หนึ่งในประเด็นที่ร้อนแรงมากๆ ในบ้านเราโดยขึ้นหน้าหนึ่งในแทบทุกสำนักข่าวนั้นคงหนีไม่เรื่องประเด็นฝุ่น PM2.5 ที่กรุงเทพมหานครและหลายพื้นที่ในประเทศไทยกำลังประสบพบเจออยู่ โดยหนึ่งในสิ่งที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่นั้นมาจากการโพสความเห็นและคำชี้แจงที่คุณหมอมนูญ ลีเชวงศ์ ได้โพสเอาไว้ผ่านทางเพจ หมอมนูญ ลีเชวงศ์ FC ที่มีเนื้อหาสรุปคร่าวๆ ได้ว่าคนไทยเราอยู่กับฝุ่น PM2.5 กันมานานแล้วแต่มันไม่ได้ส่งผลเป็นนัยยะสำคัญต่อปัญหาสุขภาพหรือสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยขนาดนั้น และยิ่งเมื่อพิจารณาถึงบริบททางเศรษฐกิจแล้วอาจจะไม่คุ้มค่าที่จะมีนโยบายชั่วคราวในการป้องกันปัญหาฝุ่น PM2.5 เช่นการหยุดโรงเรียนชั่วคราวหรือการขอความร่วมมือเรื่อง Work From Home ที่ กทม. กำลังทำอยู่ในตอนนี้
วันนี้ APPDISQUS อยากลองพาเพื่อนๆ มาวิเคราะห์ประเด็นต่างๆ ไปพร้อมๆ กันกับคุณหมอ และอยากจะขอเป็นอีกหนึ่งเสียงในการรณรงค์ให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหา PM2.5 ที่ควรเป็นวาระระดับชาติที่ต้องร่วมมือกันจัดการโดยด่วน และขอรณรงค์ให้ไม่ Normalize หรือด้อยค่าความสำคัญของปัญหา PM2.5 นี้โดยการเอามันไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่แย่กว่าเราเช่นประเทศอินเดีย โดยจะพาเพื่อนๆ วิเคราะห์ประเด็นต่างๆ ออกมาในมุมมองแบบ APPDISQUS เอง ทั้งนี้ต้องขอออกตัวก่อนว่าทีมงาน APPDISQUS ไม่มีทางมีความรู้ทางการแพทย์เท่าคุณหมอท่านแน่ๆ แต่จากข้อมูลสนับสนุนที่สามารถค้นคว้าได้ทั่วไปมากมาย เราเลยรวบรวมข้อมูลเหล่านั้นมาสรุปให้ผู้อ่าน APPDISQUS ของเราย่อยกันได้ง่ายขึ้น พร้อมลิงก์ไปยังข้อมูลสนับสนุนตามแบบฉบับคน IT
ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือที่รู้จักกันในชื่อ PM2.5 เป็นปัญหามลพิษทางอากาศที่สำคัญในหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก รวมถึงกรุงเทพมหานครของประเทศไทย แม้ว่าบางคนอาจมองว่าฝุ่น PM2.5 เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล หรือไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญ แต่ข้อมูลจากการวิจัยและหน่วยงานด้านสุขภาพชี้ให้เห็นถึงอันตรายที่แท้จริงของฝุ่นชนิดนี้เอาไว้ดังนี้
ในบทความนี้ :
ฝุ่น PM2.5 อันตรายต่อสุขภาพจริง…ไม่จิงโจ้
ฝุ่น PM2.5 มีขนาดเล็กมาก ทำให้สามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจลึกถึงถุงลมในปอด และบางอนุภาคอาจเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพในหลายด้าน ดังนี้:
1.ระบบทางเดินหายใจ:
การสัมผัสฝุ่น PM2.5 อาจทำให้เกิดการระคายเคืองในทางเดินหายใจ แสบจมูก ไอ มีเสมหะ และหายใจลำบาก นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหอบหืด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) – ที่มาจาก โรงพยาบาลบางประกอก 3
2.ระบบหัวใจและหลอดเลือด:
การได้รับฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่องสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย และหลอดเลือดสมองตีบได้ – ที่มาจาก โรงพยาบาลพญาไท
3.ระบบภูมิคุ้มกัน:
ฝุ่น PM2.5 สามารถทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เกิดการติดเชื้อในปอดและทางเดินหายใจได้ง่ายขึ้น เช่น ไข้หวัดใหญ่ และหลอดลมอักเสบได้ – ที่มาจาก โรงพยาบาลพญาไท
4.ความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง:
การสัมผัสฝุ่น PM2.5 ในระยะยาวอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด เนื่องจากสารพิษที่ปนเปื้อนในฝุ่นสามารถกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ – ที่มาจาก โรงพยาบาลศิริราช
เมื่อเห็นความน่ากลัวของมันแล้ว APPDISQUS เองมองว่ามันคงไม่ดีนักถ้าเราจะด้อยค่าปัญหานี้ลงมาให้กลายเป็นปัญหาที่เราต้องหาทางอยู่กับมันไปวันๆ แทนที่จะแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะจริงอยู่ว่าบ้านเราอาจมีค่า AQI ที่ไม่ได้แย่ที่สุดในโลก แต่ในเรื่องแบบนี้เราก็ไม่ควรแข่งกันแย่ที่สุดในโลกใช่ไหมล่ะครับ เห็นแบบนี้แล้วจะไม่ให้ตื่นตัวก็กะไรอยู่นะ
ปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลต่อระดับฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ
แม้ว่าบางคนอาจเชื่อว่าระดับฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคมถึงมีนาคมเนื่องจากสภาพภูมิอากาศ แต่ความเป็นจริงคือ มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับฝุ่น PM2.5 ดังนี้ ซึึ่งสามารถแบ่งแยกออกมาเป็นหัวข้อใหญ่ๆ ได้ดังนี้
1.การจราจร:
ท่อไอเสียจากยานพาหนะเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ที่สำคัญในกรุงเทพฯ การจราจรที่คับคั่งและการใช้รถยนต์ส่วนตัวมากทำให้มีการปล่อยฝุ่นเพิ่มขึ้น
2.การก่อสร้าง:
การขยายตัวของเมืองนำไปสู่การก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 อีกแหล่งหนึ่ง
3.การเผาในที่โล่ง:
การเผาไหม้ของเสียจากการเกษตรและชีวมวลในพื้นที่ใกล้เคียงส่งผลให้ฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้นในกรุงเทพฯ
4.สภาพภูมิอากาศ:
ภาวะอุณหภูมิผกผัน (temperature inversion) ในช่วงฤดูหนาวทำให้ฝุ่นสะสมในบรรยากาศมากขึ้น แต่ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้ระดับฝุ่นเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ในรายการเรื่องเล่าเช้านี้เทปวันที่ 24 มกราคม 2568 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยังได้ให้สูตรจำไว้คร่าวๆ ถึงต้นตอของสาเหตุปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นใน กทม. เอาไว้ดังนั้น
“30 มาจากรถยนต์กับโรงงานใน กทม. อีก 30 มาจากปัญหาธรรมชาติเมื่ออากาศปิด (temperature inversion) และอีก 30 คือการเผาจากด้านนอกที่พัดเข้ามาตกในกรุงเทพเนื่องจากกรุงเทพมีตึกสูงทำให้ลมเกิดการชะลอตัว”
จะเห็นได้ว่ามีเพียง 30 เท่านั้นที่เกิดจากธรรมชาติเอง ในขณะที่อีก 60 คือภาคส่วนที่เราทุกคนสามารถร่วมมือร่วมใจกัน และแน่นอนว่าไม่ใช่เพียงแต่ใน กทม. เท่านั้น แต่จังหวัดต่างๆ ในประเทศไทยเองก็ต้องร่วมมือกันเช่นกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงควรเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อการแก้ไขอย่างแท้จริง
ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากฝุ่น PM2.5 ที่อาจร้ายแรงกว่าค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปกับการป้องกันอย่างจริงจัง
การมองว่าการออกมาตรการเพื่อป้องกันปัญหา PM2.5 นั้นเป็นเรื่องสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจนั้นอาจกล่าวได้เลยว่าเป็นการมองปัญหาเศรษฐกิจเพียงมิติเดียวที่ไม่สามารถเอามาเป็นข้ออ้างในการไม่แก้ไขปัญหา PM2.5 ได้เลย เพราะหากว่ากันตามตรงแล้ว ปัญหาระยะยาวที่เกิดจากการปล่อยให้ PM2.5 ยังคงอยู่นั้นน่าจะนำพามาซึ่งปัญหาทางเศรษฐกิจเสียมากกว่า
โลกเราเคยมีกรณีศึกษามาให้เห็นไม่น้อยแล้ว ยกตัวอย่างเช่นในกรณีของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ก็เคยตัดสินใจสู้รบกับเจ้า PM2.5 นี้ขั้นเด็ดขาดเนื่องจากเล็งเห็นถึงปัญหาสุขภาพของประชาชนในระยะยาวที่จะกลายมาเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศได้ต่อไป
ในบ้านเราเองนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกมาคาดการณ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจในมิติของค่าเสียโอกาส โดยเฉพาะด้านสุขภาพของคนกรุงเทพฯ เป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือนเอาไว้ว่าจะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งหากมองตัวเลขก็คงจะเห็นแล้วว่ามันสูงมากทีเดียว แต่ถ้าเรามองว่าในจำนวนนี้มีไม่น้อยที่กำลังอยู่ในวัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศแล้วต้องมาป่วยเพราะปัญหาจากฝุ่น PM2.5 แน่นอนว่าตัวเลขความสูญเสียทางเศรษฐกิจคงไม่ได้หยุดอยู่ที่ตัวเลขคาดการณ์นี้แน่ๆ
และเมื่อปัญหาเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนมาช่วยให้มันสำเร็จได้จริงอย่างถาวร เราในฐานะของประชาชนที่ยังคงต้องใช้ชีวิตต่อไปก็ต้องรู้จักป้องกันตัวเองให้ผ่านพ้นไปจากภัยอันตรายของ PM2.5 กันไปก่อน ดังนั้นเราก็ต้องรู้จักป้องกันกันตัวด้วยวิธีพื้นฐานสุดๆ อย่างการสวมหน้ากากอนามัย N95 ที่สามารถกรองฝุ่น PM2.5 ได้จริงไว้ก่อน และนอกจากวิธีนี้แล้ว APPDISQUS เองยังอยากนำเสนอวิธีการป้องกันในแบบฉบับชาว IT อย่างพวกเราประกอบไปด้วยเลยละกัน
การป้องกันและลดความเสี่ยงจากฝุ่น PM2.5 ในรูปแบบของชาวไอทีอย่างพวกเรา
ในมุมของคนไอที มีหลายวิธีที่สามารถช่วยป้องกันและลดผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ได้โดยใช้เทคโนโลยีและแนวทางดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนี้:
1. ใช้ระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศอัจฉริยะ (Smart Air Quality Monitoring)
- ติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่น PM2.5 ในบ้านหรือออฟฟิศ เพื่อทราบค่าคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์
- ลองศึกษาการเชื่อมต่อข้อมูลเข้ากับระบบ Home Assistant หรือ IoT Platform เช่น Home ของ Apple และ Google Home ของ Google เพื่อแสดงผลผ่านแอปพลิเคชัน หรือแจ้งเตือนเมื่อค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน
ตัวอย่างอุปกรณ์ที่น่าสนใจที่สามารถนำมาใช้งานได้ เช่น:
• Xiaomi Mi Air Quality Monitor
• Aqara PM2.5 Sensor
• DIY ด้วยบอร์ด ESP8266/ESP32 + เซ็นเซอร์ SDS011
2. ใช้แอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มติดตามคุณภาพอากาศ
- ตรวจสอบค่าฝุ่น PM2.5 ผ่านแอปที่เชื่อถือได้ เช่น:
• AirVisual – แสดงค่าฝุ่นจากสถานีตรวจวัดทั่วโลก
• IQAir Air Quality – วิเคราะห์คุณภาพอากาศพร้อมแนะนำวิธีป้องกัน
• Air4Thai – แอปของกรมควบคุมมลพิษประเทศไทย
Tips: ใช้ API จากแหล่งข้อมูลเช่น AirVisual API เพื่อนำไปเชื่อมต่อกับระบบ Automation หรือแสดงผลใน Dashboard ส่วนตัว
หากเพื่อนๆ สนใจข้อมูลเกี่ยวกับแอปพลิเคชั่นวัดคุณภาพอากาศดีๆ ทั้งบน iOS และ Android ทาง APPDISQUS ได้มีการจัดทำบทความรวบรวมมาให้เพื่อนๆ ได้ไปหาดาวน์โหลดมาใช้กันได้แล้วนะครับ ติดตามได้ตามลิงก์นี้เลย
5 แอปพลิเคชั่นเช็คฝุ่นใช้ดี ทั้งไทยทั้งเทศ สำหรับ Android และ iOS
3. ปรับแต่งระบบบ้านอัจฉริยะ (Smart Home Automation)
- เปิด-ปิดเครื่องฟอกอากาศอัตโนมัติ เมื่อค่าฝุ่นเกินระดับที่กำหนด เช่น ใช้ Home Assistant + Shelly หรือ Sonoff Switch
- ตั้งค่าระบบแจ้งเตือนอัตโนมัติผ่าน Line Notify หรือ Telegram
- ปรับแอร์ให้ใช้ฟังก์ชันฟอกอากาศอัตโนมัติ โดยเชื่อมต่อระบบ HVAC กับ IoT
4. การทำงานแบบ Remote Work ลดการเผชิญมลพิษ
- ใช้ Cloud Computing และ Remote Desktop Solutions เช่น Google Workspace, Microsoft Teams, Zoom เพื่อทำงานจากที่บ้าน ลดความจำเป็นในการเดินทาง
- ใช้ VPN และ Remote Access Tools เพื่อเข้าถึงระบบองค์กรอย่างปลอดภัยจากระยะไกล
5. ใช้ AI และ Machine Learning วิเคราะห์แนวโน้มฝุ่น
- รวบรวมข้อมูล PM2.5 จากแหล่งต่าง ๆ และใช้ Machine Learning เพื่อทำนายแนวโน้มฝุ่น เช่น การใช้ Python + TensorFlow เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังและทำนายค่าฝุ่น
6. ติดตั้งฟิลเตอร์และอุปกรณ์ไอทีที่ช่วยลดฝุ่นทั้งที่บ้านและที่ทำงาน
- ใช้ เครื่องฟอกอากาศอัจฉริยะ ที่สามารถเชื่อมต่อ Wi-Fi และควบคุมผ่านแอป
- ติดตั้ง แผ่นกรอง HEPA ในอุปกรณ์ระบายอากาศ เช่น พัดลมคอมพิวเตอร์ หรือแอร์
- ใช้ ฝาครอบป้องกันฝุ่น สำหรับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เช่น Server หรือ Laptop
7. ใช้โซลูชัน Data Visualization เพื่อสร้างความตระหนัก
- ใช้ Power BI, Grafana หรือ Google Data Studio เพื่อแสดงผลข้อมูลค่าฝุ่นในรูปแบบกราฟ และแชร์ให้พนักงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง
- จัดทำ Dashboard แสดงข้อมูลฝุ่นประจำวันขององค์กร
ทั้งหมดที่กล่าวมาในบทความนี้ APPDISQUS เพียงมุ่งหวังในการเป็นกระบอกเสียงเล็กๆ อีกหนึ่งกระบอกเสียงที่จะย้ำเตือนให้เพื่อนๆ ผู้อ่านของเราตระหนักถึงความสำคัญและอันตรายของปัญหาจาก PM2.5 และไม่เผลอด้อยค่าปัญหานี้ลงไปเพียงเพราะความจริงที่ว่าค่าฝุ่น PM2.5 ในบ้านเรานั้นยังดีกว่าอีกบางประเทศรอบด้าน เพราะอย่างที่บอกว่าเราคงไม่ต้องการคุณภาพชีวิตที่ยืนยาวขึ้นไปแตะ 80 ปี โดยต้องแลกกับอากาศหายใจที่นับวันยิ่งจะหายใจเต็มปอดไม่ได้สักที
และ APPDISQUS เองก็เชื่อเหลือเกินว่าปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาที่จะสามารถแก้ไขได้เพียงเพราะการลงมือปฏิบัติหรือนโยบายสนับสนุนจาก กทม. เพียงเท่านั้น แต่เรากำลังพูดกันถึงปัญหาระดับชาติที่ต้องเร่งแก้ไขในระดับพหุภาคี และหนึ่งในกำลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหานี้อย่างตรงไปตรงมาและชัดเจนได้นั้น นอกจากภาคประชาชนอย่างพวกเราแล้วก็ต้องอาศัยความจริงจังจากภาครัฐบาล เพื่อให้ปัญหามลภาวะ PM2.5 นี้ลดน้อยลงไปได้สักที
เพราะอากาศบริสุทธิ์คือหนึ่งในตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากรในประเทศ…คุณว่าจริงไหม?