ทีมนักวิจัยจาก Meta เผยความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการพัฒนา AI ที่สามารถถอดรหัสความคิดของมนุษย์จากสัญญาณสมองได้ ด้วยความแม่นยำสูงสุดถึง 80% โดยความร่วมมือกับ Basque Center on Cognition, Brain, and Language จากประเทศสเปน
งานวิจัยนี้อาจเป็นก้าวแรกสู่เทคโนโลยีช่วยเหลือผู้สูญเสียความสามารถในการพูดให้สามารถสื่อสารได้อีกครั้ง
เทคนิคที่ใช้ต่างจากเทคโนโลยี Brain-Computer Interface (BCI) ในปัจจุบันที่มักต้องฝังอุปกรณ์ในสมอง เพราะทีมของ Meta ใช้วิธีไม่ต้องผ่าตัด เช่น MEG (Magnetoencephalography) และ EEG (Electroencephalography) ซึ่งเป็นการตรวจวัดคลื่นสมองจากภายนอก
AI ถูกฝึกด้วยข้อมูลจากอาสาสมัคร 35 คน ขณะพิมพ์ข้อความ และเมื่อนำไปทดสอบกับประโยคใหม่ ๆ ระบบสามารถถอดรหัสได้ถูกต้องถึง 80% จากข้อมูล MEG ซึ่งดีกว่าวิธี EEG ถึง 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ยังมีข้อจำกัด เช่น การใช้ MEG ต้องอยู่ในห้องที่ป้องกันคลื่นแม่เหล็ก และผู้เข้าร่วมต้องอยู่นิ่ง ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำ อีกทั้งการทดสอบทำเฉพาะกับคนสุขภาพดี จึงยังไม่แน่ชัดว่าจะใช้ได้ผลกับผู้ป่วยที่สมองได้รับบาดเจ็บหรือไม่
นอกจากการถอดรหัสความคิด Meta ยังใช้ AI ศึกษากระบวนการเปลี่ยนความคิดเป็นภาษาในสมอง โดยวิเคราะห์สัญญาณ MEG ในระดับมิลลิวินาที เพื่อดูว่าสมองเปลี่ยนจากความคิดเป็นคำพูดหรือการพิมพ์ได้อย่างไร
ทีมวิจัยพบว่าสมองใช้กลไกที่เรียกว่า “Dynamic Neural Code” หรือรหัสประสาทแบบไดนามิก ซึ่งเชื่อมกระบวนการสร้างภาษาแต่ละขั้นไว้ด้วยกัน พร้อมเก็บข้อมูลเดิมให้ใช้งานต่อเนื่องได้ อธิบายได้ว่าทำไมมนุษย์จึงสามารถพูดหรือพิมพ์ข้อความได้อย่างต่อเนื่องลื่นไหล
แม้ยังไม่พร้อมใช้งานจริง แต่ Meta มองว่าในอนาคต AI อาจทำให้เกิด BCI แบบไม่ต้องผ่าตัด สำหรับช่วยเหลือผู้ที่ไม่สามารถพูดได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันความแม่นยำยังต้องปรับปรุง และเครื่อง MEG ยังมีข้อจำกัดในการใช้งานจริงนอกห้องวิจัย
เพื่อผลักดันงานวิจัยนี้ให้ก้าวหน้า Meta ได้บริจาคเงิน 2.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับ Rothschild Foundation Hospital รวมถึงร่วมมือกับสถาบันต่าง ๆ ในยุโรป เช่น NeuroSpin, Inria และ CNRS