ทุกวันนี้พกกันเป็นอุปกรณ์เสริมที่แทบจะขาดกันไม่ได้ไปแล้วสำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟน แบตเตอรี่เสริม หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า PowerBank ปัจจุปันก็มีผู้ผลิตที่ทำกันออกมามากมายหลายรุ่นครับ ทั้งแบรนด์ดีแบรนด์ดังและแบรนด์โนเนม รวมถึงผลิตกันออกมาเป็นของพรีเมี่ยม แจกเป็นของชำร่วย ใส่มาในถุงให้เป็นของแถม เอาว่าเดี๋ยวนี้บางคนมีพาวเวอร์แบงค์สะสมอยู่เต็มบ้าน แต่การจะเลือกหยิบมาใช้งานหรือเลือกซื้อมาใช้ด้วยตัวเอง ควรจะดูอะไรบ้างที่สำคัญ จริงๆ แล้วมีไม่มาก ประมาณ 5 เรื่องที่สำคัญ และอีกหนึ่งเรื่องที่เตือนใจ เรามาลองไล่ดูกันทีละข้อดีกว่าครับ
1.ดูขนาดความจุ
ข้อแรกนี่พื้นฐานเลยครับ แน่นอนว่าแทบจะทุกคนให้ความสำคัญกับตัวเลขความจุที่แจ้งไว้บนอุปกรณ์พาวเวอร์แบงค์มาเป็นเรื่องแรก ไม่ว่าตัวเลขนั้นจะเป็นจริงมากแค่ไหน แต่ก็เป็นจุดขายหลักของตัวแบตเตอรี่เสริมให้คนได้ตัดสินใจมาโดยตลอด แต่มีบางอย่างที่ทางแอพดิสคัสอยากจะแนะนำไว้ นั้นคือขนาดความจุที่เราต้องการใช้งานจริงๆ นั้น ควรจะเป็นสักแค่ไหนกันแน่ เราพกพาอุปกรณ์ออกไปใช้งานในแต่ละวันกันมากแค่ไหน ถ้าคุณใช้แค่โทรศัพท์เครื่องเดียว และในแต่ละวันคุณก็มักจะชาร์จพลังงานเสริมเพียงแค่ครั้งเดียว จะเอาแบตเตอรี่เสริมความจุสูงๆ กันไปทำไม เอาแค่พอดีพอใช้ดีกว่าครับ แบตเตอรี่เสริมขนาดความจุสูงๆ นอกจากจะใหญ่และหนักแล้ว ราคายังสูงกว่า อยากแนะนำว่าในงบเท่าๆ กันมองหาแบตเสริมคุณภาพดีๆ จากแบรนด์ที่น่าเชื่อถือมาพกไว้ใช้จะดีกว่าครับ
นอกจากนั้นแบตเตอรี่เสริมยังเป็นวัตถุที่มีการควบคุมด้านความปลอดภัยในบางสถานที่ด้วยเช่นการนำแบตเตอรี่เสริมขึ้นเครื่องบิน กำหนดเอาไว้ว่าห้ามมีขนาดความจุเกิน 32,000 mAh โดยเด็ดขาด และสำหรับฉลากระบุขนาดความจุนี้ก็มีความสำคัญมาก เพราะถ้าหากแบตเตอรี่ก้อนไหนไม่มีแจ้งข้อมูลรายละเอียดภายในของตัวแบตเอาไว้ละก็ ทางสนามบินก็จำเป็นที่จะต้องยึดเอาไว้โดยไม่สนใจขนาดหรือความจุที่เราบอกปากเปล่านะครับ
2.ดูค่าแรงดันกระแสไฟฟ้า Output, Input
อย่าดูแต่ขนาดความจุปริมาณไฟของตัวแบตเตอรี่ ต้องดูในเรื่องของปริมาณแรงดันการจ่ายกระแสไฟฟ้าของแบตเตอรี่ด้วยครับ เพราะมันเป็นค่าที่บอกเราถึงเรื่องความไวในการชาร์จพลังงานเข้าสู่อุปกรณ์และความไวในการชาร์จพลังงานกลับเข้าไปเก็บในตัวแบตเสริมตัวนี้ด้วยเช่นกัน
ค่า Input, Output จะแจ้งไว้เป็นหน่วยของ A โดยจะมีระบุค่าไฟฟ้าเอาไว้ในรูปแบบเช่น DC 5V/ 2.1A ก็หมายถึงการต่อไฟฟ้ากระแสตรงขนาด 5V จะได้รับแรงดันกระแสไฟฟ้าขนาด 2.1 A ซึ่งขนาดแรงดันกระแสไฟ 2A ขึ้นไปนี่เป็นค่าที่เราอยากจะแนะนำครับ เพราะมันสามารถชาร์จพลังงานได้ไวกว่าแบตเสริมที่มีแรงดันตำกว่า 2A มาก โดยค่าแรงดันไฟตัวนี้มีผลทั้งขาออกและขาเข้า แรงดันกระแสไฟในขณะที่เราชาร์จพลังงานกลับเข้าไปในตัวแบตเตอรี่เสริมก็ดูที่ค่า Input และสำหรับการปล่อยพลังงานออกไปยังอุปกรณ์ที่ต่อพ่วง ก็ดูที่ค่า Output ยิ่งค่า A สูงก็จะยิ่งชาร์จพลังงานได้ไวมากขึ้นครับ
ค่าแรงดันกระแสไฟฟ้าตัวนี้ จะส่งผลถึงความสามารถในการชาร์จอุปกรณ์ขนาดใหญ่อย่างแท็บเล็ต, iPad และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่ใช้พอร์ตการชาร์จเดียวกัน ถ้าแรงดันกระแสไฟค่อนข้างต่ำ อุปกรณ์เหล่านี้จะไม่สามารถใช้งานร่วมกันได้ครับเพราะแรงดันไฟไม่พอนั้นเอง
3.ดูที่ระบบความปลอดภัยการปล่อยไฟฟ้าและการตัดไฟ
ปัญหานี่เป็นปัญหาปวดหัวที่คนเลือกซื้อแบตเตอรี่เสริมมองข้ามไปมากที่สุดครับ เพราะบางครั้งก็ลืมสังเกตหรือลืมถาม ไปเจอแจ็คพอตเข้ากับตัวแบตเสริมที่ไม่มีการตัดการปล่อยพลังงานออกด้วยตัวเอง หมายถึงถ้าเราเปิดสวิตท์จ่ายไฟทิ้งไว้ มันก็จะปล่อยใช้พลังงานไฟฟ้าที่อยู่ในตัวมันเองไปเรื่อยๆ แม้จะไม่ได้เสียบอุปกรณ์ใดๆ ไว้ ทำให้เวลาที่เราต้องการใช้งานมันจริงๆ แบตเตอรี่ภายในตัวของมันก็แทบจะหมดไฟไปซะแล้ว
เทคโนโลการเปิดใช้พลังงานภายในตัวแบตเสริมนั้นได้พัฒนามาค่อนข้างไกลแล้วครับ ระบบสวิตท์เปิดปิดนั้นค่อนข้างจะเก่าไปสักหน่อย แต่ไม่ได้หมายถึงแบตเตอรี่เสริมที่ยังมีสวิตท์เปิดปิดจะเป็นรุ่นเก่าไปซะหมดนะครับ เพราะบางรุ่นทางผู้ผลิตก็ใส่เข้ามาให้ทั้งระบบการตัดไฟอัตโนมัติและสามารถปิดสวิตท์ตัดกระแสไฟได้ด้วยตัวเองเช่นกัน
ในปัจจุปันแบตเตอรี่เสริมบางตัวมีเทคโนโลยีที่สามารถเปิดการปล่อยพลังงานได้ด้วยตัวเองอัตโนมัติเมื่อมีการเสียบเข้ากับอุปกรณ์ได้ในทันที และสามารถตัดไฟด้วยตัวเองได้ในทันทีเมื่อไม่มีการเสียบสายหรืออุปกรณ์ที่กำลังชาร์จไฟอยู่นั้นพลังงานเต็ม หมายถึงเราสามารถใช้งานเจ้าแบตเตอรี่เสริมตัวนี้ได้โดยไม่ต้องไปกดปุ่มใดๆ สักปุ่มเลยในการใช้งานครับ และพลังงานก็ไม่สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์อีกด้วย
4.ดูที่จำนวนพอร์ตสำหรับการชาร์จไฟ
นอกจากเรื่องแรงดัน ขนาดความจุของกระแสไฟ อีกสิ่งหนึ่งที่เราต้องเลือกใช้คือจำนวนพอร์ตการเสียบสายชาร์จไฟทั้งขาเข้าขาออกครับ การมีพอร์ตสำหรับเสียบสายชาร์จไฟมากกว่าหนึ่งพอร์ต ก็หมายถึงมันสามารถชาร์จพลังงานให้กับอุปกรณ์พร้อมๆ กันได้มากกว่าหนึ่งตัวนั้นเอง โดยเราต้องดูเรื่องแรงดันกระแสไฟด้วยนะครับ ว่าแต่ละพอร์ตให้แรงดันกระแสไฟฟ้ามาให้กี่ A เพราะตามปกติแรงดันกระแสไฟขาออกในแต่ละพอร์ตอาจจะไม่เท่ากันเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งจะมีแจ้งไว้ครับ
รวมถึงเดี๋ยวนี้มีแบตเตอรี่เสริมที่มีพอร์ตไฟขาเข้ามาให้มากกว่าหนึ่งพอร์ตแล้วด้วยนะครับ เพื่อเอาไว้เป็นทางเลือกในการพกพาสายชาร์จสำหรับผู้ใช้อุปกรณ์จาก Apple เช่น iPhone หรือ iPad ที่จะใช้หัวสาย Lightning แทนสายประเภท Micro USB ก็สามารถใช้สายเส้นเดียวกันเสียบชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่ได้เช่นกัน
ก็ดูจากจำนวนพอร์ตและประเภทพอร์ตตามที่เราต้องการใช้งานครับ เดี๋ยวนี้มีให้เลือกเยอะมากจริงๆ
5.ดูที่ประกันหลังการขาย ความน่าเชื่อถือ และร้านค้าจำหน่าย
แบตเตอรี่เสริมเป็นอุปกรณ์ราคาไม่แพงแต่มีคุณภาพที่ต่างกันมากตั้งแต่ของเกรดดีมีแบรนด์ลงไปจนถึงแบตเสริมที่อาจจะเรียกได้ว่าเข้าขั้นวัตถุอันตราย ทั้งหมดเราอาจจะคาดเดาเอาเองไม่ได้ ก็ต้องอาศัยความน่าเชื่อถือเท่าที่จะรู้สึกได้นั้นแหละครับเป็นตัวตัดสิน
ดูมาตรฐานการผลิต มาตรฐานใบอนุญาต แบรนด์ที่เราไว้ใจ ร้านค้าที่เชื่อถือได้เพื่อขอคำแนะนำ และการประกันหลังการขาย ซึ่งบางรายเขามอบประกันชีวิตแถมมาไว้ให้กับเราอีกด้วย ตรงจุดนี้เป็นเรื่องของการสร้างความอุ่นใจ เพราะเอาเข้าจริงๆ มันก็ระเบิดใส่กันมาหลายรายแล้ว ไม่คุ้มครับที่จะเสี่ยง เพราะตัวสินค้าเองก็มีราคาที่แตกต่างกันไม่มากเท่าไหร่ในปัจจุปัน
สุดท้ายก็อยากจะเตือนให้เพื่อนๆ ของแอพดิสคัสได้สังเกตอุปกรณ์พกพาต่างๆ รอบตัว ในเรื่องของแบตเตอรี่ในอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ใช่แค่ตัวแบตเตอรี่เสริมเท่านั้นนะครับ ตรวจดูหรือสังเกตว่าแหล่งบรรจุไฟของเรานั้นมีความร้อนที่ผิดปกติหรือไม่ในการใช้งานทั่วๆ ไป มีการบวมหรือผิดรูปไปจากเดิมมั้ย รวมทั้งมีเสียงหรือสะเก็ดไฟฟ้าที่เกิดขึ้นแบบแปลกๆ หรือไม่ ถ้ามีอะไรที่แปลกตาหรือผิดเพี้ยนไปก็อย่าไปคิดเสียดายหรือไม่ใส่ใจนะครับ เปลี่ยนใหม๋หรือให้ผู้ที่เขาดูแลได้ด้วยความเข้าใจเข้ามาช่วยตรวจเช็คหรือส่งซ่อมไปยังศูนย์ที่รับผิดชอบจะดีกว่าครับ เกิดความเสียหายขึ้นมาจะไม่คุ้มค่าแม้แต่น้อยเลย