สวัสดีวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม 2558 นะคะ พบกับตูนอีกเช่นเคยค่ะ ทุกวันพฤหัสวันดีๆ เช่นนี้ค่ะ ในวันที่อากาศดีๆ ฝนก็ตกไปเมื่อคืนทำให้นอนเย็นสบายกันเลยทีเดียว ตอนเช้านี่แทบไม่อยากจะตื่นเลยค่ะ แต่เอาน่ะ อีก 2 วันเอง เดี๋ยวก็ได้หยุดแล้วเนอะ ทนๆๆๆ เพราะเราเป็นมนุษย์เงินเดือน
การนอนหลับ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในทุกวันของคนทั่วไป แต่บางคนนอนหลับยากก็เกิดปัญหา บางคนกลับเกิดปัญหาตรงกันข้ามคือ หลับง่ายเกินไป นอนหลับได้ตลอดเวลา แม้ขณะทำกิจกรรมต่างๆ ก็หลับได้ เรียกว่า หลับทั้งยืน แม้กระทั่งกำลังขับรถ หรือมีเพศสัมพันธ์ก็หลับได้ทันทีโรคนี้คืออะไร แปลกมาก
โรคลมหลับ (Narcolepsy) เป็นโรคเกี่ยวกับการนอนหลับที่มีอาการง่วงนอนตลอดเวลา และหลับในช่วงเวลาต่างๆอย่างผิดปกติ ในบางครั้งอาจมีอาการคล้ายหลับ (คือมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง คอตก เป็นต้น) ขณะที่มีอารมณ์เปลี่ยนแปลง ผู้ป่วยมักมีอาการง่วงนอนตลอดเวลาและไม่ว่าจะนอนเท่าใดก็ยังรู้สึกง่วง หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะมีคุณภาพชีวิตที่แย่ลงอย่างมาก อาจเกิดการหลับในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม และอันตรายได้ เช่น ขับรถ กำลังผ่าตัดผู้ป่วย
โรคลมหลับเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ยังไม่มีข้อมูลจากทางการแพทย์ที่ชัดเจนว่า จะระบุได้ว่า โรคลมหลับนั้น เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่สันนิษฐานว่า เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองในกลุ่มสารสื่อประสาทที่เรียกว่า Hypocretin (เป็นสารที่กระตุ้นให้ตื่น) และจากปัจจัยผิดปกติด้านพันธุกรรม
ใครมีโอกาส/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคลมหลับ?
ผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคลมหลับมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย และพบโรคได้บ่อยในวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ ในสหรัฐอเมริกาพบโรคนี้ได้ประมาณ 5 รายในประชากร 10,000 คน ส่วนประเทศไทย ไม่พบข้อมูลประชากรที่เป็นโรคนี้ แต่บางทีอาจจะมีคนเป็นอยู่แต่ไม่รู้ตัว แล้วไม่ได้ไปหาหมอก็อาจจะเป็นได้ค่ะ
โรคลมหลับมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคลมหลับประกอบด้วย 4 อาการหลัก คือ
- อาการง่วงนอนฉับพลัน เกิดขึ้นวันหนึ่งได้หลายๆครั้ง อาจมากกว่า 10 ครั้งต่อวันก็ได้
- อาการผล็อยหลับทันที และหรือ มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง คอตก ขยับแขนขาไม่ ได้ทันที โดยตัวกระตุ้นคือ เมื่อมีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง หรือมีเสียงดัง หรือตกใจ อาการเหล่านี้จะเป็นเพียงชั่วครู่ หรือเป็นพักๆ หรือนานๆเป็นครั้ง ต่างกันในแต่ละคน
- อาการผีอำ คือ ภาวะที่ไม่สามารถขยับตัวได้ขณะกำลังจะตื่น คล้ายอาการอัมพาต ทั้ง ๆที่บางครั้งก็รู้สึกตัว แต่พูดไม่ได้ เคลื่อนไหวไม่ได้ เป็นนานหลายนาที
- เห็นภาพหลอนขณะกำลังจะหลับ โดยเห็นเป็นสิ่งน่ากลัว หรือสัตว์รูปร่างประหลาด
นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น พฤติกรรมทำอะไรโดยไม่รู้ตัว ไม่มีสมาธิ ปวดศีรษะ ขี้ลืม นอนไม่หลับกลางคืน
อนึ่ง
- โรคลมหลับ ไม่สัมพันธ์กับ โรคลมชัก แต่อาจมีอาการใกล้เคียงกัน ทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยผิดพลาดได้ แต่ก็พบว่า มีผู้ป่วยที่พบทั้งสองโรค ร่วมกันได้โดยบังเอิญ และ
- อาการ มักเริ่มครั้งแรกเมื่อมีภาวะเครียดรุนแรง หรือมีการเปลี่ยนเวลานอนกะทันหัน เช่น การเดินทางข้ามทวีป
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
โรคลมหลับจะค่อยๆ เริ่มมีอาการรุนแรงขึ้น โดยระยะแรกจะง่วงนอนมากในเวลากลางวัน และหลับบ่อยๆ โดยที่ไม่สามารถควบคุม หรือฝืนให้ตื่นได้ ยิ่งอากาศร้อนก็ยิ่งมีอาการ ทั้งนี้ อาการจะดีขึ้นเมื่อนอนหลับเป็นช่วงๆ แต่ต่อมาจะนอนหลับไม่ปกติในตอนกลางคืน คือ ยิ่งนอนไม่หลับ กลางวันจะง่วงหลับบ่อยขึ้น และต่อมาก็มีผลอยหลับมากขึ้น และบ่อยขึ้น ในที่สุดก็จะมีอาการมากขึ้นๆ จนครบทั้ง 4 ข้อ ดังกล่าวข้างต้นในหัวข้อ อาการ แต่พบได้ไม่บ่อยที่จะมีอาการครบทั้ง 4 ข้อ
ดังนั้น ควรมาพบแพทย์ ตั้งแต่ระยะแรกที่เริ่มมีอาการง่วงนอนบ่อยผิดปกติในเวลากลาง วัน
อนึ่ง ตัวกระตุ้นให้เกิดเกิดอาการ และ/หรือมีอาการมากขึ้น นอกจากอากาศร้อนแล้ว ยังได้แก่ เสียงดัง อารมณ์เครียดอารมณ์โกรธ
รักษาโรคลมหลับอย่างไร?
เนื่องจากสาเหตุของโรคลมหลับยังไม่เป็นที่ทราบกันอย่างแน่ชัด อาจจะเกี่ยวเนื่องกับกรรมพันธุ์ ความผิดปกติแต่กำเนิด ภยันตรายต่อสมองหรืออื่นๆ การรักษาจึงเป็นการรักษาอาการเป็นสำคัญ เช่น
1. การช่วยให้ผู้ป่วยหลับได้ดีขึ้นในเวลากลางคืน เพราะผู้ป่วยโรคลมหลับนี้มักจะหลับ ไม่ได้ดีในเวลากลางคืน ถ้าทำให้หลับได้ดีในเวลากลางคืน กลางวันจะได้ไม่ง่วงเหงาหาวนอนมาก
2. การแนะนำให้ผู้ป่วยงีบหลับช่วงสั้นๆ (ประมาณ 15-20 นาที) อย่างน้อย 3-4 ครั้งในเวลากลางวัน จะทำให้อาการง่วงเหงาหาวนอนลดลง และสมรรถภาพในการทำงานดีขึ้นในช่วง 1-2 ชั่วโมงหลังจากที่ได้งีบหลับแล้ว
3. กลุ่มบำบัด คือ การรักษาเป็นกลุ่ม โดยให้ผู้ที่มีอาการดังกล่าวได้พบปะพูดคุยและแลกเปลี่ยนปัญหาและประสบการณ์ของการแก้ปัญหา โดยมีแพทย์ พยาบาล หรือผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ร่วมเป็นผู้ประสานงาน และให้คำชี้แจงแนะนำในกรณีที่มีข้อสงสัย จะช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ป่วย และลดอาการซึมเศร้า เหงาหงอย ท้อแท้ หรือเบื่อโลกลง
นอกจากนั้น พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนฝูง และครูบาอาจารย์ จะต้องเข้าใจและให้กำลังใจผู้ป่วยด้วย อย่าไปค่อนแคะดุด่า หรือเยาะเย้ย โดยคิดว่าผู้ป่วยเป็นคนเกียจคร้าน เลี่ยงงาน เที่ยวดึก หรือดูโทรทัศน์จนดึกดื่น ทำให้ง่วงเหงาหาวนอนในเวลากลางวัน เป็นต้น
4. การใช้เครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท เช่น ชา กาแฟ เป็นต้น เพื่อช่วยในกรณีที่ไม่ต้องการให้ง่วงเหงาหาวนอน ก็อาจจะช่วยลดอาการง่วงเหงาหาวนอนลงได้
5. การใช้ยา เพื่อแก้อาการต่างๆ
5.1 ยาแก้อาการง่วงเหงาหาวนอนมากในเวลากลางวัน คือยาจำพวกกระตุ้นประสาท ยาจำพวกนี้กินแล้วมักจะทำให้ใจเต้นใจสั่น (หรือรู้สึกไปว่า บีบหัวใจ) คอแห้ง หงุดหงิด อึดอัด เพ้อคลั่ง เห็นภาพหลอน หรือได้ยินเสียงหลอน ทำให้ทำอันตรายตนเองหรือผู้อื่น หรือทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย การใช้ยาเหล่านี้จึงควรให้แพทย์วินิจฉัยให้ถูกต้องแน่นอนก่อนว่าเป็นโรคนี้จริง จึงจะใช้ยาเหล่านี้ได้ เช่น
- ยาแอมเฟตามีน (amphetamine หรือยาม้า) หรือยาในกลุ่มนี้ เช่น ethylamphetamine
- ยาอีฟีดรีน (ephedrine)
- ยา methylphenidate
5.2 ยาแก้อาการหมดแรงฉับพลัน อาการผีอำและอาการหลอน ในปัจจุบันส่วนใหญ่ยังใช้ยาในกลุ่มที่ใช้แก้อาการซึมเศร้า เช่น imipramine, clomipramine เพราะยาเหล่านี้จะไปกดการหลับแบบตากระตุก (REM sleep) ลง ทำให้หลับแบบตาไม่กระตุกเพิ่มขึ้น อาการหมดแรงฉับพลัน อาการผีอำและอาการหลอนจึงลดลง เพราะอาการหมดแรงฉับพลัน อาการผีอำ และอาการหลอน มักเกิดในช่วงที่สมองมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของการหลับแบบตากระตุก
ความทุกข์ทรมานที่ได้รับ
1. เนื่องจากผู้ป่วยสามารถหลับได้ไม่เป็นเวลาทุกสถานการณ์ มักจะทำให้เกิดปัญหาในการทำงาน โดนเพ่งเล็ง ถูกหาว่าขี้เกียจ เลยทำงานไม่เจริญก้าวหน้า ทั้งๆ ที่สติปัญญาของคนกลุ่มนี้ก็เหมือนปกติทุกประการ
2. ผู้ป่วยมักมีหรือก่อให้เกิดอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ จนถึงขั้นร้ายแรงต่อตนเองและผู้อื่นได้โดยง่าย เช่นตกเก้าอี้ หรือหลับในขณะขับรถจนตกข้างทาง หรืออาจจะไปชนใครเข้า อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ค่ะ
อันตรายมากๆ นะคะ ลองสังเกตุตัวคุณเองดูว่ามีอาการที่กล่าวมาข้างต้นบ้างหรือเปล่า ถ้ามีควรรีบปรึกษาแพทย์ด่วนเลยค่ะ ด้วยความเป็นห่วงนะคะ บายค่า