ฟรีดอมเฮาส์เปิดรายงานล่าสุด ชี้เสรีภาพอินเทอร์เน็ตทั่วโลกแย่ลงรวมถึงมีการเปลี่ยนวิธีการจำกัดเสรีภาพจากการปิดกั้นธรรมดามาเป็นการบีบบังคับให้นำเนื้อหาออก ด้านประเทศไทยได้คะแนนแย่ลงกว่าปีที่แล้วและยังอยู่ในระดับ ‘ไม่เสรี’ จากกรณีกฎหมายหมิ่นฯ และการคุกคามผู้เห็นต่างหลังรัฐประหาร
29 ต.ค. 2558 ฟรีดอมส์เฮาส์ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนทำวิจัยด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพทางการเมือง เผยแพร่รายงานเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตประจำปี 2558 หรือ “Freedom on the net 2015” ระบุว่าทั่วโลกมีการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตมากขึ้น รวมถึงมีการข่มขู่คุกคาม การสอดแนม การบีบบังคับให้บริษัทหรือประชาชนนำเนื้อหาออกจากเว็บไม่อย่างนั้นจะมีการลงโทษ
ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่ม “ไม่เสรี” คะแนนเท่ากับเมียนมา และแพ้กัมพูชา
ในรายงานเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับประเทศไทยฟรีดอมเฮาส์ยังคงจัดให้ประเทศไทยอยู่ในสถานะ “ไม่เสรี” (Not Free) เช่นเดียวกับปี 2557 โดยมีคะแนนแย่ลง 1 คะแนน จาก 62 เป็น 63 คะแนน (ใช้ระบบ คะแนนมากกว่าถือว่าแย่กว่า) ทำให้ไทยอยู่ในระดับแย่กว่าหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกันอยางกัมพูชา (48 คะแนน) สิงคโปร์ (41 คะแนน) มาเลเซีย (43 คะแนน) ฟิลิปปินส์ (27 คะแนน) ในขณะที่มีคะแนนเท่ากับพม่า (63 คะแนน)
โดยฟรีดอมเฮาส์ระบุว่าทั้งในปี 2557 และ 2558 ประเทศไทยมีการพยายามปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น
บอกรหัสผ่านโซเชียลมีเดีย แลกกับการปล่อยตัว
นอกจากนี้ฟรีดอมเฮาส์ยังระบุถึงกรณีการเรียกรายงานตัวประชาชนในค่ายทหารราว 400 คนโดยให้เปิดเผยรหัสผ่านโซเชียลมีเดียเพื่อแลกกับการปล่อยตัว นอกจากนี้ยังวิจารณ์เรื่องการร่างกฎหมายของรัฐบาลเพื่อลิดรอนเสรีภาพสื่อในโลกออนไลน์และทำลายสิทธิความเป็นส่วนตัวของประชาชน
ซิงเกิล เกตเวย์ หนึ่งในปัญหาที่ทำให้คะแนนของประเทศไทยแย่ลง
ถึงแม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประชาชนไทยจะสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้นแต่หลังจากการประกาศแผนการ ‘ซิงเกิล เกตเวย์’ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ‘อินเทอร์เน็ตดิจิตอลเกตเวย์แห่งชาติ’ เพื่อควบคุมข้อมูลข่าวสารจากอินเทอร์เน็ตต่างประเทศ
ในประเด็นเรื่องการปิดกันเนื้อหาทางอินเทอร์เน็ต ฟรีดอมเฮาส์ระบุว่าถึงแม้ประเทศไทยจะมีการปิดกั้นสื่อเว็บไซต์อย่างหนักอยู่แล้วแต่หลังเกิดการรัฐประหารก็มีกระบวนการปิดกั้นที่ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น โดยมีการยกตัวอย่างคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ (คสช.) ที่ปิดกั้นและสอดส่องสื่อโดยให้เหตุผลว่าเพื่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง
ในแง่กฎหมายคุ้มครองผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ฟรีดอมเฮาส์ระบุว่า เดิมทีแล้วรัฐธรรมนูญปี 2550 ของไทยมีมาตราที่ระบุถึงการส่งเสริมเสรีภาพสื่อแบบกว้างๆ แต่รัฐธรรมนูญก็ต้องถูกฉีกทิ้งไปหลังการรัฐประหารปี 2557 แล้วแทนที่ด้วยรัฐธรรมนูญชั่วคราวของคณะรัฐประหารเอง
แต่ฝ่ายรัฐก็ยังคงใช้กฎหมายที่มีอยู่แต่เดิมอย่างกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ปี 2550 หรือพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
ที่มา: freedomhouse ผ่าน ประชาไท