ก็มาอัพเดทข่าวคราวจากจดหมายข่าวของ Nokia ประจำไตรมาสแรกของปี 2564 กันให้ทราบกันครับ ว่าต้นปีที่ผ่านมาธุรกิจของโนเกียปัจจุบันเดินหน้ามุ่งเน้นไปในทางด้านใดบ้าง โดยก่อนหน้านี้ตามที่โนเกียได้ประกาศรูปแบบการดำเนินงานธุรกิจใหม่ด้วยกันสี่กลุ่ม ได้แก่ Mobile Networks, Network Infrastructure, Cloud and Network Services, และ Nokia Technologies. มาดูกันว่าปีนี้เขามีโครงการจะทำอะไรบ้างในมือ
1.โนเกีย ได้มีการประกาศแผนกลยุทธ์การดำเนินงานสามเฟส: Reset, Accelerate, Scale เพื่อความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี พร้อมเร่งขีดความสามารถทางการแข่งขัน เพื่อเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน
โนเกีย มองเห็นเทรนด์สำคัญ ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ด้วยเทคโนโลยี 5G และเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องจะเอื้อให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ สำหรับผู้ให้บริการด้านการสื่อสาร (CSP) องค์กร และบริษัทเว็บสเกลต่าง ๆ โดยโนเกียได้คาดการณ์ว่าการสร้างเครือข่าย 5G จะครอบคลุมเวลายาวนานเป็นสองเท่าของจุดสูงสุดของการสร้างเครือข่าย 4G ด้วยปัจจัยอันเนื่องมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมดิจิทัล
หนึ่งในเทรนด์สำคัญ คือการใช้เทคโนโลยี 5G ซึ่งเป็นเทคโนโลยีไร้สายกับ fiber-to-the-home เพื่อสร้างสังคมกิกะบิต หรือ “gigabit society” ซึ่งจะเป็นประสบการณ์การสื่อสารแบบไร้รอยต่อสำหรับผู้บริโภคภายในที่พักอาศัยและที่ทำงาน นอกจากนี้องค์กรที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการปฎิบัติการและมีการเชื่อมต่อกัน จะสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต ประสิทธิภาพ ตลอดจนความปลอดภัยให้แก่ทั่วทั้งอุตสาหกรรมได้อย่างมหาศาล
2.โนเกีย จับมือกับ กูเกิล คลาวด์,AWS,และ ไมโครซอฟท์ เพื่อให้บริการโซลูชั่นคลาวด์ แบบ 5G สำหรับองค์กร
เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา โนเกีย ได้ร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตรชั้นนำอย่าง กูเกิลคลาวด์ (Google Cloud) AWS และ ไมโครซอฟท์ ในการจัดทำการวิจัย ตลอดจนสร้างและพัฒนาโซลูชั่นคลาวด์ 5G สำหรับองค์กรที่เน้นให้ความสำคัญแก่ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง
3.โนเกีย กำลังทำงานร่วมกับ กูเกิล คลาวด์ ในการทำโซลูชั่นที่รวมเครือข่ายการเข้าถึงผ่านการรับส่งทางคลื่นวิทยุ (RAN), Open RAN, Cloud RAN (vRAN), และเทคโนโลยี Edge Cloud รุ่นอื่น ๆ มาประมวลเข้ากับแพลตฟอร์มและระบบแอปพลิเคชันแบบ Edge ของกูเกิลเพื่อพัฒนาโซลูชั่นและการใช้งานที่จะสามารถตอบโจทย์แผนการใช้งาน 5G สำหรับผู้ประกอบธุรกิจทั่วโลก
เช่นเดียวกับการเป็นพันธมิตรกับ AWS ที่จะได้เห็นความร่วมมือด้านงานวิจัยและการใช้งาน Cloud RAN (vRAN) และ เทคโนโลยี Open RAN ด้วยเป้าหมายเดียวกันในการพัฒนาการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในเชิงนวัตกรรม (innovative proof of concept: POCs) ที่สามารถนำมาใช้กับการวางเครือข่าย 5G รวมถึงการพัฒนาการใช้งาน 5G ในรูปแบบใหม่ ๆ อีกด้วย
ในขณะเดียวกัน โนเกีย ยังได้ทำข้อตกลงร่วมกับ ไมโครซอฟท์ ในการพัฒนาการใช้งานแบบใหม่ ๆ โดยใช้เครือข่าย 4G และ 5G ไร้สายเฉพาะองค์กร โดยการนำเทคโนโลยี Cloud RAN (vRAN) ของโนเกีย มารวมให้บริการกับระบบคลาวด์ของ Microsoft Azure และร่วมกับกลุ่มนักพัฒนาในระบบนิเวศนี้เพื่อช่วยกันพัฒนาฟังก์ชั่น ที่จะเกิดจากการใช้งานในโครงการธุรกิจใหม่
4.โนเกีย ต่อยอดธุรกิจจับมือเชิงอุตสาหกรรม-วิชาการ เพื่อวิจัยและออกแบบการใช้งาน5Gรูปแบบใหม่
เมื่อเดือนมีนาคม 2564 โนเกียร่วมกับสองพันธมิตรเชิงวิชาการในออสเตรเลียและญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาการใช้งาน 5G สำหรับภาคอุตสาหกรรมและการใช้งานทั่วไป
ในออสเตรเลีย โนเกีย ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับ University of Technology Sydney (UTS) เป็นเวลา 5 ปีเพื่อสร้างและดำเนินการห้องทดลองนวัตกรรม 5G สุดทันสมัยภายในพื้นที่ Tech Lab ของมหาวิทยาลัยในเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ความร่วมมือนี้ตั้งเป้าในการใช้เทคโนโลยี 5G อย่างเต็มที่ โดยจะมุ่งเน้นไปยังการใช้งาน 5G ที่ใช้ได้จริงกับในโลกปัจจุบัน ซึ่งจะรวมถึงการใช้งานในอุตสาหกรรม 4.0, IoT, และสมาร์ทซิตี้ ซึ่งห้องทดลองนวัตกรรม 5G นี้จะเป็นทั้งสนามทดสอบ 5G แบบเรียลไทม์สำหรับพันธมิตรทางธุรกิจ และเป็นห้องทดลองเพื่อการวิจัยสำหรับภาคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) อีกด้วย
ในขณะเดียวกัน โนเกีย ยังได้ร่วมมือกับ Qnet, INC บริษัทในเครือ Kyushu Electric Power ในการเปิดให้บริการเครือข่าย 5G ไร้สายแบบเฉพาะองค์กรทั่วภูมิภาคคิวชู ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งยังนับได้ว่าเป็นความร่วมมือแรกในการวางระบบ 5G ไร้สายให้ก้บท้องถิ่นผ่านการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่วิทยุเพื่อธุรกิจ และกำลังจะร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งคิวชู (Kyushu Institute of Technology) ในการให้บริการ 5G ภายในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยอีกด้วย
5.โนเกีย ทำลายสถิติความเร็วของไฟเบอร์บรอดแบนด์กับโวดาโฟน และร่วมมือกับMobilyสำหรับเครือข่าย 4G และ 5G ไร้สายแบบประจำที่ (FWA) แบบแยกส่วน
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โนเกีย และ โวดาโฟน ได้ประกาศความสำเร็จในการทดลองเทคโนโลยีเครือข่ายเชิงแสงแบบพาสซีฟ (Passsive Optical Network: PON) ที่ให้ความเร็วถึง 100 กิกะบิตต่อวินาทีบนความยาวคลื่นแบบลำแสงเดียวซึ่งนับเป็นสิบเท่าของเครือข่ายที่ล้ำสมัยที่สุดในปัจจุบัน และถือเป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรมนี้ ต่อเนื่องจากความสำเร็จในเทคโนโลยี 10G PON, TWDN-PON, universal PON และ 25G PON
โนเกีย ยังประสบความสำเร็จในการนำร่อง เครือข่าย 4G และ 5G ไร้สายแบบประจำที่ (FWA) แบบแยกส่วน ร่วมกับ Mobily ผู้ให้บริการโทรคมนาคมในซาอุดิอาระเบีย เมื่อเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในโลกสำหรับการใช้งานในเครือข่ายจริง และโซลูชั่นนี้ยังช่วยให้ Mobily นำเสนอบริการ FWA ใหม่ ๆ ให้กับลูกค้าสำคัญและลูกค้าองค์กรอีกด้วย
6.โนเกีย คว้าสัญญา5Gใหม่ที่สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์
ตลอดไตรมาสแรกของปี 2564 โนเกีย ประสบความสำเร็จในธุรกิจ 5G ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น (APJ) โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ประเทศสิงคโปร์ บริษัทฯ ได้ประกาศการวางเครือข่าย 5G standalone RAN Sharing เครือข่ายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับ Antina บริษัทร่วมทุนซึ่งก่อตั้งโดย ผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สาย M1 และ StarHub
นอกจากนี้ โนเกียยังได้ลงนามข้อตกลงทางธุรกิจกับ M1 เพื่อนำซอฟต์แวร์ cloud-native Core ของโนเกีย มาใช้ในการขับเคลื่อนเครือข่าย 5G standalone ที่เปิดให้บริการในประเทศสิงคโปร์ในปี 2564 นี้ และ โนเกีย ยังได้จับมือกับ StarHub ในการวางเครือข่าย cloud-native 5G core ร่วมกันเพื่อตอบสนองความต้องการการใช้งาน 5G standalone ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศ
ในออสเตรเลีย โนเกียได้เปิดให้บริการ 5G กับ Optus ผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สายที่ Optus Stadium ในเมืองเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย เพื่อให้ผู้มาร่วมกิจกรรมงานกีฬาหรือการแสดงดนตรีสามารถเข้าใช้ระบบ 5G ได้ทั้งในและนอกอาคารด้วยความเร็วมากกว่า 1 กิกะบิตต่อวินาที ความร่วมมือนี้จะทำให้เห็นว่า Optus ได้ใช้ประโยชน์จากโซลูชั่น AirScale indoor Radio solution ของโนเกีย ในการให้บริการที่ครอบคลุมได้อย่างทั่วถึงสำหรับพื้นที่ในอาคารอย่าง เช่นโซนที่นั่งสำหรับองค์กรหรือพื้นที่รับรองวีไอพี โดยโซลูชั่นนี้สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีเครือข่ายหลัก ๆ และถูกออกแบบให้ง่ายต่อการอัพเกรด จาก 4G เป็น 5G New Radio (NR)
ท้ายสุด โนเกีย ได้ถูกเลือกโดย Globe Telecom ในประเทศฟิลิปปินส์ ด้วยการทำข้อตกลงเป็นระยะเวลาสามปี เพื่ออัพเกรดเครือข่าย 4G ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และขยายเครือข่าย 5G มากกว่า 1,000 สถานีฐานทั่วประเทศ โดยการวางเครือข่ายจะครอบคลุมถึงเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองและอันดับสามของประเทศ อย่าง เกาะมินดาเนา และเกาะวิซายัส โดยจะเริ่มดำเนินการในใตรมาสที่สองของปี 2564 นี้ และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566
ซีอีโอบล็อค: บิ๊ก สมอล์ เทค
เป็กก้า ลุนด์มาร์ก ประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของโนเกีย อธิบายให้เห็นถึงข้อดีของนวัตกรรมในแอปพลิเคชันของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่ส่งผลดีกับท้องถิ่นว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในเทคโนโลยี การวิจัยพัฒนา ที่ช่วยให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งแก่ชุมชน ตลอดจนการให้บริการสาธารณะ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ