หลายคนอาจจะรู้กันอยู่แล้วว่า Huawei เป็นบริษัทที่ไม่ได้แค่ผลิตและจัดจำหน่ายเพียงสินค้าสมาร์ทโฟนอย่างที่เราเห็นกันเท่านั้นครับ เขายังเป็นบริษัทที่มีบริการและสินค้าในด้านอื่นๆ มากมาย เช่นบริการด้านเน็ตเวิร์ค หรือโซลูชั่นด้านคลาวด์สโตร์เป็นต้น ฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจถ้าผมจะบอกว่า Huawei เป็นบริษัทหนึ่งในโลก ที่มีฝ่าย R&D และ Lap สำหรับการประดิษฐ์คิดค้น ค้นคว้า และวิจัยนวัตกรรมให้กับตัวเองอยู่มากมายหลายแห่งทั่วโลกครับ
โดย Huawei นับเป็นบริษัทที่มีสิทธิบัตรครอบครองเอาไว้เป็นเบอร์ต้นๆ ของโลกในทุกวันนี้ มีทุนวิจัยสูงกว่านับสิบล้านยูโลต่อปี มีการจับมือกับพาร์ทเนอร์ระดับโลกร่วมกันเช่น บริษัท ARM บริษัท Google, Microsoft, Omron หรือแม้แต่ Leica และ audi เป็นต้น เพื่อนำเทคโนโลยีและความรู้ในด้านอื่นๆ ของพันธมิตรเหล่านั้น เข้ามาร่วมพัฒนาเป็นสิ่งต่างๆ ที่ให้เราเห็นผลลัพท์มากมายให้เราได้รู้จักกันครับ
เมื่อในวันนี้ AppDisqus ได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมด้านในศูนย์วิจัยของทาง Huawei ในสาขาปักกิ่ง ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญในการวิจัยอุปกรณ์สมาร์ทเป็นสำคัญ ก็มีสิ่งที่น่าสนใจมาเล่าให้ทุกคนได้ฟังกันครับ
ซึ่งศูนย์วิจัยนี้ของ Huawei ใหญ่มากครับ เป็นหมู่ตึกยาวต่อเนื่องกันทรงเหลี่ยม กินพื้นที่กว่า 10,000 ตารางเมตร เป็นอาคารที่ต้องผมต้องเรียกว่าหมู่ตึกเพราะมันเหมือนเป็นหลายตึกๆ มาเชื่อมกัน แต่ออกแบบเป็นทรงเดียวกันหน้าตาเหมือนกันหมดครับ
ภายในตึกว่ากันว่า มีแลปวิจัยมากกว่า 23 แลป แยกแตกต่างกันใน 9 รูปแบบ ซึ่งจริงๆ ผมก็ไม่รู้ว่ามันหมายถีงอะไรหรอกนะครับ แต่เอาเป็นว่ามันดูยิ่งใหญ่มากๆ โดยภายในมีอุปกรณ์และเครื่องจักรสมัยใหม่มากกว่าเจ็ดพันชิ้นตามโซนต่างๆ ครับ
โดยปกติตึกนี้ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าครับ ต้องมีการขออนุญาตในการเยี่ยมชมซะก่อน ด้วยการที่มักจะมีแขกมาเดินชมเขาก็เลยมีการเตรียมข้อมูลไว้รับแขกให้เราแล้วในระดับหนึ่ง
งานวันนี้เป็นทาง Huawei ที่อยากจะเล่าที่มาของนวัตกรรมของพวกเขา ว่ามีที่มาอย่างไร มาจากที่ไหน และมีขั้นตอนการคิดค้นและผลิตอย่างไรบ้าง จึงเชิญนักข่าวไทยและประเทศในแถบเอเซียแปซิฟิคอีกสามประเทศ ให้ร่วมกันไปเยี่ยมชมศูนย์วิจัยที่นี่ครับ
เมื่อเริ่มเดินชมภายในตัวอาคารศูนย์ ก็ต้องบอกว่าภายในอาคารไม่ได้ตกแต่งล้ำยุคหรือมีอะไรภายนอกที่ดูไฮเทคมากมายนะครับ ตามทางเดินค่อนข้างเกลี้ยงๆ เรียบๆ การออกแบบดูเป็นทางการตามสไตล์ตึกใหญ่ๆ ในปักกิ่ง
แต่ไฮไลค์คือในแต่ละห้องหลังประตูที่ดูเรียบๆ เหล่านั้น เต็มไปด้วยเครื่องทดสอบที่ผมเรียกว่า ” เหล่าเครื่องทรมานครับ”
ต้องเข้าใจฝ่าย R&D ของสมาร์ทโฟนในตึกนี้ซะก่อนนะครับ พวกเขามีหน้าที่ในการออกแบบ ทดสอบ ปรับความเหมาะสม ของตัวสมาร์ทโฟน ในขั้นตอนก่อนการผลิตจริง ซึ่งเครื่องที่ถูกผลิตมาเพื่อทดสอบ ก็จะถูกนำมาทรมานในด้านต่างๆ ที่ตึกนี้จนผ่านมาตรฐานที่เขาต้องการซะก่อน ถึงจะนำไปเข้าสายการผลิตที่โรงงานนั้นเอง
จะแอบบอกว่าฝ่าย R&D นี้แหละ ที่มักจะทำภาพหลุดของเครื่องออกไปเป็นประจำ ^^ เพราะได้เห็นเครื่องก่อนการผลิต และมีการเข้มงวดในการปกปิดความลับน้อยกว่าสายการผลิตในส่วนอื่นๆ (แต่แน่นอน ว่าคนนอกอย่างเราๆ ตลอดทริปโดนห้ามถ่ายรูป ^^ ) ฉะนั้นเครื่องที่เราเห็นก่อนเปิดตัวจึงมีหน้าตาไม่ค่อยเหมือนตอนออกมาขาย เพราะว่าจะมีการปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลากว่าจะถึงขั้นตอนสุดท้ายครับ
เริ่มกันที่ห้องปฏิบัติการลับ
แม้ผมจะเรียกมันว่าห้องปฏิบัติการลับ แต่จริงๆ มันก็ไม่ได้ลับมากมายอะไรครับ มาถึงก็จะเห็นเป็นห้องแรกเลย เขาเอาฝ่ายดูแลระบบปฏิบัติการมาไว้ใกล้ทางออกที่สุด ซึ่งฝ่ายนี้มีหน้าที่ในการดูแลและทดสอบระบบของเครื่องในด้านการใช้งานต่างๆ เช่นการตอบสนองเมื่อนำไปใช้งาน การหมุนหน้าจอ การปรับเปิดปิดต่างๆ ของตัวฟังก์ชั่น ทั้งหมดกระทำผ่านเครื่องจักรและคอมพิวเตอร์ครับไม่ได้ทดสอบโดยมนุษย์ เพราะการทดสอบมาตรฐานด้วยคนอาจจะเกิดความหย่อนยานและแตกต่างในมาตรฐานการทดสอบที่ไม่เท่ากันขึ้นมาได้ง่าย
ฉะนั้นห้องนี้ค่อนข้างจะปลอดมนุษย์ และพวกเราก็ได้ดูเครื่องทดสอบระบบเหล่านั้นผ่านกระจก ผมจึงขอเรียกมันว่า ห้องปฏิบัติการลับ
ห้องความยุ่งเหยิงของสัญญาณ
เดินมาในตึกเดียวกัน ห้องนี้คือสงครามของสัญญาณความถี่ทุกคลื่น ทุกแบนวิทช์ ทุกเทคโนโลยีที่มีในโลกและกำลังจะมีในโลกครับ ทาง Huawei ออกแบบมาเพื่อทดสอบการรับสัญญาณของอุปกรณ์กับความถี่ต่างๆ ในรูปแบบสถานะการณ์ต่างกันไป
มันเยอะมากๆ ทำให้ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมหนึ่งในจุดขายของเครื่อง Huawei คือมักจะเป็นเครื่องที่รองรับคลื่นความถี่หลายย่าน และมีเทคโนโลยีการรับสัญญาณที่ใหม่กว่ามาตรฐานทั่วไปครับ เพราะบริษัทนี้เขาเด่นด้านนี้อยู่เป็นทุน
ห้องทรมานมือถือ
เดินย้ายมาอีกตึกที่หน้าตาคล้ายกันแบบแยกแทบไม่ออก เป็นอีกหนึ่งตึกซึ่งน่าจะอยู่ทางตะวันออกของตึกแรก เดินเข้ามาเราก็เจอกับห้องแห่งการทรมานครับ
ห้องนี้เต็มไปด้วยหุ่นยนต์ที่ออกแบบมาให้ทำการทรมานผู้ทดสอบในทุกรูปแบบ ทั้งการบิดเครื่อง การดร็อปเทสตกกระแทก มีการทดสอบที่ผมคาดไม่ถึงคือการจำลองให้มือถือเหมือนถูกใส่ไว้ในกางเกงยีน และเมื่อผู้ใช้ใส่เครื่องในกางเกงแล้วอยู่ในอิริยาบทต่างๆ เช่นการนั่ง การนอน เครื่องจะต้องทนต่อความตึงเหล่านั้นได้ในระดับที่เขาพอใจด้วยครับ
มีเครื่องที่คอยการกระหน่ำเสียบหูฟังและสายชาร์จเข้าๆ ออกๆ แบบไม่หยุดหยั้งและไร้ความปราณี มีหุ่นยนต์ที่คอยกระหน่ำกดปุ่มบนเครื่องอย่างบ้าคลั่ง มีห้องขังมือถือที่ผมรับแทบไม่ได้ โดยเขาจะปล่อยให้มือถือกลิ้งเกลือกกระทบกระแทกในกล่องใสขนาดเท่าประมาณตัวคน ซึ่งมันจะหมุนไปหมุนมาให้มือถือที่อยู่ภายในกลิ้งกระทบกระแทกไปเรื่อยๆ อย่างทรมาน ไร้ทางออก ไม่มีหยุดพัก จนกว่าจะเจอข้อบกพร่องเมื่อแตกสลาย หรือทรหดจนผ่านการทดสอบนี้ไปได้เท่านั้น
เรียกว่าถ้ามือถือเลือดไหลได้ ห้องนี้ก็ต้องมีเลือดนองเต็มพื้นแน่นอนครับ ทำให้ผมเปิดหูเปิดตาว่า ถ้าคิดจะผลิตมือถือ ต้องทรมานมันกับมือได้ลงคอด้วยนะครับ T_T ของมันถึงจะออกมาแกร่งจริงก่อนส่งถืงมือลูกค้า
ห้องท้องฟ้าจำลอง
ในตึกเดียวกันกับห้องทรมาน แต่อยู่คนละมุมตึก ทาง Huawei มีการสร้างตู้ทรมานในอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นตู้การจำลองพายุฟ้าพายุฝน ตู้พายุฝุ่น เพื่อใช้สำหรับการทดสอบคุณภาพการกันน้ำกันฝุ่นเบื้องต้นที่ควรมีของมือถือ พร้อมมีตู้ทดสอบความทนต่ออุณหภูมิความร้อน
เหล่านี้เป็นสิ่งที่ Huawei เขากำหนดมาตรฐานของเขาไว้เอง ซึ่งผมบอกได้เลยว่าจากที่เดินๆ ชมมา การทดสอบก็โหดกว่าที่ผมคิดไว้แล้วละครับ ฉะนั้นค่อนข้างอุ่นใจเพราะผมคงไม่มีวันไปใช้มือถือในสภาพระดับแบบนั้นแน่นอน – –
ห้องหนามแหลมแห่ง Iron Maiden
ไม่ได้เกี่ยวกับวงร็อคตำนานแต่อย่างใด แต่หมายถึงกรงขังเหล็กหนามแหลมตามตำนานเมื่อประมาณ 400 ปีก่อน
โดย Huawei พาเราเดินลงมาสู่ชั้นใต้ดินของตึกครับ ซึ่งค่อนข้างเป็นส่วนที่ลึกเข้ามาข้างใน ปลายทางเป็นโถงทางตันที่ตอนแรกต้องบอกว่าไม่มีอะไรน่าสนใจเลยครับ มีเพียงกล่องเหล็กขนาดประมาณบ้านชั้นเดียวตั้งอยู่สองสามตู้เท่านั้น
แต่เมื่อทางผู้นำทางของเราทำการเปิดประตูห้องเหล็กเหล่านั้น เราก็เกิดความสนใจขึ้นมาทันที
พื้นที่ที่เราเดินเข้ามาในส่วนนี้ เป็นส่วนของฝ่ายทดสอบและดูแลด้านเสารับสัญญาณของตัวเครื่องโดยเฉพาะครับ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณมือถือ Wi-Fi GPS และบลูทูธ ซึ่งปกติภาครับสัญญาณเหล่านี้จะถูกออกแบบให้ฝังซ่อนอยู่รอบๆ ตัวเครื่อง และตัวเครื่องสมาร์ทโฟนในช่วงหลังๆ ก็มักจะทำมาจากวัสดุโลหะ อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาการรับสัญญาณต่างๆ ด้อยคุณภาพลง และ Huawei เขาก็อยากรู้ว่าคุณภาพสัญญาณของมือถือของเขาตกลงกว่ามาตรฐานมั้ย เขาจึงสร้างห้องเหล็กเหล่านี้ขึ้นมาครับ
ภายในห้อง คล้ายโลงเหล็กหนามแหลมที่ใช้รีดเลือดเหยื่อในสมัยโบราณ Iron Maiden เป็นกล่องที่เต็มไปด้วยหนามแหลมคม แต่ทว่าหนามของห้องเหล่านี้ไม่ได้ทำมาจากเหล็กครับ
หนามทั้งหลายในห้องจะทำมาจากพลาสติกชนิดที่มีคุณสมบัติป้องกันคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า นิ่มเหมือนฟองน้ำและไม่แข็ง เพื่อทำให้บริเวณในห้องเหล็กนั้นเป็นห้องปลอดสัญญาณต่างๆ โดยสิ้นเชิง
Huawei จะทำการทดสอบรับสัญญาณของเครื่องได้แม่นยำจากตัวปล่อยสัญญาณของเขาเองภายในห้องที่ควบคุมได้ครับ โดยมีการจำลองการถือจับของมือถือในลักษณะต่างๆ ของมนุษย์ ว่าจะเกิดจุดบกพร่องของการรับสัญญาณเมื่อถือใช้งานบ้างหรือเปล่าครับตามภาพด้านล่าง
ห้องแห่งความบันเทิง
ห้องสุดท้ายที่เราได้เข้าไปเอาข้อมูลแล้วครับ สำหรับห้องการทดสอบด้านเสียงของเครื่องโดยเฉพาะ เขาการออกแบบห้องสำหรับการทดสอบไว้เช่นกัน ห้องหนึ่งสำหรับสร้างเสียงทุกอย่างเพื่อจำลองความอึกทึก และอีกห้องที่ดูดซับเสียงทุกอย่างจนคนที่อยู่ข้างในหูอื้อและเริ่มจะเวียนหัวต้องรีบเดินออกมา – – หรือที่เราเรียกกันว่าห้องเงียบนั้นเอง
สองห้องนี้ทำหน้าที่เหมือนห้องอัดเสียงนั้นแหละครับ เพื่อทดสอบคุณภาพการรับเสียงของไมโครโฟน และความแม่นยำในย่านเสียงของตัวลำโพงโดยการวัดค่าต่างๆ ที่ได้จากไมค์และลำโพงด้วยค่าที่แม่นยำ ซึ่งแน่นอน เขามีการออกแบบตัวยึดโทรศัพท์ในมุมต่างๆ เลียนแบบการถือเครื่องยามที่เราใช้งานจริงกันครับ
ที่ผมเล่าให้ฟังข้างต้น เป็นแค่งานฝ่ายการพัฒนา R&D เท่านั้น เพราะหลังจากนั้นอีกสองวัน AppDisqus ก็ได้เดินทางไปยังโรงงานผลิตที่เซินเจิ้นประเทศจีน เพื่อเข้าไปรับข้อมูลสายการผลิตจากโรงงานจริงก้นด้วยครับ
ต้องบอกว่าสายการผลิตของ Huawei ค่อนข้างเป็นความลับมากครับ เขาห้ามเราถ่ายรูป ห้ามพกกล้องพกมือถือเข้าไปอย่างเด็ดขาด ต้องเปลี่ยนชุดเปลี่ยนรองเท้า และต้องผ่านเครื่องตรวจจับเหมือนการเดินทางเข้าสนามบิน ไม่ว่าจะเป็นผู้มาเยี่ยมชมหรือพนักงานต้องปฏิบัติตามกฏโรงงานเหมือนกัน ทั้งหมดก็เพื่อมาตรฐานและความปลอดภัยขององค์รวมโรงงานครับ
แต่เขาไม่ได้ห้ามเราถ้าจะนำประสบการณ์ที่เห็นมาเล่าให้ฟังนะ ฉะนั้นงานนี้ไม่มีรูปในโรงงานครับ
โรงงานผลิตสมาร์ทโฟนของ Huawei แน่นอนว่าเป็นไปตามยุคสมัย ที่ทั้งหมดเป็นเครื่องจักรหุ่นยนต์มากกว่า 80% ครับ แต่ละสายพานการผลิตตั้งแต่เริ่มจนจบเป็นเครื่องพร้อมขายอยู่ในสายพานเดียวกัน ตลอดสายพานมีมนุษย์รับช่วงงานอยู่ไม่ถึง 15% โดยส่วนใหญ่เป็นงานไม่ซับซ่อนเช่นการแปะและแกะสติ๊กเกอร์ต่างๆ จะรวมถึงการวางส่วนประกอบบางชิ้นที่มีการมาร์คไว้ตามขั้นตอนเท่านั้น และส่งต่อไปในสายพานให้หุ่นยนต์รับช่วงการประกอบและตรวจสอบต่อไปจนจบ ฉะนั้นไม่ต้องสงสัยกันนะครับว่า ทำไมสติ๊กเกอร์ที่แปะในเครื่องอย่างเช่นเลขรหัสเครื่องบางทีก็ติดเบี้ยว ^^ เพราะนั้นอาจจะเป็นงานฝ่ายมือมนุษย์นั้นเอง
ผมไม่แน่ใจว่าในตึกนั้นมีกี่ชั้น และมีกี่ชั้นที่มีการวางสายการผลิต แต่ในชั้นที่ผมได้เข้าไปก็ถือว่าใหญ่มากแล้วครับ มันมีขนาดประมาณห้องโถงกลางของศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติย์ที่จัดงาน Mobile Expo ในบ้านเรา มีสายการผลิตประมาณ 15 สายเมื่อวัดคร่าวๆ ตามสายตา มีการวางแปลนอย่างเป็นสัดส่วน มีพื้นวางและยืนทำงานที่ชัดเจน
สมาร์ทโฟนถูกสร้างขึ้นจากศูนย์ ด้วยงานประกอบของเครื่องจักรก่อนครับ จากเริ่มเป็นตู้ปิดครอบสายพาน เป็นงานการติดตั้งชิปเซ็ตต่างๆ ลงบนแผงวงจร
ซึ่งชิปเซ็ตต่างๆ จะถูกแพ็กกิ้งมาในลักษณะเหมือนม้วนพิล์มหนังครับ แต่ละชิปจะถูกส่งมาเป็นม้วนๆ และจะถูกดึงเข้าไปทีละนิดโดยหุ่นยนต์เพื่อนำไปประกอบกับแผงวงจร จนออกมาเป็นรูปร่างวงจรภายในของมือถือแบบที่เราคุ้นตากัน
บางช่วงเราสามารถเห็นการทำงานเป็นขั้นเป็นตอนของแขนหุ่นยนต์ได้ และบางช่วงจะเป็นตู้ปิด แม้บางช่วงจะมีมนุษย์รับช่วงในสายการผลิตแต่ก็ต้องทำให้ทันหุ่นยนต์ครับ ซึ่งการทำงานของพวกเขาก็เหมือนกับหุ่นยนต์ไปแล้วเช่นกัน – – มีความคล่องมือมากด้วยทักษะความเคยชิน จนมองมือแทบไม่ทันว่าเขาหยิบจับวางอะไรยังไง เร็วมากๆ
ในพื้นที่โรงงานจะไม่ค่อยมีการเดินไปมาของคนงานนะครับ ในการส่งของจะใช้หุ่นยนต์เดินส่ง ความสูงและรูปร่างคล้าย R2D2 ในสตาร์วอร์ แต่หัวจะเป็นถาดใส่ของแทน ^^
Huawei เล่าว่า สายการผลิตจะไม่ค่อยหยุดครับ ผลิตตลอด 24 ชั่วโมง พนักงานมีการผลัดเปลี่ยนเวรเข้ากะกันตลอด ซึ่งในวันที่ผมไปเขากำลังผลิต Huawei P20 กันอยู่ครับ จากจุดเริ่มต้นจนมาถึงบรรจุลงกล่องเมื่อสิ้นสายพานพร้อมส่งขาย ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีครับ มีเครื่องสำเร็จแพ็กเสร็จออกมาตลอดต่อเนื่องทุก 20 วินาที ขายกันทีหลักสิบล้านเครื่องก็ต้องผลิตให้ได้ในระดับนี้แหละครับ
ก็เป็นวันที่ได้ประสบการณ์เปิดหูเปิดตาของทีมคณะที่เดินทางไปครับ ได้เห็นมาตรฐานงานการทดสอบและสายการผลิตในบริษัทสินค้าระดับโลก หลังจากได้รับฟังวิสัยทัศน์ของกลุ่มผู้บริหารไปในวันแรก บอกตรงๆ ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ผมเข้าใจ Huawei ได้มากขึ้น
อ่าน! >>> Who is Huawei เปิดตำนานการเป็นมาและเส้นทางที่กำลังจะเดินไปของมือถือ Huawei จากการเยี่ยมเยือน Huawei CMG ประจำเซินเจิ้น
ในเร็วๆ นี้ ก็จะมีการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ จาก Huawei ตามมาอีกมากมาย ทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย ก็ติดตามผลงานของแบรนด์นี้กันได้ที่ AppDisqus กันนะครับ