บริษัทโน้นฟ้องบริษัทนี้ บริษัทนี้ฟ้องบริษัทโน้น ด้วยกฏหมายตามมาตรการแนวคิดป้องกันลิขสิทธิ์ทางปัญญา ตราสินค้าและเทคโนโลยี ที่มนุษย์ตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องสินทรัพย์ของบุคคลที่คิดก่อนทำก่อน แนวคิดดั้งเดิมมันสวยงาม เพื่อให้เกิดการริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ แข่งขันกันคิดจะได้ไม่ผิดจากการไปลอกไอเดียชาวบ้านเขามาใช้
แต่แน่นอน “มนุษย์” นั้นสุดอัศจรรย์ เปลี่ยนทุกอย่างให้เฉไฉกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อประโยชน์ของตัวเองได้เสมอ แม้จะพยายามผลักดันให้มีกติการ่วมกัน แต่ “กติการ่วมกัน” ที่ว่านั้น ก็ดันขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ “มนุษย์” ผู้ติดอยู่กับ รัก โลภ โกรธ หลง แม้จะเป็นกฏหมายลิขสิทธิ์ที่ดูเหมือนจะมาจากแนวคิดที่สวยงาม สุดท้ายก็หาความเป็นกลางจริงๆ ไม่ได้สักที
Apple เป็นหนึ่งบริษัทที่ต้องพูดถึงสำหรับการสนทนาในเรื่อง “ลิขสิทธิ์” คนที่วนเวียนอยู่กับเรื่องกฏหมายนี้มากที่สุดของวงการไอที อย่างที่เราหลายคนได้ยินกันอยู่บ่อยครั้งกับข่าวการฟ้องร้องต่างๆ ของ Apple ในเรื่องของสินทรัพย์ทางปัญญาด้านการออกแบบและเทคโนโลยีต่างๆ ที่เขามีสิทธิบัตรครอบครองเอาไว้อยู่ ทั้งการฟ้องร้องคู่แข่ง และการถูกคู่แข่งฟ้องร้อง
เพราะพวกบริษัทใหญ่ๆ เหล่านี้ ในแต่ละบริษัทจะมีการถือครองสิทธิบัตรอยู่เป็นพันๆ ฉบับครับ บางบริษัทเป็นหมื่นฉบับ แล้วแต่จะหยิบมาใช้ฟ้องร้องในกรณีที่บริษัทคิดเห็นสมควรว่าต้องดำเนินการเพราะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ และเข้าข่ายว่ามีการลอกเลียนแบบ
แล้วความงี่เง่ามันก็เริ่มต้นจากตรงนี้ เพราะไม่ว่าคุณจะฟ้องร้องด้วยสิทธิบัตรฉบับใด สุดท้ายมันก็ไปตัดสินความตามกฏหมายบ้านเมืองที่แตกต่างกัน คนที่มีใจผูกผันกับสิ่งที่ต่างกัน ต่างบ้านต่างเมือง ต่างทีต่างทาง และต่างคนก็ต่างปกป้องคนของตัวเอง
Apple ชนะคดีในอเมริกา แต่ก็แพ้คดีในเกาหลีให้แก่บริษัท Samsung มือถือจีนมากมายผลิตออกมาหน้าตาเดียวกันกับ iPhone แต่ล่าสุดศาลปักกิ่งสั่งให้ยุติการจำหน่าย iPhone 6 และ 6 Plus ในประเทศจีน เนื่องด้วยเพราะตัวเครื่อง iPhone มีการออกแบบที่ไปคล้ายกับมือถือจีนมากเกินไป
จีนใช้กฏหมายลิขสิทธิ์โจมตีสินค้าอเมริกา กฏหมายลิขสิทธิ์ที่อเมริกาโปรดหนักโปรดหนา เพราะนั้นคือลิขสิทธิ์ของอเมริกา และด้วยกติกานั้นก็มักจะเป็นอเมริกาที่ได้ประโยชน์ แต่เมื่อมาอยู่ที่จีน มันก็เป็นกฏหมายลิขสิทธิ์ของจีน ไม่มีอะไรผิดเพราะนั้นคือความถูกต้องในบ้านเขาเมืองเขาเช่นกัน รับรองคำสั่งจากผู้มีอำนาจบังคับใช้ตามกฏหมายในบ้านเมืองเขาทุกประการไม่ต่างกัน และจีน คือผู้ได้ประโยชน์
กฏหมายลิขสิทธิ์กลายเป็นเครื่องมืออะไรสักอย่างที่ดูไม่คล้ายแนวคิดดั้งเดิมที่เขียนมันขึ้นมา ในบ้านเมืองเราเองก็มีข่าวการใช้กฏหมายลิขสิทธิ์ในรูปแบบหากินโดยซื้อลิขสิทธิ์มาเพื่อไล่จับเอาค่าปรับและฟ้องร้องค่าเสียหายเป็นหลัก ไม่ได้ซื้อมาด้วยเจตนาทำสินค้าหรือบริการแต่อย่างใด
กฏหมายลิขสิทธิ์จากเคยเป็นโล่แต่วันนี้เป็นหอก จากเคยใช้ปกป้องวันนี้เน้นใช้โจมตี
“บทคุ้มครองการละเมิดลิขสิทธิ์ กฏหมายที่เริ่มจะเพิ่มความงี่เง่าเข้ามาทุกที แต่มันไม่ใช่ที่ตัวกฏหมาย ความงี่เง่าเพิ่มเข้ามาด้วยตัวมนุษย์ผู้ใช้”
กฏหมายเขียนขึ้นมา มนุษย์นำไปใช้ ตีความเอนเอียงเลี่ยงกฏหมาย เอาผลประโยชน์เข้าตัว คนเดือดร้อนทนไม่ไหว เกิดการปฏิวัติ ฉีกกฏหมายเดิม เขียนเพิ่มเข้ามาใหม่ มนุษย์นำไปใช้…..
#นี่ผมยังอยู่กับเรื่องลิขสิทธิ์ใช่มั้ย