ตอนนี้สรรพากรของไทย ก็เริ่มเดินเครื่องกันแล้วสำหรับการเข้าตรวจสอบและจัดเก็บภาษีของผู้ประกอบกิจการผ่านโลกออนไลน์ ตามข่าวที่หลายคนอ่าจจะเคยผ่านตากันไปบ้าง
เป็นเรื่องที่ผู้ทำมาค้าขายและให้บริการต่างๆ ทั้งในโลกออนไลน์ (รวมทั้งออฟไลน์) ควรทราบนะครับ เราอยู่ภายใต้กฏหมายและกฏกติกาเดียวกัน เป็นพื้นฐานและหน้าที่ของประชาชนชาวไทยทุกคนที่มีรายได้ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐ ตามข้อแม้และกฏหมายที่ได้กำหนดไว้
ซึ่งส่วนที่สำคัญในบทความนี้ ที่ผมอยากจะมาแนะนำให้เพื่อนๆ ที่ประกอบกิจการทุกท่านได้ทราบข้อมูลของระบบ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” ที่หลายท่านอาจจะยังไม่รู้ ไม่เข้าใจ และยังไม่รู้ว่าต้องเตรียมการรับมือกับมันอย่างไรครับ
ก่อนอื่นมารู้จักเจ้า Vat 7% หรือที่เราเรียกว่า “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” กันครับ
“ผู้มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องขึ้นทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นแบบชำระภาษีเงินได้ 7% ทุกเดือน นับตั้งแต่รายได้ถึงกำหนด 1.8 ล้านบาทในปีภาษีเดียว”
พูดง่ายๆ เจ้าตัวภาษีมูลค่าเพิ่มตัวนี้ มันจะไม่สนว่าคุณได้รายได้มาจากการค้าขายหรือให้บริการอะไร อย่างไร แต่ถ้าคุณมีรายได้เข้าครบ 1.8 ล้านบาทภายในปีเดียวเมื่อไหร่ คุณจะเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มโดยอัตโนมัติทันทีนั้นเองครับ และถ้าคุณเตรียมการไว้ก่อน เตรียมจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเอาไว้ก่อนที่เงินได้จะครบ 1.8 ล้านบาท คุณก็จะเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องปลอดภัย ไม่โดนค่าปรับ ไม่โดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง และจะกลายเป็นผู้ที่สามารถออกใบเสร็จรับเงินแบบบวกเพิ่มค่า Vat 7% ให้กับลูกค้าของคุณได้ด้วยนั้นเองครับ
แต่ถ้าคุณรู้ตัวช้าไป ไม่ได้เตรียมการไว้ ปล่อยรายได้เกินกำหนดและเลยระยะเวลามานานแสนนาน สิ่งที่คุณจะโดนได้เมื่อสรรพากรตรวจสอบเจอว่าเงินได้ของคุณเกิน 1.8 ล้านบาทในหนึ่งปีเมื่อไหร่ เราจะโดนค่าภาษีย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่เงินได้เราเกินกำหนด โดยคิดภาษี 7% จากเงินได้ทั้งหมดของเราตั้งแต่วันที่เกินกำหนด บวกรวมกับเบี้ยเพิ่มหรือดอกเบี้ยอีก 1.5% ต่อเดือน และอาจจะโดนเบี้ยปรับ (สูงสุด 2 เท่า) จากภาษีมูลค่าเพิ่มที่เราไม่ได้จดทะเบียนไว้ครับ
ซึ่งตรงนี้เป็นภาษีที่ค่อนข้างจะอันตรายและหนักมากสำหรับคนที่พลาดไปหรือไม่รู้ เพราะการโดนภาษีย้อนหลัง ยิ่งนานยิ่งสะสม กลายเป็นเงินก้อนใหญ่ที่อาจจะส่งผลต่อธุรกิจของคุณได้อย่างมากเลยทีเดียวครับ
แต่ถ้าคุณรู้ตัวก่อน เตรียมความพร้อมและเข้าใจ ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นอะไรที่ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดครับ แต่มันอาจจะยุ่งยากเพิ่มในชีวิตอีกสักหน่อยสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีความรู้ในด้านนี้มาก่อนเลย
ข้อมูลเงินได้ของคุณที่สรรพากรจะตรวจสอบได้
การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่งแบบออนไลน์หรือการให้บริการแบบออนไลน์ ถ้าคุณไม่ได้เป็นบริษัทหรือร้านค้าที่มีการจดทะเบียนหรือการออกใบเสร็จรับเงินแบบเป็นระบบ สรรพากรจะรู้รายได้ของคุณคร่าวๆ จากการประเมินสภาพของธุรกิจคุณครับ จากการลงพื้นที่มาตรวจสอบ การเฝ้าดูธุรกิจ ดูจากยอดขายและยอดส่งสินค้า รวมถึงยอดเงินได้ที่คุณแจ้งไว้ในการยื่นภาษีประจำปี ถ้าเขาคิดว่าน่าสงสัยหรือถึงเวลาที่จะต้องเข้ามาดูแลและตรวจสอบธุรกิจของเราเมื่อไหร่ เขาจะมีสิทธิขอเรียกพบได้ทันทีครับ
ซึ่งเราก็ต้องเข้าไปพูดคุยและชี้แจง แต่อย่างไรก็ตาม พนักงานตรวจสอบภาษีของกรมสรรพากรก็มีขอบเขตอำนาจเบื้องต้นตามกฏหมายกำหนดไว้อยู่ครับ ในเรื่องของความเป็นส่วนตัวบางเรื่องเขาก็อาจจะขอเป็นความร่วมมือให้เราเปิดเผย ซึ่งตรงจุดนี้อยู่ที่การต่อรองและเจรจา และจะเป็นไปตามขั้นตอนของกฏหมาย ผมแนะนำว่าถ้าคุณไม่สบายใจอาจจะว่าจ้างบุคคลภายนอกที่เขาดูแลเราได้ในเรื่องของการจัดการระบบภาษี ให้เข้ามาให้คำปรึกษาและดูแลเราได้ครับ
อีกข้อมูลหนึ่งที่สรรพากรเขามีข้อมูลของเราอยู่ในมือเขาแน่ๆ ก็คือ การค้าขายและการว่าจ้างจากบริษัทที่อยู่ในระบบ จำพวกงานว่าจ้างใดๆ ที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายภายใต้ชื่อผู้รับเงินที่เป็นเรา จะถูกส่งเข้าไปในระบบภาษีแจ้งเป็นรายได้ในชื่อเราครับ ซึ่งถ้าใครทำงานด้านการรับจ้าง รับเหมา รับงานจากบริษัทที่มีการออกใบหักภาษี ณ ที่จ่าย ส่วนใหญ่รายได้จะอยู่ในระบบที่สรรพากรจะตรวจสอบเจอได้ทันที ซึ่งถ้าเราไม่แน่ใจในเรื่องของยอดเงินได้ประจำปี เราอาจจะติดต่อเข้าไปที่สรรพากรพื้นที่และขอทราบยอดรายได้ของเราก็ได้นะครับ จะได้ทราบยอดเงินได้ของตัวเราเองที่อยู่ในระบบ และเตรียมความพร้อมในการดำเนินการในขั้นต่อไป
การเตรียมความพร้อมรับมือภาษีมูลค่าเพิ่ม
ก่อนอื่นคุณต้องรู้ตัวก่อนว่า รายได้ต่อปีภาษี (นับตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคมของทุกปี) รายได้รวมทั้งหมดของเรานั้นใกล้ที่จะถึง 1.8 ล้านบาทต่อปีหรือไม่ ถ้าไม่ได้ใกล้เคียงหรือไม่มีทางถึงอย่างแน่นอน เรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มก็ยังไม่ใช่เรื่องที่คุณต้องกังวลครับ แค่ยื่นแบบเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีตามปกติก็พอแล้ว ซึ่งเจ้าภาษีเงินได้บุคคล จะเป็นภาษีคนละตัวกับภาษีมูลค่าเพิ่มนะครับ ไม่เกี่ยวกัน มันไม่ได้ทดแทนกันและกัน แต่เมื่อคุณมีเงินได้ถึง 1.8 ล้านบาทในหนึ่งปีภาษี จากที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลเพียงอย่างเดียว ก็ต้องมาจดทะเบียนและยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วยครับ
ถ้ารู้ตัวว่าเงินได้ในหนึ่งปีจากธุรกิจเราจะเกิน 1.8 ล้านปีในปีภาษีเดียวแน่ๆ สิ่งที่ต้องเตรียมการไว้ก็คือ
ทางเลือกที่1 การเข้าไปขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
การเข้าไปขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในชื่อของเราเอาไว้ก่อนครับ เป็นการพุ่งตรงเข้ารับผิดชอบกับสิ่งที่ต้องทำแบบตรงๆเลย การขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นไม่ยากเลยครับ ชิวๆ แค่มีเอกสารพื้นฐานของทางราชการ เช่นสำเนาทะเบียนบ้านหรือเอกสารเช่าพร้อมรูปถ่ายแสดงสถานที่อยู่อาศัยและใช้ประกอบกิจการ สำเนาบัตรประชาชน ก็ไปขอยื่นจดทะเบียนที่สรรพพากรพื้นที่ของเราได้เลยครับ ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หลังจากนั้นเราจะมีภาระในการยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มทุกๆ เดือน ซึ่งทางสรรพากรจะสามารถแนะนำและอธิบายการเตรียมพร้อมยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มประจำเดือนให้กับเรา ซึ่งเราจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องของภาษีซื้อและภาษีขาย เข้าใจไม่ยาก แต่อาจจะต้องเรียนรู้สักนิดครับ เพราะธุรกิจเราเริ่มที่จะใหญ่มากแล้วในกรณีมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
ทางเลือกที่2 ปรึกษาผู้ดูแลบัญชีและวางแผนภาษี
ปรึกษาผู้ดูแลบัญชีและวางแผนภาษี อาจจะต้องขอความช่วยเหลือจากมืออาชีพในการเข้ามาดูแลและจัดการ ถ้าเรามีงานต้องทำและไม่อยากจะวุ่นวายกับเอกสารและการยื่นภาษี ก็จ้างบุคคลภายนอกเข้ามาดูแลครับ ซึ่งราคาค่าใช้จ่ายในการดูแลตรงจุดนี้ไม่มีตายตัว แล้วแต่ความยากง่ายของระบบบัญชีของเรา ว่าจ้างกันตั้งแต่หลักพันต้นๆ ไปจนถึงระบบใหญ่ๆ ซึ่งเริ่มต้นแนะนำว่านัดพูดคุยเจรจาอธิบายรูปแบบธุรกิจและสิ่งที่คุณต้องการก่อนได้ครับ ปกติแล้วแค่เลี้ยงน้ำเลี้ยงข้าวกันเป็นน้ำใจ พอได้คุยแล้วคุณจะสบายใจมากขึ้นเยอะครับ
ทางเลือกที่3 ทำตัวเองให้ไกลจากระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
ถ้ารับไม่ไหว ไม่เอา ไม่อยากเจอ ไม่อยากเพิ่มภาระ ไม่อยากเข้าไปยุ่งกับระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้จะดูว่าคุณกลัวเกินกว่าเหตุเกินไปแต่ผมเข้าใจครับ ก็แค่ง่ายๆ พยายามประคองรายได้ของเราเอาไว้ไม่ให้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีอย่างเด็ดขาด ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามปกติอย่าให้ขาด ทำหน้าที่ของพลเมืองชำระภาษีแบบถูกต้อง ตราบใดรายได้ในชื่อของคุณไม่ถึง 1.8 ล้านบาท เรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่มก็จะยังไม่เข้ามาวุ่นวายกับคุณถ้าคุณไม่ต้องการครับ
ถ้ามารู้ตัวว่ารายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็เมื่อช้าเสียแล้วควรทำอย่างไร
ใจเย็นๆ แล้วลองพิจารณาทางแก้ปัญหาตามแนวทางนี้
ข้อแรกเราต้องรู้ก่อนว่าพนักงานสรรพากรไม่ใช่คนโหดร้ายครับ เป็นบุคคลที่เป็นพนักงานทำตามหน้าที่ของเขา ซึ่งเขาก็สามารถช่วยเหลือเราได้ และถ้าเรามีเจตนาที่จะเข้าไปทำให้มันถูกต้องตามกฏหมาย เริ่มต้นที่ติดต่อเจ้าหน้าที่สรรพากรในพื้นที่ ขอทราบยอดรายได้เข้าในปีภาษีที่เราสงสัยว่าจะเกิน 1.8 ล้านบาทต่อเดือนหรือไม่ การเจรจาเป็นเรื่องแรกที่ควรทำครับ จะเจรจาเองหรือจะให้มีผู้แทนเข้าไปเจรจาอันนี้ก็แล้วแต่ความสะดวก ซึ่งถ้ารายได้เราเกิน 1.8 ล้านบาทมาไม่นาน (ไม่เกินสามเดือน) ก็ยังอยู่ในกรอบที่ความเสียหายไม่ส่งผลกระทบอะไรมากนักครับ เพราะยิ่งรายได้เราเกิน 1.8 ล้านบาทผ่านมานาน ภาษีก็ยิ่งสะสมเป็นก้อนใหญ่
หลังจากนั้นถ้าเราจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเพราะมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทจริง ก็เริ่มต้นด้วยการไปจดทะเบียนภาษ๊มูลค่าเพิ่มในชื่อเราซะก่อนครับ หลังจากนั้นก็เข้าไปเจรจารับข้อมูลค่าภาษีที่เราต้องชำระย้อนหลัง ซึ่งจะมีการคิดภาษีในอัตตรา 7% ของรายได้ทั้งหมดของเรานับตั้งแต่วันที่รายได้เราเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีเป็นต้นมา บวกเพิ่มกับเบี้ยเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน สองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราต้องชำระแน่ๆ ครับ หลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่สิ่งที่พอจะคุยหรือให้ลดหย่อนลงได้ก็คือเบี้ยปรับตามกฏหมาย (สูงสุดสองเท่า) ซึ่งในส่วนนี้เป็นส่วนที่ทางสรรพากรพื้นที่จะช่วยทำเรื่องยกเว้นหรือผ่อนชำระให้กับเราได้ครับ ซึ่งแล้วแต่ความใจดีและดุลยพินิจของเจ้าพนักงานสรรพากรในพื้นที่นั้นๆ
หลังจากพูดคุยเจรจา ได้ตัวเลขมาแน่นอนแล้วเป็นจำนวนที่ต้องจ่าย นั้นก็คือหนี้ที่เราติดรัฐบาลอยู่นั่นเองครับ ซึ่งก็ต้องชำระคืนประเทศกันไปตามหน้าที่ครับ
พื้นที่สุดท้ายขอฝากเจ้าพนักงานและเจ้ากรมผู้ดูแลระบบสรรพากรโปรดเห็นใจผู้ที่ตั้งใจทำอะไรให้ถูกต้องตามกฏหมาย โลกยุคใหม่ที่เกิดการกระจายรายได้ในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งมาไวเปลี่ยนไวเกิดอาชีพใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย บางครั้งอาจจะเพราะไม่รู้หรือความไม่พร้อมในความเข้าใจ และอาจด้วยสภาพคล่องของธุรกิจ ก็ช่วยกันให้เขายังสามารถทำหน้าที่ของพลเมือง เป็นผู้ชำระภาษี แต่ก็ยังประกอบธุรกิจที่ต้องเดินหน้ากันต่อไปได้ด้วยนะครับ