตถุประสงค์หลักที่เลือกซื้อตลับเกม FFT มาแต่แรกกันมากกว่า นั่นหมายความว่าระบบเลเวลอัพและพัฒนาสกิลเพื่อคัสตอไมซ์ตัวละครของ SQ ในฉบับ 3DS นั้นสอบตกอย่างสิ้นเชิงนั่นเอง
ในฉบับ iOS เองนี้ Final Fantasy Theatrhythm ยังคงเก็บระบบเลเวลอัพไว้เช่นเคย ต่างกันตรงที่ทำให้มันเฟดไปกับแบ๊กกราวด์เกมมากยิ่งขึ้น หากใครไม่สนใจปัดไปแถบสุดท้ายของหน้าสรุปผลเมื่อเล่นแต่ละเพลงจบก็จะไม่สังเกตเลยว่าเกมมีระบบเลเวลอัพนี้อยู่ ระบบสกิลต่างๆ ก็ถูกออกแบบมาให้มีติดตัวละครแต่ละตัวมาเลย ไม่ต้องมาเลือกอัพเกรดสกิลกันให้วุ่นวายทีหลัง แต่สกิลแต่ละสกิลที่มีติดตัวมานั้นส่งผลกับเกมเพลย์บ้างเล็กๆ น้อยๆ จนแทบจะไม่เห็นหากไม่สังเกตจริงๆ จัง ดังนั้นหลักๆ แล้วการเลือกตัวละครแต่ละตัวในฉบับ iOS นั้นมีขึ้นเพื่อเป็นการเสริมความงดงามประจำฉากและฉีกหนีความจำเจด้วยการนำเอาตัวละครหลากหลายที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดีจากซีรีส์ Final Fantasy กลับมาให้เราเล่นกันใหม่ด้วยหน้าตาน่ารักสดใสแทนเท่านั้นเอง แต่นี่กลับถือเป็นข้อดีที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นจากฉบับ 3DS เพราะทำให้ตัวเกมมีความวุ่นวายน้อยลง และตรงจุด ตรงประเด็นกับตัวเกมมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
แต่สิ่งที่ถือเป็นจุดเด่นสำหรับฉบับ iOS อย่างเต็มภาคภูมิคือระบบใหม่ๆ ที่ Square Enix จับใส่เข้ามาในตัวเกมที่ทำให้ตัวเกมน่าสนใจ หลากหลาย และสนุกท้าทายมากยิ่งขึ้นในเวลาเดียวกัน หนึ่งในนั้นคือโหมดใหม่ที่มีเพิ่มเข้ามาในตัวเกมภายใต้ชื่อ “Creator” โดยในโหมดนี้นั้นคุณจะสามารถเลือกสร้างรูปแบบการแตะลากนิ้วมือบนจอตามจังหวะเพลงได้ด้วยตัวของคุณเองกับเพลงแต่ละเพลงที่คุณมีอยู่ในคอเล็คชั่น ตัวเกมเลือกที่จะผูกตัวเองเข้ากับโซเชียลเน็ตเวิร์คด้วยการทำงานร่วมกับโซเชียลเน็ตเวิร์คชื่อดังอย่างทวิตเตอร์เพื่อสร้างคอมมิวนิตี้ที่แข็งแรงให้เกิดขึ้นกับเกมมากขึ้นและกระจายตัวคนเล่นเกมให้มากขึ้นเช่นกัน ข้อดีมากๆ ที่เกิดขึ้นกับระบบทวิตเตอร์ก็คือความท้าทายที่ผู้เล่นได้รับจากการแชร์ผลลัพธ์การเล่นเกมแต่ละครั้งให้เพื่อนๆ ในทวิตเตอร์ของตนได้รับทราบและร่วมแข่งร่วมสนุกกันต่อไป ซึ่งจุดๆ นี้คือจุดบอดของฉบับ 3DS นั่นเอง
ช้อเสียอย่างหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนมากของ Final Fantasy Theatrhythm ก็คือเรื่องเดิมๆ ที่ SQ คงได้ยินจนชินหูไปแล้วอย่างเรื่องราคา โดยหากคุณเลือกซื้อดาวน์โหลดคอนเทนต์ทุกตัว เพลงทุกเพลงจากคอลเล็คชั่นแล้วล่ะก็ ราคาเกมอาจจบลงที่แพงกว่าตลับ 3DS ไปหลายเท่าเลยทีเดียวครับ แต่หากว่ากันตามความเป็นจริงแล้วคงไม่มีใครเลือกที่จะดาวน์โหลดมันทุกอย่างที่มีให้ดาวน์โหลดหรอก จริงไหมครับ อย่างน้อยๆ คงไม่มีใครดาวน์โหลดตัวละครทุกตัวที่มีเปิดให้ดาวน์โหลดอยู่มาเล่นอย่างแน่นอนเพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นอะไรเลย เลือกแค่ตัวที่เราชอบอย่างเดียวก็น่าจะเหลือเฟือแล้ว (กรณีของผมเลือกน้อง Hope ครับ)
คุณสามารถดาวน์โหลดเพลงแต่ละเพลงแบบแยกย่อยได้ในราคา $0.99 (ประมาณ 30 บาท) ซึ่งถือว่าไม่แพงอะไรนักหากเทียบกับราคาเพลงทั่วไปที่มีขายกันอยู่ แต่หากเลือกจะโหลดทุกเพลงก็แพงแบบสูบเลือดสูบเนื้อเลยทีเดียวเพราะเพลงมันเยอะมาก แต่ถ้าคุณจำเป็นหรืออยากเล่นทุกเพลงจริงๆ ก็สามารถดาวน์โหลดแบบบัลเดิลแพ็คได้เช่นเดียวกัน โดยอย่าวหลังนี้จะขายแยกเป็นอัลบัมตามภาคต่างๆ ของเกม ตกแล้วอัลบัมละ $2.99 แบบนี้จะคุ้มกว่ากันมากทีเดียวครับ และแต่ละเพลงก่อนจะดาวน์โหลดนั้น SQ ยังใจดีพอให้เราเปิดฟังพรีวิวเพลงได้ก่อนตัดสินใจด้วย ซึ่งใน 3DS นั้นผมได้ข่าวมาจากเพื่อนว่าไม่มีให้พรีวิวฟังก่อนนะครับ จับมัดมือชกดาวน์โหลดเลยหากอยากได้
ว่าโดยสรุปแล้วคุณอาจต้องเสียเงินมากถึง $30 – $40 (ประมาณ 1000 – 1300 บาท) เพื่อดาวน์โหลดคอนเทนต์ที่จำเป็นที่จะทำให้ตัวเกมสนุกขึ้นได้ ซึ่งราคานี้ซื้อตลับ 3DS ได้เลยทีเดียว ดังนั้นอันนี้ผมแอบถือว่าเป็นข้อเสียตัวสำคัญสำหรับ Final Fantasy Theatrhythm เลยเหมือนกันนะเนี่ย
นอกจากที่ว่ามาแล้ว ฟีเจอร์เด่นๆ บางส่วนในฉบับ 3DS เองก็หายไปเช่นเดียวกัน อย่างหนึ่งที่น่าเสียดายมากๆ คือเกมเพลย์ฝั่ง ‘Event’ ทั้งหมดนั้นโดยตัดออกไปจากฉบับ iOS เกลี้ยงเลยครับ ซึ่งเกมเพลย์ส่วน ‘Event’ นี่ว่านี้นั้นเปรียบได้กับหัวใจห้องหลักอีกห้องของเกมเลย เพราะเป็นการรวบรวมเอาฉากเด่นๆ ซีนดังๆ ที่ใช้เพลงประกอบที่เราเล่นใน FFT มาประกอบ เช่นฉากเต้นรำแสนประทับใจจาก Final Fantasy VIII, ฉากสุดซึ้งจาก Final Fantasy IX ที่มีเพลงสุดคลาสสิกอย่าง Melodies of life ประกอบ ทั้งหมดนี้ไม่มีให้เห็น ให้ได้ทวนความทรงจำในฉบับ iOS เลยแม้แต่นิดเดียว เหลือไว้แต่เกมเพลย์ส่วน ‘Field’ และ ‘Battle’ เท่านั้นที่ให้ได้เห็นกันเหมือนต้นฉบับใน 3DS และเพลงที่เคยใช้ประกอบเกมเพลย์แบบ ‘Event’ ทั้งหมดก็ถูกเอามายัดลงเป็นเกมเพลย์แบบ ‘Battle’ และ ‘Field’ ทั้งสิ้น ข้อดีคือคุณจะยังไม่พลาดเพลงใดๆ เลยสักเพลงในฉบับ iOS แต่ข้อเสียก็อย่างที่ว่ามา ฉากในความทรงจำต่างๆ ที่เคยมีให้ประทับใจใน 3DS นั้นหายไปจนหมดสิ้นนั่นเอง
อีกโหมดที่โดนตัดออกไปคือโหมด ‘Dark Note’ ที่เป็นการรวบรวมเอาเพลงหลายๆ เพลงเข้ามาไว้ในด่านเดียวกัน และเพลงพวกนั้นก็ยากชนิดหินเรียกพี่เลยด้วยซึ่ก่อนหน้านี้ผมเคยเห็นเพื่อนผมนั่งเล่นโหมดนี้อยู่ได้เป็นวันเป็นคืนเพื่อเอาชนะแต่ละด่านมาแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นใน iOS เองก็มีเควสที่ต้องเล่นเพลงแบบเมดเล่ย์เข้ามาแทนที่ซึ่งก็ถือว่าทำได้ดีพอๆ กับ ‘Dark Note’ ของ 3DS ดังนั้นโดยรวมแล้วผมถือว่า iOS ไม่ได้ขาดฟิลในส่วนของโหมด ‘Dark Note’ ไปมากนัก
พูดแบบนี้แล้ว หากใครคิดว่าด่านปกติที่ไม่ใช่เมดเลย์เควสจะหมูเหมือนอย่าง Symphonica แล้วคงต้องเปลี่ยนใจซะเดี๋ยวนี้ครับ ตัวเกมให้เราเลือกเล่นแต่ละเพลงได้ในสามระดับ เริ่มจากระดับง่ายสุด ไปเอ็กซ์เพิร์ต และอัลติเมตสกอร์ ซึ่งหากได้ลองแค่เอ็กซ์เพิร์ตในหลายๆ เพลงก็อาจทำให้เซียนกิจกรรมเข้าจังหวะหลายๆ คนถึงกับหน้าหงายได้แล้วล่ะครับ นี่ยังไม่พูดถึงอัลติเมตสกอร์นะ เอาง่ายๆ คุณแค่ลองโหลดเกมฟรีไปแล้วเลือกเล่นเพลงอย่าง One Winged Angel แล้วลองระดับอัลติเมตสกอร์ดูสิครับ แค่นั้นคุณก็จะเข้าใจความหมายของคำว่า “ยาก” ของผมแล้วล่ะ
การพอร์ตเกมลง iOS ครั้งนี้ของ Square Enix นั้นถือว่ามีข้อดีอยู่เต็มไปหมดครับ อย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือความสวยงามของตัวเกมบนหน้าจอความละเอียดสูงของ iPad แต่สิ่งที่เด่นที่สุดเห็นจะเป็นเกมเพลย์ในโหมด Creator ที่ได้กล่าวถึงไปในขั้นต้นที่ทำให้ FFT นั้นน่าจะสามารถเรียกลูกค้าเก่าที่เคยเล่นฉบับ 3DS กลับมาใหม่ได้ และทำให้ผมผู้ซึ่งไม่เคยได้เล่นฉบับ 3DS อย่างจริงๆ จังๆ สามารถหลงเสน่ห์ Final Fantasy Theatrhythm ได้อย่างไม่ยากเย็นนักในที่สุด
[gradeA]