ปัจจุบันข่าวปลอมในโลกออนไลน์นั้นเกิดขึ้นได้ทุกวัน คาดว่าปัญหานี้เกิดมาจากยุครุ่งเรืองของสังคมออนไลน์นี่หละครับ จากเดิมที่เว็บไซต์ขายโฆษณาผิดกฎหมายจะต้องล่อใจคนด้วยเนื้อหาประเภทคลิปโป๊หนังเถื่อน แต่ในยุคสังคมออนไลน์ ทำให้พฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนไป การเสพข้อมูลข่าวสารไม่ถูกจำกัดแค่สื่อโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์อีกต่อไป ข้อมูลข่าวสารสามารถติดตามและศึกษาได้จากเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้มากขึ้น หรือโพสต่าง ๆ ใน Facebook ทั้งหน้าส่วนตัวและแฟนเพจ แต่เมื่อช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมีมากขึ้นแบบไร้ทิศทาง ปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ก็คือ ความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสารนั้น ๆ
เมื่อมีแหล่งข้อมูลข่าวสารให้เราเข้าถึงได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และเยอะมากขึ้น ปัญหาที่ตามมาก็คือ การแยกแยะว่าข้อมูลข่าวสารนั้นมีความน่าเชื่อถือมากแค่ไหน เมื่อเจอข้อมูลข่าวสารที่ไร้คุณภาพเราต้องใช้ทักษะในการคิดวิเคราะห์พอสมควร แต่หลายคนก็ไม่ถนัดในเรื่องแบบนี้ จึงทำให้เชื่อข้อมูลข่าวสารนั้น ๆ ได้ง่าย ๆ แล้วก็แชร์ต่อ กลายเป็นวัฏจักรของข้อมูลข่าวสารที่ไร้คุณภาพ เมื่อก่อนอาจเป็นข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จเพราะเข้าใจผิด ตีความไม่ถูกต้อง หรือใส่ความคิดเห็นมากกว่าข้อเท็จจริง ปัจจุบันปัญหากลายเป็น ข่าวปลอม ที่ปลอมทั้งเนื้อหาและรูปภาพ ที่เกิดจากเว็บไซต์ที่เกิดขึ้นมาเพราะทำข่าวปลอมโดยเฉพาะ ปลอมแบบตั้งใจ ไม่ใช่เข้าใจผิด เพื่อให้คนเข้าอ่านเยอะ ๆ โดยไม่สนใจผลกระทบที่ตามมา เพื่อหวังยอดคนที่เห็นโฆษณาและเพิ่มโอกาสคนคลิกโฆษณาเหล่านั้น จนเกิดความเสียหายต่อคนที่เป็นข่าว อย่างกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นของ KFC ที่มีข่าวปลอมว่าพนักงานใช้เท้าหมักไก่ แล้วเราจะทำยังไง??
วิธีเช็คข่าวปลอม?? สังเกต 3 จุด เพื่อเคลียร์ให้ชัด
เวลาอ่านข่าวปลอมหลายคนอาจเอะใจสงสัยหรืออนุมานได้ว่าข่าวนั้นเป็นข่าวปลอม จึงทำให้เกิดการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนจะแชร์ต่อ แต่หลายคนอาจไม่ถึงขั้นนั้นแล้วจะทำยังไง?
- วิธีการสังเกตง่ายที่สุด ก็คือ สังเกตป้ายโฆษณา เมื่อเราเข้าไปแล้วจะมีแต่โฆษณาที่ผิดกฎหมาย ทั้งโฆษณาเว็บโป๊เปลือยอนาจาร หรือขายสินค้าผิดกฎหมายต่าง ๆ เพียงเท่านี้ก็สรุปได้เลยว่าเว็บไซต์นั้น ๆ ไม่น่าเชื่อถือ และให้เราระแวงสงสัยเอาไว้ก่อนครับ ว่าข่าวนั้นอาจเป็นข่าวปลอม
- สังเกตที่ชื่อของเว็บไซต์ครับ ชื่อเว็บไซต์พวกนี้มักจะเลียนแบบเว็บไซต์ข่าวดัง ๆ แล้วใส่คำสร้อยเพิ่ม หรือสะกดไม่ถูกต้อง ให้คนที่ไม่ค่อยคุ้นกับชื่อภาษาอังกฤษของสำนักข่าวสับสนเอาได้
เว็บไซต์ข่าวปลอมอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่านี้นะครับ แต่ลักษณะการตั้งชื่อจะมาในแนวเดียวกันเลย
- เป็นวิธีตรวจสอบที่ง่าย ๆ ด้วยสมมติฐานที่ว่าเมื่อเนื้อหาข่าวมันปลอม รูปภาพประกอบข่าวก็ต้องปลอมเช่นเดียวกัน หากเราใช้บราวเซอร์ Google Chrome เพียงเราคลิกขวาที่รูปภาพในข่าว มันจะมีหัวข้อให้เลือกว่า ค้นหารูปภาพจาก Google เราก็คลิกเลยครับ สิ่งที่เว็บไซต์พวกนี้จะปลอมรูปภาพ ก็มีแค่ เวลา เหตุการณ์ และสถานที่ ซึ่ง Google จะบอกเราได้หมดว่า รูปภาพนี้เผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตเมื่อไหร่(เราก็จะรู้ว่าเวลาไม่ตรงกับความเป็นจริง) เหตุการณ์อะไร(ภาพกับเนื้อหาข่าวคนละเรื่องไปเลย) และที่ไหน(ส่วนใหญ่จะเอาภาพมาจากต่างประเทศ)
เว็บไซต์พวกนี้จะมักง่ายครับ เขาจะขโมยรูปจาก Google นั่นหละครับ ดังนั้นเราก็ตรวจสอบข่าวด้วย Google ก็จะได้คำตอบเลยว่าข่าวปลอมหรือเปล่า?? ตัวอย่างเช่น ข่าว “โคตรเหี้ยม !! ลุงไม่มีเงินใช้หนี้ 800 บาท เลยมาฆ่ายกบ้านให้ดูต่อหน้าต่อตาแบบนี้ !??”
เพียงเราคลิกขวาแล้วเลือกค้นหารูปภาพจาก Google
เราก็จะได้ผลการค้นหาออกมาเลยครับ ซึ่งส่วนใหญ่เว็บไซต์ลวงโลกพวกนี้จะไปก็อปปี้รูปจากเว็บไซต์ต่างประเทศ เราก็มองหาลิงค์ภาษาอังกฤษเลยครับ ไม่ต้องห่วงเรื่องภาษา เรากำลังแค่หาดูว่ารูปนี้มันมาจากไหน ประเทศอะไร ปีอะไร เท่านั้น อย่างในตัวอย่างจะเห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในประเทศกัมพูชา เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งปลอมทั้งเวลา เหตุการณ์ และสถานที่เลยครับ
ไม่แน่เราอาจได้ข้อเท็จจริงของข่าวจากการกดหาใน Google ครั้งนี้ อย่างในตัวอย่างผมก็เจอลิงค์ของไทยรัฐออนไลน์ และรู้เลยว่าบุคคลในข่าวไม่มีตัวตนจริง จากการสอบถามทั้งจากทางตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านในหมู่บ้านที่ถูกแอบอ้างในข่าว
ดังที่ว่ามาทั้ง 3 ข่าว ใช่จะบอกว่าผมเองเชี่ยวชาญมากมาย เพียงนำข้อสังเกตเล็ก ๆ น้อย ๆ จากประสบการณ์ตัวเองมาเล่าสู่กันฟังครับ และเชื่อว่าเพื่อน ๆ หลายคนก็มีวิธีอื่นที่ใช้ได้เหมือนกันหรือดีกว่า ก็ร่วมแชร์กันได้ครับ แต่ที่แน่ ๆ ในโลกที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วแบบนี้ เราจะเสพข้อมูลข่าวสารอะไร ควรรู้จักกับคำว่า “ตั้งข้อสงสัย” ให้เป็น เมื่อเราสงสัยก็จะนำไปสู่การค้นหาคำตอบที่ถูกต้องต่อไปได้ ขอฝากทุกคนนะครับ