หลายคนก็คงได้ยินมาแว่ว ๆ มาบ้างเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่ที่ สนช. กำลังพิจารณาอยู่ ว่าให้อำนาจทางการสอดส่องดูแลเราได้มากขึ้น ป้องกันภัยต่าง ๆ ได้ดีขึ้น แต่ก็รุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของเรามากขึ้นเช่นกัน แต่หลายคนกลับแค่ปล่อยผ่าน ไม่ใส่ใจมันมากนัก จะรู้สึกตัวและมีปฏิกิริยาก็ต่อเมื่อ พ.ร.บ. ฉบับนี้ประกาศใช้แล้ว ซึ่งตอนนั้นก็คงได้แค่บ่นแต่ไร้ผลใด ๆ … ? ทำไมเราทำตัวแบบนี้นะ ผมเองก็ถามคำถามนี้กับตัวเองเช่นกัน ด้วยเหตุนี้จึงได้คลี่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่นี้ออกมาดู หาข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งมาพินิจ นำความเห็นของหลาย ๆ คนออกมาพิจารณา จึงได้ความว่า มันน่ากังวลใจยิ่งนัก!! โดยเฉพาะ 5 มาตราที่ผมจะกล่าวถึงต่อไปนี้ ด้วยเหตุนี้จึงขอสรุปประเด็นปัญหาบางส่วนของ พ.ร.บ.คอมฯ มาแสดงไว้สั้น ๆ ให้เพื่อน ๆ ชาว AppDisqus ได้อ่านและนำไปไตร่ตรองกันดูครับว่า มันน่ากังวลใจอย่างที่ผมบอกไว้หรือไม่? ดีกว่าที่จะปล่อยผ่านไปจนถึงจุดที่เราแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว
เอกสารประกอบบทความ
- ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
- ร่วมลงชื่อ >> หยุด Single Gateway หยุดกฎหมายล้วงข้อมูลส่วนบุคคล
ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับนี้ เป็นกฎหมายที่จะเสริมเขี้ยวเล็บให้รัฐ ในการสอดแนม ดักจับ และปิดกั้นข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เรามาดูว่า 5 มาตราที่น่ากังวลนี้มีอะไรบ้าง
- มาตรา 8 (แก้ไขมาตรา 14 ของร่างเดิม) >> อ่านบทบัญญัติเต็ม ๆ ได้ที่นี่
นิยามคำต่าง ๆ ในมาตรานี้ เช่น “ข้อมูลเท็จ” “ความเสียหายแก่ประชาชน” และ “ความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ” ไม่มีความชัดเจน ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ที่แสดงความเห็นออนไลน์ถูกลงโทษอาญาฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาได้ ทั้ง ๆ ที่กรณีเช่นนี้ควรเป็นคดีแพ่งมากกว่า
- มาตรา 9 (แก้ไขมาตรา 15 ของร่างเดิม) >> อ่านบทบัญญัติเต็ม ๆ ได้ที่นี่
มาตรานี้กำหนดโทษอาญาต่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) จากการแสดงความเห็นและการกระทำของผู้ใช้บริการ การกำหนดโทษดังกล่าวย่อมเป็นเหตุจูงใจให้ ISP ยอมเซ็นเซอร์ข้อมูลบางอย่างและยอมละเมิดเสรีภาพของผู้ใช้บริการ เพื่อหลีกเลี่ยงบทลงโทษของตัวเอง ซึ่งมีตั้งแต่การจ่ายค่าปรับ การถูกระงับ ไปจนถึงปิดเว็บไซต์และยกเลิกธุรกิจ
- มาตรา 13 (แก้ไขมาตรา 18 ของร่างเดิม) >> อ่านบทบัญญัติเต็ม ๆ ได้ที่นี่
มาตรานี้เป็นการขยายอำนาจการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนโดยไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งศาล โดยเจ้าหน้าที่สามารถ “ขอความร่วมมือ” เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จำเป็นต่อการสอบสวน โดยอาจรวมถึงการบังคับให้ถอดหรือเปิดเผยรหัสสำหรับข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสรักษาความปลอดภัยด้วย
- มาตรา 14 (แก้ไขมาตรา 20 ของร่างเดิม) >> อ่านบทบัญญัติเต็ม ๆ ได้ที่นี่
มาตรานี้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ลบหรือระงับการเข้าถึงเนื้อหาออนไลน์ที่ถูกมองว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้ว่าจะเป็นเนื้อหาที่ไม่ผิดกฎหมายใด ๆ ก็ตาม ซึ่งถือเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสวงหา รับรู้ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิด
- มาตรา 17 (แก้ไขมาตรา 26 ของร่างเดิม) >> อ่านบทบัญญัติเต็ม ๆ ได้ที่นี่
มาตรานี้ว่าด้วยการเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ โดยไม่ยกเลิกข้อกำหนดเดิมที่ให้มีการเก็บรักษาข้อมูลแบบครอบจักรวาลและหว่านแห (mass surveillance) นอกจากนั้น มาตรานี้ยังขยายระยะเวลาสูงสุดของการเก็บรักษาข้อมูลจาก 1 ปีเป็น 2 ปี และไม่ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องขออำนาจจากศาลด้วย
ปัญหาหลักน่าจะอยู่ที่มาตรา 14 ครับ ซึ่งทางผู้เปิดแคมเปญรณรงค์หยุด พ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่าน Change.org ได้สรุปประเด็นปัญหาออกมา 4 ข้อ โดยระบุไว้ชัดเจนและเห็นภาพออกมาเลยว่า
- มาตรา 14 (1) ของร่างที่แก้ไขใหม่ ยังถูกตีความให้นำมาใช้กับความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ ทั้งที่เจตนารมณ์แท้จริงของกฎหมายมุ่งที่จะแก้ปัญหาการปลอมแปลงตัวตนเพื่อหลอกลวงออนไลน์เท่านั้น
- มาตรา 14 (2) ของร่างที่แก้ไขใหม่ กำหนดฐานความผิดไว้อย่างคลุมเครือ เช่น ความผิดฐานโพสต์ข้อมูลเท็จที่กระทบต่อ “ความปลอดภัยสาธารณะ” หรือ “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” ซึ่งไม่มีนิยามอยู่ในกฎหมาย การใช้คำที่ไม่ชัดเจนเช่นนี้ อาจส่งผลให้การบังคับใช้มีปัญหา เกิดการตีความโดยเจ้าหน้าที่เพื่อประโยชน์ของผู้มีอำนาจในเวลานั้น
- มาตรา 15 และ 20 ของร่างที่แก้ไขใหม่ ให้อำนาจรัฐมนตรีออกประกาศเพิ่มเติมเรื่องหลักเกณฑ์และขั้นตอนวิธีการปิดกั้นเว็บไซต์ได้ ซึ่งปรากฏเอกสารของกระทรวงไอซีทีว่ามีการเตรียมการออกประกาศให้สามารถมีวิธีการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกเข้ารหัสเพื่อให้สามารถปิดกั้นเว็บไซต์ที่เข้ารหัสได้ และหากผู้ให้บริการ (เช่น อินเทอร์เน็ตเกตเวย์) ไม่ให้ความร่วมมือก็จะมีความผิด การกระทำดังกล่าวจะรบกวนระบบรักษาความปลอดภัยของอินเทอร์เน็ต และทำให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมดตกอยู่ในความไม่ปลอดภัย แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดใดเลยก็ตาม
- มาตรา 20 (4) ซึ่งเพิ่มขึ้นมาใหม่ เรื่องการปิดกั้นเว็บไซต์ จะส่งผลให้เว็บไซต์ถูก “บล็อค” ได้ แม้ว่าเนื้อหาบนเว็บไซต์จะไม่ผิดกฎหมายใด ๆ เลยก็ตาม หากคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์เห็นว่าเนื้อหาเหล่านั้น “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี” ทั้งนี้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ทั้ง 5 คนมาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ และร่างกฎหมายไม่ได้กำหนดคุณสมบัติที่ชัดเจนของกรรมการ
อัน “สิทธิที่จะมีเสรีภาพและสิทธิความเป็นส่วนตัว” ควรได้รับการคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยเป็นประเทศภาคีมาตั้งแต่ปี 2539 หน้าที่ของทางการไทยจึงเป็นการคุ้มครองสิทธิดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่การพยายามปิดกั้นอย่างที่เป็นอยู่
อย่างไรก็ตาม หากเราจะคิดในมุมมองของภาครัฐจะเข้าใจในระดับหนึ่งว่า ในตอนนี้รัฐควบคุมและดูแลสังคมออนไลน์ได้ยากมาก มันเหมือนเป็นรัฐอิสระในโลกออนไลน์ที่ไร้กฎหมายควบคุม ด้วยเหตุนี้รัฐจึงพยายามที่จะเข้าไปดูแล แต่เนื่องด้วยสังคมออนไลน์มันกว้าง เร็ว มีปัญหาใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา เครื่องมือที่จะนำมาใช้จึงต้องมีพลังมากพอที่จะหยุดสิ่งที่ไม่เหมาะสมได้ทัน พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับนี้จึงเป็นคำตอบสำหรับเรื่องนี้ แต่ …
ผมคิดว่า(ความเห็นส่วนตัวมาก ๆ ไม่เกี่ยวกับ AppDisqus) หากภาครัฐมองเห็นศักยภาพของสังคมออนไลน์อย่างแท้จริง ก็จะรู้ว่าไม่มีกฎหมายใด ๆ ที่จะมาแก้ปัญหาได้อย่างหมดจด ยกเว้นจะห้ามคนไทยใช้สังคมออนไลน์ที่เป็นปัญหาไปเลย ดังนั้นภาครัฐควรสร้างกฎหรือกติกาที่เกิดจากฐานรากของสังคมออนไลน์จริง ๆ จำลองยุคสมัยก่อนที่เรายังไม่มีกฎหมาย เราพึ่งจารีตประเพณี บรรทัดฐานทางสังคม และค่านิยมในสังคมนั้น ๆ มาดูแลกันและกัน ในตอนนี้สังคมออนไลน์ก็มาถึงจุดนั้นแล้ว จะสังเกตเห็นว่าชาวเน็ตที่เล่นสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เขาไม่ได้เล่นตามใจชอบ นึกจะโพสอะไรก็โพส และไม่ได้ปล่อยปละละเลย หากมีโพสไม่เหมาะสมก็ทำการ “รายงาน” ให้เจ้าของสังคมออนไลน์นั้น ๆ ลบให้ หรือไม่ก็แชร์เพื่อตำหนิ ประจานในพันทิป และอื่น ๆ อีกมากมาย ชาวเน็ตดูแลซึ่งกันและกันให้สังคมออนไลน์นั้นอยู่อย่างสงบกันดีพอสมควร ผมมองว่ารัฐควรเพิ่มเครื่องมือให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่พยายามดูแลและควบคุมสังคมออนไลน์ของพวกเขา มากกว่าเพิ่มเครื่องมือที่มีอำนาจแต่ไร้พลังให้ตัวเอง จึงอยากเสนอแนวทางบางอย่างที่พอนึกได้ในตอนนี้ และขอความเห็นเพื่อน ๆ เพิ่มเติมด้วยนะครับ
- ปัญหาของการ ”รายงาน(report)” โพสไม่เหมาะสมของสังคมออนไลน์ต่าง ๆ นั้น หัวข้อที่ให้เราเลือกรายงาน ในช่วงแรกมักจะเป็นเรื่องที่ขัดกับบรรทัดฐานทางสังคมของตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีการแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะปรับปรุงหัวข้ออยู่เสมอ แต่มันก็ยังไม่เพียงพอมากนัก ในเรื่องนี้หากรัฐจะเจรจาหรือขอร้องให้มีหัวข้อในการ ”รายงาน(report)” ครอบคลุมเรื่องที่ไม่เหมาะสมมากขึ้น จะเป็นผลดีต่อการช่วยกันสอดส่องให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- ศึกษาโมเดลการทำงานของแฟนเพจ “กรมทรัพย์สินทางปัญญา” ที่จัดการทางกฎหมายกับกลุ่มละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ไหว(เพราะมันเยอะมาก) แม้จะมีกฎหมายที่เอาผิดได้อยู่ในมือก็ตาม ก็ใช้พลังด้านดีของผู้ใช้งานสังคมออนไลน์ช่วยกันรายงานไปทาง Facebook หรือสังคมออนไลน์อื่น ให้ลบโพสหรือแฟนเพจละเมิดลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ได้สำเร็จ (นั่นเพราะ Facebook ให้ความสำคัญกับการละเมิดสิขสิทธิ์อยู่แล้ว ดังนั้นเราต้องทำข้อ 1 ให้ได้เสียก่อน)
- ประสานงานกับแฟนเพจหรือกลุ่มคนที่มีคุณภาพในการจับตาสังคมออนไลน์ เพื่อสนับสนุนทั้งการเผยแพร่ปัญหาร่วมกันและรับปัญหามาจัดการอย่างทันท่วงที มันจะเกิดความร่วมมืออันดับระหว่างภาครัฐและผู้ใช้สังคมออนไลน์ที่ดี(ต้องประชาสัมพันธ์หรือแสดงให้เห็นจริง ถึงความร่วมมือนี้ให้สังคมออนไลน์ได้รับทราบด้วย)
นอกจาก 3 ข้อนี้ ยังมีวิธีการอื่น ๆ อีกมากมายครับ ภาครัฐมีบุคลากรที่มีศักยภาพ มีอำนาจมากกว่าแฟนเพจหรือกลุ่มคนใด ๆ ในสังคมออนไลน์ การทำเรื่องนี้ไม่ได้ยากเลย และลำพังกฎหมายฉบับเดิมก็เพียงพอในการจัดการเรื่องพวกนี้แล้ว พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับนี้ มันเป็นเครื่องมือที่ดี ถ้าอยู่ในมือคนดี แต่มันจะกลายเป็นเครื่องมือที่ชั่วร้ายถ้าตกอยู่ในมือคนที่คิดไม่ซื่อ ผมไม่ได้กลัวถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพหรอกครับ แต่ผมกลัวว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้คนชั่วมันชั่วได้มากขึ้น ได้ง่ายขึ้น ได้เร็วขึ้น เมื่อถึงตอนนี้ ท่านที่เป็นคนยกมือให้กฎหมายฉบับนี้ผ่าน อาจจะรู้สึกผิดภายหลังก็เป็นไปได้
ที่มาคุณภาพ: