เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจับกุมตัวจากการโพสต์หรือแชร์ข้อความในสังคมออนไลน์ ควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร?
การโพสต์หรือแชร์ข้อความลงในสังคมออนไลน์ ไม่ใช่การกระทำความผิดซึ่งหน้า ดังนั้นหากจะถูกจับกุมควรปฏิบัติดังนี้
- สอบถามว่ามีหมายจับหรือไม่
- ขอดูบัตรแสดงตัวของเจ้าหน้าที่ ว่าชื่ออะไร สังกัดอะไร
- เราจะถูกควบคุมตัวด้วยข้อหาอะไร
- เราจะถูกพาตัวไปที่ไหน
- แจ้งให้ญาติหรือคนที่ใกล้ชิดทราบโดยด่วน
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่จะทำการค้นบ้านหรือที่ทำงานควรปฏิบัติดังนี้
- สอบถามว่ามีหมายค้นหรือไม่
- ยืนยันว่าการตรวจค้นต้องทำต่อหน้าเราผู้ครอบครองสถานที่ และให้คนใกล้ชิดมาเป็นพยาน
- ต้องทำการค้นในเวลากลางวัน
- ขอบันทึกการตรวจค้นจากเจ้าหน้าที่ไว้เป็นหลักฐาน
พนักงานเจ้าหน้าที่จะทำหรือสั่งให้เราทำสิ่งต่อไปนี้ได้ก็ต่อเมื่อมี “หมายศาล” อนุญาตให้ทำได้ หากไม่มีหมายศาล พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่มีอำนาจและเราก็มีสิทธิที่จะไม่ทำตาม
- คัดลอกข้อมูล จากคอมพิวเตอร์ มือถือ แท็บแล็ต หรือระบบคอมพิวเตอร์อื่น ๆ ของเรา
- สั่งให้ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้เก็บข้อมูล เช่น แฟรชไดร์,แผ่นซีดีให้แก่เจ้าหน้าที่
- ตรวจสอบ หรือ Log in (เข้าระบบ) เข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค มือถือ แท็บแล็ต ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่เก็บข้อมูลคอมพิวเตอร์ของเรา
- ถอดรหัสผ่าน (password) เพื่อเข้าคอมพิวเตอร์ หรือสั่งให้เราพิมพ์หรือเขียนรหัสผ่าน เพื่อเข้าระบบคอมพิวเตอร์ หรือสั่งให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเราพิมพ์หรือเข้าpassword หรือให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในกากระทำการดังกล่าว
- ยึดหรืออายัดระบบคอมพิวเตอร์ของเรา เช่น ยึดคอมพิวเตอร์ มือถือ หรือแท็บเล็ต แต่ยึดได้ไม่เกิน 30 วัน และขยายได้สูงสุดไม่เกิน 60 วัน เท่านั้น
กรณีเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 3/2558 ควบคุมตัวและค้น
- บุคคลซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้เป็น “เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย”หรือ“ผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย”หากไม่ได้รับการแต่งตั้งย่อมไม่มีอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558
- ผู้ถูกควบคุมตัวต้องขอดูบัตรประจำตัวเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยหรือผู้ช่วยเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อพิสูจน์ว่ามีอำนาจดังกล่าวจริง
เมื่อถูกควบคุมตัวเราควรมีปฏิบัติดังต่อไปนี้ โดยพึงระลึกว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนมีหน้าที่ดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายกับเรา
- ไม่ควรสนทนากับเจ้าหน้าที่เกินจำเป็น ไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม หากถูกถามข้อมูล ไม่ควรให้ข้อมูลใดๆ รวมทั้ง Username (ชื่อผู้ใช้) และ Password (รหัสผ่าน) และไม่ควรใช้อารมณ์โต้เถียงประเด็นต่าง ๆ กับเจ้าหน้าที่ เพราะจะเป็นผลเสียแก่ผู้ถูกควบคุมตัว เช่น นำไปใช้เป็นพยานหลักฐานในคดี
- อย่าวิตกกังวลไปกับการข่มขู่ในรูปแบบต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ พยายามควบคุมสติให้ได้มากที่สุดภายใต้สถานการณ์กดดัน
- ข้อเสนอแลกเปลี่ยนจากเจ้าหน้าที่ที่ต่อรองว่าหากรับสารภาพจะไม่ถูกดำเนินคดี หรือศาลจะพิพากษาลงโทษน้อยกว่าปกติ รวมถึงข้อเสนออื่น ๆ เราไม่ควรตกลงเนื่องจากจะเป็นผลร้ายแก่ตนเอง เพราะข้อเสนอล้วนไม่มีฐานรองรับทางกฎหมายและไม่สามารถกระทำได้จริง
- หากเจ้าหน้าที่ให้เซ็นเอกสาร ควรสงบสติอารมณ์ให้นิ่งและอ่านเอกสารให้ครบถ้วน และดูว่าตรงกับความเป็นจริงที่เรารับรู้หรือไม่ โดยต้องไม่ใช่สิ่งที่ผู้ถูกควบคุมตัวคิดหรือคาดเดาไปเองหากไม่ถูกต้องให้เจ้าหน้าที่แก้ไขให้ถูกต้อง หากเจ้าหน้าที่ปฏิเสธ ผู้ถูกควบคุมตัวมีสิทธิไม่เซ็นได้
- โปรดระวังเอกสารและข้อมูลทุกชนิดที่เราให้กับเจ้าหน้าที่ เพราะถูกนำมาใช้ในชั้นศาลเพื่อดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายได้
- ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เจ้าหน้าที่มีอำนาจควบคุมตัวเราได้สูงสุดเพียง 7 วันเท่านั้น หากเจ้าหน้าที่ขู่ให้บอกข้อเท็จจริงหรือเซ็นเอกสารต่าง ๆ ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการปล่อยตัว เราควรตั้งสติและตระหนักเสมอว่าคำขู่ต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถกระทำได้จริง เนื่องจากไม่มีอำนาจตามกฎหมาย
เราควรปฏิบัติตัวเช่นไรและควรให้การอย่างไรกับพนักงานสอบสวนเมื่อถูกนำตัวมาที่สถานีตำรวจ
- ไม่ควรให้การใด ๆ กับพนักงานสอบสวน จนกว่าจะปรึกษาทนายความของตนเองก่อนเท่านั้น
- หากไม่มีทนายความของตนเอง เราควรให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา หรือยืนยันกับพนักงานสอบว่าจะไม่ให้การใด ๆ และจะให้การในชั้นศาลเท่านั้น
- ข้อพึงระวัง 1. เรามีสิทธิตามกฎหมายที่จะให้การหรือไม่ให้การกับพนักงานสอบสวนได้ และ 2. การให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนจะเป็นผลเสียอย่างมากในการต่อสู่คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของท่านในชั้นศาล