ไมโครซอฟท์ ดีไวซ์ ประเทศไทย จับมือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มอบรางวัล “การประกวดแอพพลิเคชั่นเพื่อสังคมที่ยั่งยืนบนระบบปฏิบัติการ Windows Phone ในระดับอุดมศึกษา” ภายใต้โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสังคม สุขภาพ หรือสิ่งแวดล้อม หวังเพิ่มนักพัฒนารุ่นใหม่สู่อุตสาหกรรมแอพพลิเคชั่นไทย พร้อมกระตุ้นให้เกิดแอพพลิเคชั่นความหลากหลายเพื่อผู้บริโภค
โครงการจุฬาฯ รักษ์โลก มีวัตถุประสงค์ให้คนรุ่นใหม่ได้มีความตระหนักและร่วมรับผิดชอบต่อสังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ผ่านการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นตามความเจริญของเทคโนโลยีเพื่อนำไปรีไซเคิล และการประกวดแอพพลิเคชั่นเพื่อสังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีแอพพลิเคชั่นส่งเข้าประกวดจำนวน 65แอพ ทั้งนี้เกณฑ์การตัดสิน จะพิจารณาทั้งความคิดสร้างสรรค์ สอดคล้องกับแนวคิดด้านสังคม สุขภาพ หรือสิ่งแวดล้อม ใช้งานง่ายและจูงใจให้ผู้ใช้กลับมาใช้งานอีก
นายญาณธน สิมะวานิชกุล กรรมการผู้จัดการ ไมโครซอฟท์ ดีไวซ์ ประเทศไทย กล่าวว่า “คนรุ่นใหม่เติบโตมาพร้อมกับความเจริญทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งการปลูกฝังให้เยาวชนรู้จักใช้และจัดการเทคโนโลยีอย่างถูกวิธีและเหมาะสม จะช่วยให้เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างยั่งยืนพร้อมๆ ไปกับสังคมที่มีคุณภาพ” พร้อมเสริมว่า “สำหรับการประกวดแอพพลิเคชั่นเพื่อสังคมที่ยั่งยืนบนระบบปฏิบัติการ Windows Phone ถือเป็นการสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม รู้จักทำในสิ่งที่ตนสนใจพร้อมๆ ไปกับสร้างสรรค์สิ่งที่ดีต่อสังคม นอกจากนี้ ยังผลักดันให้เกิดนักพัฒนาแอพรุ่นใหม่ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในประเทศไทยโดยภาพรวม และยังทำให้เกิดแอพพลิเคชั่นหลากหลายประเภทเพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกใช้”
ด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “การที่บริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือและผู้พัฒนาโปรแกรม เปิดโอกาสให้เยาวชนซึ่งเป็นนิสิต นักศึกษาจากทุกสถาบัน ได้แสดงพลังความคิดสร้างสรรค์ โดยส่งข้อเสนอแนวคิดและพัฒนาแอพพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ ภายใต้แนวคิดอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน ทั้งด้านสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อมนั้น นับได้ว่าเป็นกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากนิสิต นักศึกษาจำนวนมาก โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 65 ทีม จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นที่ทรงคุณค่า แสดงให้เห็นถึงความตระหนักรับรู้และจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมของเยาวชนรุ่นใหม่”
สำหรับผู้ชนะเลิศการประกวด ได้แก่ ทีม Victory จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี กับแอพพลิเคชั่น Moneyspek แอพพลิเคชั่นด้านการเงินที่เพิ่มความสะดวกสบายในการบันทึกรายรับรายจ่าย ลดความยุ่งยากในการทำบันทึกประจำวัน เก็บข้อมูลการใช้งานเพื่อสะดวกต่อการค้นหาข้อมูล มีการให้ความรู้ทางการเงินและการแจ้งเตือนการทำธุรกรรมอีกด้วย ทั้งยังเพิ่มฟังก์ชั่นคำนวณสินสอด คูปองอิเล็กทรอนิกส์ และการร้องเรียนทางการเงินอีกด้วย
ทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมน้ำเปล่า (ไม่อร่อยแต่มีคุณค่า) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับแอพพลิเคชั่น Eagle Eye ที่ช่วยแจ้งข่าวสารอุบัติเหตุ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย และการแจ้งข้อมูลการเดินทาง โดยผู้ใช้งานสามารถแจ้งข้อมูลหรือตรวจสอบการเดินทางผ่านแอพเพื่อความสะดวกในการเดินทาง รวมถึงช่วยให้ผู้ประสบภัยได้รับความช่วยเหลือจากพลเมืองดีหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยกู้ภัย ได้อย่างทันท่วงที ทีมรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ทีม E-SAAN-DEV จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นกับแอพพลิเคชั่นกินดี แอพด้านสุขภาพที่ให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารและการออกกำลังกาย เพื่อลดภาวะเสียงต่อโรคที่เกิดจากการรับประทานอาหารไม่ถูกต้อง ทำหน้าที่เสมือนนักโภชนาการคอยให้คำแนะนำเรื่องอาหาร โดยจดจำข้อมูลของผู้ใช้งาน เช่น อายุ น้ำหนัก ส่วนสูง และโรคประจำตัว เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการบริโภคและออกกำลังกายที่ถูกต้องเหมาะสม หลังจากออกกำลังกายจะสรุปผลซึ่งเป็นผลรวมระหว่างการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย
ส่วนรางวัลชมเชย ได้แก่ ทีม Health Share จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับแอพพลิเคชั่น Health Share และ ทีม Heal the World จากมหาวิทยาลัยศรีปทุมและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กับแอพ Ucare