หนึ่งในไฮไลค์ของงาน HDC 2019 (Huawei Developer Conference 2019) ที่เรา Appdisqus เพิ่งได้ไปร่วมรับฟังข้อมูลกันมา ก็ได้แก่ “ระบบปฏิบัติการณ์เวอร์ชั่นใหม่ EMUI 10.0” ชื่อนี้เป็นชื่อที่หลายๆ คนรู้จักกันดีแล้ว เพราะมันคือระบบส่วนติดต่อผู้ใช้ที่เป็นหัวใจหลักในเครื่องสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตของ Huawei เสมอมา ในทุกๆ รุ่น ตลอดหลายปีหลังมานี้นั้นเองครับ
EMUI มันถูกพัฒนาต่อยอดมายาวนานแล้วครับ เพิ่มเติมความสามารถ, ปรับปรุงเสถียรภาพ ต่อเนื่องจนมาถึงวันนี้ก็เป็นเวอร์ชั่นที่ 10 แล้ว
EMUI เป็นระบบที่มีความสามารถจัดจ้านครับ ถูกพัฒนามาใช้คู่กับความฉลาดของ AI ทำมาเพื่อรีดประสิทธิภาพเครื่องในการใช้งานด้านต่างๆ รวมถึงการเล่นเกมโดยเฉพาะอย่างระบบ GPU Turbo 3.0 เป็นต้น และยังเป็นตัวควบคุมการสั่งงานกล้องถ่ายภาพซึ่งเป็นจุดขายของสมาร์ทโฟน Huawei ด้วยฟังก์ชั่นการถ่ายภาพที่ล้ำหน้ากว่า ใช้งานง่ายกว่า และให้ผลลัพท์ที่ดีกว่า
ฉะนั้นความสำคัญในการเปิดตัว EMUI เวอร์ชั่นใหม่ 10.0 จึงน่าสนใจ เพราะมันคือการบอกถึงความสามารถที่จะมีในเครื่องที่ใส่ระบบเจ้าตัวนี้เข้าไปในอนาคตนั้นเองครับ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องรุ่นใหม่ที่กำลังจะเปิดตัวอย่าง Huawei Mate Series และเครื่องรุ่นเก่าที่คุณกำลังใช้งานอยู่ก็กำลังจะได้รับการอัพเกรดระบบในเร็วๆ นี้ประมาณยี่สิบรุ่นอีกด้วยนะครับ
โดยใน EMUI 10.0 ได้ถูกเน้นมาในสี่ด้านด้วยกัน นั้นคือ
- หน้าตาการใช้งานใหม่
- ระบบ AI ที่เข้ากันกับชีวิต
- ความรวดเร็วและลื่นไหลในการใช้งาน
- รวมถึงระบบ Ecosystem ที่พัฒนาเติบโตไปด้วยกันกับผู้พัฒนาอื่นๆ
ในงานนี้ เรา Appdisqus ได้อยู่รับรู้ข้อมูล และลองจับสัมผัสการใช้งานบางสิ่งบางอย่าง เป็นการชิมลาง EMUI 10.0 และเอาข้อมูลมาฝากเพื่อนๆ เป็นพรีวิวให้ทุกคนที่สนใจได้รู้ไปพร้อมๆ กันด้วย
การออกแบบ
สิ่งที่ EMUI 10.0 ถูกพัฒนาเพิ่มเติมจากตัวเวอร์ชั่น 9.0 ผมมองว่าเป็นเรื่อง “รายละเอียด” มันถูกออกแบบใหม่อย่างใส่ใจ ใส่ความคิดเข้าไปตั้งแต่การแสดงผลขณะหน้าจอปิดเลยครับ
เริ่มกันที่หน้า Always On Display แบบใหม่ ที่มีการใส่นาฬิกาบอกเวลาซึ่งพิเศษกว่าด้วยการเปลี่ยนสีของตัวเลขเวลาตามสีท้องฟ้าของโลกจริง สีสว่างพระอาทิตย์ขึ้นรับยามเช้า แดดแรงยามเที่ยงวัน พลบค่ำพระอาทิตย์ตกสีสันเย็นตา ทุกอย่างเป็นไปตามแสงสีของวันเวลา ดูสวยงามจากความใส่ใจที่เพิ่มเข้ามาของทาง Huawei
การออกแบบเลย์เอาท์แสดงผลใหม่ทั้งหมด ไม่แตกต่างไปจากเดิมมากแต่เน้นในรายละเอียด ทาง Huawei ใช้หลักการการจัดหน้านิตยสารที่ดึงดูดสายตาของคนที่เห็นได้ในทันที มันประกอบด้วยอะไร? Huawei วิเคราะห์รู้แจ้งในสามสิ่งที่สำคัญครับ นั้นคือ “หัวเรื่อง” “ช่องว่างที่เหมาะสม” และ “จุดไฮไลค์” และหยิบหลักการนั้นมาออกแบบหน้าตาเมนูการใช้งานใน EMUI ใหม่ทั้งหมดนั้นเองครับ
เราจึงจะสังเกตได้ว่า ในหน้าเมนูการใช้งานแต่ละหน้า จะมีชื่อหัวเรื่องที่เด่นชัด มีการจัดช่องว่างระหว่างบรรทัดในระดับสบายตา และในแต่ละหน้าถ้ามีรูปภาพ จะมีจุดเด่นการจัดวางที่เป็นเอกลักษณ์แบบหน้านิตยสารครับ
ทุกอย่างถูกปรับใหม่หมด ไม่ว่าจะเป็นการตั้งค่า หน้าแกลลอรี่ หรือแอพพลิเคชั่นใช้งาน
ในการเลือกสี ทาง Huawei ก็จงใจเลือกใช้สีสันที่นิ่มนวลบนหน้า UI เป็นหลักครับ เขาว่ามันสร้างความรู้สึกพรีเมี่ยมมากกว่าการใช้สีแรงๆ เข้าดึงดูดสายตาเพียงอย่างเดียว สีที่ Huawei นำมาใช้เป็นสีโทนอ่อน ในเฉดของ Morandi Color อ่อน หวาน นวลตา และดูแพงแบบนิ่มๆ ^^
การออกแบบไอคอนใหม่ด้วยสูตรเส้นร่างทอง Golden Cycle หลักการออกแบบที่เหมือน Golden Ratio หรือสัดส่วนทอง มีเส้นสายกำหนดขนาดและสัดส่วนที่จะส่งผลต่อความสวยงามไว้ชัดเจน
Huawei เชื่อว่าด้วยรูปทรงของเส้นโค้งทองที่เขานำมาใช้ จะให้รูปทรงและขนาดของไอคอนแอพพลิเคชั่นที่ดูสวยงาม และให้ความรู้สึก ”ดี” เมื่อพบเห็นอยู่บนหน้า EMUI 10.0 ครับ ฉะนั้นดูเผินๆ ทุกไอคอนที่ปรับใหม่หน้าตาจะไม่ค่อยต่างไปจากเดิมมากนัก เพราะเน้นไปที่การปรับขนาด รูปทรง ให้ดูทันสมัยมากขึ้นด้วยสูตรการออกแบบแบบนี้ครับ
นี่คือเรื่องการออกแบบอย่างที่ผมบอก “ละเอียดอ่อน” ใส่ใจและใช้ที่มาที่ไปในทุกๆ การออกแบบอย่างจริงจัง ซึ่งหน้าตาใหม่ของ EMUI 10.0 ผู้ใช้ส่วนใหญ่ที่เคยใช้ EMUI มาก่อนแล้ว อาจจะรู้สึกว่ามันไม่ค่อยต่างอะไรจากเดิม เพราะมันคือการปรับปรุงของเดิมให้ดูดีซะมากกว่า Huawei ไม่ได้เน้นการเปลี่ยนแปลงโดยใช้ความแปลกใหม่เข้าว่านั้นเองครับ
การใช้งาน
มาแล้ว “ดาร์คโหมด” แต่อย่างที่ผมบอก EMUI 10.0 คือความละเอียด ฉะนั้นดาร์คโหมดจาก Huawei ต้องไม่ธรรมดาครับ
เพราะโหมดมืดหรือดาร์คโหมดใน EMUI 10.0 ไม่ใช่แค่การ Invert กลับสีขาวเป็นสีดำเหมือนที่ทำกันทั่วๆ ไปครับ โดย Huawei อธิบายว่า “ถ้าจุดประสงค์ของการทำดาร์คโหมดคือความสบายตา ฉะนั้นต้องเข้าใจว่าอะไรทำให้สบายตาจริงๆ”
Huawei จัดการวิเคราะห์ย่านแสงและสีที่สบายตาต่อมนุษย์อย่างจริงจัง และสีที่สบายตานั้น มันไม่ใช่แค่สีดำ แต่มันมีมากกว่าสี่ย่านสีที่เป็นมิตรต่อสายตามนุษย์อย่างจริงจัง
เมื่อระบุสีที่ควรนำมาใช้งานได้จริงแล้วนั้น ทาง Huawei จึงค่อยหยิบมาใช้ในงานออกแบบดาร์คโหมดของ Emui 10.0 ครับ ว่าพื้นหลังควรเป็นสีอะไร ไอคอนและแถบเมนูจะใช้สีย่านไหน ทุกอย่างคือความสบายตาที่ไม่ใช่แค่การกลับ “ขาวเป็นดำ” เพียงอย่างเดียว
ซึ่งดาร์คโหมดถูกออกแบบระบบให้รองรับการใช้งานกับแอพจากผู้พัฒนาอื่นๆ ด้วยนะครับ เมื่อเปิดใช้งานโหมดมืดแล้วนั้น แอพพลิเคชั่นที่รองรับก็จะปรับเปลี่ยนตามทั้งหมดด้วยเช่นกัน
EMUI 10.0 นอกจากละเอียดแล้วยังลงลึกอีกด้วย ลึกลงไปถึงอนิเมชั่นการตอบสนองในเวลาที่เราสั่งงาน เป็นสิ่งที่ปกติเราเห็นผ่านๆ แบบไม่ได้ใส่ใจ แต่จริงๆ แล้วมันคือกุญแจสำคัญที่ส่งผลต่อความรู้สึกคนใช้เป็นอันดับแรกๆ เลยครับ เครื่องลื่นไม่ลื่น ก็จากการตอบสนองของอนิเมชั่นต่างๆ เวลาเราทัชใช้งานหน้าจอนี้แหละเป็นสำคัญ
แต่แค่การตอบสนองเล็กๆ เช่นการกระพริบตอบรับ การสลับหน้า การเข้า การออก การเปิดแอพปิดแอพ อนิเมชั่นเหล่านี้กว่าจะได้ผลลัพท์ที่คนใช้พอใจ ต้องผ่านระบบวิเคราะห์อะไรมากมายเลยละครับ
ตอบสนองเร็วไปก็ไม่เป็นธรรมชาติ ตอบสนองช้าไปก็กลายเป็นหน่วง การตอบสนองที่ดีต้องอยู่ในระดับเหมะสม และที่สำคัญต้องดูลื่นไหลสวยงาม ฉะนั้นสำคัญทั้งจังหวะและการเคลื่อนไหวเลยครับ
EMUI 10.0 จึงถูก Huawei นำมาเน้นย้ำอีกครั้งในเรื่องของอนิเมชั่นการตอบสนอง ต้องว่องไว นิ่มนวล และถูกจังหวะกับการทัชหรือแท็บของผู้ใช้ให้มากที่สุด
อนิเมชั่นเหล่านี้มีการทำงานตลอดเวลาครับ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดปิดหน้าแอพพลิเคชั่น การสลับหน้าใช้งาน หรือแม้แต่การกลับมายังหน้าโฮม ทาง Huawei ออกแบบอนิเมชั่นใน EMUI 10.0 เอาไว้ แม้ทิศทางที่เหมาะสมสำหรับการคืนไอคอนกลับสู่หน้าโฮม โดยแยกตามตำแหน่งการวางของไอคอนบนหน้าจอ อยู่ต่างที่กันก็ใช้ทิศทางอนิเมชั่นที่ต่างกันเวลาพับเก็บกลับกันเลยทีเดียวครับ
ทาง Huawei ปรับหน้า UI กล้องถ่ายภาพของ EMUI 10.0 ใหม่ด้วยครับ โดยเน้นให้มีความเรียบง่าย โปร่งใส และเรียกใช้คำสั่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วกว่าเดิม (นี่นิยามหน้าเมนูกล้องหรือการทำงานของรัฐบาล 555)
ความคล่องตัวสำหรับการถ่ายภาพคือสิ่งสำคัญ เพื่อการถ่ายภาพที่สามารถปรับเปลี่ยน เรียกใช้ได้อย่างทันท่วงตามที่ต้องการครับ
การใช้งานร่วมกับชีวิตและ AI
สมาร์ทโฟนสักเครื่องหนึ่ง อยู่กับเราในเวลาไหน? คำตอบคือ อยู่ทั้งวันทังคืนนั้นแหละครับ ไม่ว่าจะทำงาน ช้อปปิ้ง กินข้าว ท่องเที่ยว เดินทาง เป็นให้ทุกๆ อย่าง ในทุกๆ เวลา ฉะนั้นมันจึงเป็นจุดศูนย์กลางที่คอยเชื่อม “ชีวิตเรา” ให้เข้ากับ “เทคโนโลยี” ได้ในทุกจังหวะชีวิต
ผมกำลังพูดถึง IoT นั้นเองครับ Internet Of Thing ทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับระบบเน็ตเวิร์ค มันมีอยู่รอบตัว มันมีอยู่ทุกที่ ที่บ้าน ที่ทำงาน ในรถ แต่ปกตืเราคุยกับมันไม่ได้! ต้องมีตัวกลางระหว่างเราและมัน และทุกวันนี้ เรามี “สมาร์ทโฟน” คอยเป็นล่ามให้อยู่แล้ว
ฉะนัน้ Huawei จึงใส่ใจในเรื่องของระบบ AI และ IoT เป็นอย่างมากนะครับ รับรู้ได้เลยจากในงาน HDC ครั้งนี้ มันมีความสำคัญกับชีวิตมนุษย์มากขึ้น และเริ่มเป็นสิ่งสำคัญที่สมาร์ทโฟนคู่ใจของเรา ต้องพร้อมเชื่อมต่อและตอบสนองต่ออุปกรณ์เหล่านั้นได้อย่างเข้ากันอีกด้วย จึงมีการใส่ความสามารถในการเป็นศูนย์การของ IoT เข้ามาในระบบ EMUI อย่างเต็มที่ครับ
จากจุดเริ่มต้นจากสมาร์ทโฟน สอดรับหน้าที่กันเพื่อขยายการทำงานที่สอดรับกับอุปกรณ์รอบตัวได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ใช้สมาร์ทโฟนเป็นศูนย์กลางการควบคุมอุปกรณ์ IoT ทั้งหมดในบ้าน
การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์หน้าจอขนาดใหญ่เช่นทีวีเพื่อการใช้งานในมุมกว้างและแบบหลายบุคคลในครอบครัว ไม่ต้องคุยกับปลายสายเพียงคนเดียวแล้ว ยิงขึ้นจอใหญ่คุยกันทั้งบ้านได้เลย
EMUI มันสามารถเชื่อมต่อเข้ากับแล็ปท็อปเพื่อเสริมการทำงานกันและกัน รวมถึงส่งต่อการทำงานจากอุปกรณ์หนึ่งไปยังอีกอุปกรณ์หนึ่งได้แค่เพียงเสียบสาย หน้าต่างป๊อบอัพเล็กๆ ก็จะไปแสดงบนหน้าจอโน๊ตบุ๊คหรือเดสท็อป ลากไฟล์โยนไฟล์ได้ในทันที รวมถึงการรองรับทัชสกรีนบนอุปกรณ์ปลายทางได้อีกด้วย
รวมถึงระบบ HiCAR หน้าจอการควบคุมรถยนต์ที่พร้อมจะมาเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน Huawei และอุปกรณ์สวมใส่ ช่วยในการแจ้งเตือนผู้ขับขี่ในการหลับในด้านการตรวจจับการเคลื่อนไหวและเส้นทางการเดินทาง การสั่งงานรถยนต์ในระยะไกล และการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ IoT ในรถยนต์ เช่นกล้องหน้า ส่งภาพให้ปลายทางเห็นการเดินทางไปด้วยกันแบบเรียลไทม์เป็นต้นครับ
แม้นี้จะยังไม่ใช่การสัมผัสตัว EMUI 10.0 ในเวอร์ชั่นที่สมบูรณ์ เพราะยังมีเวลาพัฒนาและน่าจะมีอะไรอีกมากที่ผมยังไม่ได้เห็นหรือทดสอบใช้งาน แต่นี่คือชิมลางที่ผมนำมาเล่าให้เห็นถึงความใส่ใจที่อยู่ใน EMUI 10 แต่ละอย่างในงานออกแบบ มีสตอรี่เรื่องราว มีที่มาที่ไป มันเพิ่มความน่าใช้ได้มากทีเดียว
EMUI 10.0 กำลังจะมาให้ผู้ใช้ได้สัมผัสจริงๆ กันแล้วครับ โดยกำหนดการจะเริ่มใช้งานบนเครื่อง Huawei Mate รุ่นใหม่ที่กำลังจะมาในเร็วๆ นี้ และจะมีการอัพเดทให่แก่สมาร์ทโฟนที่ออกจำหน่ายไปแล้วในหลายรุ่นๆ ครับ ซึ่ง Mate 20 Series กับ P30 Series ได้รับอัพเดทกันแน่ๆ ส่วนรุ่นอื่นๆ รอการประกาศอย่างเป็นทางการจาก Huawei นะครับ