เทรนด์อย่างหนึ่งในสังคมออนไลน์ทุกวันนี้ ก็คือ พฤติกรรมที่เรียกกันว่า “ดักควาย” เราขอไม่ขยายความวลีนี้นะครับ เชื่อว่าทุกคนรู้ความหมาย ซึ่งพฤติกรรมนี้มักจะเกิดตามกระแสสังคมออนไลน์ที่ทำท่าว่าจะเอนอียงไปด้านใดด้านหนึ่งแบบสุด ๆ ชนิดที่เรียกว่า “ไม่คิด” กันเลยทีเดียว คนอีกกลุ่มจะเถียงหรือแชร์โดยใช้ตรรกะและเหตุผล แต่ก็มีคนอีกบางกลุ่มรู้ดีว่าตรรกะและเหตุผลเอามาใช้ไม่ได้ในสถานการณ์แบบนั้น จึงดัดนิสัยคน “ไม่คิด” ด้วยรูปหรือโพส “ดักควาย” อันเป็นข้อมูลที่เป็นเท็จ ซึ่งคาดว่าคนกลุ่ม “ไม่คิด” จะ Like และ Share แบบไม่คิดอีกเช่นเคย
อย่างไรก็ตาม คนโพส “ดักควาย” ก็พอจะมีจรรยาบรรณอย่างหนึ่งอยู่บ้าง นั่นคือ จะแนบเฉลยไว้ในโพสทุกครั้ง หรืออย่างน้อย ๆ ก็จะแนบเฉลยเอาไว้ในคอมเม้นท์ โดยส่วนใหญ่แล้ว กลุ่มคนที่แชร์แบบไม่คิด จะไม่อ่านข้อความนั้นเลย
[quote]
หากคนไทยมีความสามัคคีกัน และช่วยกันปกป้องดินแดนทั้งหมดเอาไว้ได้ ประเทศไทยจะมีอาณาเขตกินเนื้อที่ราว 5,283,000 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าประเทศไทยในปัจจุบันถึง 10 เท่า หรือใหญ่กว่าสหภาพยุโรปทั้งหมดรวมกันเสียอีก
น่าเศร้าที่ประเทศไทยซึ่งเคยเป็นชาติอันยิ่งใหญ่กว่าเหล่าประเทศในสหภาพยุโรปที่หลงลืมความยิ่งใหญ่ของอดีตไปและเอาแต่เดินตามฝรั่งมังค่าที่มีดินแดนเล็กกว่าประเทศไทยโบราณหลายเท่าตัว วิญญาณบรรพบุรุษที่เสียสละเลือดเนื้อปกป้องแผ่นดินไว้ต้องหลั่งน้ำตาเป็นแน่แท้
ลูกหลานไทยจงอย่าได้ลืมประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของเรา เราต้องร่วมมือกัน เพื่อทวงคืนดินแดนที่บรรพบุรุษสูญเสียไปกลับมาเป็นของคนไทยอีกครั้ง
อ้างอิงจากแผนที่ไทยโบราณในแบบเรียนของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช https://www.facebook.com/photo.php?fbid=380950782039871&set=a.300634830071467.1073741828.207705419364409&type=1&theater
[/quote]
หมายเหตุ: สีเขียว คือข้อความดักควาย สีแดง คือเฉลย
ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นอาจารย์คณิตศาสตร์ จะบอกว่า การสอนผ่านความจริงที่ผิดพลาดนี้ถือว่าเป็นเทรนด์ในวงการคณิตศาสตร์เช่นกัน แต่จะบอกนักศึกษาว่ามันผิด!! แล้วตั้งคำถามกลับไปว่ามันผิดจุดไหน? เท่านี้นักศึกษาก็จะพยายามค้นคว้าหาความจริงด้วยตัวเอง อย่างสนุกสนาน…
เช่นเดียวกันกับเรื่องโพสดักควาย มันจะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าคนที่ถูกดัก Like และ Share ไปแล้ว ไม่รู้ว่ามันผิด แถมบางคนอาจบันทึกแค่รูปแล้วไปโพสแชร์ต่อโดยไม่แนบเฉลยไปด้วย ทีนี้แม้แต่คนรู้จักคิดหน่อย ก็อาจเข้าใจผิดไปได้เช่นกัน ดังนั้นเราจึงขอนำเสนอข้อความจริงเกี่ยวกับรูปภาพข้างต้นนะครับ ซึ่งที่มาก็นำมาจากแฟนเพจที่โพสรูปดังกล่าวนั่นหละครับ ข้อความจริงระบุว่า …
[quote]
ประวัติศาสตร์เสียดินแดน: จากนิทานสร้างชาติ สู่เครื่องมือสร้างอคติและความเกลียดชัง
– ขุนวิจิตรมาตรา เริ่มต้นเรื่องด้วยคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต
– หลวงวิจิตรวาทการ ระบุว่าไทยเสียดินแดน 5 ครั้ง
– แบบเรียนของไทยวัฒนาพานิชระบุว่าไทยเสียดินแดน 8 ครั้ง
– ขณะที่โลกยุคใหม่ คลิป Youtube ที่มีการแชร์ทั่วไประบุว่าไทยเสียดินแดน 14 ครั้ง
นี่คือพล็อตประวัติศาสตร์ที่เรารู้จักกันดี และดูเหมือนยิ่งเวลาผ่านไปเรายิ่งเสียดินแดนมากครั้งขึ้นทุกทีๆ
โดยไม่มีใครเคยถามเลยว่า มีหลักฐานอะไรยืนยันบ้าง?
นับตั้งแต่ความขัดแย้งกรณีปราสาทเขาพระวิหารเริ่มปรากฏ หนังสือ, คลิป, คำอธิบายก็ปรากฏตีพิมพ์ออกมามากมาย ทั้งโดยนักวิชาการอาชีพและมือสมัครเล่น แต่ทั้งหมดมีแบบแผนการเล่าคล้ายกัน คือเริ่มด้วย“พล็อตเรื่อง”ประวัติศาสตร์การเสียดินแดน และความทรงจำอันเจ็บปวดว่าด้วยการเสียดินแดนถูกผลิตซ้ำผ่านตำราเรียนให้กับคนไทยรุ่นแล้วรุ่นเล่า
ปัญหาของประวัติศาสตร์ชนิดนี้คือการเอาความเข้าใจแบบรัฐสมัยใหม่ ไป“ยัด”ใส่รัฐโบราณ โดยที่รัฐโบราณไม่มีกรอบคิดเรื่องเส้นเขตแดนใดๆ ความสัมพันธ์อำนาจระหว่างแต่ละเมืองแต่ละรัฐก็เป็นไปอย่างหลวมๆ เมืองประเทศราชส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดก็คือเมืองสองฝั่งฟ้า
แหล่งกำเนิดของคนไทยว่ามาจากเทือกเขาอัลไต (ระบุด้วยว่าคุปติ?) รวมถึงอาณาเขตไทยโบราณอันยิ่งใหญ่กินพื้นที่เกือบทั้งแผ่นดินจีนนั้น ทุกวันนี้เราก็ทราบกันดีว่าเป็นเพียงนิทานที่ไม่มีหลักฐานใดรองรับ
และเพียงแค่ตัวหนังสือ, รูปภาพและคลิป บนฐานของพล็อตประวัติศาสตร์ที่ไร้ที่มาที่ไป ก็แสดงตัวออกมาเป็นความเกลียดชัง-ความเป็นศัตรู-ความรุนแรง ที่ถูกโหมกระพือ นำไปสู่สงครามจริงๆมีคนตายจริงในที่สุด
เมื่อเราเริ่มเข้าสู่การเป็น Modern State “พล็อตประวัติศาสตร์เสียดินแดน”นี้ ถูกใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือสร้างชาติ นั่นคือเหตุผลของยุคสมัยนั้นอันมาจากความมุ่งหวังที่ดีของคนในยุคนั้น
แต่เมื่อถึงปัจจุบันที่การศึกษาประวัติศาสตร์พัฒนารอบด้าน ผู้คนมีความรู้เกี่ยวกับโลกกว้างขึ้น-และ”คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต”กลายเป็นเรื่องตลก- ประวัติศาสตร์เสียดินแดนนี้จึงกลายเป็นมายาคติที่มีไว้ย้ำความเกลียดชัง สร้างความเป็นศัตรู และนำไปสู่ความรุนแรงได้ในที่สุด
คำถามคือ พล็อตประวัติศาสตร์สร้างความเกลียดชังนี้ ยังจำเป็นแค่ไหนในโลกศตวรรษที่ 21?
—————
อ้างอิง
– พวงทอง ภวัครพันธุ์, รัฐและขบวนการอนารยะสังคมไทยในกรณีปราสาทพระวิหาร State and Uncivil Society in Thailand at the temple of Preah Vihear
– ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ประมวลแผนที่ :ประวัติศาสตร์-ภูมิศาสตร์-การเมืองกับลัทธิอาณานิคมในอาเซียน-อุษาคเนย์
– ธงชัย วินิจจะกูล, กำเนิดสยามจากแผนที่ ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ Siam Mapped A History of the Geo-body of a Nation
[/quote]
สุดท้ายนี้ขอฝากถึงทั้งคนโพส คน Like และคน Share นะครับว่า ในตอนนี้สังคมออนไลน์กฎหมายยังเอื้อมถึงยาก บรรทัดฐานทางสังคมก็ไม่ได้เกิดง่าย ๆ ด้วยตัวบุคคล แต่สิ่งที่ตัวเราทำได้และควรมี ก็คือ “ความรับผิดชอบ” ?
ที่มา: แฟนเพจ New Culture