Linksys E9450 เราเตอร์ WiFi 6 ที่มาพร้อมฟังก์ชั่น EasyMesh เพื่อการเชื่อมต่อคุณภาพในราคาที่เอื้อมถึงได้
อย่าให้ใครมาบอกว่า WiFi 6 ยังไม่จำเป็นสำหรับชีวิตเราครับ เพราะในปัจจุบันนี้ อุปกรณ์มือถือและแก๊ดเจ็ตที่เราใช้งานนั้นต่างก็มีการอัพเกรตชิปเซ็ต WiFi กันไปเป็น WiFi 6 แล้ว โดยหลักๆ นั้นก็เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของโครงข่ายไร้สายภายในบ้านให้ตอบรับกับเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตบ้านที่ไวขึ้นมาจนพื้นฐานในปัจจุบันแทบจะเป็น 1Gpbs กันทุกพื้นที่แล้ว ดังนั้นหากเพื่อนๆ ยังอยู่กับเราเตอร์ WiFi ที่รองรับแค่ WiFi 5 เราก็จะไม่มีทางได้ใช้งานอินเตอร์เน็ตไร้สายได้อย่างคุ้มค่า คุ้มกับราคาที่เราเสียให้กับผู้ให้บริการอยู่ดีครับ อีกอย่างคือซื้อมือถือมาราคาแพงๆ อุตส่าห์รองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้ว อย่าต้องให้ WiFi ที่บ้านมาเป็นประเด็นให้ขัดใจเล่นเลย และยิ่งในเวลาที่เราเตอร์ WiFi 6 นั้นราคาจับต้องได้อย่างเจ้า Linksys E9450 ที่ขายกันอยู่ประมาณ 4,500 – 5,500 แล้วด้วย แบบนี้ก็จัดเถอะครับ อย่าได้เสียเวลาคิดมากเลย
The Good
- ออกแบบได้มินิมอล แต่สวยงาม และดูล้ำในเวลาเดียวกัน
- รองรับ EasyMesh และฟังก์ชั่นสำคัญๆ ที่ช่วยให้เราเตอร์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- UI การตั้งค่าออกแบบมาให้สามารถเข้าใจและใช้งานได้ง่าย
- ประสิทธิภาพการเชื่อมต่อไร้สายบน WiFi 6 ดีมาก ดีขึ้นกว่า WiFi 5 แบบก้าวกระโดด
- พอร์ตการเชื่อมต่อมีให้อย่างเหลือเฟือและครบถ้วน
The Bad
- ไม่สามารถเชื่อมต่อกับเราเตอร์ที่มีฟังก์ชั่น EasyMesh จากผู้ให้บริการหลักได้
- ไม่สามารถใข้งานร่วมกับ Velop จาก Linksys ได้ ทั้งๆ ที่เป็นแบรนด์เดียวกัน
- นอกจาก Linksys E9450 แล้ว ณ ตอนนี้ยังแทบไม่มีเราเตอร์เชิงพาณิชย์ที่รองรับ EasyMesh อีกเลย
- เลือกปิดหรือหรี่แสงไฟเราเตอร์ไม่ได้ ทำให้อาจรบกวนเวลานอนหากเอาไว้ในห้องนอน
-
ประสิทธิภาพ
-
วัสดุและการประกอบ
-
ฟังก์ชั่นและประโยชน์ในการใช้งาน
-
ความคุ้มค่าต่อราคา
ปัจจุบันนี้อินเตอร์เน็ตในบ้านเราแทบจะเรียกได้ว่าก้าวเข้าสู้ยุค Gigabit อย่างเป็นทางการแล้วก็ว่าได้ เพราะแพ็คเกจอินเตอร์เน็ตความเร็วดาวน์โหลด 1Gbps นั้นแทบจะสามารถติดตั้งกันได้ทั่วทุกทุกพื้นที่ อีกทั้งค่าบริการรายเดือนเองก็ยังถูกแสนถูกอีกด้วย ซึ่งก็ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันนี้ที่ในแต่ละบ้านต่างก็เน้นดูหนังผ่านบริการสตรีมมิ่งทั้งหลาย รวมถึงเล่นเกมออนไลน์จัดปาร์ตี้หนักกับเพื่อนๆ ซึ่งต้องอาศัยทั้งอินเตอร์เน็ตที่มีความไวสูง และยังต้องมีความเสถียรในการใช้งานในระดับดีมากอีกด้วย
ทีนี้ถ้าว่ากันถึงเราเตอร์ Gigabit นั้นก็คงหากันได้ไม่ยากแล้วในยุคสมัยนี้ ผู้ให้บริการทุกรายที่มีอินเตอร์เน็ต Gigabit ให้บริการต่างก็มาพร้อมโมเดมเราเตอร์ Gigabit เพื่อให้ใช้งานเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพของค่าบริการที่เสียไป แต่เพื่อนๆ ทราบหรือไม่ว่าเราเตอร์ Gigabit ทั่วไปในปัจจุบันนั้นมักจะทำความไวดาวน์โหลดได้สูงจริงๆ ก็ต่อเมื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์และเราเตอร์เข้าหากันด้วยพอร์ต Lan แต่หากเป็นการเชื่อมต่อผ่านทาง WiFi แล้ว ความเร็วอินเตอร์ของเพื่อนๆ เองมักจะติดแคปการดาวน์โหลดอยู่ที่ประมาณ 300 – 400 Mbps เนื่องจากข้อกำหนดของเทคโนโลยี WiFi ที่กำลังจะตกยุคแล้วอย่าง WiFi 5 ซึ่งค่อยๆ ถูกแทนที่ตามยุคตามสมัยด้วย WiFi 6 ที่เพิ่มความเร็วในการดาวน์โหลดไร้สายแบบติดสปีดให้กับเพื่อนๆ ได้ใกล้เคียงคำว่า 1Gpbs ตามที่ควรเป็น
วันนี้ APPDISQUS จะพาเพื่อนๆ มาสัมผัสกับเราเตอร์ใหม่จาก Linksys ซึ่งเป็นแบรนด์ดังระดับโลกด้านเน็ตเวิร์ค กับเราเตอร์ WiFi 6 อย่าง Linksys E9450 (AX5400) ที่ไม่ได้มีดีเพียงแค่การเป็นเราเตอร์ WiFi 6 เท่านั้น แต่ยังมาพร้อมความสามารถในการสร้างเครือข่าย Mesh กับเทคโนโลยีอย่าง EasyMesh อีกด้วย
Linksys E9450 ความสวยงามที่โดดเด่นและลงตัว
Linksys E9450 ที่ APPDISQUS ถืออยู่ในมือเพื่อการทดสอบในครั้งนี้เป็นแพ็คคู่จาก Linksys ที่มาพร้อมเราเตอร์ AX5400 จำนวน 2 ตัว โดยตัวเราเตอร์นั้นเน้นการออกแบบที่ดูทันสมัย ออกแนวฟิวเจอริสติกหน่อยๆ แต่ก็ยังคงธีมความินิมอลเอาไว้ด้วยการใช้สีขาวเป็นสีเบสของตัวเครื่อง ตัดกับสีดำบริเวณหน้าจอแสดงสถานะ ซึ่งหน้าตาโดยรวมนั้นต้องบอกว่าสวยงาม และให้ความรู้สึกคล้ายๆ กับเกมคอนโซลแห่งยุคนี้อย่าง PlayStation 5 เลยจริงๆ
ด้านหน้าตัวเครื่องเน้นสีดำขลับเพื่อให้ตัดกับตัวเครื่องสีขาว โดยเป็นพื้นที่สำหรับการแสดงสถานะการเปิด/ปิดของตัวเครื่อง รวมไปจนถึงสถานะการเชื่อมต่อ WiFi และอินเตอร์เน็ต ตลอดจนแสดงสถานะการเชื่อมต่อในรูปแบบ Mesh ในขณะที่ด้านหลังตัวเครื่องนั้นมาพร้อมปุ่ม WPS สำหรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์แบบเร่งด่วน, USB 3.0, พอร์ต Gigabit Lan จำนวน 4 พอร์ต, พอร์ต Gigabit WAN แยกออกมาอีก 1 พอร์ต, ช่องเสียบสายอแดปเตอร์ 12V, ปุ่มเปิด/ปิดการเครื่อง และปุ่มรีเซ็ต
ไฟแสดงสถานะต่างๆ นั้นจะปรากฏขึ้นที่ด้านหน้าของตัวเครื่องเมื่อเปิดใช้งาน เพื่อให้สามารถสังเกตสานะการทำงานของตัวเครื่องได้อย่างง่ายดาย และยังทำให้ตัวเราเตอร์เองดูสวยโดดเด่นเมื่อเปิดใช้งานด้วย
Linksys E9450 นั้นไม่ได้มีเพียงความสวยงามเท่านั้นนะครับ ตัวเราเตอร์เองยังมาพร้อมกับสเป็กที่น่าสนใจอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยประมวลผลประสิทธิภาพสูงถึง 1.5GHz ที่เอื้อให้เราเตอร์แรงพอที่จะประมวลผลกิจกรรมต่างๆ สูงสุดถึง 5.4Gbps อีกทั้งยังรองรับช่องสัญญาณ 160MHz เพื่อหลีกหนีสัญญาณรบกวนสำหรับ WiFi ทั่วไป ตลอดจนเทคโนโลยี 4×4 MU-MIMO – 4×4 WiFi 5GHz พร้อม Downlink / Uplink โดยคุณสมบัติเด่นๆ ที่ต้องหยิบมาพูดถึงเลยนั้นก็ยกตัวอย่างเช่นเทคโนโลยี OFDMA ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพเราเตอร์ให้รองรับการรับ-ส่งข้อมูลอุปกรณ์ได้มากขึ้น ส่งผลให้สามารถใช้งานอุปกรณ์พร้อมๆ กันได้เป็นจำนวนมากขึ้นนั่นเองครับ
Linksys E9450 กับการตั้งค่าการเชื่อมต่อที่ง่ายดายและลงตัว
เจ้า Linksys E9450 นั้นสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์ได้กับทุกค่ายที่เพื่อนๆ ใช้งานอยู่ในตอนนี้เลยครับ ซึ่งในการทดสอบครั้งนี้ APPDISQUS เองเชื่อมต่อเราเตอร์กับอินเตอร์เน็ตของผู้ให้บริการอย่าง True ซึ่งก็ทำได้ง่ายดาย โดยค่ามาตรฐานจากทางโรงงานนั้นจะเป็นการเข้าไปตั้งค่าผ่านทาง IP ที่ล็อคไว้สำหรับเจ้า Linksys E9450 นี้ คือ 192.168.79.1 โดยเข้าใช้งานด้วยรหัสผ่านและผู้ใช้งานเริ่มต้นคือ admin / admin นั่นเอง
เริ่มแรกเราต้องเชื่อมต่ออุปกรณ์ของเราไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์หรือมือถือกับชื่อ WiFi ที่ปล่อยออกมาจากเจ้า Linksys E9450 ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละเครื่อง โดยจะเป็นชื่อ SSID ว่า LinksysXXXXX โดยเลข XXXXX นั้นจะเป็นเลขรหัสประจำเครื่อง 5 หลักของเจ้า E9450 ที่เพื่อนๆ มีอยู่นั่นเอง และหลังจากทำการเชื่อมต่อกับ SSID ดังกล่าวแล้ว เพื่อนๆ จะสามารถเข้าหน้าการตั้งค่าผ่านทาง IP 192.168.79.1 เพื่อเริ่มต้นการตั้งค่าเจ้า Linksys E9450 ได้ในทันที
หลังจากล็อกอินเพื่อเข้าไปตั้งค่า Linksys E9450 แล้ว Linksys จะมีขั้นตอนการตั้งค่าแนะนำให้แบบเป็นขั้นเป็นตอนเลย สามารถทำตามได้อย่างง่ายดาย ตามรูปตัวอย่างที่แนบด้านบนนี้ โดยขั้นตอนคัญที่ต้องใส่ใจนั้นจะเป็นขั้นตอนการตั้งค่าเจ้า Linksys E9450 ของเราว่าจะให้เป็นพาเรนต์โหนด (โหนดแม่) หรือ โหนดย่อย (Child Node) ซึ่งสองอย่างนี้ต่างกันตรงที่หากคุณยังไม่มี Linksys E9450 ในระบบของคุณมาก่อนเลย และนี่คือตัวแรกที่ตั้งค่าใช้งาน เราก็จะต้องเลือกให้มันเป็นพาเรนต์โหนด แต่หากเรามี E9450 อีกตัว เหมือนอย่างในกรณี APPDISQUS ที่เราได้แพ็คคู่มารีวิวในครั้งนี้ ตัวหนึ่งก็จะทำหน้าที่เป็นพาเรนต์โหนด ในขณะที่อีกตัวที่จะเชื่อมเข้ากับพาเรนต์โหนดและใช้ฟังก์ชั่น Mesh นั้นจะต้องเชื่อมต่อในฐานะโหนดย่อย หรือ Child Node นั่นเองครับ
หลังจากเราเลือกได้แล้วว่าเราจะตั้งค่าโหนดเป็นพาเรนต์โหนด (โหนดตัวแรก/โหนดแม่) หรือโหนดย่อย แล้ว ระบบก็จะแนะนำการตั้งค่าให้เราต่อไป ซึ่งรวมถึงขั้นตอนการกำหนดชื่อ SSID หรือชื่อสัญญาณ WiFi รวมถึงรหัสผ่านของ WiFi ที่เราต้องการใช้งานด้วย และเมื่อเรากำหนดค่าทุกอย่างเรียบร้อย เราเตอร์ก็จะรีบูทตัวเองเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับขั้นตอนต่อไป
ในกรณีที่โหนดที่เราเพิ่งตั้งค่าไปนั้นเป็นพาเรนต์โหนดหรือโหนดหลัก/โหนดแม่ หลังจากรีบูทแล้ว ระบบจะแจ้งให้เราเชื่อมต่อสาย Lan จากเราเตอร์ของผู้ให้บริการ (ISP Router) มาที่ช่อง WAN ของตัว E9450 (ซึ่งด้านหลังจะเขียนว่า Internet) เพื่อให้พาเรนต์โหนดของเราตัวนี้สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ แต่หากเป็นการเชื่อมต่อแบบโหนดย่อยก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไรแล้ว เพราะหลังจากรีบูท เจ้า E9450 ที่เป็นโหนดย่อยของเราก็จะเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตมาจากโหนดหลักที่เคยตั้งค่าไว้แล้วโดยอัตโนมัติและพร้อมสำหรับการใช้งาน Mesh Network ในทันที
เจ้า Linksys E9450 นั้นรองรับแบนด์วิธที่ 160MHz ด้วย ซึ่งหากเพื่อนๆ มีอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่รองรับย่านความถี่นี้ เพื่อนๆ ก็สามารถตั้งค่า WiFi 6 และ WiFi 5 ของ Linksys E9450 ให้ปล่อยสัญญาณที่ 160MHz ได้เช่นเดียวกันเพื่อลดโอกาสการเกิดสัญญาณรบกวนกับ WiFi ของเพื่อนบ้านในระแวกบ้านเราครับ แต่หากอุปกรณ์ภาครับของเราไม่รองรับย่านนี้ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะตั้งค่าดังกล่าวนะครับ
เอาล่ะ ต่อไปเรามาทดสอบใช้งานจริงกันบ้างดีกว่า มาดูกันว่า Linksys E9450 และสัญญาณ WiFi 6 นั้น หากเทียบความไวแบบช็อตต่อช็อตกับ WiFi 5 ที่เราคุ้นเคยกันไปก่อนหน้า บนอุปกรณ์ที่รองรับ WiFi 6 แล้ว ผลลัพธ์จะออกมาน่าพอใจแค่ไหนกัน
Linksys E9540 กับการลงสนามทดสอบจริง
ในบททดสอบนี้ เราจะทดสอบการทำงานของอุปกรณ์ชนิดเดียวกันบน WiFi 6 ที่ปล่อยโดยเจ้า Linksys E9450 ตัวนี้ และ WiFi 5 ที่ปล่อยจาก Linksys Velop รหัส WHW03 v2 ซึ่งเป็น Mesh System หลักในบ้านหลังนี้ (มีอยู่ด้วยกัน 4 โหนด) ซึ่งห้องที่เราจะทำการทดสอบนั้นเป็นห้องโฮมเธียร์เตอร์ของบ้านที่มีอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกในห้องเยอะมาก รวมไปถึงเจ้า PlayStation 5 และ Apple TV 4K รุ่นปี 2021 ตัวล่าสุดที่รองรับ WiFi 6 ด้วย และเราเตอร์ทั้งสองตัวนั้นวางอยู่ในห้องนี้ในตำแหน่งที่ใกล้กัน และรับสัญญาณมาจากฮับที่ต่อตรงมาจากเราเตอร์หลักผ่านสาย Lan เหมือนกัน โดยอินเตอร์เน็ตที่บ้านที่ทดสอบนั้นเป็นแพ็คเกจความเร็วดาวน์โหลดสูงสุด 1Gbps ดังนั้นผลลัพธ์ที่เพื่อนๆ จะได้เห็นนั้นอาจเรียกได้ว่ามาจากการทดสอบที่พยายามควบคุมตัวแปรเท่าที่เราจะควบคุมได้ให้อยู่ในระดับเดียวกันทั้งหมดแล้วนั่นเอง
เราลองมาดูผลลัพธ์การทดสอบกับเจ้า Apple TV 4K ตัวล่าสุดปี 2021 กันเลยดีกว่าครับ
เชื่อมต่อผ่าน WiFi5 ที่ปล่อยออกมาโดย Linksys Velop WHW03 V2 นั้น ทดสอบกับแอพพลิเคชั่น SpeedTest ผลออกมาว่าเจ้า Apple TV 4K รุ่นปี 2021 สามารถทำความเร็วดาวน์โหลดได้ 183Mbps และอัพโหลดที่ 82.2Mpbs ตามรูปด้านล่างนี้เลยครับ
ต่อไปเราลองเปลี่ยนไปใช้ WiFi 6 ที่ปล่อยจาก Linksys E9450 กันบ้าง โดยยังคงทดสอบความเร็วกับแอพ SpeedTest เหมือนเช่นเดิม ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นก็เป็นที่หน้าพอใจมาก ความเร็วในการดาวน์โหลดนั้นกระโดดขึ้นไปเป็น 325Mbps ในขณะที่ความเร็วในการอัพโหลดนั้นยังคงอยู่ประมาณเดิมที่ 80.1 Mbps นั่นเอง ตามรูปด้านล่างเลยครับ
ต่อไปมาลองบนอุปกรณ์มือถือกันบ้าง ซึ่งน่าจะเป็นอุปกรณ์ที่ชาว APPDISQUS สนใจมากที่สุดว่า WiFi 6 นั้นจะส่งผลต่างมากน้อยแค่ไหนเมื่อเทียบกับ WiFi 5 โดยในครั้งนี้เราเอาเจ้า iPhone 11 Pro มาทดสอบผ่านแอพพลิเคชั่น SpeedTest อีกเช่นเคย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นต้องบอกว่าผมนี่ร้องว้าวเลยล่ะครับ ไปดูกันเลยดีกว่า
เมื่อลองเชื่อมต่อ iPhone 11 Pro ผ่านสัญญาณ WiFi 5 ที่ปล่อยออกมาโดย Velop WHW03 V2 นั้น ผลลัพธ์ที่ได้คือค่าดาวน์โหลดที่ 364Mbps และค่าอัพโหลดที่ 137Mbps ตามรูปด้านล่างนี้
ต่อไปลองสลับมาทดสอบ WiFi 6 บน iPhone 11 Pro กันบ้าง โดยผลลัพธ์ที่ได้นั้นต้องบอกว่าก้าวกระโดดอีกครั้ง ซึ่งความไวดาวน์โหลดนั้นทำได้ที่ 610Mbps ในขณะที่ความไวอัพโหลดนั้นอยู่ที่ 247Mbps เรียกได้ว่าจัดเต็มทั้งอัพโหลดและดาวน์โหลดกันเลยทีเดียว
เห็นแบบนี้ก็น่าจะทำให้เพื่อนๆ หายสงสัยถึงประสิทธิภาพความต่างระหว่าง WiFi 6 และ WiFi 5 กันแล้วนะครับ ซึ่งต้องบอกเลยว่าหากใครกำลังวางแผนเรื่องระบบเน็ตเวิร์คของบ้านใหม่อยู่ หรืออาจจะมีอุปกรณ์ WiFi 6 ไว้ในครอบครองแล้ว ยังไงการมองตัวเลือกเป็น Linksys E9450 ที่สนนราคาประมาณ 4,500 บาทมาเป็นเราเตอร์หลักเพื่อใช้ WiFi 6 นั้นรับประกันได้เลยว่าเป็นทางเลือกที่คุ้มค่า คุ้มราคา และให้ผลลัพธ์ได้ตามที่ต้องการ เพื่อการใช้อุปกรณ์ WiFi 6 ของเราให้เต็มประสิทธิภาพได้อย่างแน่นอนครับ
ในส่วนของการครอบคลุมสัญญาณนั้นก็ถือว่าทำได้อย่างน่าประทับใจ และด้วยความที่ Linksys E9450 นั้นเป็นเราเตอร์ที่รองรับระบบ EasyMesh (ซึ่งต่อไปจะมีเราเตอร์ประเภทนี้เพิ่มมากขึ้น) ทำให้ตัวมันเองสามารถสร้าง WiFi Mesh Network ขึ้นมาได้เมื่อมีเราเตอร์ E9450 ไว้ครอบครองมากกว่า 1 ตัว โดยตัวแรกนั้นจะทำหน้าที่เป็นพาเรนต์โหนด ในขณะที่ตัวอื่นๆ ที่เข้ามาเชื่อมต่อกับตัวแรกนั้นจะทำหน้าที่เป็นโหนดย่อยในระบบ Mesh ที่จะคอยเชื่อมต่อกันและกันเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพความไวอินเตอร์เน็ตแบบครอบคลุมและความเร็วตกน้อยที่สุด (ไม่เหมือน Repeater ที่ความเร็วอินเตอร์จะหารครึ่งเสมอด้วยสเป็กและการออกแบบของมัน) หากเพื่อนๆ มีบ้านที่มีพื้นที่มากๆ ก็สามารถเพิ่มจำนวนโหนดเพื่อให้ครอบคลุมกับพื้นที่บ้านของเราได้อย่างไม่จำกัดเลยล่ะครับ
ในตอนนี้เราเตอร์ EasyMesh ที่สามารถทำงานร่วมกันกับ E9450 ได้นั้นยังมีเพียงเจ้า E9450 นี้รุ่นเดียวเท่านั้น แต่ต่อไปในอนาคต เมื่อเราเตอร์ EasyMesh ที่เป็นมาตรฐานที่วางไว้โดย WiFi Alliance ได้รับการตอบรับจากผู้ผลิตมากยิ่งขึ้น เราก็จะสามารถสร้างระบบ Mesh Network แบบข้ามแบรนด์ ต่างรุ่นกัน แต่รองรับ EasyMesh เหมือนกันได้อย่างอิสระแล้ว ซึ่งจะต่างกับระบบ Mesh เดิมๆ อย่าง Velop จาก Linksys หรือ Deco จาก TP-Link ที่ต้องผูกกับแบรนด์และรุ่นของตัวเองเท่านั้น ไม่สามารถเชื่อมต่อแบบครอสต์แบรนด์ได้ ทำให้ระบบ Mesh Network นั้นสามารถหาใช้งานได้ง่ายดายขึ้น พร้อมกับราคาที่ประหยัดลงนั่นเองครับ
สรุปท้ายรีวิว
อย่าให้ใครมาบอกว่า WiFi 6 ยังไม่จำเป็นสำหรับชีวิตเราครับ เพราะในปัจจุบันนี้ อุปกรณ์มือถือและแก๊ดเจ็ตที่เราใช้งานนั้นต่างก็มีการอัพเกรตชิปเซ็ต WiFi กันไปเป็น WiFi 6 แล้ว โดยหลักๆ นั้นก็เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของโครงข่ายไร้สายภายในบ้านให้ตอบรับกับเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตบ้านที่ไวขึ้นมาจนพื้นฐานในปัจจุบันแทบจะเป็น 1Gpbs กันทุกพื้นที่แล้ว ดังนั้นหากเพื่อนๆ ยังอยู่กับเราเตอร์ WiFi ที่รองรับแค่ WiFi 5 เราก็จะไม่มีทางได้ใช้งานอินเตอร์เน็ตไร้สายได้อย่างคุ้มค่า คุ้มกับราคาที่เราเสียให้กับผู้ให้บริการอยู่ดีครับ อีกอย่างคือซื้อมือถือมาราคาแพงๆ อุตส่าห์รองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้ว อย่าต้องให้ WiFi ที่บ้านมาเป็นประเด็นให้ขัดใจเล่นเลย และยิ่งในเวลาที่เราเตอร์ WiFi 6 นั้นราคาจับต้องได้อย่างเจ้า Linksys E9450 ที่ขายกันอยู่ประมาณ 4,500 – 5,500 แล้วด้วย แบบนี้ก็จัดเถอะครับ อย่าได้เสียเวลาคิดมากเลย
แต่ก็ใช่ว่าเจ้า Linksys E9450 นั้นจะดีไปเสียทุกอย่าง เพราะอย่างหนึ่งที่ขัดใจมากๆ (แต่ก็อาจไม่ใช่ความผิดของ Linksys และ E9450) นั้นคือเจ้าเทคโนโลยี EasyMesh ที่ยังไม่มีเราเตอร์เชิงพาณิชย์ตัวไหนที่ทำออกมาวางจำหน่ายในตลาดในตอนนี้ให้ได้จับคู่ด้วยเพื่อสร้าง Mesh Network ทำให้ผู้ใช้งานจำเป็นต้องซื้อ E9450 ตัวเดียวกันนี้เพิ่มมาเพื่อเป็นโหนดย่อย ซึ่งจะต่อเพิ่มกับระบบ Velop เดิมของ Linksys เองก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน หรือจะเอาเราเตอร์ของ ISP ที่มีฟังก์ชั่น EasyMesh อย่าเราเตอร์ของ True และ AIS มาเชื่อมต่อกับเจ้า Linksys E9450 นี้ก็ยังทำไม่ได้ (ไม่เข้าใจจริงๆ ว่าเป็นเพราะอะไร ทั้งๆ ที่เราเตอร์ ISP เหล่านั้นต่างก็มีออฟชั่น EasyMesh ให้เปิดใช้งาน แต่กับเข้ากันไม่ได้) ทำให้อาจเป็นการลงทุนที่หนักหนาเอาการเหมือนกันสำหรับบ้านใครหลายๆ คนที่สัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่ครอบคลุม และต้องอาศัยการวางโหนดหลายตัวเพื่อให้สัญญาณกระจายได้ทั่วบ้าน เฉกเช่นบ้านขออเล็กซ์เองที่ตอนนี้จำเป็นต้องมี Velop ทั้งสิ้น 4 โหนดเพื่อให้ครอบคลุมทุกจุดใช้งาน
แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้น ในเวลานี้ก็ต้องยืนยันอีกครั้งว่าเราเตอร์ WiFi 6 นั้นเป็นไอเท็มที่เรียกว่า “ของมันต้องมี” ประจำบ้าน และด้วยรูปทรงการออกแบบ ฟังก์ชั่น และราคาแล้ว Linksys E9450 นั้นถือเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่อยากให้เพื่อนๆ ที่กำลังสนใจตัดสินใจไปซื้อหามาใช้งานกันเลยล่ะครับ APPDISQUS ของฟันธง!