งานวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัย Stanford ชี้ให้เห็นว่านักเรียน นักศึกษา ส่วนใหญ่แยกแยะไม่ออกว่าบทความบนเว็บไซต์นั้น บทความไหนเป็นข่าวจริงๆ และบทความไหนเป็นบทความสปอนเซอร์จากผู้สนับสนุน ซึ่งนั่นนำมาซึ่งความกังวลต่อคำถามที่ว่าเด็กๆ สมัยนี้เสพข่าวสารในโลกออนไลน์กันอย่าง และจากรายงานของ The Wall Street Journal ระบุว่านี่คือการวิจัยด้านนี้ที่ครอบคลุมจำนวนผู้ทำสำรวจมากที่สุดที่มีมา โดยมีนักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมทั้งสิ้น 7,804 คน ไล่ตั้งแต่ระดับโรงเรียนยันระดับวิทยาลัย
จากการศึกษาพบว่า 82% ของนักเรียน นักศึกษา ไม่สามารถแยกแยะบทความที่เป็นบทความสปอนเซอร์และบทความที่เป็นข่าวจริงๆ ออกจากกันได้เมื่ออ่านวิเคราะห์จากเว็บไซต์ผู้รายงานข่าวเดียวกัน นอกจากนี้อีกเกือบ 70% ของนักเรียนในโรงเรียนยังมีความเห็นว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่พวกเขาจะต้องไม่เชื่อบทความสปอนเซอร์ทางด้านการเงินที่เขียนขึ้นโดยผู้บริหารของสถาบันการเงินต่างๆ เอง ทั้งนี้ยังระบุว่านักเรียนส่วนใหญ่ตัดสินความน่าเชื่อถือของข้อความทวิตเตอร์ออนไลน์จากรายละเอียดของโพสและขนาดของรูปภาพที่แนบไว้กับโพสนั้นๆ
ก่อนหน้านี้การเลือกตั้งประธานาธิปดีสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งผ่านพ้นไปเพิ่งจะจุดชนวนความสงสัยให้เกิดขึ้นต่อสื่อออนไลน์เช่น Facebook และเว็บไซต์ต่างๆ ว่ามีมาตรการการจัดการกับข่าวลวงอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าบางเว็บไซต์ถูกกล่าวหาไปว่าเป็นผู้นำเสนอข่าวสารผิดๆ ให้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งที่เพิ่งจะจบไป เหตุการณ์นี้ร้อนไปถึง Mark Zuckerberg ซีอีโอของ Facebook ที่ต้องออกมาชี้แจงในภายหลังว่าบริษัทกำลังหาทางวางระบบจัดการการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จอยู่ รวมไปจนถึงความเคลื่อนไหวล่าสุดจาก Google ที่ระบุอย่างชัดเจนว่าจะเริ่มแบนเว็บไซต์ที่เสนอข่าวเท็จต่างๆ ออกจากแพลตฟอร์มโฆษณาออนไลน์ของตน
ทั้งนี้งานวิจัยของ Stanford ในครั้งนี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเด็กๆ ยังไม่สามารถแยกแยะความน่าเชื่อถือของสื่อออนไลน์ในปัจจุบันได้ ซึ่งนั่นทำให้เป็นเรื่องยากที่เด็กๆ จะแยกแยะได้ว่าข้อมูลใดบ้างที่เป็นข้อมูลเท็จที่มาจากการโฆษณาชวนเชื่อและบทความประชาสัมพันธ์ โดยปัจจุบันนี้ทางโรงเรียนมีการเตรียมความพร้อมแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการเริ่มเสริมคอร์สเรียนในเรื่องของการเสพสื่อเข้าไปในบทเรียนมากขึ้นจากรายงานของ Journal แต่ทั้งนี้โรงเรียนต่างๆ ก็ยังขาดแคลนบรรณารักษ์ซึ่งเป็นบุคลากรสำคัญที่จะช่วยแนะนำเด็กๆ ในเรื่องของการค้นหาข่าวต่างๆ ที่เพื่อการเสพอย่างถูกต้อง ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Standford ที่เป็นโต้โผในงานวิจัยครั้งนี้อย่าง Sam Wineburg ได้เสริมกับทาง Journal ว่าเด็กๆ ควรต้องเรียนรู้การตรวจเช็คความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์นำเสนอข่าวออนไลน์ต่างๆ โดยการอ้างอิงจากแหล่งข่าวอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ยังสัมทับว่าเด็กๆ ไม่ควรที่จะให้คะแนนความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์หรือข่าวแต่ละข่าวจากอันดับผลการค้นหาของ Google แต่อย่างใด