เชื่อว่าหากพูดถึงเรื่องสเปกแล้วก็ต้องยอมรับว่าสมาร์ตโฟน Android จีนทำสเปกออกมาได้คุ้มราคามาก ๆ แตกต่างจากแบรนด์อินเตอร์ที่สเปกก็ไม่ได้ดีนัก แต่ดันทำราคาออกมาแพงเสียอย่างนั้น อันที่จริงเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ความลับอะไรเสียด้วย
กลยุทธิ์ของสมาร์ตโฟนแบรนด์จีนคือการแยกแบรนด์สินค้าเพื่อทำตลาดแข่งขันกันเอง ยกตัวอย่างเช่น OnePlus, OPPO, vivo และ realme หรือแม้แต่ iQOO ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยหากคุณอาศัยอยู่ในเอเชีย แบรนด์ที่กำลังมาแรงเหล่านี้ล้วนเป็นที่รู้จัก และทั้งหมดเป็นบริษัทในเครือของ BBK Electronics ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ตั้งอยู่ในเมืองตงกวน ประเทศจีนนั้นเอง
และแม้ทั้งหมดจะดูแบ่งแยก แต่ก็มีแบ่งปันร่วมกัน ทั้งแนวคิด สถิติตัวเลข ความเชี่ยวชาญ และกลยุทธ์การตลาด รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ถูกคิดค้นขึ้น ยิ่งมีการแบ่งปันทรัพยากรและความเชี่ยวชาญกันมากเท่าไร ก็สามารถลดต้นทุนในสายงาน R&D ได้มากขึ้นเท่านั้น และยังหลีกเลี่ยงความสูญเสียรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ด้วย เพราะผลกระทบที่เกิดจากแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งจะถูกแบรนด์อื่นๆ ช่วยดูดซับไว้ ทำให้ความเสียหายถูกกระจายความเสี่ยงออกไปให้เบาบางลงได้อีกด้วย
หากคุณต้องการทำความเข้าใจว่ายักษ์ใหญ่ของวงการสมาร์ตโฟนในปัจจุบันนี้ แบรนด์ใดอยู่ในตำแหน่งไหนของอุตสาหกรรม จะสะดวกกว่าหากเรามองแบรนด์ย่อยทั้งหลายที่อยู่ภายใต้บริษัทแม่เดียวกันให้กลายเป็นเพียงหนึ่งร่วมกัน และมาดูสถิติส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลกในไตรมาสที่ 1 ปี 2021 ในตัวอย่างด้านล่างกันให้ละเอียดอีกครั้งหนึ่ง
เราจะเห็นว่ายอดขายสมาร์ตโฟนอันดับหนึ่งของโลกที่แท้จริงแล้ว ไม่ใช่ Samsung หรือ Apple แต่อย่างใด แต่ทว่าเป็นกลุ่มแบรนด์ที่อยู่ภายใต้ BBK Electronics นั้นเอง ยอดขายรวมของบริษัทลูกทั้งสามแห่งของ BBK (OPPO, vivo และ realme ยังไม่มีการนับรวม OnePlus และ iQOO เข้าไปด้วย ) รวมกันอยู่ที่ 25% ซึ่งถือว่าน่าประทับใจมาก เพราะแซงหน้าบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Samsung ที่ 22%, และ Apple ที่ 17% ไปได้อย่างชัดเจน
ฉะนั้นในด้านปริมาณการผลิตและยอดจำหน่าย แบรนด์จีนได้ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกมานานแล้ว แถมยังมีโรงงานที่ผลิตสินค้าได้เองทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทำให้พวกเขายิ่งได้เปรียบเชิงปริมาณในทุกๆ ด้าน แม้แต่คู่แข่งที่ใกล้เคียงกันอย่าง Xiaomi ที่กินส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 14% ก็ยังใช้กลยุทธ์คล้ายๆ กันในการเจาะตลาด นั่นคือการแบ่งแยกแบรนด์ของตัวเองออกไปในหลายชื่อ แต่ทั้งหมดอยู่ภายใตหนึ่งบริษัท เช่น POCO, Redmi และแบรนด์ Black Shark แรกเริ่มทั้งหมดมี Xiaomi เป็นเจ้าของร่วมกัน โดยแต่ละแบรนด์จะมีการมุ่งเป้าไปที่กลุ่มเป้าหมายและวัตถุประสงค์เฉพาะที่แตกต่างกันในการทำตลาด
การเจาะตลาดของสินค้าจากแบรนด์จีน จะอาศัยการเจาะด้วยโปรโมชั่นและการกำหนดราคาให้ดูคุ้มค่าต่อเม็ดเงินที่จ่ายไป โดยเฉพาะกับการเปิดตลาดใหม่ มีความหยืดหยุ่นที่มากกว่าในการกำหนดราคาขึ้นลงเพื่อกดดันคู่แข่ง รวมถึงต้นทุนที่ถูกกว่าทั้งในด้านแรงงาน ทั้งในด้านการจัดส่ง หรือแม้แต่การเลือกตั้งโรงงานผลิตในต่างประเทศเพื่อลดภาษีนำเข้าที่มีมูลค่าสูง รวมถึงต้นทุนด้าน R&D ที่มีการแบ่งบันด้านนวัตกรรมร่วมกัน
และเมื่อพวกขายสามารถขายสินค้าได้ในปริมาณมากๆ ก็จะทำให้พวกเขายังสามารถเก็บค่าโฆษณาจากโฆษณาที่มีอยู่ในบริการภายในระบบ รวมถึงค่าติดตั้ง Bloatware (แอปที่ติดเครื่องมา) ได้อีกด้วย เพราะหากเราจะสังเกตดี ๆ ในสมาร์ตโฟนแต่ละรุ่นมักจะมีแอปพลิเคชันที่ถูกติดตั้งมาในระบบตั้งแต่แรกอยู่แล้วนอกเหนือจากแอปที่จำเป็น จะมากหรือน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละแบรนด์ไป
ยิ่งขายได้มาก ยิ่งทำต้นทุนได้ถูกลง แถมยังมีช่องทางทำรายได้ที่มากขึ้นไปอีก เหล่านี้คือความลับเบื้องหลังที่ไม่เป็นความลับสักเท่าไหร่ของวงการสมาร์ตโฟน
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก Make Use Of